อย่าเสี่ยงดันทุรัง!!! "ทนายเชาว์"กางข้อกฎหมายชี้ชัด "กิตติรัตน์"นั่ง"ปธ.บอร์ดแบงก์ชาติ"ไม่ได้
เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 นายเชาว์ มีขวด ทนายความและอดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์กับรายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ในประเด็นที่คณะกรรมการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งประธานประธานคณะกรรมการ หรือบอร์ด ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แม้จะลงมติเสนอชื่อ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แล้วแต่ยังไม่ส่งรายชื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ว่า ตนติดตามเรื่องนี้มาตลอด
โดยตั้งแต่เดือน พ.ค. 2567 ที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ซึ่งขณะนั้นยังไม่ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาบริภาษ ธปท. ซึ่งตนก็โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กว่าทำแบบนี้ไม่ถูกต้อง ขณะเดียวกัน ยังเห็นท่าทีของพรรคเพื่อไทยที่พยายามจะเข้าไปก้าวก่ายการทำงานของ ธปท. เพื่อที่จะได้สามารถทำนโยบายประชานิยมตามที่เคยหาเสียงไว้ได้โดยไม่มีอุปสรรคขัดขวาง จากนั้นก็มีข่าวเล็ดรอดออกมาตลอด จนกระทั่งมาถึงการเลือกประธานและกรรมการบอร์ดของ ธปท. ที่มีข่าวว่าจะเสนอชื่อนายกิตติรัตน์
ซึ่งตนก็มองว่าภาพของนายกิตติรัตน์แยกไม่ออกจากพรรคเพื่อไทย เพราะมีบทบาทกับพรรคมาโดยตลอด เคยมีตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เคยเป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีในรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ทำให้ตนไปศึกษา ระเบียบว่าด้วยการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 กำหนดคุณสมบัติไว้หลายข้อ
โดยเฉพาะในข้อ 16 เป็นเรื่องของข้อห้าม ซึ่งในข้อ (4) ระบุว่า เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี ซึ่งเมื่อย้อนไปดูช่วงที่นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งนายกิตติรัตน์เป็นประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นการเลี่ยงบาลี มีคำว่า “ของ” เพิ่มมา เพราะเวลานั้นมีการแต่งตั้งประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีไว้แล้ว
ซึ่งนายเศรษฐา มีคำสั่งนายกฯ ที่ 234/2566 เรื่อง แต่งตั้งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (6) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 โดยเมื่อเทียบกับคำสั่งนายกฯ ที่ 317/2567 ซึ่งออกโดย น.ส.แพทองธาร เรื่อง แต่งตั้งคณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี จะพบว่า อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (6) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 เช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ ตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นข้าราชการการเมือง ระบุหน้าที่คือเพื่อให้คำปรึกษาและพิจารณาเสนอความเห็นหรือข้อเสนอแนะต่างๆ ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย และเมื่อไปดูการระบุหน้าที่ในตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ก็จะพบการใช้ถ้อยคำแบบเดียวกัน โดยการเติมคำว่า “ของ” เข้ามา ก็เพื่อจะไปตีความกันเองว่าไม่เข้าข่ายเป็นข้าราชการการเมือง ทั้งที่มีบทบาทหน้าที่เหมือนกัน
หรือกรณีที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีที่เป็นข้าราชการการเมือง ที่ให้ส่วนราชการสนับสนุนการดำเนินงานของคณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรีตามที่ได้รับการร้องขอ และให้สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรีอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี สำหรับค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารหรือการดำเนินการต่างๆ ให้เป็นไปตามระเบียบของทางราชการ โดยให้เบิกจ่ายจากงบประมาณของสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ที่บอกว่าเป็นตำแหน่งลอยๆ ก็ใช้ถ้อยคำเดียวกัน
“ที่อ้างว่าที่ปรึกษาลอย ที่ปรึกษาส่วนตัวของนายกฯ มีข้อความเช่นเดียวกันเลย ไม่ได้ผิดแผกแม้แต่ตัวอักษรเดียว แล้วจะให้ตีความได้อย่างไรว่าไม่มีอำนาจหน้าที่ แล้วที่สำคัญที่สุด ผมมองว่าการที่คุณกิตติรัตน์ถูกแต่งตั้งขึ้นมา แต่งตั้งโดยอาศัยอำนาจของกฎหมาย ไม่ใช่แต่งตั้งขึ้นมาลอยๆ โดยที่ไม่มีอำนาจรองรับ ต้องอ้างถึงระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ปี พ.ศ.2534 ข้อ 11 (6) เหมือนกันเลยกับตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี” นายเชาว์ กล่าว
นายเชาว์ กล่าวต่อไปว่า เนื้อหาของคำสั่ง เรื่องอำนาจหน้าที่ โดยเฉพาะที่มาของคำสั่งที่ต้องอาศัยบทบัญญัติของกฎหมายในการแต่งตั้ง และคำสั่งนายกรัฐมนตรีหรือคำสั่งรัฐมนตรีก็ถือเป็นกฎหมายที่หน่วยงานต่างๆ ต้องปฏิบัติตาม แต่เป็นกฎหมายลำดับรองจากพระราชบัญญัติ หรือพระราชกฤษฎีกา อนึ่ง ในทางพฤตินัย ตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี อาจมีอำนาจมากกว่าตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีที่เป็นข้าราชการการเมืองเสียอีก เพราะต้องเลือกใช้คนที่ไว้ใจได้และเป็นผู้เชี่ยวชาญจริงๆ มาอยู่ใกล้ตัว
ในขณะที่ตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี อาจเป็นตำแหน่งที่มีข้อจำกัดเรื่องโควตา เพราะต้องให้บุคคลที่พลาดจากตำแหน่งรัฐมนตรีมาอยู่ในตำแหน่งนี้ ตนจึงชี้ช่องให้เห็นว่า หากมีการพิจารณากันจริงๆ ศาลจะไต่สวนถึงอำนาจหน้าที่ และที่มาของการแต่งตั้งว่าอาศัยคำสั่งใด ตามบทบัญญัติกฎหมายใด ส่วนที่ก่อนหน้านี้ นายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกฯ ในช่วงที่ไปรับตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ในสมัยรัฐบาลนายเศรษฐา เคยบอกว่าตนเองไม่ใช่ข้าราชการการเมือง เรื่องนี้ก็พูดได้ แต่หากไปดูในเนื้อหาของการแต่งตั้ง ตนว่าข้อเท็จจริงระบุชัด
นอกจากนั้น ตนยังศึกษาความเห็นของกฤษฎีกา ที่เคยพิจารณาในเรื่องนี้ เป็นเรื่องเสร็จที่ 139/2547 คำว่าเรื่องเสร็จหมายถึงพิจารณาเสร็จแล้ว ได้ให้คำจำกัดความของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกับข้าราชการการเมืองไว้ชัดมาก ว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจึงมีความหมายกว้างกว่าข้าราชการการเมือง โดยอ้างอิงบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องการดำรงตำแหน่งทางการเมืองของกรรมการและผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นการพิจารณาโดยที่ประชุมใหญ่ของคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยอยู่ในเรื่องเสร็จที่ 481/2535 ที่มีคำวินิจฉัยในทำนองเดียวกัน
“ถามว่าถ้าคุณกิตติรัตน์ไม่ถูกแต่งตั้งขึ้นมา คุณกิตติรัตน์จะถูกเรียกว่าเป็นประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีหรือไม่ มันต้องอาศัยรากของการแต่งตั้งขึ้นมา ว่าถ้าแต่งตั้งขึ้นมาแล้วมีตำแหน่ง ไม่ใช่นายกิตติรัตน์ธรรมดาแล้ว เป็นนายกิตติรัตน์สามารถจะเรียกข้าราชการมาประชุม ข้าราชการต้องอำนวยความสะดวก และสำนักเลขาฯ นายกรัฐมนตรี ต้องตั้งเบิกงบประมาณให้ไปดำเนินการในเรื่องต่างๆ ตามที่นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งไว้” นายเชาว์ ระบุ
นายเชาว์ ยังกล่าวอีกว่า การที่นายกิตติรัตน์จะได้เป็นประธานบอร์ด ธปท. ยากหรือไม่ยาก ให้ดูท่าทีของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถามว่าเหตุจึงไม่เสนอชื่อนายกิตติรัตน์เข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุม ครม. ก็เห็นได้ชัดว่าไม่กล้าเสนอ เพราะเสนอไปแล้วผู้ที่มีมติเห็นชอบซึ่งก็คือ ครม. หากไม่มีการท้วงติงเรื่องคุณสมบัติ ส่วนที่ถามว่า จะเทียบเคียงกับกรณีที่นายเศรษฐา แต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้หรือไม่ ตนมองว่าเทียบได้ แต่ต้องดูว่ายังคงดันทุรังหรือไม่ ก็จะเข้าเรื่องฝ่าฝืนจริยธรรม
อย่างไรก็ตาม กรณีแต่งตั้งนายพิชิต จุดสำคัญคือไม่ได้มีการนำข้อห้ามและข้อเท็จจริงของนายพิชิตโดยตรงไปปรึกษากฤษฎีกา โดยเลี่ยงไปถามเรื่องโทษจำคุกโดยคำพิพากาษาของศาล แต่กรณีของนายกิตติรัตน์ตนมองว่าบางกว่ากรณีของนายพิชิต ต้องให้ลึกกว่านี้ในการยื่นเรื่องเพื่อดำเนินการถอดถอน ครม. หรือนายกฯ ในลำดับต่อไป ส่วนคณะกรรมการสรรหาประธานบอร์ด ธปท. ทั้ง 7 คน มีหน้าที่โดยตรง ก็ต้องไปดูว่าตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ และหากเคยเป็นแล้วพ้นจากตำแหน่งมาเกิน 1 ปีหรือยัง
ซึ่งตามข้อเท็จจริง นายเศรษฐา พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 14 ส.ค. 2567 ทำให้นายกิตติรัตน์ที่นายเศรษฐาแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาต้องพ้นจากตำแหน่งไปด้วย หากนับจนถึงวันที่ 11 พ.ย. 2567 ที่คณะกรรมการสรรหาเลือกนายกิตติรัตน์เป็นประธานบอร์ด ธปท. ก็ยังไม่ถึง 3 เดือน ก็คือไม่ถึง 1 ปี ขาดคุณสมบัติแน่นอน และคณะกรรมการที่เห็นข้อห้ามแล้วยังดันทุรังเลือกนายกิตติรัตน์ ก็อาจต้องรับผิดชอบทางกฎหมายด้วย เช่น ความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
ขอบคุณเรื่องจาก : https://www.youtube.com/watch?v=sXe5IaJRhKU
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี