อย่าก่อม็อบ/ชี้ยังไม่จำเป็น
‘อิ๊งค์’ติง‘สนธิ’
หวั่นกระทบการท่องเที่ยว
เพื่อไทยชงใช้ม.152เปิดสภา
ถกปมMOU44/เชื่อทางออก
“อิ๊งค์” อ้างต้องรักษาความสงบ วอนอย่าก่อ “ม็อบ” หวั่นกระทบท่องเที่ยว บอก “สนธิ” ยื่นหนังสือ ต้องเป็นตามกระบวนการ ลั่นเกิดแผ่นดินไทย ไม่มีทางเห็นที่ไหนดีกว่า “เพื่อไทย” ชงใช้ “ม.152”เปิดเวที “รัฐสภา” หาทางออกปมพื้นที่ทับซ้อน-MOU44 ด้าน’พร้อมพงศ์’เตือน’สนธิ’ไม่ควรก่อม็อบค้าความขัดแย้ง ย้อนคำพูด5ปี แต่กลับคำปลุกคนลงถนน ขณะที่’พปชร.’เดินหน้าค้านMOU ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯอิ๊งค์
เมื่อวันที่ 29พฤศจิกายน2567 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี นายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ประกาศจัดการชุมนุมครั้งสุดท้ายในชีวิต มองว่าสถานการณ์การเมืองเหมาะที่จะมีม็อบหรือไม่ ว่า เราต้องรักษาความสงบในประเทศให้ได้มากที่สุด เพราะหากเราจะไปประเทศไหนแล้วมีม็อบ เราอาจไม่อยากไป ซึ่งประเด็นนี้จะกระทบกับการท่องเที่ยวและประเทศอย่างแน่นอน แต่หากประชาชนมีข้อเรียกร้อง หรืออยากจะเสนอกับรัฐบาลเรามีกระบวนการรับฟังเสียงของประชาชนอยู่แล้ว เช่น การยื่นจดหมายรัฐบาลเห็นว่า ความคิดเห็นของประชาชนสำคัญเสมอ แต่การจะเกิดม็อบหรืออะไร เราพูดคุยกันได้ จึงยังไม่น่าจะเป็นสิ่งที่จำเป็น
นายกฯชี้MOUต้องเปิดเจรจา2ฝ่าย
เมื่อถามว่า การที่นายสนธิ จะยื่นหนังสือคัดค้านMOU44 จะไปรับด้วยตัวเองหรือไม่ น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า คงต้องให้เป็นไปตามกระบวนการที่มีอยู่ คงไม่มีพิเศษในกรณีไหน ไม่เช่นนั้นก็จะมีเคสใหม่เรื่อยๆ เราอยากให้เป็นไปตามกระบวนการ เมื่อถามว่า เสียงคัดค้านMOU44 ดังขึ้นเรื่อยๆนายกฯจะมีการทบทวนหรือไม่ น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า สิ่งที่เดินหน้าขณะนี้มีเรื่องเดียวคือ การตั้งคณะกรรมการร่วมทางเทคนิค (JTC) เพื่อเจรจาระหว่างสองประเทศและประเด็นMOU44เราจะให้ข้อมูลประชาชนเรื่อยๆ และการจะเดินต่อหรือไม่ขอให้ผ่านคณะกรรมการที่มีการพูดคุยกันทั้งสองประเทศดีกว่า
เมื่อถามว่า MOUประเทศไทยสามารถยกเลิกเพียงฝ่ายเดียวได้หรือไม่ เพราะเสียงที่คัดค้านบอกว่าสามารถยกเลิกฝ่ายเดียวได้ ถ้าประเทศไทยเสียเปรียบ นายกฯ กล่าวว่า จริงๆแล้วสามารถยกเลิกได้ตามหลักของกฎหมาย แต่ถามว่า เราควรยกเลิกฝ่ายเดียวหรือไม่ เพราะเป็นเรื่องระหว่างประเทศ ดังนั้นคงต้องมีการคุยกันก่อนจะดีกว่า อย่างเมื่อวันที่ 28พ.ย.ตนได้คุยกับนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ก็ไม่มีประเทศไหนอยากขัดแย้งกันและเรื่องนี้เป็นเรื่องที่อ่อนไหว ฉะนั้นเราพยายามคือหนึ่ง ไม่ให้คนในประเทศของเราเข้าใจผิดในเรื่องอะไรก็ตาม สองการจะตกลงในเรื่องนี้ ควรคุยกันสองประเทศ เพื่อไม่ให้เกิดความแตกแยก
เป็นคนไทยไม่มองประเทศอื่นดีกว่า
เมื่อถามว่า รัฐบาลชี้แจงในเรื่อง MOU44 แต่ยังคงมีคำถามเข้ามาเรื่อยๆ มองว่ามีอะไรนอกเหนือจากเรื่อง MOU44 ซ่อนอยู่ในนั้นหรือไม่ น.ส.แพทองธาร นิ่งคิดก่อนกล่าวว่า ก็อาจจะเป็นประเด็นทางการเมืองหรือเปล่า ประเด็นทางการเมืองก็มีมากมายทุกวัน แต่เรื่องระหว่างประเทศเป็นเรื่องอ่อนไหว เพราะคำพูดของนายกฯ หรือของรมว.ต่างประเทศ ได้สื่อสารออกไป ประเทศอื่นๆจะรับข้อนั้นเลย เพราะฉะนั้นเราจึงพยายามสื่อสารด้วยความระมัดระวังและเห็นอกเห็นใจทั้งสองฝ่าย แต่พื้นที่ที่เราคุยกันมายังคงเป็นพื้นที่อ้างสิทธิ์ ยังไม่มีการเคาะอะไรทั้งสิ้น ทั้งเราและกัมพูชายังไม่มีใครเสียผลประโยชน์อะไรในตอนนี้ เราต้องคุยกันก่อน “แน่นอนว่าดิฉันเองเป็นนายกฯของประเทศไทย ไม่มีทางเห็นประเทศใดสำคัญกว่าประเทศไทย ขอให้มั่นใจตรงนี้ไว้อย่างหนึ่งว่าดิฉันเกิดในแผ่นดินนี้ไม่มีทางที่จะเห็นที่ไหนดีกว่าบ้านเรา ขอให้มั่นใจในจุดนี้ และเราตั้งคณะกรรมการขึ้นมาคุยด้วยเหตุผล ด้วยการตกลงระหว่างประเทศที่ดี” นายกฯ กล่าว
เมื่อถามว่าหากรัฐบาลเดินหน้าในเรื่องนี้และเกิดความไม่สงบขึ้นนายกฯจะดำเนินการอย่างไร น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า เราอย่าพึ่งไปมองตรงนั้นดีหรือไม่ เพราะจริงๆแล้ว MOU44 มีมานานแล้ว เรื่องความแตกแยกที่ทำให้คนเข้าใจผิดมันไม่ได้มี เราต้องฟังข้อมูลที่จริงให้ครบ อย่าเอาเรื่องของกระแสหรือความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศของเรามาทำให้เป็นประเด็นที่จะกลายเป็นปัญหาระหว่างประเทศ อันนั้นก็จะไม่ดี ไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น
‘พท.’ชงใช้ม.152เปิดเวทีสภาฯถก
นายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และอดีตรมว.ต่างประเทศ แถลงถึงการที่มีผู้เห็นต่างในเรื่องการเจรจาพื้นที่อ้างสิทธิ์ในไหลทวีปทับซ้อนกันระหว่างไทยและกัมพูชาและMOU44ว่า ในสังคมมีความเห็นต่างได้แต่ควรอยู่บนข้อเท็จจริงและขอกฎหมายที่ถูกต้อง โดยเฉพาะประเด็นที่ดินซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ดังนั้นขอเรียกร้องไปยังกลุ่มการเมืองหรือบุคคลบางคนที่ปลุกกระแสเรื่องการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ระหว่างไทย กับ กัมพูชา ที่อาจเป็นประเด็นทำให้ไทยเสียดินแดนนั้นยุติการกระทำ เพราะเป็นการใช้ความเท็จที่สร้างผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาล รวมถึงกระทบความมั่นคงของประเทศ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เมื่อปี2551 ที่ตนถูกโจมตีและใส่ร้ายว่าเป็นผู้ที่ทำให้ไทยเสียดินแดนจากกรณีปราสาทเขาพระวิหาร“ผมขอเรียกร้องให้ใช้กลไกของรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 เพื่อเปิดประชุมรัฐสภาให้ สส.ฝ่ายรัฐบาล สส.ฝ่ายค้านและสว.ได้อภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.)เพื่อลดลมออกจากใบเรือของกลุ่มที่จะลงถนน การใช้เวทีสภา เพื่อแก้ปัญหา ถือเป็นการหาทางออกร่วมกัน และคนจัดม็อบสามารถคุยผ่านตัวแทนในสภาฯ ได้ ซึ่งจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด”นายนพดล กล่าว นายนพดล กล่าวด้วยว่า สำหรับการเจรจาของผลประโยชน์ทางพลังงานนั้น ตนยืนยันว่าตามกรอบเอ็มโอยู44 ต้องเจรจาในประเด็นหลักเขตที่73 ให้แล้วเสร็จก่อน ส่วนกรณีที่ก่อนหน้านั้นกัมพูชาได้ลากเส้นเองนั้น ไม่ถือว่าเป็นเส้นที่สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่เป็นไปตามกรอบของMOU44 ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลสำคัญที่กัมพูชาต้องเจรจาเส้นเขตแดนตามกรอบกฎหมายระหว่างประเทศ
‘พร้อมพงศ์’ย้ำอย่าก่อความขัดแย้ง
ด้าน นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ อดีตโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรจะเดินทางไปทำเนียบฯ วันที่ 9 ธ.ค. เพื่อยื่นหนังสือถึงนายกฯ ถ้ามีความจำเป็นหรือสถานการณ์สุกงอมจะนำม็อบลงถนน ว่า ภาพจำของตนที่มีต่อนายสนธิ คือการเป็นแกนนำม็อบมีเส้น ปิดทำเนียบฯ ปิดสนามบิน สร้างความเสียหายให้กับประเทศในเวลานั้น ซึ่งวันนี้ตนเองก็ยังลืมไม่ลง ตนยังไม่เห็นความจำเป็นใดๆ ที่นายสนธิ จะต้องก่อม็อบประท้วงรัฐบาล ประเทศชาติเสียหาย ทำลายบรรยากาศการท่องเที่ยว การลงทุนที่กำลังมีสัญญาณแนวโน้มดีสุดๆในรอบ10ปี ยิ่งช่วงนี้เป็นช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่เราควรสร้างความหวังเติมกำลังใจให้คนไทยมากกว่า รัฐบาลเองก็กำลังจะให้ของขวัญประชาชนด้วยนโยบายพักหนี้ นายสนธิ ไม่ควรก่อม็อบค้าความขัดแย้ง ขัดขวางความเจริญประเทศชาติ ตนจำได้ว่า เมื่อ 5 ปีก่อน นายสนธิ เคยประกาศหลังได้รับพระราชทานอภัยโทษออกจากเรือนจำว่าจะให้ความรู้คน ไม่ออกมาลงถนนแล้ว แต่วันนี้ทำไมถึงจะกลับคำออกมานำม็อบ มีวาระอะไรแอบแฝงหรือมีใครอยู่เบื้องหลังหรือไม่ เมื่อสำรวจแนวร่วมเครือข่ายก็ไม่มี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทุน ทหาร หรือพรรคการเมือง อีกทั้งยังไม่มีชนวนเหตุอะไร การประกาศจะออกมาเคลื่อนไหวจึงดูไม่ปกติ
เตือนใครหนุน’สนธิ’ต้องคิดให้ดี
“รัฐบาลยังไม่ได้ทำอะไรผิด กรณีปลุกกระแสคลั่งชาติบอกว่า ไทยจะเสียดินแดนให้กัมพูชานั้น ข้อเท็จจริงคือรัฐบาลยังไม่เริ่มนับ1เลย แต่ไปมโนสร้างเรื่องปลุกปั่นกันไปไกล ประหนึ่งว่าไทยเสียดินแดนไปแล้ว อยากให้ผู้ที่คิดจะเดินตามนายสนธิ ช่วยตั้งสติอย่าให้อคติเบียดบังจนหน้ามืดใจบอด และอยากฝากไปยังแนวร่วมเครือข่ายฝ่ายสนับสนุนม็อบ ควรตรวจสอบกรองข่าวให้ดี ไม่ควรหลงเชื่อคล้อยตามนายสนธิ ทุกอย่าง ประเทศชาติจะเสียหาย ถ้าทำผิดกฎหมายภัยก็จะมาถึงตัวท่านเองด้วย”นายพร้อมพงศ์ ย้ำ
พปชร.ส่งจม.เปิดผนึกถึงนายกฯอิ๊งค์
ที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ประธานร่วมศูนย์นโยบายและวิชาการ พร้อมด้วย ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ที่ปรึกษาศูนย์นโยบายและวิชาการ ร่วมกันแถลงข่าวกรณีบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน (MOU) ปี 2544 ภาคต่อEP3 โดย นายธีระชัย กล่าวว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ตนได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยจะส่งไปยังรัฐบาลในวันนี้ เพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับข่าวที่ปรากฏว่า รมว.ต่างประเทศ จะเสนอต่อครม.ให้แต่งตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคชุดใหม่ (JTC) เพื่อเจรจากับกัมพูชาในกรอบเอ็มโอยู 2544 ซึ่งการแต่งตั้งเช่นนี้อาจเข้าข่ายฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ โดยตนมีข้อมูลที่เป็นพยานหลักฐาน 2 อย่าง คือ 1.มีพยานเอกสารหลักฐานราชการ ซึ่งมีบทความที่เขียนโดยนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย ผู้ที่ลงนามเอ็มโอยู และ 2.แถลงการณ์ร่วมที่ลงนามโดย นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กับ สมเด็จอัครมหาเสนาบดี เดโช ฮุน เซน โดยมีข้อความสำคัญที่ปรากฏคือ ข้อความบรรยายว่าทั้งสองไปทำหน้าที่เป็นประธานในพิธีลงนามเอ็มโอยู2544 รวมถึงมีข้อความที่ระบุชัดเจนว่าทั้งสองฝ่ายให้การรับรองเอ็มโอยู 2544 ดังนั้น จึงเป็นการยืนยันว่าเอ็มโอยู2544 มีสถานะเป็นสนธิสัญญา
ชี้MOU44ขัดรธน.เพราะไม่ผ่านสภาฯ
นายธีระชัย กล่าวต่อว่า ในรัฐธรรมนูญฉบับปี2540 มาตรา24 บัญญัติไว้ว่าพระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาต่างๆ กับนานาประเทศ ดังนั้น การที่เอ็มโอยู2544 ไม่ได้มีการกราบบังทูลต่อพระมหากษัตริย์ก็ไม่ตรงกับข้อบัญญัติของรัฐธรรมนูญ2540และหนังสือใดที่มีการเปลี่ยนแปลงบทอำนาจแห่งรัฐต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ซึ่งในเอ็มโอยู 2544 มีแผนที่แนบด้วย ซึ่งแผนที่แนบนั้นมีการกำหนดสิ่งที่เราเรียกว่าพื้นที่พัฒนาร่วม รวมถึงมีการกำหนดไว้ด้วยว่าพื้นที่พัฒนานั้น มีการเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ในเรื่องของปิโตรเลียมในพื้นที่สีเขียว แต่ไม่ได้กำหนดให้ไปขยับเส้นอานาเขตพื้นที่สีเขียว ดังนั้น เอ็มโอยู 2544 จึงเป็นเอ็มโอยูที่ทั้ง 2 ประเทศยอมรับพื้นที่สีเขียวเป็นพื้นที่พัฒนาร่วมกันทางปิโตรเลียม
เตือนรบ.เสี่ยงทำให้ไทยเสียดินแดน
นายธีระชัย กล่าวว่า การเจรจาความเมืองต้องใช้ทางราชการเป็นหลัก ไม่ใช่เอาคนที่มีผลประโยชน์ เป็นภาคเอกชนเข้าไปร่วม ซึ่งประชาชนมีความกังวลว่าเอ็มโอยูที่ไม่มีการเจรจาอาณาเขตพื้นที่พัฒนาร่วมให้เสร็จเสียก่อน น่าสงสัยว่ามีประโยชน์ซ่อนเร้น และน่าสงสัยว่าเหตุผลแท้จริงของแถลงการณ์ร่วมนั้นอาจเพื่อมุ่งเรื่องปิโตรเลียมเป็นสำคัญ ทำไมอยู่ดีๆไปทำเอ็มโอยู แล้วเอาแผนที่ไปใส่ ถือเป็นข้อพิรุธ และทำให้กัมพูชาดีใจเพราะได้ประโยชน์ แต่กลับทำให้ประเทศไทยเกิดความเสี่ยงในการเสียดินแดน และยังไปยอมรับเส้น ซึ่งเป็นการละเมิดอธิปไตยของเกาะกูด ประชาชนจึงกังวลว่ามีอะไรอยู่เบื้องหลังหรือไม่ และที่สำคัญในตอนนั้นปรากฎว่านายทักษิณ ก็เดินทางไปที่กัมพูชา เพื่อไปเป็นประธานในพิธีลงนามร่วมกับ นายฮุนเซ็นด้วย “ยืนยันว่าเราให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่รัฐบาลและรัฐมนตรีจากพรรคร่วมรัฐบาล มีหน้าที่ต้องทำทุกอย่างให้กระจ่างต่อประชาชน’ นายธีระชัย กล่าว
‘จตุพร’ชี้ตั้ง‘กิตติรัตน์’หัวเชื้อปลุกม็อบ
นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊คไลฟ์ว่า ความอวดดี ชอบดูถูก ดูแคลนประชาชนจะทำให้จบไม่สวยและสุ่มเสี่ยงสิ้นอำนาจไม่แตกต่างจากรัฐบาลพรรคเครือชินวัตรในอดีต“การอวดดีจะทำอะไรก็ได้ เพราะเชื่อมีไฟเขียว มีของแน่นั้น จะไม่จีรังยั่งยืน เพราะถ้ารัฐบาลทำในสิ่งที่คนในชาติรับกันไม่ไหว ย่อมทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นได้ ดังนั้น รัฐบาลต้องไม่สร้างปัญหาที่เป็นเงื่อนไขให้คนทนไม่ได้ จนต้องลงถนนคัดค้าน อย่างไรก็ตาม กรณีตั้งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ จะเป็นการท้าทายประชาชนและเป็นหัวเชื้อให้เคลื่อนไหวคัดค้านได้ ซึ่งไม่แตกต่างจากกรณีย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี พ้นเลขา สมช.เมื่อสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แล้วสุดท้าย รมต.ที่ลงมติก็ถูกสั่งให้พ้นตำแหน่งทั้งหมดเพราะฝ่าฝืน รธน.เข้าข่ายข้อหามีผลประโยชน์ทับซ้อน”นายกิตติรัตน์ ยังมีคุณสมบัติต้องห้ามกับตำแหน่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ และถ้ารัฐบาลตั้งจริงจะถูกร้องเรียนในเรื่องอื่นๆ เป็นคดีอาญาอีกด้วย ที่สำคัญ รมต.ที่ประชุมลงมติแต่งตั้งจะเสี่ยงถูกพ้นตำแหน่ง เช่นเดียวกับกรณีย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เพื่อเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง ส่วนการรีบเร่งตกลงแบ่งผลประโยชน์ในแหล่งพลังงานทางทะเลในพื้นที่ทับซ้อนกับกัมพูชา นายจตุพร กล่าวว่า ถ้าเจรจาเอาผลประโยชน์จากแหล่งพลังงานนำหน้าก่อนการตกลงปักปันเขตแดนแล้ว จะทำให้การคัดค้าน ซึ่งหวาดหวั่นจะสูญเสียดินแดนจุดติดขึ้นมาได้ ดังนั้น รัฐบาลที่โหมดูแคลน ดูถูกว่าม็อบปลุกไม่ติด ไม่มีคนลงถนนจะกลับลำไม่ทัน
เจรจาไม่การันตีแบ่งกันฝ่ายะ50-50
นายจตุพร เสนอว่า ให้ฝ่ายกฎหมายรัฐบาลเพื่อไทยตรวจสอบสัญญาเมื่อ52ปีที่แล้วกับการยกสัมปทานพลังงานให้บริษัทเชฟรอน เพื่อหาช่องว่างยกเลิก หรือพิจารณาประโยชน์ที่ไทยจะได้รับเป็นอย่างไร และต้องเสียผลประโยชน์อะไรบ้าง โดยทำควบคู่กับการเจรจาปักปันเขตแดน ซึ่งสิ่งที่เสนอมีเพียงเท่านี้ แต่รัฐบาลกลับจะเป็นจะตายกัน การเจรจาผลประโยชน์แบ่ง50:50 ไม่มีหลักประกันใดที่จะทำให้ราคาน้ำมันและก๊าซถูกลง จนทำให้ไฟฟ้าราคาถูกตามมาด้วย สิ่งนี้ยังไม่เคยขึ้นกับไทย แม้รัฐบาลได้สร้างความรู้สึกว่า ไทยมีแหล่งพลังงาน แต่ต่างชาติได้ผลประโยชน์ ส่วนไทยได้ค่าภาคหลวงเท่านั้น
“MOUมีปัญหาแน่นอน แต่การแสดงอาการของนายกฯและทักษิณ สร้างความไม่สบายใจกับประเทศ ดังนั้น ถ้าตกลงปักปันเขตแดนก่อน และรื้อหรือยกเลิกสัญญาสัมปทานเชฟรอนเพื่อให้ประเทศได้ประโยชน์แท้จริง เพียงแค่นี้รัฐบาลเสียหน้าอะไรกัน สิ่งที่น่าหวาดหวั่น คือ หากแบ่งประโยชน์ 50:50 ก่อนจะทำให้ปักปันเขตแดนบนดินในอนาคตต้องแบ่ง 50:50 ด้วยหรือไม่ รัฐบาลอย่าได้ประมาทความเป็นชาตินิยมของคนไทย เมื่อคนมีอำนาจคิดในเชิงผลประโยชน์ แต่ประชาชนไม่เกี่ยวด้วย หากเกิดสุ่มเสี่ยงเสียดินแดน อาจทำให้คนลงถนน ถึงที่สุดแล้วยังไม่รู้เลยว่า ใครจะลงถนนกันบ้าง ส่วนพรรคประชาชนแสดงเจตนาชัดเจนจะต่อสู้ในสภา การออกมาดูแคลน จุดไม่ติด เป็นแต่พวกปากเก่ง เมื่อเกิดเรื่องขึ้นจริง พวกดูถูกคนไม่รู้ไปอยู่ที่ไหน บทเรียนนิรโทษกรรมสุดซอยส่วนสำคัญมาจากการดูถูกคนลงถนน แต่เมื่อคนออกมาคัดค้านมากมาย พวกดูแคลนกลับหายหน้า ข้าราชการก็คุมไม่ได้ แล้วเกิดการยึดอำนาจขึ้น”นายจตุพร ระบุ
อย่าดูถูกปชช.สุดท้ายเจอยึดอำนาจอีก
นายจตุพร กล่าวว่า การลงถนนคัดค้านรัฐบาลนั้น เงื่อนไขสำคัญมาจากรัฐบาลก่อปัญหาขึ้นมาเอง แกนนำไม่สามารถจุดม็อบลงถนนได้แน่ แต่รัฐบาลเพื่อไทยกลับท้าทาย ทั้งการสร้างบ่อนและจะมีการจัดประชุมสุดยอดคาสิโนในไทยวันที่ 2-4ธ.ค.ซึ่งไม่ใส่ใจหรือไม่รู้ว่า ตรงกับวันสำคัญอะไรของเดือนด้วย หวังว่าจะเข้าใจ จะเอาให้ได้ใช่หรือไม่เรื่องบ่อน แล้วเรื่อง99ปี จะเอาอีกหรือไม่ รวมทั้งรถไฟขนส่งทางรางที่ยอมเสียที่ดินให้เอกชนทั้งสองข้างทางยังจะทำอีกหรือไม่ อย่างไรก็ตาม อำนาจที่ฉ้อฉลย่อมทำให้การเมืองเปลี่ยนแปลงและคนรักชาติก็เปลี่ยนไปตามสถานการณ์ด้วย ดังนั้นไม่มีใครผูกขาดให้ใครอีกแล้ว
นายจตุพรยังกล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญเมื่อรัฐบาลเอาผลประโยชน์เฉพาะหน้ามาก่อนความรักชาติ ย่อมเป็นเงื่อนไขให้ประชาชนออกมาลงถนน แต่รัฐบาลกลับโทษประชาชนและขู่จะถูกทหารยึดอำนาจ แต่ไม่พูดถึงต้นเหตุคือ รัฐบาลสร้างเงื่อนไขขึ้นมาเอง ถ้าไม่สร้างปัญหาทหารย่อมไม่ยึดอำนาจเช่นกัน ดังนั้น อย่าโทษแต่ประชาชนที่รักชาติ ต้องโทษตัวเองได้สร้างปัญหาและตระบัดสัตย์กับประชาชนไว้อย่างไรในช่วงหาเสียง
“ถ้าแน่จริงก็ทำทุกอย่างที่อยากทำเพื่อประโยชน์ส่วนตนไปเลย เพราะจะได้ดูหน้าประชาชนจะทนได้หรือไม่ ส่วนการท้าทายและดูแคลนประชาชนนั้น จะซ้ำรอยอำนาจพรรคเพื่อไทยที่ชอบดูถูกการลงถนนไว้ แต่สุดท้ายก็ถูกยึดอำนาจเหมือนเดิมอีก เพราะไม่ยอมฟังความเห็นแตกต่างของประชาชน คิดแต่จะเอาให้ได้อย่างเดียว ดังนั้นก็เอาเลย ทำเลย”นายจตุพร กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี