เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2567 จากกรณีที่ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความอิสระ นำเอกสารทั้งคำร้องและพยานหลักฐาน 5,080 แผ่น ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้วินิจฉัยสั่งการให้ นายทักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคเพื่อไทย ผู้ถูกร้องที่ 2 เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพอันจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49
โดยยก 6 พฤติการณ์ ที่เห็นว่าเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบัน ดังนี้ 1.นายทักษิณใช้พรรคเพื่อไทย เป็นเครื่องมือในการสั่งรัฐบาลผ่านกระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ไม่ต้องรับโทษจำคุกอยู่ในเรือนจำแม้แต่วันเดียว โดยไปพักอยู่ชั้น 14 ของโรงพยาบาลตำรวจ 2.นายทักษิณมีพฤติกรรมฝักใฝ่คบหาร่วมคิดกับสมเด็จฯ ฮุน เซน อดีตนายกฯ ของประเทศกัมพูชา และควบคุมการบริหารของรัฐบาลผ่านพรรคเพื่อไทย โดยการเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ก๊าซธรรมชาติและทรัพยากรใต้ทะเล ในเขตพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทยกัมพูชาในลักษณะเอื้อประโยชน์ให้กับทางกัมพูชา ทั้งที่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นอธิปไตยของประเทศไทย
3.นายทักษิณสั่งให้พรรคเพื่อไทยร่วมมือกับพรรคประชาชนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 4.นายทักษิณมีพฤติกรรมเป็นเจ้าของ ครอบครอง ครอบงำ เป็นผู้สั่งการแทนพรรคเพื่อไทยในการเจรจากับพรรคการเมืองที่ร่วมรัฐบาล เพื่อเสนอบุคคลผู้สมควรเป็นนายกฯ คนใหม่ เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ที่บ้านพักจันทร์ส่องหล้า หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีของ นายเศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดลง 5.นายทักษิณมีพฤติกรรมเป็นเจ้าของ ครอบงำ และสั่งการให้พรรคเพื่อไทย มีมติขับพรรคพลังประชารัฐออกจากพรรคร่วมรัฐบาล โดยพรรคเพื่อไทยยินยอมตามที่สั่ง และ 6.นายทักษิณมีพฤติการณ์เป็นผู้ครอบงิและสั่งการให้พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลนำนโยบายที่นายทักษิณได้แสดงวิสัยทัศน์ไว้เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567 ไปเป็นนโยบายของคณะรัฐมนตรี ที่แถลงไว้ต่อรัฐสภาในวันที่ 12 กันยายน 2567
ทั้งนี้ ก่อนหน้าที่จะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ นายธีรยุทธได้ไปยื่นคำร้องผ่านทางอัยการสูงสุดมาแล้ว แต่เมื่อครบกำหนด 15 วัน ทางอัยการสูงสุดไม่ได้ดำเนินการส่งคำร้องมาให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย จึงใช้สิทธิในฐานะประชาชนมายื่นคำร้องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุนี้ทางคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจึงเห็นว่าเพื่อประโยชน์แก่การพิจารณาว่าจะรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยหรือไม่ จึงมีหนังสือแจ้งอัยการสูงสุด เพื่อขอทราบว่าได้ดำเนินการตามคำร้องอย่างไร รวบรวมพยานหลักฐานได้เพียงใด โดยขีดเส้นส่งหนังสือตอบกลับภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือ
ขณะที่ นายไพรัช พรสมบูรณ์ศิริ อัยการสูงสุด (อสส.) ได้ลงนามตอบถ้อยคำต่อศาลรัฐธรรมนูญเป็นที่เรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา มีรายงานว่า ได้ส่งเป็นรายละเอียดการสอบถ้อยคำ ทั้งทางฝั่งผู้ร้องและผู้ถูกร้อง หลังจากส่งหนังสือเชิญ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ฝั่งผู้ร้อง และ นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตัวแทนฝั่งผู้ถูกร้อง มาชี้แจง โดยไม่ได้เชิญนายทักษิณ มาชี้แจง
ทั้งนี้ ขั้นตอนหลังจากนี้ทางสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจะต้องสรุปเอกสารและเสนอเรื่องเข้าสู่วาระการประชุมขององค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณารับหรือไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยหรือไม่ ซึ่งกำหนดเดิมองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะหยิบยกคำร้องดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาในการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประจำสัปดาห์ เมื่อวันพุธที่ 13 พ.ย.แต่เนื่องจากมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญติดภารกิจราชการต่างประเทศ และวันพุธที่ 20 พ.ย.ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีภารกิจราชการในประเทศ จึงจะมีการพิจารณาว่าจะรับคำร้องดังกล่าวไว้วินิจฉัยหรือไม่ ในวันศุกร์ที่ 22 พ.ย.นี้ ดังนั้น ในวันที่ 22 พ.ย.ถือเป็นด่านแรกจะต้องจับตาลุ้นกันว่าผลการพิจารณาของศาลจะออกมาอย่างไร แม้ประเด็นนี้ผู้ร้องจะยื่นขอให้ศาลสั่งเลิกการกระทำเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพอันจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองฯ เท่านั้นก็ตาม
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี