เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 รุจิระ บุนนาค คอลัมนิสต์ "กฎ กติกา ธุรกิจ" ของหนังสือพิมพ์แนวหน้า ได้เขียนคอลัมนิสต์ ในหัวข้อ "ที่ดินเขากระโดง กับการบังคับใช้กฎหมาย" โดยระบุว่า เขากระโดงหรือภูกระโดง ลักษณะภูมิสภาพเป็นภูเขาไฟโบราณ เป็นเนินภูเขาขนาดเล็ก 2 ลูกติดกัน ปากปล่องภูเขาไฟสูงกว่าระดับน้ำทะเล 265 เมตร อยู่ในเขตวนอุทยานเขากระโดง อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ มีสภาพป่าที่สมบูรณ์ ธรรมชาติที่งดงาม เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมอีกแห่งหนึ่งของไทย
เขากระโดงยังเป็นที่ตั้งของเส้นทางรถไฟสายบุรีรัมย์ - เขากระโดง หรือ ทางแยกเขากระโดง เป็นเส้นทางรถไฟระยะสั้นในเขตอำเภอเมืองบุรีรัมย์ เริ่มจากสถานีรถไฟบุรีรัมย์ไปยังลานเหมืองหิน (สถานีหยุดรถเขากระโดง) เพื่อนำหินมาใช้สำหรับโรยทางในการก่อสร้างทางรถไฟของกิจการรถไฟในอดีต
ปัจจุบันเขากระโดงอยู่ใกล้กับ สนามช้างอารีน่า สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต และเขากระโดงสเตเดี้ยม รวมทั้งที่ตั้งสถานประกอบธุรกิจเอกชน แม้ในช่วงตุลาคม ปี พ.ศ.2561 จะถูกพัฒนาให้เป็นเส้นทางสัญจรเฉพาะกิจแก่ประชาชนเพื่อเข้าชมการแข่งขันรถจักรยานยนต์ระดับโลก โมโตจีพี 2018 (MotoGP 2018) ที่ประเทศไทยและจังหวัดบุรีรัมย์เป็นเจ้าภาพ
ปัจจุบันไม่มีบริการขนส่งประชาชน และมีเพียงรถไฟบรรทุกสินค้าที่วิ่งบนเส้นทางครั้งหรือสองครั้งต่อปี ด้วยเหตุนี้ทางรถไฟสายดังกล่าวจึงถูกประชาชนบุกรุกบ่อยครั้ง และพื้นที่บางส่วนการรถไฟฯได้เปิดให้ประชาชนเช่าใช้ จึงเป็นชนวนที่มาของข้อขัดแย้งในประเด็นกรรมสิทธิ์ของที่ดินระหว่างการรถไฟและประชาชนผู้บุกรุกใช้ประโยชน์ส่วนตัว
ผืนที่ดินขนาดใหญ่บริเวณเขากระโดง ครอบคลุมพื้นที่กว่า 5,083 ไร่ 80 ตารางวา เป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) แต่ได้รับการออกโฉนดเป็นกรรมสิทธิ์แก่เอกชนจำนวนถึง 995 ฉบับ ทั้งที่มีหลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์เป็นของ ร.ฟ.ท.เป็นแผนที่ที่จัดพิมพ์โดยเป็นแผนที่สำรวจเมื่อปี พ.ศ.2564 และแผนที่กำหนดเขตที่ดินรถไฟ สร้างทางแยกไปเขากระโดงและบ้านตะโก จ.บุรีรัมย์ เพื่อประโยชน์ของกิจการรถไฟ ของกรมที่ดินรถไฟ สายโคราช - อุบลราชธานี ตามหนังสือที่ คอ.508/67 ลงวันที่ 24 พ.ย.2467 ตามพระบรมราชโองการ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2462 ซึ่ง ร.ฟ.ท.ได้เข้าครอบครองที่ดินบริเวณเขากระโดง เนื้อที่ 5,083 ไร่ 80 ตารางวา ตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2462 โดยมีการระบุถึงรายชื่อราษฎร 18 ราย ที่ได้รับเงินค่าเวนคืนที่ดินด้วย
ในอดีตที่ผ่านมาได้มีคำพิพากษาของศาลและคำวินิจฉัยของหน่วยงานราชการที่ยืนยันว่า ที่ดินบริเวณเขากระโดงเป็นที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย การออกโฉนดที่ดินในบริเวณดังกล่าวเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมายปรากฏตาม
1) มติคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ.2554 มีมติให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 3466 และ 8564 เนื่องจากออกโฉนดทับที่ดิน ร.ฟ.ท.
2) คำพิพากษาศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดำที่ 2494/2564 คดีหมายเลขแดงที่ 582/2566 ลงวันที่ 30 มีนาคม 2566 ที่พิพากษาโดย อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 842-876/2560 และคำพิพากษาฎีกาที่ 8026/2561 ว่า ที่ดินพิพาทที่เขากระโดง เป็นกรรมสิทธิ์ของ ร.ฟ.ท.
3) คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ซึ่งเป็นคำพิพากษาที่ถึงที่สุด คดีหมายเลขแดงที่ 1112/2563 ลงวันที่ 22 เมษายน 2563 วินิจฉัยว่า ที่ดินเขากระโดงเป็นของ ร.ฟ.ท.
4) มติของคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 7 ที่ 106/2541 ที่ดินเขากระโดงอยู่ภายใต้แนวเขตที่ ที่เจ้าหน้าที่กรมรถไฟแผ่นดินได้สำรวจ
แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้เกี่ยวกับที่ดินเขากระโดง คือ ได้มีผู้ครอบครองที่ดินบริเวณเขากระโดง และได้รับเอกสารสิทธิจากกรมที่ดิน ซึ่งหากเปิดเผยรายชื่อออกมา ล้วนแต่เป็นนักการเมือง ผู้ที่มีบารมีทางการเมืองในจังหวัดบุรีรัมย์ และบรรดาญาติของนักการเมืองเหล่านั้น แต่กรมที่ดินกลับไม่ยอมดำเนินการเพิกถอน ตามแนวทางคำวินิจฉัยของศาลยุติธรรมและศาลปกครองตลอดจนหน่วยงานของทางราชการที่ผ่านมา
อธิบดีกรมที่ดินได้มีคำสั่งอธิบดีที่ 1195-1196/2566 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนแนวเขตที่ดินเขากระโดง ทั้งที่ได้มีคำพิพากษาของศาลยุติธรรมที่วินิจฉัยไว้ก่อนหน้านี้แล้ว
หากพิจารณาจากรายชื่อคณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งจากอธิบดีกรมที่ดินดังกล่าว สาธารณชน มีข้อสงสัยว่า คณะกรรมการเหล่านั้น มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับบรรดานักการเมืองผู้มีส่วนได้เสียในที่ดินเขากระโดง มากน้อยแค่ไหน ? เพียงใด ? และเหตุใดจึงไม่แต่งตั้งบุคคลที่ได้รับการยอมรับนับถือ จากสาธารณชนจนเป็นที่ประจักษ์ว่า เป็นบุคคลที่เป็นกลางอย่างแท้จริง
สิ่งที่เกิดขึ้นสาธารณชนทำได้แต่เพียงตั้งข้อสังเกตว่า หากคณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งจากอธิบดีกรมที่ดินปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย อาจถูกดำเนินคดีเป็นจำเลยตามกฎหมาย และต้องรับโทษเสียเอง
ประเด็นเรื่องที่ดินเขากระโดงนี้ สาธารณชนได้แต่กะพริบตาปริบๆ และไม่เข้าใจคือ เหตุใดหน่วยงานราชการ จึงยังไม่ยอมปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลสถิตยุติธรรม ทั้งที่ได้มีคำพิพากษาคดีถึงที่สุดแล้ว
ที่มา : คอลัมนิสต์ "กฎ กติกา ธุรกิจ" โดย รุจิระ บุนนาค เรื่อง ที่ดินเขากระโดง กับการบังคับใช้กฎหมาย
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี