ศปช.เตรียมเสนอแผนแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและดินโคลนถล่มพื้นที่ภาคเหนือ ต่อที่ประชุม ครม.สัญจร 29 พ.ย.นี้ กำหนดแผนดำเนินการ 1 ม.ค.-31 พ.ค.68
เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2567 ที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานประชุมศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) ครั้งที่ 4/2567
นายภูมิธรรม กล่าวก่อนการประชุมว่า วันนี้ประชุมศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ได้มีหารือกรอบแนวทางการแก้ไขการทำงานต่อเนื่อง เรื่องของดินถล่มและอุทกภัยที่จังหวัดเชียงใหม่และเชียงรายถือเป็นสถานการณ์อุทกภัยที่หนักมากในหลาย 10 ปี ซึ่งขณะนี้สภาพอากาศทางภาคเหนือไม่มีฝน แต่ในส่วนของภาคใต้จากที่ได้รับรายงานยังมีพายุฝนมากกว่าปกติ ดังนั้น ขอให้ทุกหน่วยงานได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุทกภัยรุนแรงที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานกองทัพให้ความช่วยเหลือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย พร้อมกันนี้ รองนายกฯ ขอบคุณฝ่ายพลเรือน กองทัพ หน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน และมูลนิธิต่างๆ ที่ช่วยกันสรรพกำลังระดมให้ความช่วยเหลือประชาชนทั้งความสามัคคีที่ทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่รวดเร็ว และประชาชนมีความอุ่นใจในการได้รับความช่วยเหลือครั้งนี้ด้วย
โดยที่ประชุมได้พิจารณาและเห็นชอบในประเด็นสำคัญ ถึงแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และดินโคลนถล่มในพื้นที่ภาคเหนือ ดังนี้
1.รับทราบการแต่งตั้งคณะทำงานศึกษาวางแผนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และดินโคลนถล่มในพื้นที่ภาคเหนือ
2.รับทราบสรุปผลการประชุมและผลการดำเนินงานภายใต้คำสั่งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.)
3.รับทราบรายงานการให้ความช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยวาตภัย และดินโคลนถล่ม ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567
4.เห็นชอบการดำเนินงานของคณะทำงานศึกษาวางแผนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และดินโคลนถล่มในพื้นที่ภาคเหนือ
5.เห็นชอบหลักการมาตรการให้ความช่วยเหลือเยียวยาฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่มของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อนำไปใช้ในการจัดหาวัสดุอุปกรณ์การศึกษา เครื่องแบบ ตลอดจนซ่อมแซมสถานศึกษา และให้ ศธ.หารือกับ กค.เพื่อหาข้อสรุปเรื่องความซ้ำซ้อนในการเบิกจ่ายงบประมาณก่อนเสนอ ครม.ต่อไป
6.เห็นชอบแผนการดำเนินงานการขุดลอกเพื่อการป้องกันปัญหาน้ำท่วมในแม่น้ำระหว่างประเทศ (ไทย - พม่า)
ภายหลังการประชุม รองนายกรัฐมนตรีกล่าวให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า จะนำข้อสรุปแผนรองรับสถานการณ์อุทกภัยในปี 2568 เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ที่จังหวัดเชียงใหม่ในวันที่ 29 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งคณะทำงานฯ เห็นชอบในหลักการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า รวมถึงงานเอกสารที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณที่จะนำมาใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาเยียวยาให้ได้ภายในเดือนธันวาคมและวางแผนการดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2568 เพื่อเตรียมการรองรับสถานการณ์ฤดูฝน ซึ่งจะต้องทำงานให้เต็มที่ตามกรอบเวลาที่ได้กำหนดไว้
รองนายกรัฐมนตรีได้พูดถึงประเด็นการขุดลอกลำน้ำคูคลองแม่น้ำปิงและแม่น้ำกก ว่าได้มอบหมายให้หน่วยทหารพัฒนารับผิดชอบเข้าไปขุดลอกเป็นหน่วยปฏิบัติการ ส่วนทางเลขาคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาจะทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงาน อีกทั้ง กระทรวงมหาดไทยจะต้องเคลียร์ปัญหาเรื่องพื้นที่รุกล้ำ เวนคืน และต้องสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนในพื้นที่
ส่วนแม่น้ำสายเป็นแม่น้ำระหว่างประเทศจะต้องมีการพูดคุยกับประเทศเมียนมา ซึ่งกองบัญชาการทหารสูงสุดได้รับมอบหมายให้ดำเนินการพูดคุยกับทางประเทศเมียนมาเรียบร้อยแล้ว โดยทางประเทศเมียนมายินดีให้ดำเนินการขุดลอกพื้นที่ร่วมกัน ทั้งนี้ ได้มีการตกลงกันเบื้องต้นแล้ว อยู่ระหว่างการดำเนินการในข้อกฎหมายระหว่างประเทศให้เสร็จสิ้น
ในเรื่องการบุกรุกลำน้ำ ได้มอบหมายให้กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย และจังหวัดรับผิดชอบในการดำเนินการเคลียร์พื้นที่ โดยเฉพาะแม่น้ำสายที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่บุกรุกจนทำให้เหลือทางน้ำไหลผ่านน้อยลง ทั้งนี้ จะต้องมีการหาทางออกให้กับประชาชนในพื้นที่นั้นด้วย โดยจะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในเดือนธันวาคมนี้
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี