"สนธิญาณ"อ่านเกมการเมือง"แดง vs ส้ม" เลือกตั้งหนหน้า"พรรคประชาชน"มุ่งเจาะอีสาน "ทักษิณ"จึงต้องออกโรง
เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2567 นายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม ประธานสถาบันทิศทางไทย ให้สัมภาษณ์กับรายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ในประเด็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่นายทักษิณเก็บตัวเงียบหรือปรากฏตัวผ่านสื่อ ล้วนแต่มีจังหวะทางการเมือง ซึ่งบางเรื่องอาจพลาดพลั้งไปบ้างจากวิบากกรรมทางการเมือง เช่น การเชิญคนไปบ้านจันทร์ส่องหล้า แต่การเคลื่อนไหวยังมีจังหวะจะโคนอยู่กับภาพรวมทางการเมืองที่เกิดขึ้น
โดยหากดูสถานการณ์ของนายทักษิณ 1.ยังมีคดีมาตรา 112 กรณีให้สัมภาษณ์สื่อที่เกาหลีใต้ค้างอยู่ อาจใช้เวลาพิจารณากันอีกประมาณ 1 ปี 2.การที่นายทักษิณไม่ต้องอยู่ในเรือนจำแม้แต่วันเดียวในระหว่างต้องโทษจำคุก 1 ปี เรื่องนี้เบื้องต้นไม่ได้อยู่ที่นายทักษิณโดยตรง แต่อยู่ที่ข้าราชการประจำและนักการเมืองที่ช่วยเหลือนายทักษิณ อย่างไรก็ตาม หากดูคำร้องของนายธีรยุทธ สุวรรณเกสร ที่อ้าง 6 ข้อ ระบุว่านายทักษิณครอบงำพรรคเพื่อไทยและอาจเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ในเรื่องที่อ้างถึงกรณีนายทักษิณไม่ต้องติดคุกแม้แต่วันเดียว เรื่องนี้ถือว่าสำคัญ
เพราะตามพระบรมราชโองการพระราชทานอภัยโทษ ลดโทษจากจำคุก 8 ปี เหลือ 1 ปี เนื้อหาทั้งหมดคือสิ่งที่นายทักษิณเขียนไป ตามระเบียบการยื่นเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษที่ผู้ทำคำร้องจะต้องเป็นผู้ต้องโทษหรือญาติ ซึ่งหากสิ่งที่เขียนนั้นเป็นเรื่องโกหกก็ถือว่าดูหมิ่น อีกทั้งเมื่อนายทักษิณไปปรากฏตัวที่ใดก็ยังคงบอกว่าตนเองถูกกลั่นแกล้ง สิ่งที่เขียนกับสิ่งที่พูดจึงขัดแย้งกัน และสิ่งที่นายทักษิณเขียนนั้นคือหนังสือกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังนั้นจึงไม่ใช่การนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเล่นงานนายทักษิณ
“สถานการณ์ตอนนี้คุณทักษิณจึงออกมาเคลื่อนไหว มันนิ่งเฉยไม่ได้ เพราะการเมืองทุกด้านตอนนี้มันบีบรัดเข้ามาหมด สถานการณ์ความมั่นคงของรัฐบาลง่อนแง่น จากกรณีตัวนายกรัฐมนตรีเองซึ่งโดนคดีอัลไพน์ มีเรื่องร้องเรียนตามหลังมาอีกมากมาย ง่อนแง่นในฐานะความมั่นคงของรัฐบาลเพราะความขัดแย้งกันในเรื่องที่ดินเขากระโดงกับอัลไพน์ ซึ่งหมายความว่าพรรคภูมิใจไทยกับพรรคเพื่อไทยกำลังซัดกันหนักหน่วง” นายสนธิญาณ กล่าว
นายสนธิญาณ กล่าวต่อไปว่า การที่นายทักษิณเชิญนายเนวิน ชิดชอบ อดีตผู้ก่อตั้งพรรคภูมิใจไทย และนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ไปพบที่บ้าน ที่บอกว่าเป็นการไปอวยพรวันเกิดนั้นจริงๆ เพราะนายทักษิณกำลังอยู่ในมุมอับทางการเมือง และสาระสำคัญที่พรรคภูมิใจไทยมีอำนาจต่อรองมากขึ้น เพราะสามารถคุมสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ได้ อย่างที่เห็นเรื่องกฎหมายประชามติ ที่ท่าทีในสภาผู้แทนราษฎรช่วงแรกๆ นั้นพรรคภูมิใจไทยไหลตามน้ำ แต่เมื่อไปถึงการพิจารณาของวุฒิสภากลับถูกตีกลับมา หลังจากนั้นก็จะเห็นพรรคภูมิใจไทยมีท่าทีเปลี่ยนไป
ซึ่งไม่ว่าพรรคภูมิใจไทยจะเปลี่ยนท่าทีเพราะอะไร แต่นายทักษิณในฐานะผู้จัดการรัฐบาล ไม่ใช่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน แน่นอนว่านายทักษิณย่อมรู้และทำให้ต้องออกมาเคลื่อนไหวเพื่อส่งสัญญาณว่ายังมีอำนาจอยู่ และตนคิดว่าพรรคเพื่อไทยกำลังเตรียมการสำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้าไม่ว่าจะเกิดการยุบสภาหรือปรากฏการณ์บางอย่างขึ้นในทางการเมือง ซึ่งสถานการณ์ของรัฐบาลง่อนแง่นอาจพังลงเมื่อใดก็ได้หากมีประเด็นต้องโหวต จึงอยู่ที่ความพร้อมของแต่ละฝ่ายในการเตรียมการเลือกตั้ง
แต่อีกด้านหนึ่ง พรรคประชาชนที่เป็นฝ่ายค้านก็คิดแบบเดียวกัน ซึ่งตลอด 1 ปีที่นายทักษิณเดินทางกลับประเทศ แทบจะไม่เคยพูดถึง แตกต่างจากสมัยรัฐบาลนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ขณะนั้นพรรคประชาชนยังคงเป็นพรรคก้าวไกล จะพบการหาเรื่องโจมตี พล.อ.ประยุทธ์ แทบทุกสัปดาห์ จริงบ้างไม่จริงบ้าง กระทั่งในถึงยุครัฐบาลพรรคเพื่อไทย ช่วงที่นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ ท่าทีแบบนั้นกลับหายไป กลายเป็นประนีประนอม
กระทั่งมาถึงยุครัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่มี น.ส.แพทองธาร เป็นนายกฯ กลับเห็นท่าทีพรรคประชาชนโจมตีนายทักษิณและพรรคเพื่อไทยอย่างดุเดือด อย่างที่เห็นในสนามเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี แต่ก็ตามที่มีการให้ข้อมูลกัน คือเคยมีการเจรจา หรือดีลลับที่เกาะฮ่องกง ระหว่างนายทักษิณ กับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำคณะก้าวหน้า ซึ่งทั้ง 2 คนต่างก็เป็นผู้มีอิทธิพลทางความคิด หรือผู้นำทางจิตวิญญาณต่อพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนตามลำดับ
ซึ่งการที่นายทักษิณกล่าวว่า พรรคเพื่อไทยไม่สามารถร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคก้าวไกลได้เพราะพรรคก้าวไกลมุ่งแต่จะดันเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 ในขณะที่แกนนำและผู้มีอิทธิพลทางความคิดฝั่งพรรคก้าวไกลออกมาปฏิเสธว่าไม่เคยมีเรื่องมาตรา 112 ในบันทึกความตกลง (MOU) ร่วมกัน และชี้ว่าพรรคเพื่อไทยต้องการหักหลังพรรคก้าวไกลยู่แล้ว ซึ่งตนก็เชื่อเช่นนั้น เพราะในการปกครองแบบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรนั้นเป็นตำแหน่งที่สำคัญ และที่ผ่านมาพรรคใดได้ตำแหน่งนายกฯ พรรคนั้นก็จะได้ตำแหน่งประธานสภาฯ ด้วย
“แต่พรรคเพื่อไทยอ่านเกมขาด เพราะดีลลับที่ทำกับ พล.อ.ประยุทธ์ คุยกันมาล่วงหน้าแล้ว เพียงแต่จังหวะมันจะลงตัวตัวอย่างไร คะแนนเสียงจะออกมาอย่างไร ก็หมายความว่าไม่ให้ประธานสภาฯ ยื้อมาตลอด พอยื้อเสร็จมาลงตัวที่คนกลาง พรรคประชาชน (หรือพรรคก้าวไกล) ไม่รู้หรือแกล้งไม่รู้ ได้คุณวันนอร์ (วันมูหะมัดนอร์ มะทา) ก็คือคุณทักษิณ คือพรรคเพื่อไทยอยู่แล้ว ผูกพันกับคุณทักษิณมาเท่าไร เพียงแต่มาตั้งพรรคประชาชาติเพราะต้องการแตกแบงก์ร้อยมาเป็นแบงก์สิบ เพราะภาคใต้มันไม่ผ่าน เพราะคุณทักษิณก่อเหตุความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ เลยตั้งพรรคประชาชาติขึ้นแล้วให้คุณวันนอร์มาเป็นประธานสภาฯ” นายสนธิญาณ ระบุ
นายสนธิญาณ ยังกล่าวอีกว่า การเมืองวันนี้กำลังดินไปถึงจุดอย่างใดอย่างหนึ่ง คือคนรู้สึกอึดอัด อย่างประชาชนกลุ่มที่ไม่ชอบทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนก็เรียกร้องให้ทหารออกมายึดอำนาจ ไปดูกระแสในสื่อสังคมออนไลน์ได้ แต่หากมองเรื่องการเลือกตั้งในอนาคตอันใกล้ ตนบอกเลยว่าการเมืองได้เปลี่ยนไปแล้ว โดยในอดีตเป็นการต่อสู้กันระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ โดยพรรคเพื่อไทยเป็นตัวแทนฝ่ายประชาธิปไตยส่วนพรรคประชาธิปัตย์เป็นตัวแทนฝ่ายอนุรักษ์นิยม แต่นับจากการเลือกตั้งปี 2562 เป็นตันมาก็ไม่อาจมองแบบเดิมได้อีกต่อไป
กล่าวคือ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมมีภาพชัดมากกว่าที่พรรคพลังประชารัฐ ขณะที่ฝ่ายประชาธิปไตยภาพจะไปอยู่ที่พรรคอนาคตใหม่ แต่ตนก็ต้องย้ำว่าพรรคอนาคตใหม่ จนถึงพรรคก้าวไกลและพรรคประชาชน ไม่ได้ก้าวหน้าจริง ยังเป็นฝ่ายขวาเป็นนายทุนอยู่ เดินตามสหรัฐอเมริกาและต่อต้านจีน สหรัฐฯ ทรัพย์สินเงินทองไปกระจุกอยู่บนยอดของทุนใหญ่ ซึ่งแบบนี้เป็นฝ่ายซ้ายไม่ได้ ไปดูจีนเป็นสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ช่วยคนจน ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบใหม่พาประชากร 1.4 พันล้านคนจากลำบากยากจนมาสู่ความเจริญเข้มแข็ง
ส่วนที่นายทักษิณยังคงเคลื่อนไหวอยู่ได้ตลอด 16-17 ที่อยู่ในต่างประเทศเพราะยังมีแหล่งทุนใหญ่ที่สนับสนุนไว้ และนั่นส่งผลต่อการบั่นทอนพรรคพลังประชารัฐ เริ่มจากความแตกแยกระหว่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กับ พล.อ.ประยุทธ์ ด้วยปฏิบัติการของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า นั่นทำให้เป็นที่มาว่าเหตุใด สส.พลังประชารัฐ กลุ่มที่สนับสนุน ร.อ.ธรรมนัส ถึงถูกชวนไปร่วมรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำทั้งที่รัฐบาลมีเสียงเพียงพอแล้ว แต่เรื่องนี้จะโทษ ร.อ.ธรรมนัส ไมได้ เพราะเขาก็ทำหน้าที่ของเขาไป ต้องโทษ พล.อ.ประวิตร กับ พล.อ.ประยุทธ์ ที่แตกแยกกัน
นี่จึงเป็นการทำลายพรรคพลังประชารัฐ ทำลายฝ่ายอนุรักษ์นิยม ซึ่งเริ่มดำเนินการมาก่อนจะถึงการเลือกตั้งในปี 2566 ที่ สส.พรรคพลังประชารัฐ ฝ่ายสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ได้ออกไปตั้งพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งกลายเป็นพรรครวมไทยสร้างชาติกับพรรคพลังประชารัฐไปตัดคะแนนกันเอง เรื่องนี้คนที่เชี่ยวชาญการเมืองดูก็รู้ตั้งแต่ต้น ส่วนการเลือกตั้งครั้งต่อไป พรรครวมไทยสร้างชาติอาจกลายเป็นเพียงพรรคต่ำสิบ เพราะนายทุนกำลังเคลื่อนตัวออกไปหาพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่อย่างพรรคโอกาสใหม่ ถามว่าคนที่ยังอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติต่อจะเอาทุนจากไหน
ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ กลุ่ม สส. ที่ยังคงสนับสนุน พล.อ.ประวิตร ปัจจุบันเหลือเพียง 20 คน ต่อให้ทำพรรคจนแข็งแกร่งขึ้นมาได้ก็ไม่พ้นมี สส. เพียง 40-50 คน หันไปมองพรรคภูมิใจไทย เลือกตั้งครั้งก่อนได้ สส. 70 คน แต่ครั้งหน้าถามว่าจะเพิ่มขึ้นเท่าไร ดังนั้นการเมืองหลังจากนี้คือการต่อสู้กันระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาชน โดยมีพรรคภูมิใจไทยเป็นตัวแปร แต่จะแปรไปข้างไหน เพราะบทบาทของพรรคเพื่อไทยกับพรรคภูมิใจไทยวันนี้ร่วมกันยากแล้ว
ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นไม่สามารถเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งระดับชาติได้ ในมุมของตนมองว่าเปรียบเทียบได้ ย้อนไปดูการเลือกตั้งปี 2566 พรรคก้าวไกลได้ สส. 150 คน ชนะพรรคเพื่อไทยที่ได้ สส. 140 คน ขณะที่เมื่อดูเป็นรายภาคจะพบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือครองสัดส่วนที่นั่ง สส. ร้อยละ 30 ของทั้งประเทศ ดังนั้นพรรคใดชนะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็มีโอกาสชนะในภาพรวมทั้งประเทศ ซึ่งการเลือกตั้งปี 2566 พรรคก้าวไกลได้ สส. ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพียง 8 คน โดยพรรคเพื่อไทยยังครองเสียง สส. ในภาคนี้เป็นหลักเช่นเดิม
แต่การพ่ายแพ้ในภาพรวมของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งปี 2566 ทั้งที่ยังครองเสียง สส. ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก็ทำให้น่าคิดต่อไปว่า ในการเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคก้าวไกลหรือพรรคประชาชนจะสามารถเอาชนะและได้ที่นั่ง สส. ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพิ่มขึ้นได้หรือไม่ ซึ่งนี่คือสาเหตุที่ทำให้นายทักษิณต้องออกโรงด้วยตนเอง ต้องแสดงศักยภาพว่าเป็นผู้มีอำนาจตัวจริง
ส่วนพรรคภูมิใจไทย แม้จะยังไม่ประสบความสำเร็จในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่หากดูสถิติจะพบว่าขยับขึ้นเรื่อยๆ จากพื้นที่ฐานเสียงหลักในบริเวณตอนใต้ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็ค่อยๆ ครอบคลุมมากขึ้น อย่างไรก็ตามพรรคภูมิใจไทยทำได้อย่างมากที่สุดก็เพียงพรรคอันดับ 3 ซึ่งพรรคภูมิใจไทยทำการเมืองแบบบ้านใหญ่ จึงยังมีปัญหาในเรื่องคะแนนเสียงเลือกตั้งในฝั่ง สส.บัญชีรายชื่อ ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ของพรรคประชาชนคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หากเลือกตั้งครั้งหน้าได้ สส. สัก 20 คน พรรคเพื่อไทยก็แพ้
“คุณทักษิณที่พูดว่า 200 เสียงก็โม้ จะเอามาจากไหน ภาคใต้มี 60 กว่าที่นั่งก็ไมได้ ประชาชาติก็เจอคดีตากใบเข้าไป มาที่กรุงเทพฯ เหลืออยู่คนเดียว เป็นรัฐบาลได้คะแนนบวกหรือลบอยู่ตอนนี้ มันคะแนนลบ แล้วถามคนกรุงเทพฯ จะเลือกพรรคเพื่อไทยด้วยเหตุผลใด ก็ไม่มี ภาคกลางเป็นเรื่องของพลังประชารัฐที่ยังคุมบางส่วนอยู่ รวมไทยสร้างชาติอาจจะเหลืออยู่บ้าง ภูมิใจไทยเขาก็มีอยู่ เข้าไปแทรกไม่ได้ ก็เหลืออีสานกับเหนือ ตอนนี้เหนือก้าวไกลเจาะได้แล้วที่เชียงใหม่ พรรคประชาชนก็อยากเจาะที่อีสานโดยเฉพาะที่อุดรฯ” นายสนธิญาณ กล่าว
ชมคลิปเต็มได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=kfIhtoNbIVc
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี