เกมแตกหักส่อยืดเยื้อ180วัน! ‘กมธ.ร่วมฯประชามติ’โหวตยืนตาม‘วุฒิสภา’แก้ไขหนุนใช้‘เสียงข้างมาก2ชั้น’ ชนะฝั่ง‘สส.’13ต่อ9 ด้าน‘2ผู้แทนฯภูมิใจไทย’งดออกเสียง เตรียมส่งกลับเข้าที่ประชุมใหญ่แต่ละสภาฯ พิจารณาต่อ เผย‘ไปรษณีย์’เด้งรับพร้อมจัดปชม. แย้มใช้เงินพันล้านไม่ถูก แต่ช่วยอำนวยความสะดวกปชช.
เมื่อวันที่ 20 พ.ย.2567 ที่รัฐสภา โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ รัฐสภา นำโดยนายกฤช เอื้อวงศ์ พร้อมด้วยนายวุฒิชาติ กัลยาณมิตรสมาชิกวุฒิสภา(สว.) แถลงภายหลังการประชุมกมธ.ฯ ครั้งที่ 3 เพื่อหาข้อยุติในมาตรา 7 ของ พ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ปี 2564 ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรกับวุฒิสภาเห็นแย้งกัน โดยวุฒิสภาเสนอให้แก้ไขเป็นหลักเกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น นำมาสู่การตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันฯ เพื่อหาข้อยุติดังกล่าว
โดยนายกฤช กล่าวว่า วันนี้น่าจะเป็นการประชุมก่อนครั้งสุดท้าย โดยผลลงมติเสียงส่วนใหญ่ให้คงไว้ตามที่วุฒิสภาแก้ไข 13 เสียง อีก 9 เสียงลงมติให้แก้ไขเพิ่มเติมตามที่สภาผู้แทนราษฎรเสนอ และงดออกเสียง 3 คน จากองค์ประชุมทั้งหมด 25 คน สำหรับกรรมาธิการที่งดออกเสียง 3 คน ประกอบด้วย พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร สว. ในฐานะประธานกมธ.ฯ และกรรมาธิการในสัดส่วนของพรรคภูมิใจไทย ทั้ง 2 คน คือนายไชยชนก ชิดชอบ สส.บุรีรัมย์เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย และนายกรวีร์ ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทยอย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ จะนำร่างกฎหมายกลับเข้าสู่แต่ละสภาเพื่อพิจารณาความเห็น หากสภาใดไม่เห็นชอบ สามารถลงมติยับยั้งร่างกฎหมายและเสนอกลับเข้ามาใหม่ ทั้งนี้ เชื่อว่า สส. คงไม่เห็นด้วยการแก้ไขของ สว. โดยต้องพักร่างกฎหมายดังกล่าวไว้ 180 วัน แล้วจึงจะเสนอเข้ามาใหม่ได้
นายกฤช กล่าวด้วยว่า ส่วนการประชุมคณะกรรมาธิการครั้งต่อไปคือวันที่ 4 ธ.ค.67 เพื่อรับรองรายงานการประชุม จากนั้นวันที่ 6 ธ.ค. จะยื่นร่างกฎหมายเข้าสู่แต่ละสภาฯ โดยหลังจากเปิดสมัยประชุมแล้ว คาดว่าวันที่ 16 ธ.ค. จะเข้าสู่วาระการประชุมวุฒิสภา และวันที่ 18 ธ.ค. จะเข้าสู่วาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
ด้านนายวุฒิชาติ กล่าวว่า ในความเห็นของวุฒิสภาอย่างที่เราเรียนมาตั้งแต่ต้นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องใหญ่ของประเทศ เราอยากให้ประชาชนส่วนใหญ่มีส่วนร่วมในการช่วยกันออกเสียงประชามติเพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผลประโยชน์ถึงประชาชนโดยตรง วุฒิสภาจึงยืนตามร่างฯที่ตัวเองแก้ไขในเรื่องการทำประชามติ2ชั้น
ขณะที่นายพิศิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ สว. ในฐานะกมธ.ฯ กล่าวว่า ในการเชิญตัวแทนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด มาชี้แจงต่อกมธ.ฯ ถึงความพร้อมการทำประชามติผ่านทางไปรษณีย์ ทางตัวแทนทางไปรษณีย์ยืนยันว่า มีความพร้อมการทำประชามติผ่านทางไปรษณีย์ว่าสามารถทำได้ โดยวิธีการจะให้ประชาชนมายืนยันตัวตนที่ไปรษณีย์ในเขตนั้นๆ จากนั้นก็จะมีการลงมติที่ไปรษณีย์ ดูแล้วเป็นช่องทางที่สามารถป้องกันการลงคะแนนแทนกันได้ เพราะต้องใช้บัตรประชาชนมายืนยันตัวตนที่ไปรษณีย์ก่อน
นายพิศิษฐ์ กล่าวด้วยว่า ส่วนค่าใช้จ่ายการทำประชามติผ่านไปรษณีย์ทราบว่า อยู่ที่ประมาณ 1,000 กว่าล้านบาท ดูแล้วไม่ได้ถูก แต่ช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่มาทำงานต่างภูมิลำเนา ไม่ต้องเดินทางกลับไปลงคะแนนที่ภูมิลำเนาของตัวเอง ขณะที่ตัวแทน กกต.ระบุว่า ไม่ได้ระบุชัดเจนว่า จะมีการทำประชามติผ่านทางไปรษณีย์หรือไม่ แค่บอกว่าจะรับไปพิจารณารายละเอียดอีกครั้งว่าจะดำเนินการหรือไม่
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี