'พริษฐ์'เผยหลังเข้าพบ'ปธ.สภาฯ'ย้ำทำประชามติ 2 ครั้งเพียงพอ ชงเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ด้าน‘วันนอร์’ให้ยื่นร่างแก้ไข รธน. เพิ่มหมวด‘ส.ส.ร.’เข้ามาใหม่อีกครั้ง
เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2567 ที่รัฐสภา นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยภายหลังการร่วมหารือกับนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เกี่ยวกับกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า วันนี้เป็นการประชุมหารือกันระหว่างคณะกรรมการธิการฯ และประธานรัฐสภาเกี่ยวกับเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยข้อถกเถียงหลักอย่างหนึ่งเกี่ยวกับกระบวนการนี้ คือเรื่องจำนวนในการทำประชามติ ในส่วนของกฎหมาย หรือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งกำหนดไว้ให้ต้องทำอย่างน้อย 2 ครั้ง หรือ 3 ครั้งนั้น มาถึงวันนี้ ความเห็นต่างในการตีความคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ก็ยังคงมีอยู่
นายพริษฐ์ กล่าวต่อว่า แต่เรามีข้อมูลเพิ่มเติม 2 อย่าง ที่ได้พูดคุยกับประธานสภาฯ และทีมในวันนี้ คือ 1.หากดูตามความเห็นส่วนบุคคลของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทั้ง 9 คน ประกอบคำวินิจฉัย ที่ 4/2564 นั้น จะเห็นว่าเสียงส่วนใหญ่ของตุลาการเขียนไว้ค่อนข้างชัดเจน ว่าการทำประชามติ 2 ครั้งนั้นเพียงพอแล้ว และ 2.คือข้อมูลที่มาจากการประชุมหารืออย่างไม่เป็นทางการกับประธานศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เมื่อได้นำข้อมูล 2 ชุดนี้ หารือกับประธานสภาได้ข้อสรุปว่า หากจะให้คณะกรรมการประสานงานมีการวินิจฉัยเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง จะต้องมีการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีเนื้อหาเพิ่มหมวด 15/1 เกี่ยวกับการมีสภาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เพื่อมาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เข้าสู่สภาอีกรอบหนึ่ง
นาบพริษฐ์ กล่าวอีกว่า หลังจากนี้ ตนจะไปหารือกับ สส.พรรคประชาชน เพื่อยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งจะทำให้คณะกรรมการประสานงาน มีโอกาสในการวินิจฉัยอีกครั้งว่า ตกลงแล้วจำเป็นจะต้องมี การทำประชามติเพิ่มขึ้นมาเป็นครั้งที่ 3 หรือสามารถทำ 2 ครั้งเพียงพอ และเรามีความหวังว่า ข้อมูลใหม่ที่ได้นำมาในวันนี้ จะเพียงพอในการทำให้คณะกรรมการประสานงานวินิจฉัยว่า 2 ครั้งเพียงพอ
เมื่อถามว่าจะทันการเลือกตั้งครั้งหน้าหรือไม่ นายพริษฐ์ กล่าวว่า รัฐบาลเคยสัญญาไว้กับประชาชนว่า จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทันก่อนการเลือกตั้งครั้งถัดไป หากย้อนไปตอนที่พรรคเพื่อไทยฉีกเอ็มโอยูกับอดีตพรรคก้าวไกล แล้วมีการจัดตั้งรัฐบาล ก็ได้มีแถลงการณ์ออกมา ระบุว่า ต้องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้เสร็จก่อนการเลือกตั้ง และเมื่อจัดทำเสร็จแล้ว จะมีการยุบสภา เพื่อคืนอำนาจให้กับประชาชนด้วยซ้ำ ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นการตีความเจตนารมณ์ของแถลงการณ์นั้น หรือการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาของรัฐบาลชุดนี้ จะเห็นชัดว่า เป็นเป้าหมายที่รัฐบาลได้สัญญาไว้ แต่มาถึงวันนี้ ชัดเจนว่า หากรัฐบาลเดินตามแผนเดิม ที่จะมีการทำประชามติ 3 ครั้ง โดยไม่ริเริ่มครั้งแรก จนกว่าจะมีการแก้พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติเสร็จนั้น เป้าหมายดังกล่าวก็มีโอกาสเป็นจริงน้อยมาก
นายพริษฐ์ กล่าวว่า ฉะนั้น ตนจึงเห็นว่า หนทางเดียวที่จะทำให้เป้าหมายดังกล่าวเป็นจริงได้ คือการลดจำนวนการทำประชามติจาก 3 เป็น 2 ครั้ง ซึ่งความพยายามที่ผ่านมาในการเข้าพบกับประธานศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอความชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องความวินิจฉัยศาล รวมถึงการหารือกับประธานสภาวันนี้ ให้อาจจะมีการทบทวนการตีความคำวินิจฉัย และบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับ สสร. จะต้องทำอย่างไรนั้น ก็ล้วนเป็นความพยายามของตนในฐานะประธานคณะกรรมาธิการฯ เพื่อให้เรามีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ใช้ทันการเลือกตั้งครั้งถัดไป
เมื่อถามถึงกรณีที่เสียงจากทางแกนนำรัฐบาลเห็นว่าอาจจะไม่ทันนั้น นายพริษฐ์ กล่าวว่า หากเดินตามแผนเดิม โอกาสทันก็น้อย นี่เป็นข้อเท็จจริง แต่สิ่งที่ตนอยากเห็น คือความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการพยายามรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน เพราะเป้าหมายเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ เป็นเป้าหมายที่เป็นนโยบายของรัฐบาล และเป็นเป้าหมายที่แกนนำพรรคฝ่ายค้าน หรือพรรคประชาชน เห็นไปในทิศทางเดียวกัน
นายพริษฐ์ กล่าวต่อว่า วันนี้ตนเองสวมหมวก 2 ใบ เป็น สส.ของพรรคประชาชน ซึ่งเป็นแกนนำของฝ่ายค้าน ที่อยากเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เกิดขึ้นจริง รวมถึงในฐานะประธานคณะกรรมาธิการฯ ด้วย จึงพยายามทำเรื่องนี้อย่างเต็มที่ และอยากเห็นรัฐบาลมาร่วมมือกัน
เมื่อถามว่า จะมีการหารือกับแกนนำพรรครัฐบาลด้วยหรือไม่นั้น นายพริษฐ์ กล่าวว่า ความจริงตอนเราออกหนังสือขอเข้าพบ เราได้ออกหนังสือ 3 ฉบับ พร้อมกัน คือ 1.นายกรัฐมนตรี 2.ประธานสภา และ3.ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้เข้าพบไปแล้ว 2 ท่าน เหลือเพียงกันรอคำตอบกลับจากนายกรัฐมนตรี อยู่ว่าจะให้เข้าพบเมื่อไหร่ เนื่องจากการให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรีก่อนหน้านี้ ก็เคยระบุว่า ไม่ติดที่จะให้มีการเข้าพบ แต่วันนี้ยังไม่ได้รับคำตอบใดๆ กลับมาจากนายกรัฐมนตรี เพราะฉะนั้น นี่เป็นเจตนาของเราอยู่แล้ว ในการพูดคุยกันกับฝ่ายบริหาร แต่อยู่ที่ว่าฝ่ายบริหารจะพร้อมให้เราเข้าไปพูดคุยเมื่อไหร่
เมื่อถามว่าหากเดินตามไทม์ไลน์ใหม่ ซึ่งคือการทำประชามติ 2 ครั้ง ประเมินว่าจะเห็น สสร. ใหม่ ทันปี 68 หรือไม่ นายพริษฐ์ กล่าวว่า ตัวแปรที่จะกำหนดกรอบเวลามีมาก ยกตัวอย่าง หากสมมุติมีการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เพิ่มหมวดเกี่ยวกับ สสร.เข้าสู่สภาแล้ว หากคณะกรรมการประสานงาน และประธานสภาฯ ตัดสินใจบรรจุในรอบนี้ ก็จะทำให้เข้าสู่การพิจารณาในวาระ 1 ได้ทันที ซึ่งหาก เปิดสมัยประชุมสภาในช่วงปลายปีนี้ หรือเดือนธันวาคม และสามารถทำให้เข้าได้ทันทีนั้น ก็มีความเป็นไปได้ว่า อาจจะผ่าน 3 วาระ ภายใน 3-6 เดือน และหากเป็นเช่นนั้น ประชามติรอบแรกก็จะเกิดขึ้นหลังผ่านวาระ 3 ซึ่งอาจจะเป็นช่วงหลังของปี 68 และเมื่อประชามติผ่านแล้ว อาจจะต้องมีกระบวนการการเลือกตั้ง สสร. โดยหากทำทุกอย่างให้เสร็จได้ภายในปี 68 สสร.จะมีเวลาในปี 69 เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และทำให้เราสามารถนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น ไปทำประชามติรอบที่ 2 ในช่วงต้นปี 70 ก็จะทันก่อนการเลือกตั้งครั้งต่อไป ดังนั้น ตนอยากเห็นความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการร่วมรักษาสัญญา
เมื่อถามว่า ประธานสภาฯพูดถึงการประชุมร่วมกันของวิป 3 ฝ่ายหรือไม่ นายพริษฐ์ กล่าวว่า ต้องแยกเป็น 2 ส่วน คือ ร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขรายมาตรา ซึ่งถูกบรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมแล้ว เป็นหน้าที่ของวิป 3 ฝ่ายที่ต้องหารือกันว่า จะมีการประชุมในวันไหน และจะนำร่างไหนเข้าก่อนหรือหลัง แต่เรื่องร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับ สสร. ตอนนี้ยังไม่ถึงขั้นตอนนั้น เพราะต้องให้ประธานสภาบรรจุก่อน วันนี้เราจึงอยากให้มีการทบทวนใหม่
เมื้อถามถึงกรณีที่พรรคประชาชนจะยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าไปใหม่ จะเป็นร่างเดิมหรือไม่ นายพริษฐ์ กล่าวว่า คงต้องมีการหารือกันก่อน แต่เวลานี้ยังไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องปรับจากร่างเดิม สำหรับเหตุผลของประธานสภาฯ ที่ทำให้ต้องมีการยื่นใหม่ ทั้งที่มีร่างเดิมค้างอยู่ 2 ฉบับนั้น เป็นเพราะมีการวินิจฉัยไปแล้วเกี่ยวกับร่างนั้น ว่าไม่บรรจุ ดังนั้น เรื่องนั้นถือว่าสิ้นสุดไปแล้ว แม้จะมีข้อมูลใหม่ที่ได้มา ก็ไม่สามารถเปลี่ยนคำวินิจฉัยได้
ขณะที่ ว่าที่ร.ต.ต.อาพัทธ์ สุขะนันท์ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวเสริมว่า ตนเองในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงาน และเสนอความเห็นต่อประธานสภา ก็ได้รับข้อมูลใหม่ให้คณะกรรมการนำไปทบทวน หากมีการเสนอร่างจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พร้อมได้ส่งมอบความเห็นเพิ่มเติมที่ได้รับจากศาลรัฐธรรมนูญ ประธานสภาจึงมีดำริว่า ให้คณะกรรมการนำข้อมูลส่วนนี้ไปประกอบคำวินิจฉัยเดิม ส่วนจะเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญร่างเดิมได้หรือไม่นั้น แล้วแต่ท่านผู้เสนอ
เมื่อถามว่าประธานสภาให้เหตุผลอะไร ทำให้ความเห็นของฝ่ายกฎหมายของสภา มีน้ำหนักมากกว่าความเห็นของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากที่บอกว่าให้ทำประชามติสองครั้ง
ว่าที่ร.ต.ต.อาพัทธ์ กล่าวว่า ประธานสภาฯเพียงมอบโจทย์ใหม่จากข้อมูลที่เปลี่ยนไปให้เป็นดุลยพินิจของคณะกรรมการแต่ละคน ซึ่งมีทั้งผู้บริหาร และผู้ที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายกฎหมายของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรที่นำมาพิจารณา คณะกรรมการดังกล่าวมีจำนวนประมาณ 10 กว่าคนที่เสนอความเห็นมา มีรองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย โดยคณะกรรมการชุดดังกล่าวมีมาตั้งแต่สภาผู้แทนราษฎรชุดที่แล้ว ซึ่งคณะกรรมการมีหน้าที่เพียงให้ความเห็นประกอบ แต่ผู้ใช้ดุลยพินิจคือประธานสภา และส่วนใหญ่ท่านจะ มีความเห็นคล้อยตามที่คณะกรรมการเสนอไปเป็นส่วนมาก
ว่าที่ร.ต.ต.อาพัทธ์ กล่าวด้วยว่า ตนเองรับปากกับนายพริษฐ์ไปต่อหน้าประธานสภาฯ ว่าจะนำความเห็นของประธานศาลรัฐธรรมนูญมาร่วมพิจารณาด้วย และถ้ามีโอกาสจะเชิญนายพริษฐ์ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เข้าไปร่วมให้ข้อมูลด้วย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี