"ไอติม"อ้างหารือ"ประธานศาลรธน." ได้คำตอบชัดทำประชามติแก้รธน.2 ครั้ง เร่งหารือประธานสภาฯพุธหน้าหวังทบทวน มั่นใจถ้ายึดโรดแมปทำประชามติ 2 ครั้ง กรอบ 180 วันไม่เป็นปัญหา
เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 ที่บริเวณหน้าศาลรัฐธรรมนูญ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะประธานกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน ให้สัมภาษณ์ภายหลังเข้าร่วมหารือกับประธานศาลรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมแบบไม่เป็นทางการ ความเห็นที่ออกมาจึงไม่ใช่ความเห็นที่เป็นทางการของศาลรัฐธรรมนูญ และไม่ได้พบกับตุลาการทั้งคณะ แต่พบกับประธานศาลรัฐธรรมนูญ และผู้เข้าร่วมประชุม สิ่งที่พูดคุยกัน จึงเป็นความเห็นของผู้เข้าร่วมประชุม ไม่ใช่ความเห็นของทั้งองค์คณะ โดยจัดการหารือพบว่าเราได้มีการทบทวนคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ซึ่งระบุไว้ชัดไว้ในย่อหน้าสุดท้ายว่ามีการพูดถึงประชามติ 2 ครั้ง คือ 1 ครั้งก่อน และ 1 ครั้งหลัง การหารือกันของความหมายดังกล่าวก็ไม่ได้มีการแสดงความเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องทำประชามติถึง 3 ครั้ง
ส่วนการทำประชามติทั้งก่อนและหน้าหลัง ขั้นตอนจะเป็นเช่นไรเป็นสิ่งที่ทางรัฐสภาต้องตัดสินใจร่วมกัน แต่ข้อเสนอที่พรรคประชาชน และพรรคเพื่อไทย เคยพูดมาก่อนหน้านี้ คือให้ทำประชามติ 2 ครั้ง โดยใช้วิธีการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพิ่มหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เข้าไป หากผ่าน 3 วาระ ของรัฐสภาแล้วก็จะต้องมีการทำประชามติครั้งแรก เพื่อถามว่าประชาชนเห็นชอบกับแนวทางดังกล่าวหรือไม่ ก่อนจะมีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วจึงทำประชามติครั้งที่ 2 เพื่อถามว่าประชาชนจะเห็นชอบกับเนื้อหาที่ถูกจัดทำมาในฉบับใหม่หรือไม่ ซึ่งจากการหารือก็ดูแล้วเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ดังนั้นก็จะนำแนวทางนี้ไปหารือกันประธานรัฐสภาในวันพุธหน้า (27 พ.ย.) เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยหวังว่าประธานรัฐสภาจะได้มีการทบทวนและบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเพิ่มหมวด 15/1 เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาก็จะเป็นโอกาสที่ดีที่ทำให้มีการพิจารณามุมมองต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และถ้าหากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบจากทางรัฐสภามาได้ ก็จะมีการจัดทำประชามติหลังจากที่ผ่านวาระที่ 3
เมื่อถามว่า ผลการหารือในครั้งนี้ทำให้มั่นใจมากขึ้นหรือไม่ว่า หากมีผู้นำเรื่องกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญมายื่นให้ศาลรัฐธรรมนูวินิจฉัย การวินิจฉัยก็จะเป็นคุณมากกว่าโทษ นายพริษฐ์ กล่าวว่า อย่างที่บอกว่าการหารือไม่มีใครแสดงความคิดเห็น ว่าจำเป็นต้องทำประชามติ 3 ครั้ง คำวินิจฉัยที่ 4/2564 ก็พูดถึงการทำประชามติแค่ 2 ครั้ง แต่ 2 ครั้งจะเกิดขึ้นตอนไหน อย่างที่บอกว่าพรรคประชาชนและพรรคเพื่อไทย เสนอไปก็สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จึงคิดว่าผลของการหารือดังกล่าวจะนำไปสู่การพูดคุยกับทางสภาให้ทบทวนและบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็คิดว่าทางรัฐสภาก็จะเดินหน้าพิจารณาได้ แต่แน่นอนว่าเป็นสิทธิบางกลุ่มอาจจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นเราจะไปคาดการณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์คำวินิจฉัยที่จะออกมาคงไม่ได้ แต่ก็เชื่อว่าผลที่ออกมาจะยืนยันว่าสิ่งที่เราเสนอนั้นไม่ได้ขัดต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564
เมื่อถามว่า นอกจากเรื่องดังกล่าวได้มีการหาถึงเรื่องอื่นๆที่ยังติดใจอยู่หรือไม่ นายพริษฐ์ กล่าวว่า สิ่งที่หารือเป็นหลักคือคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 และคิดว่าการที่ได้รับความชัดเจนในเรื่องนี้เป็นปัจจัยที่สำคัญ ในการที่จะทำให้เราสามารถจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ทำต่อการเลือกตั้งครั้งถัดไป
ส่วนที่มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่สภาจะเสนอให้มีการตีความว่ากฎหมายประชามติเข้าข่ายเป็นกฎหมายการเงิน เพื่อที่จะได้ไม่ต้องรอ 180 วัน ตามที่ นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เสนอ นายพริษฐ์ กล่าวว่า คงต้องไปดูในรายละเอียด ตนยังไม่ทราบรายละเอียดที่นายชูศักดิ์เสนอ จึงขอไม่ให้ความเห็น แต่ถ้ามีการเสนอพรรคประชาชน ในฐานะพรรคการเมืองในสภา ก็ต้องมีความเห็นในเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่ในภาพรวมขณะนี้หลายคนก็กังวลใจว่า เมื่อข้อสรุปของกรรมาธิการร่วมเห็นชอบร่างของ สว.เมื่อส่งกลับมาที่ สส. สภาผู้แทนฯ อาจยืนยันในหลักการเดิม คือ ใช้เสียงข้างมากหนึ่งชั้น ถ้าหากเป็นเช่นนั้นร่าง พ.ร.บ.ประชามติจะต้องถูกชะลอไป 180 วัน ซึ่งถ้าจะยึดตามแผนเดิมให้มีประชามติ 3 ครั้ง และจะไม่จัดครั้งแรก จนกว่า พ.ร.บ.ประชามติ จะแก้ไขเสร็จสิ้น แน่นอนว่าก็จะกระทบต่อกรอบเวลา แต่ถ้าผลสรุปที่ได้จากวันนี้สามารถทำให้เราโน้มน้าวทุกฝ่าย หันมาใช้โรดแมป ในการทำประชามติ 2 ครั้ง ก็คิดว่า พ.ร.บ.ประชามติ จะล่าช้า จะไม่กระทบต่อไทม์ไลน์ดังกล่าว เพราะถ้าเราทำประชามติ 2 ครั้ง ขั้นตอนแรกไม่ใช่เป็นการจัดทำประชามติเลย แต่เป็นการรัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับ สสร.และการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ใน 3 วาระของรัฐสภา ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในระดับหนึ่ง แต่หากเราดำเนินการตามขั้นตอนแบบนี้ 6 เดือนที่ชะลอไปก็คงจะไม่กระทบไทม์ไลน์ตรงนี้ พูดง่ายๆ คือ ถ้าเราไม่อยากให้ความล่าช้าของ พ.ร.บ.ประชามติ เป็นปัญหา ก็หันมาใช้กลไกหรือโรดแมปประชามติ 2 ครั้ง ก็น่าจะเป็นทางออกที่ดี
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี