ครม.ทุ่ม1.9หมื่นล.
ใช้ฟื้นฟูน้ำท่วม‘เชียงใหม่-เชียงราย’
เพิ่มเบี้ยยังชีพคนชราจาก600เป็น700
ครม. สัญจรเชียงใหม่ เทงบ 1.9 หมื่นล้าน โครงการเร่งด่วน-ระยะยาว2 จังหวัด เชียงใหม่-เชียงราย พร้อมอนุมัติฟื้นฟูเชียงใหม่ 20 โครงการ เชียงราย 19 โครงการ อนุมัติ 2,700 ล้าน พัฒนาแหล่งน้ำ-ฟื้นฟูโครงการเสียหายน้ำท่วม ไฟเขียว เงินอุดหนุนเด็ก ตั้งแต่อายุครรภ์ 4 เดือน-6 ปี ให้คนละ600 บาท เพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบขั้นบันได เบี้ยความพิการ1,000 บาทแบบถ้วนหน้า ส่วนเกษตรกรรอไปก่อน ยังไม่เคาะอุดหนุนไร่ละ 1,000 บาท เช่นเดียวกับเงิน 10,000 ฟื้นเศรษฐกิจเฟส 2 ก็ยังไม่พิจารณาเช่นกัน
เมื่อเวลา 10.20 น. วันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 ที่หอประชุมทีปังกรรัศมีโชติ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ตำบลขี้เหล็ก อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2567 หรือครม.สัญจร ซึ่งจัดเป็นครั้งแรกในรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ภายใต้ธีม “From Flood to Flourish (ฟื้นคืนสู่ความเฟื่องฟู)” สื่อถึงการที่ ครม.สัญจร มาจัดที่จังหวัดเชียงใหม่ครั้งนี้จะเป็นแสงสว่างที่จะช่วยสร้างความเฟื่องฟูให้กับชาวเชียงใหม่อีกครั้ง หลังผ่านพ้นกับมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ และพร้อมที่จะต้อนรับนักท่องเที่ยวในช่วงฤดูหนาวซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่น
“นายกฯอิ๊งค์”พาครอบครัวเดินชมบูธ
โดยนายกฯ เดินทางด้วยรถตู้โฟล์คสวาเกน สีดำ ทะเบียน นก 9999 เชียงใหม่ ถึงหอประชุมทีปังกรรัศมีโชติ พร้อมด้วย นายปิฎก สุขสวัสดิ์ สามี ด.ญ.ธิธาร สุขสวัสดิ์ บุตรสาว และด.ช.พฤจ์ธาษิณ สุขสวัสดิ์ บุตรชาย จากนั้น นายกฯ และครอบครัวเดินเยี่ยมชมนิทรรศการ โดยเยี่ยมชมบูธกาแฟเทพเสด็จ ซึ่งนำผลิตภัณฑ์กาแฟและส้มสายน้ำผึ้งจากไร่ธนาธรมาจัดแสดง นายกฯได้แซวอย่างอารมณ์ดีว่า “มีส้มธนาธรแล้วมีส้มปิยะบุตรหรือเปล่า”
นอกจากนี้ ยังดูบูธผลิตภัณฑ์ผงไม้ปั้นนำมารีไซเคิลและได้รับมอบผงไม้ปั้นเป็นองค์พระพิฆเนศ และเมื่อนายกฯ เดินผ่านบูธขายผลิตภัณฑ์งานฝีมือจึงหันไปบอกบุตรสาวว่า แม่เห็นหมูเด้งด้วยและได้ซื้อกล่องกระดาษทิชชูและผ้าเช็ดมือรูปตุ๊กตาหมูและช้างให้ลูกทั้ง 2 คน
ซื้อกระติ๊บเครื่องเงินฝากคุณแม่
โดยนายกฯ เดินผ่านบูธเครื่องเงินที่นำเส้นเงินมาสานเป็นกระเป๋า จึงหันไปบอก นายสรวงศ์ เทียนทอง รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ว่าแบบนี้ต้องนำไปโปรโมตเพื่อขายนักท่องเที่ยว และนายกฯ ได้ซื้อกระติ๊บเครื่องเงินไปฝาก คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ นอกจากนี้ได้เยี่ยมชมบูธผ้าพื้นเมืองพร้อมได้อุดหนุนด้วย ขณะที่ร้านขายสมุนไพรได้มอบยาดมสมุนไพรขนาดใหญ่ให้นายกฯ ขณะเดียวกันเจ้าของร้านสินค้าโอท็อป ได้กล่าวกับนายกฯว่า ต้องขอบคุณนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ได้ริเริ่มโครงการโอท็อป ทำให้ชาวบ้านได้มีอาชีพมีรายได้ พร้อมชี้ให้ดูรูปที่ถ่ายกับนายทักษิณสมัยเป็นนายกฯ น.ส.แพทองธาร จึงเรียกให้ลูกสาวและลูกชาย มาดูว่าบุคคลในรูปคือใคร ซึ่งลูกทั้งสองกล่าวว่า “ตาๆ”
ช่วงหนึ่งระหว่างเดินชมบูธ นายกฯ กล่าวว่า ที่พาลูกๆ มาด้วย เพราะไม่ได้มาบ้านที่เชียงใหม่นานจึงพาลูกๆมา และที่พามาเพื่อต้องการให้เห็นว่าแม่ทำงานอย่างไร เมื่อชมบูธนิทรรศการเสร็จจะส่งลูกๆ กลับ และตนจะเป็นประธานประชุม ครม. จากนั้นตัวแทนนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ ศูนย์แม่ริม รอต้อนรับพร้อมมอบดอกไม้ให้กำลังใจ และขอถ่ายรูปเซลฟี่กับนายกฯ ก่อนนายกฯรับชมการแสดงชุดเต้นมูเซอจากนักเรียนโรงเรียนฝางชนูปถัมภ์ และเยาวชนจากหมู่บ้านสูนน้อย อำเภอฝาง ซึ่งเป็นการเต้นประยุกต์ของชนเผ่า ก่อนเซ็นชื่อลงบนจานเครื่องเคลือบศิลาดลชุดอิ่มสุข และนายกฯถ่ายภาพร่วมกับครม.และผู้แทนภาครัฐ จากนั้นนายกฯเข้าประชุมครม.
นำคณะเข้าประชุม ครม.
ในการประชุม ครม.นายกฯและรัฐมนตรี ได้สวมเสื้อผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีธรรมชาติด้วยครั่งย้อมออกมาเป็นสีชมพูบานเย็น เป็นสีประจำมณฑลพายัพ บนเสื้อมีการปักลายพระราชทาน “ลายสิริวชิราภรณ์”และ “ลายดอกรักราชกัญญา” เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดี มีลายหงส์ในโคม ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดเชียงใหม่ ทำการทอและย้อมโดยผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP 5 ดาวกลุ่มอาชีพผ้าฝ้ายอำพัน อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่
ขณะที่เมนูอาหารจัดเลี้ยงครม.ครั้งนี้ประกอบด้วย ข้าวซอย น้ำพริกหนุ่ม แคบหมู แกงฮังเล ขนมจีนน้ำเงี้ยว ข้าวต้มหมู ข้าวเงี้ยว ถั่วแปบ ของหวานเป็นทับทิมกรอบ ไอศครีมอะโวคาโด้ ส่วนของว่าง ประกอบด้วย สาคูไส้หมู สโคนข้าวก่ำ ข้าวเกรียบปากหม้อ ขนมครก และสเพียร์บนแผ่นข้าวกรอบ จากร้านอาหารขึ้นชื่อต่างๆ ในท้องถิ่น
อนุมัติงบ1.9หมื่นล้านฟื้นฟูน้ำท่วม
ต่อมา นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังประชุม ครม.สัญจรว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบในหลักการตามที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอโครงการเร่งด่วนและระยะยาวของ จ.เชียงใหม่ และเชียงราย วงเงิน 19,282 ล้านบาท เพื่อนำมาแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้กับประชาชนใน จ.เชียงใหม่และเชียงราย โดย จ.เชียงใหม่ของบประมาณในการแก้ไขถนนที่พังจากอุทกภัย ส่วนที่ จ.เชียงราย เป็นเรื่องโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ถนน น้ำประปา ไฟฟ้า สาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเยียวยาให้แก่ประชาชน
ทั้งนี้ จ.เชียงใหม่มีโครงการระยะยาวด้านการพัฒนาซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากอุทกภัย วงเงินประมาณ 5,200 ล้านบาท ซึ่งตรงนี้เป็นแนวทางของรัฐบาลว่าหากมีปีหน้ามีปริมาณน้ำฝนมากจนเกิดอุทกภัยจะได้แก้ไขทั้งระยะสั้นและระยะยาว นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.ยังเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยทั้งประเทศ ด้วยการลดภาระด้านภาษีเพื่อซ่อมแซมบ้าน รถที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย
ไฟเขียว2,700ล้าน พัฒนาแหล่งน้ำ
น.ส.ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอขออนุมัติงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ บริหารจัดการน้ำ และเตรียมความพร้อมโครงการ และฟื้นฟูโครงการที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย จำนวน 523 รายการ วงเงิน 2,787,008,900 บาท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ การซ่อมแซมและปรับปรุงอาคาร ระบบชลประทานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย เพื่อให้การใช้งานกับคืนสู่สภาพเดิมและมีประสิทธิภาพสูงขึ้นเพื่อพร้อมใช้งาน รวมถึง เป็นการป้องกันปัญหาอุทกภัยจากน้ำท่วมและน้ำขังในพื้นที่อยู่อาศัย และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการน้ำ ด้านอุทกภัยและภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต เพื่อให้สามารถบริหารจัดการน้ำเพื่อการ การอุปโภคบริโภค และเพื่อกิจกรรมอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเพื่อเพิ่มศักยภาพเครื่องจักรเครื่องมือสนับสนุนการดำเนินงานก่อสร้าง ปรับปรุง ซ่อมแซม ตลอดจนสามารถช่วยเหลือพื้นที่ประสบอุทกภัยและภัยแล้ง ได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ
เห็นชอบ641ล้าน39โครงการเร่งด่วน
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า โครงการเร่งด่วนของจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย ฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม รวม 39 โครงการ ที่ครม.สัญจร เชียงใหม่ เห็นชอบวงเงิน 641 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นโครงการซ่อมแซมด้านการคมนาคม เขื่อนป้องกันตลิ่ง รวมทั้งระบบการระบายน้ำ และการฟื้นฟูเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว โดยให้ทั้ง 2 จังหวัดเสนอขอจัดสรรงบกลาง ในปี 2568 ต่อไป แยกเป็น จ.เชียงใหม่ 20 โครงการ วงเงิน 243.52 ล้านบาท และ จ.เชียงราย 19 โครงการ วงเงิน 397.59 ล้านบาท
เพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบขั้นบันได
ส่วนมติ ครม.ในเรื่องอื่นๆ นั้น นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุมครม.รับทราบข้อเสนอ เรื่องการพัฒนาหลักประกันบริการทางสังคมแก่กลุ่มเป้าหมายที่สอดคล้องตามสถานการณ์ปัจจุบัน ตามที่คณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.)เสนอปรับฐาน กลุ่มเป้าหมาย โครงการเงินอุดหนุน เด็กแรงเกิดจาก 0-6 ปี ในครัวเรือนที่ทีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 100,000 จากเดือนละ 600 บาท ปรับให้เป็นเงินอุดหนุนแบบถ้วนหน้าโดยไม่ต้องคัดกรองรายได้ โดยครอบคลุมตั้งแต่ในครรภ์ 4 เดือน พร้อมปรับเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ จากเดิมอายุ 60-69 ปี เดือนละ 600 เป็น 700 บาท อายุ 70-79 เดือนละ 700 เป็น 850 บาท อายุ 80-89 จากเดือนละ 800 เป็น 1,000 บาท และ อายุ 90 ปีขึ้นไป จากเดือนละ 1,000 เป็น เดือนละ 1,250 บาท พร้อมทั้งปรับเบี้ยกลุ่มคนพิการจากเดิม 800-1,000 บาท ปรับเป็น 1,000 ถ้วนหน้า
นอกจากนี้ ยังมีการยกระดับแรงงานนอกระบบโดยให้ปรับปรุงสิทธิประโยชน์เพื่อจูงใจแรงงานนอกระบบ เข้าสู่ระบบประกันสังคม ร่วมถึงสวัสดิ์การครอบครัว โดยที่ประชุม ครม.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปจัดทำรายละเอียดแล้วนำกลับมาเข้าสู่ที่ประชุมอีกครั้ง เพื่อให้เห็นชอบต่อไป
ต่ออายุรถไฟฟ้า“สายสีแดง-ม่วง”20บ.
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) จ.เชียงใหม่ ว่า ที่ประชุมมีมติอนุมัติอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาทตลอดสาย ตามนโยบายรัฐบาล สำหรับรถไฟชานเมืองสายสีแดง สายนครวิถี (กรุงเทพอภิวัฒน์ - ตลิ่งชัน) และสายธานีรัถยา (กรุงเทพอภิวัฒน์ - รังสิต) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย และรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ออกไปอีก 1 ปี
ทั้งนี้ ให้เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.67 - 30 พ.ย.68 โดยประมาณการว่ามีการสูญเสียรายได้ รถไฟชานเมืองสายสีแดง 35.35 ล้านบาท และรถไฟฟ้าสายสีม่วง 272.99 ล้านบาท ส่วนแหล่งที่มาของเงินชดเชยค่าโดยสาร รฟท.จะเสนอขอรับจัดสรรงบฯ เพื่อชดเชยต่อไป ส่วน รฟม.จะนำเงินรายได้ที่ต้องส่งคลังมาชดเชย
ยังไม่เคาะแจกเงินหมื่นเฟส2
มีรายงานข่าวว่า วาระการประชุมวันนี้ ยังไม่มีการพิจารณาโครงการเงินหมื่นฟื้นเศรษฐกิจ เฟซ 2 สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ ที่คาดว่าจะใช้วงเงินราว 40,000 ล้านบาท และ โครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปัจจัยการผลิตชาวนาปีการผลิต 67/68 ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 10 ไร่ วงเงิน 38,000 ล้านบาท เพราะยังติดปัญหาขั้นตอนราชการ คาดจะเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ได้ในวันที่ 3 ธันวาคมนี้
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี