‘จาตุรนต์’ชี้ สว.ส่อเจตนาไม่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญ ห่วงอนาคต เสียง สว.ไม่ครบ 1ใน3
เมื่อวันที่ 21 พ.ย.2567 นายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ กล่าวถึงมติเสียงส่วนใหญ่ของคณะกรรมาธิการ ให้คงไว้ตามที่วุฒิสภาแก้ไข คือใช้หลักเกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น ซึ่งมีแนวโน้มว่าเมื่อส่งกลับไปให้แต่ละสภาพิจารณา ฝั่งสภาผู้แทนราษฎรจะไม่เห็นด้วยจนมีผลให้ต้องรอ 180 วัน แต่ปัญหาไม่ได้มีแค่ความล้าช้าในการแก้รัฐธรรมนูญ แต่การลงมติของ กมธ.ที่มีผลเช่นนี้ คือเสียงข้างมาก 13 ต่อ 9 ซึ่งเสียงข้างมากทุกเสียงมากจากกมธ. ฝั่ง สว. สะท้อนว่าปัจจัยที่จะทำให้การแก้รัฐธรรมนูญเกิดขึ้นยากมากคือจำนวนเสียงของ สว.ที่จะไม่ครบตามเงื่อนไขที่ต้องมีมากกว่า 1 ใน 3
โดยนายจาตุรนต์ กล่าวว่า ถ้าเอาตามร่างของสว.ก็ไม่ต้องรอ 180 วัน แต่จะมีปัญหาว่าพอไปทำประชามติแล้ว โอกาสไม่ผ่านจะสูงมาก และส่งผลให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่เกิดขึ้นอีกเลย เพราะฉะนั้นสภาผู้แทนราษฎรจึงต้องยืนยันเสียงของตนที่เคยลงมติเป็นเอกฉันท์ให้การทำประชามติมีเพียงชั้นเดียว จึงจำเป็นต้องไม่เห็นชอบ และเมื่อครบ 180 วันก็มายืนยันร่างของสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง
“แม้อาจจะทำให้ช้า และไม่สามารถลงประชามติได้ทันการเลือกตั้งนายก อบจ.ในต้นปีหน้า แต่เราไม่มีทางเลือก ต้องปล่อยให้ช้าและค่อยไปแก้ปัญหากัน เช่น ทำให้ผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมา โดยกระบวนการทั้งหมดนี้อาจเสร็จไม่ทันในอายุของสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ แต่ก็อาจจะเขียนไว้ให้มีผลข้ามไปถึงสภาผู้แทนราษฎรสมัยหน้าก็อาจทำได้” นายจตุรนต์ กล่าว
สิ่งที่นายจาตุรนต์เน้นย้ำคือความล่าช้านี้ไม่ใช่ปัญหาเดียวของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ที่น่าเป็นห่วงคือการที่กรรมาธิการร่วมมีมติออกมาเช่นนี้ ทำให้เห็นเจตนาที่ชัดเจนของกมธ.ฝั่งสว.ที่ต้องการให้กฎหมายประชาติมี 2 ชั้น ซึ่งจะมีผลทำให้การแก้รัฐธรรมนูญไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นที่เราต้องมองข้ามไปก็คือว่าในขั้นที่มีการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญกันในรัฐสภา จะมีเสียงของสว.เกิน 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกวุฒิภาหรือไม่ และถ้ามีไม่พอก็เท่ากับว่าเราจะยังแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อให้มีส.ร.ร.และมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาไม่ได้
ในอนาคตแม้ พ.ร.บ.ประชามติจะกลับมามีเนื้อหาตามที่สภาผู้แทนราษฎรต้องการ และทำให้การทำประชามติมีโอกาสผ่านสูงขึ้นก็จริง แต่ประชามติครั้งแรกจะไม่มีผลผูกพันตามกฎหมาย และพอถึงเวลาพิจารณากันในรัฐสภาถ้าไม่มีเสียงครบตามเงื่อนไข โดยเฉพาะถ้าไม่มีเสียงของสว.เกินกว่า 1 ใน 3 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นก็จะตกไป
ดังนั้นสิ่งที่สังคมไทยจะช่วยกันคิดก็คือประชาชนจะต้องสื่อสารกับพรรคการเมืองทั้งหลายให้ช่วยกันหาทางที่จะผลักดันการแก้รัฐธรรมนูญให้สำเร็จลุล่วงให้ได้ และช่วยกันส่งเสียงกับสมาชิกวุฒิสภาให้พวกเขาเห็นด้วยว่าประเทศไทยมีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญกันขนานใหญ่ เพราะรัฐธรรมนูญที่มาจากการยึดอำนาจรัฐประหาร และมีเนื้อหาที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างมากนี้จะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาบ้านเมืองต่อไป
“เราจะต้องได้เสียง สว.เกินกว่า 1 ใน 3 มาร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญ” อันนี้คือจุดสำคัญที่ต้องมาช่วยกันคิดตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี