ผบ.ทร.เปิดเวทีเสวนา MOU44 เขตแดนทะเล กระบวนการเข้าสู่ศาลโลก สร้างความรู้ประชาชน พร้องส่งเจ้าหน้าที่อุทกศาสตร์-พระธรรมนูญ ร่วมเจทีซี เจรจากัมพูชา พื้นที่อ้างสิทธิทางทะเล ไม่หวั่นคนนอกครอบงำ ย้ำยึดกฎหมาย-อนุสัญญาระหว่างประเทศ
เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2567 ที่กองทัพเรือ พล.ร.อ.จิรพล ว่องวิทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) กล่าวภายหลังทำพิธีวันสถาปนากองทัพเรือ ครบรอบ 118 ปี กรณีเดินหน้าเจรจาผลประโยชน์พื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนไทย - กัมพูชา โดยใช้กลไก MOU 44 ว่า ตนเคารพความคิดของทุกท่าน เพราะทุกคนล้วนมีความเป็นห่วงกองทัพเรือ ไม่ว่าจะเกษียณฯ ไปนานเท่าไหร่แล้วก็ตาม เพราะอดีตผู้บังคับบัญชาของกองทัพเรือก็อยากให้กองทัพเรือเดินหน้าไปได้ และมีความต่อเนื่องในการพัฒนาในทุกด้าน
พร้อมย้ำว่า กองทัพเรือมีหน้าที่ดูแลพื้นที่ และปัจจุบันก็ดูแลเส้นเขตแดนทางทะเลที่ประเทศไทยประกาศ ซึ่งเราดูแลได้อย่างเรียบร้อย และไม่มีความขัดแย้งเส้นเขตแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะเข้าใจกันทั้ง 2 ฝ่าย
"แต่เมื่อมีกระแสสังคมถึง MOU 44 กองทัพเรือ ในฐานะหน่วยงานทางเทคนิคที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านเขตแดนทางทะเล คือ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ เตรียมจัดงานเสวนาในเรื่องนี้ ในเรื่องเส้นเขตแดนในทะเลและข้อตกลง - ข้อขัดแย้งต่างๆ วันที่ 3 ธ.ค.นี้ ที่เปิดให้ผู้สนใจทั่วไปเข้ารับฟังได้ อีกทั้งแบ่งวงเสวนาให้ความรู้เรื่องการเจรจาข้อตกลงต่างๆ อีกด้วย เพื่อสื่อสารให้สังคมเข้าใจ ว่าการเจรจาตกลงมีรูปแบบใดบ้าง รวมถึงกระบวนการเข้าสู่ศาลโลกที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายทางทะเล เพื่อให้สังคมได้เห็นภาพเหตุการณ์ที่หลากหลายรูปแบบที่เกี่ยวข้องกับข้อตกลงระหว่างประเทศ" ผบ.ทร.กล่าว
ส่วนความคืบหน้าในการตั้งคณะกรรมการร่วมทางเทคนิค (JTC) ที่ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ระบุว่าจะต้องมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องครอบคลุม ที่มี กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ร่วมด้วยนั้น ผบ.ทร.กล่าวย้ำว่า ถ้านายภูมิธรรม ร้องขอมาก็ยินดีสนับสนุน เพราะเรื่องเขตแดนทางทะเล กองทัพเรือก็ต้องศึกษาให้ถ่องแท้เช่นเดียว ตามที่จะมีการจัดเสวนาดังกล่าวขึ้นมา ซึ่งเจ้าหน้าที่กรมอุทกศาสตร์ จะมีความรู้ในเรื่องทางเทคนิค แต่ถ้าเป็นเรื่องกฎหมายก็จะเป็นสำนักพระธรรมนูญ กองทัพเรือ อยู่ที่จะมีการเลือกเจ้าหน้าที่ทางเทคนิคแบบใด เข้าไปร่วมเจทีซี
เมื่อถามว่า มีความเป็นห่วงเรื่องความเป็นอิสระของคณะกรรมการเจทีซี ที่จะไม่ถูกครอบงำจากบุคคลใดหรือไม่ ผบ.ทร.กล่าวว่า อยู่ที่การอธิบาย หรือความต้องการในกระบวนการทำงาน ในเรื่องทางกฎหมายและเทคนิค เพราะในบางส่วนอาจไม่เชี่ยวชาญเรื่องทางกฎหมาย ซึ่งกฎหมายก็จะมีช่องให้เดิน ขึ้นอยู่กับว่าจะหยิบมาตราใดมาใช้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ทางเทคนิคก็จะเข้ามาช่วยในเรื่องเหล่านี้ได้ กรณีที่มีการเจรจาเกิดขึ้นจะต้องใช้กฎข้อใดหรือต้องอ้างอนุสัญญาใด
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี