"ชูศักดิ์"งัด"รธน.มาตรา 137" อ้าง"กฎหมายประชามติ"เข้าข่าย"กฎหมายการเงิน"ไม่ต้องรอ 180 วัน จ่อถกวิปรัฐบาล เชื่อฝ่ายค้านเอาด้วย
เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การออกเสียงประชามติ มีมติเสียงข้างมากเห็นชอบให้ใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น ในการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามมติวุฒิสภา ว่า มตินี้จะทำให้ไม่มีทางที่ 3 หมายความว่าเอาตามวุฒิสภาเลย ซึ่งเสียงข้างน้อยเอาตาม สส.ใช้เสียงข้างมากธรรมดา ทั้งหมดนี้จะนำเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร และนำสู่ที่ประชุมวุฒิสภา ซึ่งวุฒิสภาจะมีมติอย่างไรก็สุดแล้วแต่ ซึ่งแนวโน้มเขาคงเห็นตามกมธ.ร่วม
นายชูศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรของเดิมเคยมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ใช้เสียงข้างมากธรรมดาเป็นเอกฉันท์ ไม่มีการคัดค้านอะไรเลย ตนคาดว่าสภาผู้แทนราษฎรก็คงจะยืนตามความเห็นเดิม แปลว่าไม่เห็นด้วยกับมติ กมธ.ร่วมฯ ให้ใช้มติของสภาผู้แทนราษฏร อันนี้หากแปลตามรัฐธรรมนูญ คือ กฎหมายนี้ต้องถูกยับยั้งไว้ คือ ต้องรอ 180 วัน แล้วหยิบยกขึ้นมาพิจารณาใหม่
นายชูศักดิ์ กล่าวว่า กฎหมายระบุว่าถ้า 180 วันแล้ว หยิบยกขึ้นมาพิจารณาใหม่ ถ้าสมมติว่าสภาผู้แทนราษฎรยืนตามความเห็นเดิมเสียงข้างมากธรรมดา ก็แปลว่าสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบตามสภาผู้แทนราษฎรที่เคยมีมติไว้แต่เดิม รัฐธรรมนูญเขาถือเอาสภาผู้แทนราษฎรเป็นหลัก ถ้าเป็นเช่นนี้ก็หมายความว่าก็สามารถนำเอาร่างนี้ที่สภาผู้แทนเคยมีมติไว้แล้วนำขึ้นกราบบังคมทูลเกล้าฯ เพื่อลงพระปรมาภิไธยได้เลยเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมาย
เมื่อถามว่า หากต้องรอ 180 วัน ท้ายที่สุดจะสามารถทำรัฐธรรมนูญใหม่ได้ทันหรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ถ้าทำประชามติ 3 ครั้งไม่ทันแน่นอน ขณะนี้รัฐบาลเหลือเวลาอยู่ 2 ปีเศษๆ คงไม่ทัน แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาว่า หากมีการย่นย่อ การทำประชามติให้เหลือ 2 ครั้ง ก็อาจจะทัน ทั้งนี้ เรื่องการทำประชามติ 2 ครั้ง ความเห็นของสภาและพรรคการเมืองทั้งหลายยังไม่ลงตัวนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเห็นของฝ่ายสภาที่เห็นว่าจะต้องมีการทำประชามติครั้งแรกโดยที่ยังไม่มีร่าง ซึ่งมีความหมายว่า เป็นการทำประชามติ 3 ครั้ง ตนและทีมงานจึงขอพูดคุยเรื่องนี้กับผู้ที่เกี่ยวข้องก่อน ทั้งฝ่ายสภา และพรรคการเมือง พูดง่ายๆ ว่าถ้าทำ 2 ครั้งได้ก็อาจจะทัน
"หากใครได้ดูรัฐธรรมนูญอย่างละเอียดจะพบว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 137 วรรคท้าย ระบุว่าหากเป็นกฎหมายการเงิน ระยะเวลา 180 วัน ให้ลดลงเหลือ 10 วัน ซึ่งตนมองว่ากฎหมายประชามติก็เป็นกฎหมายการเงิน เพราะต้องใช้งบประมาณในการทำประชามติ ตรงนี้จึงเป็นข้อกฎหมายที่ฝากไว้ให้คิดกัน ซึ่งพวกเราจะนำเรื่องนี้มาคิดด้วยและนำเสนอคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ว่า ไม่จำเป็นต้องรอ 180 วัน"
เมื่อถามว่า มีความเป็นไปได้ที่จะมีการหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลอีกครั้งใช่หรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ท้ายที่สุดก็ต้องเข้าไปวิปรัฐบาล ซึ่งจะหารือโดยเร็ว โดยตนจะคุยกับ นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ประธานวิปรัฐบาล ว่ามีประเด็นข้อกฎหมายตรงนี้ด้วย
"ผมเห็นในรัฐธรรมนูญมานานแล้ว เพียงแต่ยังไม่มีใครพูดเรื่อง 180 วัน ว่าอาจไม่จำเป็นต้องใช้ก็ได้ ใครที่เป็นนักกฎหมายลองไปเปิดรัฐธรรมนูญมาตรา 137 วรรคท้าย ดูก็อาจจะทำประชามติทันก็ได้ แต่เท่าที่คิดกันมาในอดีต ว่าหากไม่ทันจริงๆ ความคิดของพวกเรามองว่าก็ต้องดันไป อย่างน้อยที่สุดขอให้มีการเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร.ให้แล้วเสร็จ เพื่อที่จะได้มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ถือว่าเราทำหน้าที่ เพื่อที่จะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเราไม่ได้ทำอะไรเลย เพราะตรงนี้คือนโยบายของรัฐบาล" นายชูศักดิ์ กล่าว
เมื่อถามว่า มีโอกาสที่จะหารือกับฝ่ายค้านด้วยหรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ฝ่ายค้านมีความตั้งใจที่อยากจะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ดังนั้น อะไรที่เป็นไปได้ ตนเชื่อว่าฝ่ายค้านจะให้ความร่วมมือ ได้ทำงานร่วมกันมา ตนก็ได้เห็นความตั้งใจของเขาที่อยากจะทำรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐบาลเองก็มีความตั้งใจเช่นกัน ซึ่งได้เขียนไว้ในนโยบายของรัฐบาลว่า จะเร่งรัดจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนโดยเร็วที่สุด เมื่อถามว่า ประเด็นที่ออกมาเกี่ยวกับพรรคร่วมรัฐบาลที่มีความเห็นต่างหรือไม่ นายชูศักดิ์ หัวเราะ ก่อนตอบว่า ไม่เอาๆ ไม่อยากทะเลาะกับใคร
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี