แม้จะเป็นสนามการเมืองท้องถิ่น แต่การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2567
ที่ผ่านมา ถูกนำไปเชื่อมโยงกับการเมืองระดับประเทศอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อ 2 ผู้สมัคร
ตัวเต็งอย่าง ศราวุธ เพชรพนมพร ตัวแทนจาก พรรคเพื่อไทย และ คณิศร ขุริรัง ตัวแทนจาก พรรคประชาชน ได้รับการสนับสนุนจากบุคคลสำคัญทั้งในและนอกพรรคแบบจัดเต็ม
โดยในส่วนของพรรคเพื่อไทย ถึงขั้นที่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวพรรคเพื่อไทย ลงไปช่วยหาเสียงด้วยตนเอง เช่นเดียวกับทางพรรคประชาชน ที่ไปดึงเอาแกนนำของพรรคการเมือง 2 รุ่นก่อนหน้า อย่าง ธนาธรจึงรุ่งเรืองกิจ กับ ปิยบุตร แสงกนกกุล จากพรรคอนาคตใหม่ รวมถึง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กับ ชัยธวัช ตุลาธน จากพรรคก้าวไกล มาช่วยหาเสียง ก่อนที่ท้ายที่สุด พรรคเพื่อไทยจะเป็นฝ่ายมีชัย โดยนายศราวุธ ได้คะแนนไป327,487 เสียง มากกว่านายคณิศร จากพรรคประชาชน ซึ่งได้ไป 268,675 เสียง
รายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง”ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ในตอนที่เผยแพร่วันที่ 20 พ.ย. 2567 หรือ 4 วันก่อนถึงวันเลือกตั้งนายก อบจ. อุดรธานี สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม ประธานสถาบันทิศทางไทย วิเคราะห์ความเคลื่อนไหวของนายทักษิณ ว่า ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่นายทักษิณเก็บตัวเงียบหรือปรากฏตัวผ่านสื่อ ล้วนแต่มีจังหวะทางการเมือง ซึ่งบางเรื่องอาจพลาดพลั้งไปบ้างจากวิบากกรรมทางการเมือง
เช่น การเชิญคนไปบ้านจันทร์ส่องหล้า แต่การเคลื่อนไหวยังมีจังหวะจะโคนอยู่กับภาพรวมทางการเมืองที่เกิดขึ้น โดยหากดูสถานการณ์ของนายทักษิณ 1.ยังมีคดีมาตรา 112 กรณีให้สัมภาษณ์สื่อที่เกาหลีใต้ค้างอยู่ อาจใช้เวลาพิจารณากันอีกประมาณ 1 ปี 2.การที่นายทักษิณไม่ต้องอยู่ในเรือนจำแม้แต่วันเดียวในระหว่างต้องโทษจำคุก 1 ปี เรื่องนี้เบื้องต้นไม่ได้อยู่ที่นายทักษิณโดยตรง แต่อยู่ที่ข้าราชการประจำและนักการเมืองที่ช่วยเหลือนายทักษิณ
“สถานการณ์ตอนนี้คุณทักษิณจึงออกมาเคลื่อนไหว มันนิ่งเฉยไม่ได้ เพราะการเมืองทุกด้านตอนนี้มันบีบรัดเข้ามาหมด สถานการณ์ความมั่นคงของรัฐบาลง่อนแง่น จากกรณีตัวนายกรัฐมนตรีเองซึ่งโดนคดีอัลไพน์ มีเรื่องร้องเรียนตามหลังมาอีกมากมาย ง่อนแง่นในฐานะความมั่นคงของรัฐบาลเพราะความขัดแย้งกันในเรื่องที่ดินเขากระโดงกับอัลไพน์ ซึ่งหมายความว่าพรรคภูมิใจไทยกับพรรคเพื่อไทยกำลังซัดกันหนักหน่วง” นายสนธิญาณ กล่าว
นายสนธิญาณ กล่าวต่อไปว่า การที่นายทักษิณเชิญ เนวิน ชิดชอบ อดีตผู้ก่อตั้งพรรคภูมิใจไทย และ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ไปพบที่บ้าน ที่บอกว่าเป็นการไปอวยพรวันเกิดนั้นจริงๆ เพราะนายทักษิณกำลังอยู่ในมุมอับทางการเมือง และสาระสำคัญที่พรรคภูมิใจไทยมีอำนาจต่อรองมากขึ้นเพราะสามารถคุมสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ได้ อย่างที่เห็นเรื่องกฎหมายประชามติ ที่ท่าทีในสภาผู้แทนราษฎรช่วงแรกๆ นั้นพรรคภูมิใจไทยไหลตามน้ำ แต่เมื่อไปถึงการพิจารณาของวุฒิสภากลับถูกตีกลับมา หลังจากนั้นก็จะเห็นพรรคภูมิใจไทยมีท่าทีเปลี่ยนไป
ซึ่งไม่ว่าพรรคภูมิใจไทยจะเปลี่ยนท่าทีเพราะอะไร แต่นายทักษิณในฐานะผู้จัดการรัฐบาล ไม่ใช่ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน แน่นอนว่านายทักษิณย่อมรู้และทำให้ต้องออกมาเคลื่อนไหวเพื่อส่งสัญญาณว่ายังมีอำนาจอยู่ และตนคิดว่าพรรคเพื่อไทยกำลังเตรียมการสำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้าไม่ว่าจะเกิดการยุบสภาหรือปรากฏการณ์บางอย่างขึ้นในทางการเมือง ซึ่งสถานการณ์ของรัฐบาลง่อนแง่นอาจพังลงเมื่อใดก็ได้หากมีประเด็นต้องโหวต จึงอยู่ที่ความพร้อมของแต่ละฝ่ายในการเตรียมการเลือกตั้ง
แต่อีกด้านหนึ่ง พรรคประชาชนที่เป็นฝ่ายค้านก็คิดแบบเดียวกัน ซึ่งตลอด 1 ปีที่นายทักษิณเดินทางกลับประเทศ แทบจะไม่เคยพูดถึง แตกต่างจากสมัยรัฐบาลนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ขณะนั้นพรรคประชาชนยังคงเป็นพรรคก้าวไกล จะพบการหาเรื่องโจมตี พล.อ.ประยุทธ์ แทบทุกสัปดาห์จริงบ้างไม่จริงบ้าง กระทั่งถึงในยุครัฐบาลพรรคเพื่อไทย ช่วงที่ เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ ท่าทีแบบนั้นกลับหายไป กลายเป็นประนีประนอม
กระทั่งมาถึงยุครัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่มี น.ส.แพทองธาร เป็นนายกฯ กลับเห็นท่าทีพรรคประชาชนโจมตีนายทักษิณและพรรคเพื่อไทยอย่างดุเดือด อย่างที่เห็นในสนามเลือกตั้งนายก อบจ. อุดรธานี แต่ก็ตามที่มีการให้ข้อมูลกัน คือเคยมีการเจรจา หรือดีลลับที่เกาะฮ่องกง ระหว่างนายทักษิณ กับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำคณะก้าวหน้า ซึ่งทั้ง 2 คนต่างก็เป็นผู้มีอิทธิพลทางความคิด หรือผู้นำทางจิตวิญญาณต่อพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนตามลำดับ
ซึ่งการที่นายทักษิณกล่าวว่า พรรคเพื่อไทยไม่สามารถร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคก้าวไกลได้เพราะพรรคก้าวไกลมุ่งแต่จะดันเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 ในขณะที่แกนนำและผู้มีอิทธิพลทางความคิดฝั่งพรรคก้าวไกลออกมาปฏิเสธว่าไม่เคยมีเรื่องมาตรา 112 ในบันทึกความตกลง (MOU) ร่วมกัน และชี้ว่าพรรคเพื่อไทยต้องการหักหลังพรรคก้าวไกลยู่แล้ว ซึ่งตนก็เชื่อเช่นนั้น เพราะในการปกครองแบบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรนั้นเป็นตำแหน่งที่สำคัญ และที่ผ่านมาพรรคใดได้ตำแหน่งนายกฯ พรรคนั้นก็จะได้ตำแหน่งประธานสภาฯ ด้วย
“แต่พรรคเพื่อไทยอ่านเกมขาดเพราะดีลลับที่ทำกับ พล.อ.ประยุทธ์ คุยกันมาล่วงหน้าแล้ว เพียงแต่จังหวะมันจะลงตัวตัวอย่างไร คะแนนเสียงจะออกมาอย่างไร ก็หมายความว่าไม่ให้ประธานสภาฯ ยื้อมาตลอด พอยื้อเสร็จมาลงตัวที่คนกลาง พรรคประชาชน (หรือพรรคก้าวไกล) ไม่รู้หรือแกล้งไม่รู้ ได้คุณวันนอร์ (วันมูหะมัดนอร์ มะทา) ก็คือคุณทักษิณ คือพรรคเพื่อไทยอยู่แล้วผูกพันกับคุณทักษิณมาเท่าไร เพียงแต่มาตั้งพรรคประชาชาติเพราะต้องการแตกแบงก์ร้อยมาเป็นแบงก์สิบ
เพราะภาคใต้มันไม่ผ่าน เพราะคุณทักษิณก่อเหตุความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้เลยตั้งพรรคประชาชาติขึ้นแล้วให้คุณวันนอร์มาเป็นประธานสภาฯ” นายสนธิญาณ ระบุ
นายสนธิญาณ ยังกล่าวอีกว่า การเมืองวันนี้กำลังเดินไปถึงจุดอย่างใดอย่างหนึ่ง คือคนรู้สึกอึดอัด อย่างประชาชนกลุ่มที่ไม่ชอบทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนก็เรียกร้องให้ทหารออกมายึดอำนาจ ไปดูกระแสในสื่อสังคมออนไลน์ได้ แต่หากมองเรื่องการเลือกตั้งในอนาคตอันใกล้ ตนบอกเลยว่าการเมืองได้เปลี่ยนไปแล้ว โดยในอดีตเป็นการต่อสู้กันระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ โดยพรรคเพื่อไทยเป็นตัวแทนฝ่ายประชาธิปไตยส่วนพรรคประชาธิปัตย์เป็นตัวแทนฝ่ายอนุรักษ์นิยม แต่นับจากการเลือกตั้งปี 2562 เป็นต้นมาก็ไม่อาจมองแบบเดิมได้อีกต่อไป
กล่าวคือ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมมีภาพชัดมากกว่าที่พรรคพลังประชารัฐ ขณะที่ฝ่ายประชาธิปไตยภาพจะไปอยู่ที่พรรคอนาคตใหม่ แต่ตนก็ต้องย้ำว่าพรรคอนาคตใหม่ จนถึงพรรคก้าวไกลและพรรคประชาชน ไม่ได้ก้าวหน้าจริง ยังเป็นฝ่ายขวาเป็นนายทุนอยู่ เดินตามสหรัฐอเมริกาและต่อต้านจีน สหรัฐฯ ทรัพย์สินเงินทองไปกระจุกอยู่บนยอดของทุนใหญ่ ซึ่งแบบนี้เป็นฝ่ายซ้ายไม่ได้ ไปดูจีนเป็นสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ช่วยคนจน ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบใหม่พาประชากร 1.4 พันล้านคนจากลำบากยากจนมาสู่ความเจริญเข้มแข็ง
ส่วนที่นายทักษิณยังคงเคลื่อนไหวอยู่ได้ตลอด 16-17 ที่อยู่ในต่างประเทศเพราะยังมีแหล่งทุนใหญ่ที่สนับสนุนไว้ และนั่นส่งผลต่อการบั่นทอนพรรคพลังประชารัฐ เริ่มจากความแตกแยกระหว่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กับ พล.อ.ประยุทธ์ ด้วยปฏิบัติการของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า นั่นทำให้เป็นที่มาว่าเหตุใด สส.พลังประชารัฐ กลุ่มที่สนับสนุน ร.อ.ธรรมนัส ถึงถูกชวนไปร่วมรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำทั้งที่รัฐบาลมีเสียงเพียงพอแล้ว แต่เรื่องนี้จะโทษ ร.อ.ธรรมนัสไม่ได้ เพราะเขาก็ทำหน้าที่ของเขาไป ต้องโทษ พล.อ.ประวิตร กับ พล.อ.ประยุทธ์ ที่แตกแยกกัน
นี่จึงเป็นการทำลายพรรคพลังประชารัฐ ทำลายฝ่ายอนุรักษ์นิยม ซึ่งเริ่มดำเนินการมาก่อนจะถึงการเลือกตั้งในปี 2566 ที่ สส.พรรคพลังประชารัฐ ฝ่ายสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ได้ออกไปตั้งพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งกลายเป็นพรรครวมไทยสร้างชาติกับพรรคพลังประชารัฐไปตัดคะแนนกันเอง เรื่องนี้คนที่เชี่ยวชาญการเมืองดูก็รู้ตั้งแต่ต้น ส่วนการเลือกตั้งครั้งต่อไป พรรครวมไทยสร้างชาติอาจกลายเป็นเพียงพรรคต่ำสิบ เพราะนายทุนกำลังเคลื่อนตัวออกไปหาพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่อย่างพรรคโอกาสใหม่ ถามว่าคนที่ยังอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติต่อจะเอาทุนจากไหน
ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ กลุ่ม สส. ที่ยังคงสนับสนุน พล.อ.ประวิตร ปัจจุบันเหลือเพียง 20 คน ต่อให้ทำพรรคจนแข็งแกร่งขึ้นมาได้ก็ไม่พ้นมี สส. เพียง 40-50 คน หันไปมองพรรคภูมิใจไทย เลือกตั้งครั้งก่อนได้ สส. 70 คน แต่ครั้งหน้าถามว่าจะเพิ่มขึ้นเท่าไร ดังนั้นการเมืองหลังจากนี้คือการต่อสู้กันระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาชน โดยมีพรรคภูมิใจไทยเป็นตัวแปร แต่จะแปรไปข้างไหน เพราะบทบาทของพรรคเพื่อไทยกับพรรคภูมิใจไทยวันนี้ร่วมกันยากแล้ว
ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นไม่สามารถเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งระดับชาติได้ ในมุมของตนมองว่าเปรียบเทียบได้ย้อนไปดูการเลือกตั้งปี 2566 พรรคก้าวไกลได้ สส. 150 คน ชนะพรรคเพื่อไทยที่ได้ สส. 140 คน ขณะที่เมื่อดูเป็นรายภาคจะพบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือครองสัดส่วนที่นั่ง สส. ร้อยละ 30 ของทั้งประเทศ ดังนั้นพรรคใดชนะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็มีโอกาสชนะในภาพรวมทั้งประเทศ ซึ่งการเลือกตั้งปี 2566 พรรคก้าวไกลได้ สส. ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพียง 8 คน โดยพรรคเพื่อไทยยังครองเสียง สส. ในภาคนี้เป็นหลักเช่นเดิม
แต่การพ่ายแพ้ในภาพรวมของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งปี 2566 ทั้งที่ยังครองเสียง สส. ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก็ทำให้น่าคิดต่อไปว่า ในการเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคก้าวไกลหรือพรรคประชาชนจะสามารถเอาชนะและได้ที่นั่ง สส. ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพิ่มขึ้นได้หรือไม่ ซึ่งนี่คือสาเหตุที่ทำให้นายทักษิณต้องออกโรงด้วยตนเอง ต้องแสดงศักยภาพว่าเป็นผู้มีอำนาจตัวจริง
ส่วนพรรคภูมิใจไทย แม้จะยังไม่ประสบความสำเร็จในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่หากดูสถิติจะพบว่าขยับขึ้นเรื่อยๆ จากพื้นที่ฐานเสียงหลักในบริเวณตอนใต้ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็ค่อยๆ ครอบคลุมมากขึ้นอย่างไรก็ตาม พรรคภูมิใจไทยทำได้อย่างมากที่สุดก็เพียงพรรคอันดับ 3 ซึ่งพรรคภูมิใจไทยทำการเมืองแบบบ้านใหญ่ จึงยังมีปัญหาในเรื่องคะแนนเสียงเลือกตั้งในฝั่ง สส.บัญชีรายชื่อทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ของพรรคประชาชนคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หากเลือกตั้งครั้งหน้าได้ สส. สัก 20 คน พรรคเพื่อไทยก็แพ้
“คุณทักษิณที่พูดว่า 200 เสียงก็โม้ จะเอามาจากไหน ภาคใต้มี 60 กว่าที่นั่งก็ไม่ได้ ประชาชาติก็เจอคดีตากใบเข้าไปมาที่กรุงเทพฯ เหลืออยู่คนเดียว เป็นรัฐบาลได้คะแนนบวกหรือลบอยู่ตอนนี้ มันคะแนนลบแล้วถามคนกรุงเทพฯ จะเลือกพรรคเพื่อไทยด้วยเหตุผลใด ก็ไม่มี ภาคกลางเป็นเรื่องของพลังประชารัฐที่ยังคุมบางส่วนอยู่ รวมไทยสร้างชาติอาจจะเหลืออยู่บ้าง ภูมิใจไทยเขาก็มีอยู่ เข้าไปแทรกไม่ได้ ก็เหลืออีสานกับเหนือ ตอนนี้เหนือก้าวไกลเจาะได้แล้วที่เชียงใหม่ พรรคประชาชนก็อยากเจาะที่อีสานโดยเฉพาะที่อุดรฯ” นายสนธิญาณ กล่าว
หมายเหตุ : สามารถรับชมรายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ดำเนินรายการโดย บุญระดม จิตรดอน ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ทุกวันอังคาร-พฤหัสบดี เวลา 11.00-12.00 น. โดยประมาณ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี