'ที่ปรึกษา รมว.ยธ.-กรมราชทัณฑ์'เผยส่งหนังสือให้'ประธานสภาฯ'ชี้ขาดปม'กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯ'เรียก'ทวี-อธิบดีกรมคุก'แจงกรณี'ทักษิณ'นอนชั้น 14 รพ.ตำรวจ เป็นอำนาจหน้าที่ของกมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐจริงหรือไม่ ระบุหน้างานซ้ำซ้อนกับกมธ.ตำรวจ
เมื่อวันที่ 21 พ.ย.2567 ที่ห้องแถลงข่าว อาคารกระทรวงยุติธรรม ชั้น 2 ถ.แจ้งวัฒนะ หลักสี่ กทม. นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วยผู้บริหารกรมราชทัณฑ์ นายวรชัย บุตรดาบุตร เลขานุการกรมราชทัณฑ์ นายณรงค์ หนูคง ผู้ตรวจราชการกรมราชทัณฑ์ และ น.ส.วริศรา กุญชร ณ อยุธยา ผอ.กองกฎหมาย กรมราชทัณฑ์ ร่วมกันแถลงข่าวเกี่ยวกับการชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร กรณีการรักษาตัวของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่โรงพยาบาลตำรวจ วานนี้ (20 พ.ย.) อธิบดีกรมราชทัณฑ์ได้ไปราชการ ทำให้รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ที่รักษาการ จึงได้มีหนังสือลงวันที่ 20 พ.ย.2567 กราบเรียนไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎร และถึงคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ ทุกท่าน ถึงข้อกังวลในข้อกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร และระเบียบการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร
นายสมบูรณ์ กล่าวว่า ตนได้สอบถามไปยังกรมราชทัณฑ์ และขอสำเนาเอกสารมาพิจารณา จึงสรุปได้ดังนี้ ว่าสาเหตุที่กรมราชทัณฑ์ไม่เห็นพ้องด้วย โดยเห็นว่าไม่ใช่หน้าที่ของคณะกรรมาธิการชุดนี้ อันประกอบด้วย 3 ประการ คือ 1.กฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 129 วรรคสอง กำหนดให้คณะกรรมาธิการ กระทำกิจการสอบหาข้อเท็จจริงหรือศึกษาเรื่องใด ต้องเป็นเรื่องที่อยู่ในหน้าที่ และอำนาจตามระบุไว้ในการตั้งคณะกรรมาธิการ ซึ่งหมายความว่า คณะกรรมาธิการในสภามีหลายชุด แต่ละชุดจะมีการกำหนดกรอบอำนาจหน้าที่ไว้
ส่วนข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2529 ข้อ 90 (9) กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ ว่า คณะกรรมาธิการมีหน้าที่กระทำกิจการพิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องอันใดที่เกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ การค้าชายแดน จุดผ่านแดนถาวร จุดผ่านแดนชั่วคราว จุดผ่อนปรนเพื่อการค้า ช่องทางธรรมชาติ และช่องทางตามกฏหมายศุลกากร การเดินทางข้ามแดน การจัดการ และการดูแลงานข้ามแดน การส่งเสริมความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน และเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหา และการพัฒนาชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคง ทั้งเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมฯ
ดังนั้น นี่คือกรอบอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการชุดนี้ ถ้าโดยสรุปก็คือเกี่ยวกับเรื่องความมั่นคงของประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศฯ นี่คือประการแรกที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ นอกจากนั้น เมื่อเห็นว่าไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ ดังนั้น รัฐธรรมนูญ มาตรา 129 คณะกรรมาธิการต้องทำตามกรอบในหน้าที่ และอำนาจตามที่ระบุในการจัดตั้ง เพราะฉะนั้น เมื่อข้อบังคับของสภาผู้แทนฯ ข้อ 90 (9) เป็นเรื่องของคณะกรรมาธิการชุดนี้ได้กำหนดไว้ ทางกรมราชทัณฑ์จึงเห็นว่าเรื่องที่จะต้องไปให้ถ้อยคำข้อเท็จจริง จึงไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการชุดนี้
นายสมบูรณ์ กล่าวอีกว่า ส่วนเหตุผลที่ 2 ที่ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังประธานรัฐสภา และคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ คือ การทำเรื่องนี้เป็นการซ้ำซ้อนกับคณะกรรมาธิการชุดอื่นของสภาผู้แทนราษฎร เนื่องด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 129 วรรคสอง กำหนดว่า ในการกระทำกิจการของคณะกรรมาธิการ จะต้องไม่เป็นการทำซ้ำซ้อนกัน กรณีเรื่องใดที่มีความเกี่ยวข้อง ให้เป็นหน้าที่ของประธานสภาที่จะต้องดำเนินการให้กรรมการที่เกี่ยวข้องทุกชุดร่วมกันดำเนินการ ข้อบังคับการประชุมสภา ข้อ 90 วรรคสี่ และระเบียบการประชุมของสภาสภาผู้แทนราษฎร มีความชัดเจนว่าหลักเกณฑ์ และวิธีการสอบหาข้อเท็จจริง และที่มีความเกี่ยวข้องกันของคณะกรรมาธิการหลายคณะ สภาผู้แทนราษฎรมีระเบียบไว้โดยเฉพาะเลยว่าเรื่องใดเรื่องหนึ่งมันอาจเกี่ยวพันหลายคณะกรรมาธิการ ซึ่งข้อบังคับ และระเบียบของการพิจารณาเรื่องซ้ำซ้อนกันนี้ควรที่จะมีการรวมเรื่อง และพิจารณาเป็นเรื่องเดียวกัน ซึ่งต้องมีคนชี้ว่าเรื่องนี้จะอยู่ในคณะชุดใด และต้องตกลงว่าใครจะเป็นประธานการประชุม
นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการตำรวจยังได้เคยมีการเชิญเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ไปให้ข้อเท็จจริงเมื่อเดือนธันวาคม 2566 และคณะกรรมาธิการตำรวจยังได้มีการไปตรวจสอบยังสถานที่จริงเมื่อเดือนมกราคม 2567 ดังนั้น การกระทำของทางคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ จึงถือเป็นเรื่องซ้ำซ้อน และไม่เป็นไปตามบทบัญญัติกฎหมายรัฐธรรมนูญ ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร และระเบียบสภาผู้แทนราษฎรฯ ทั้งนี้ เมื่อกรมราชทัณฑ์เห็นว่าไม่อยู่ในอำนาจของคณะกรรมาธิการชุดนี้ หากว่ามีความเห็นเป็นที่ยุติว่าอยู่ในอำนาจของคณะกรรมาธิการชุดนี้ก็ตาม ก็ต้องรวมพิจารณาไปกับของคณะกรรมาธิการตำรวจไม่สามารถแยกได้ จึงเป็นเหตุผลหนึ่งอย่างที่ระบุไว้ในหนังสือที่ส่งไปยังประธานรัฐสภา
นายสมบูรณ์ กล่าวอีกว่า ส่วนประการที่ 3 ภายในหนังสือยังได้พูดถึงว่า ปัจจุบันนี้มีองค์กรอิสระ อย่างเช่น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ได้มีการไต่สวนรวบรวมข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ และมีการเชิญเจ้าหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ไปให้ปากคำ มีการขอพยานเอกสารจากกรมราชทัณฑ์ อีกทั้งยังมีในส่วนของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ได้มีการไปดูข้อเท็จจริง และไปดูสถานที่ นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้มีการทำความเห็นในเรื่องนี้ไว้แล้ว กรมราชทัณฑ์จึงมีความเห็นว่ากระบวนการตามกฏหมายรัฐธรรมนูญ เมื่อมีการตรวจสอบโดยองค์กรอิสระ ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้คุณให้โทษแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐดำเนินการอยู่แล้ว และระหว่างดำเนินการ ซึ่งเราให้ความเคารพและให้ความร่วมมือ ดังนั้น จึงอยากให้คำนึงว่าในปัจจุบันนี้ได้มีการดำเนินการตรวจสอบโดยองค์กรอิสระอยู่แล้ว
นายสมบูรณ์ กล่าวด้วยว่า หลายคนได้มีการโทรศัพท์มาสอบถามตน และบางส่วนมีการโทรศัพท์ไปสอบถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมว่าในวันพรุ่งนี้ที่มีกำหนดการให้เข้าไปชี้แจงกับคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ จะยังคงเดินทางไปหรือไม่ ซึ่งตนก็ไม่ได้เรียนถามท่านรัฐมนตรีตามตรง แต่แท้จริงแล้วรัฐมนตรีให้ความสำคัญต่องานในทุกภาคส่วนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับสภาผู้แทนราษฎร หากมีอะไรท่านมักให้ความร่วมมือเต็มที่ และที่ตนทราบดีเพราะตนทำงานเป็นที่ปรึกษามาสักระยะ แต่ตนก็เข้าใจในข้อกังวลของท่านเหมือนที่ท่านเข้าใจในข้อกังวลของกรมราชทัณฑ์ ว่าขณะนี้คณะกรรมาธิการชุดดังกล่าวทำถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับหรือไม่ และท่านก็ยังไม่ได้ให้คำตอบกับตนว่าพรุ่งนี้ท่านจะไปหรือไม่อย่างไร แต่ในส่วนของเจ้าหน้าที่รายอื่น ของราชทัณฑ์เอง หรือของ รพ.ตำรวจ ขอให้เป็นดุลพินิจของเจ้าหน้าที่แต่ละราย เราไม่ได้ไปบังคับว่าต้องไปหรือไม่ไป
ส่วนประเด็นที่หลายคนสงสัยว่าหากในวันพรุ่งนี้ไม่เข้าไปชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ จะเป็นข้ออ้างในเรื่องข้อกฎหมายเพื่อใช้ปกปิดในประเด็นใดหรือไม่นั้น นายสมบูรณ์ แจงว่า ปัจจุบันนี้หน่วยงานที่ตรวจสอบอย่างเข้มข้นก็กำลังดำเนินการอยู่ คือ สำนักงาน ป.ป.ช. ที่ได้มีการเรียกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ไปสอบถาม ซึ่งมีรายละเอียดละเอียดยิบย่อยจำนวนมาก จึงไม่มีสิ่งใดที่เราจะปกปิดได้แน่นอน เชื่อว่าหลาย ๆ หน่วยงานทั้ง ป.ป.ช. กสม. ผู้ตรวจการแผ่นดิน ฯลฯ ที่กำลังตรวจสอบและพิจารณา เราปิดบังไม่ได้ หน่วยงานอ่านเอกสารก็จะทราบว่าใครสั่งอะไร ใครทำหน้าที่อะไรบ้าง ทั้งนี้ เราพร้อมอยู่แล้ว แต่เราเเค่กลับมาทบทวนคำนึงถึงบทบาทของคณะกรรมาธิการชุดนี้ ว่ามันไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการปิดประตูการเชิญชี้แจงข้อเท็จจริงจากทางคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ เพราะมันเป็นเพียงความเห็นเบื้องต้นของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพราะเราได้ทำหนังสือท้วงติงไปแล้ว และคนที่จะชี้ได้ก็คือประธานรัฐสภาและคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ หากพิจารณาแล้วบอกว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของพวกเขาและแยกการพิจารณาออกจากคณะกรรมาธิการตำรวจ ก็เป็นดุลพินิจของท่าน ก็ให้ยืนยันมาเลยว่าทำถูกต้องแล้ว และหากประธานรัฐสภาส่งคำตอบกำหนดให้เราเข้าไปชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ เราก็พร้อมเข้าไปชี้แจง
นายสมบูรณ์ ระบุด้วยว่า หนังสือเชิญจากคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ ได้ถูกส่งมายัง รมว.ยุติธรรม และคณะผู้บริหารกรมราชทัณฑ์ เพื่อเชิญให้ข้อมูลระบุวันที่ส่งเอกสารวันที่ 14 พ.ย.67 และหนังสือมาถึงสำนักรัฐมนตรี วันที่ 15 พ.ย.67 จึงเชื่อว่ากรมราชทัณฑ์ คงได้รับหนังสือประมาณวันที่ 15 พ.ย.67 จึงทำให้เมื่อได้รับหนังสือแล้วจะต้องมีการทำความเห็นไปตามขั้นตอนเพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่จะไปโต้แย้งหรือไม่เห็นพ้องด้วยมันเป็นเรื่องที่ข้าราชการต้องระมัดระวัง
เมื่อถามว่าที่ไม่ไปชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการความมั่นคงฯ เป็นเพราะมีนายรังสิมันต์ โรม เป็นประธานกรรมาธิการหรือไม่ นายสมบูรณ์ ยืนยันว่า ไม่เกี่ยวกัน แต่ยอมรับว่าเมื่อมีหน่วยงานตรวจสอบ ก็ต้องกลัวเป็นธรรมดา แต่ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ จำเป็นต้องมีการชี้แจงอยู่แล้ว ความกลัวมันขจัดหน้าที่ความรับผิดชอบไม่ได้อยู่แล้ว แต่ถ้าทบทวนและพบว่าไม่ได้เป็นหน้าที่ตามกรอบกฎกรอบกฎหมาย หากเราไม่โต้แย้งมันจะถูกต้องหรือไม่ ดังนั้น จึงต้องให้ประธานสภาเป็นคนชี้ว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการชุดนี้
"แต่เห็นในเบื้องต้นว่าไม่อยู่ในกรอบอำนาจหน้าที่กมธ.มั่นคงฯจึงทำหนังสือไป ซึ่งคนที่จะชี้คือประธานสภาฯ หาก กมธ.ยืนยันทำถูกต้องแล้ว ประธานฯชี้ก็ต้องไป ทุกหน่วยในกระทรวงยุติธรรม อยากให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ แต่ไม่สบายใจว่าทำตามกรอบอำนาจตามกฎหมายหรือไม่ หากไม่มีประเด็นข้อกฎหมาย ข้อบังคับระเบียบ เราก็พร้อมไปชี้แจง เราเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเมื่อเห็นว่าไม่อยู่ในกรอบอำนาจกฎหมาย จึงเลือกทำหนังสือถึงประธานสภาฯให้ประธานชี้ก็จบ"
ต่อข้อถามว่าหากไม่ไปพบกมธ.ฯพรุ่งนี้จะถูกมองว่ากลัวนายรังสิมันต์ โรม หรือไม่ นายสมบูรณ์ กล่าวว่า ก็คงกลัวเนอะ ในฐานะถูกตรวจสอบใครจะบอกไม่กลัว คงไม่ได้ แต่ ความกลัวหรืออะไรก็ตามขจัดหน้าที่รับผิดชอบไม่ได้ หน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐเมื่อทำแล้วก็ต้องชี้แจงให้ได้
ต่อข้อถามว่ากังวลหรือไม่ว่า การยกเรื่องอำนาจของกมธ.มาแถลงครั้งนี้ อาจถูกมองว่า ไม่มีหลักฐานไปชี้แจง นายสมบูรณ์ กล่าวว่า วันนี้ รมว.ยธ.มอบหมายให้มาแถลงเพื่อให้รับทราบชี้ข้อกังวลของกระทรวงยุติธรรม ยังไม่ได้ตอบว่าไม่ไป พรุ่งนี้ก็อาจมีไปก็ได้ เป็นดุลยพินิจแต่ละบุคคล กระทรวงไม่ได้ห้ามใครไป และเมื่อเป็นการเรียกรายบุคคล จึงจะไม่มีการส่งตัวแทนไป
ส่วนข้อถามว่าเป็นการตอกย้ำว่ากระทรวงยุติธรรมเอิ้อประโยชน์ให้นายทักษิณนั้น นายสมบรูณ์ กล่าวว่า เหตุจบไปแล้ว ตอนนี้เป็นการตรวจสอบ ไม่ได้เอื้ออะไร
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี