นักการเมืองไทยอย่าทะลึ่ง! ออกตัวแทนเขมร ‘คำนูณ’ยก 4 เคส‘กระทรวงการต่างประเทศ’เคยประท้วงกัมพูชาอ้างสิทธิเหนือ‘เกาะกูด’
2 ธันวาคม 2567 นายคำนูณ สิทธิสมาน อดีตสมาชิกวุฒิสภา (อดีต สว.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Kamnoon Sidhisamarn ระบุว่า...
อย่าทะลึ่งออกตัวแทน !
กัมพูชาเคยอ้างสิทธิเหนือเกาะกูด
“ไม่ทั้งหมด…ก็อย่างน้อยกึ่งหนึ่ง”
เผย 4 กรณี - กต.เคยประท้วง !
คนกัมพูชาจำนวนไม่น้อยเคยเชื่อหรือยังเชื่อว่าเกาะกูดเป็นของเขา ไม่ทั้งหมดก็อย่างน้อยกึ่งหนึ่ง !
การที่รัฐบาลจอมพลลอนนอลในยุคสาธารณรัฐเขมรประกาศกฤษฎีกาที่ 439-72/PRK เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2515 (ค.ศ. 1972) กำหนดเขตไหล่ทวีปด้านอ่าวไทยปรากฏเส้นด้านทิศเหนือลากผ่านเกาะกูดนั้นมีค่าเท่ากับเป็นประกาศโดยนัยยะว่าเกาะกูดเป็นของกัมพูชา แม้จะไม่ได้เขียนออกมาตรง ๆ ก็ตาม
กฤษฎีกาอ้างสนธิสัญญาสยามฝรั่งเศส 23 มีนาคม ค.ศ. 1907 และหนังสือติดท้ายสัญญา รวมทั้งบันทึกการปักปันเขตแดนสยามฝรั่งเศส 8 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1908 ซึ่งเป็นเรื่องของการปักปันเขตแดนทางบกทั้งสิ้น ก็เพื่อที่จะอาศัย “เส้นประ” ในแผนผังของหนังสือติดท้ายสัญญาที่แสดงจุดเล็งจากยอดเขาสูงสุดบนเกาะกูดไปยังแผ่นดินหาที่ตั้งหลักเขตที่ 73 มาตั้งฐานสร้าง “เหตุ” อ้างอิงเบื้องต้นว่าได้มีการแบ่งเขตแดนทางทะเลระหว่างสยามกับอินโดจีนฝรั่งเศสแล้วในปีค.ศ. 1907 - 1908
ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ “เจือสม” กับอนุสัญญาว่าด้วยทะเลอาณาเขตและเขตต่อเนื่อง ค.ศ. 1958 ข้อ 12 ข้อย่อย 1 ตอนท้าย
เรามาดูกันช้า ๆ ชัด ๆ จากฉบับแปลไทยอย่างเป็นทางการในประกาศพระบรมราชโองการให้ใช้อนุสัญญากรุงเจนีวาว่าด้วยกฎหมายทะเล วันที่ 28 เมษายน 2512
“1. ในกรณีที่ฝั่งทะเลของรัฐสองรัฐอยู่ตรงข้ามหรือประชิดกัน ถ้าไม่มีความตกลงระหว่างกันเป็นอย่างอื่น รัฐใดรัฐหนึ่งของทั้งสองรัฐไม่มีสิทธิที่จะขยายทะเลอาณาเขตของตนเลยเส้นมัธยะซึ่งจุดทุกจุดบนเส้นนั้นมีระยะห่างเท่ากันจากจุดที่ใกล้ที่สุดบนเส้นฐานซึ่งใช้วัดความกว้างของทะเลอาณาเขตของรัฐทั้งสองแต่ละรัฐ อย่างไรก็ดี มิให้ใช้บทแห่งวรรคนี้ในกรณีที่เป็นการจำเป็นโดยเหตุแห่งสิทธิทางประวัติศาสตร์ หรือพฤติการณ์พิเศษอย่างอื่นในอันที่จะกำหนดเขตทะเลอาณาเขตของรัฐทั้งสองในทางที่แตกต่างไปจากบทนี้“
(ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 86 ตอนที่ 44 วันที่ 20 พฤษภาคม 2512 หน้า 458)
เพื่อให้เข้าบทยกเว้นของบทบัญญัติข้อนี้ ในฐานะที่เป็น…
“เหตุแห่งสิทธิทางประวัติศาสตร์”
“พฤติการณ์พิเศษอย่างอื่น”
นี่คือการจงใจใช้ “เส้นประ” (แสดงจุดเล็งหลักเขต 73) ในแผนผังหนังสือติดท้ายสัญญาค.ศ. 1907 อย่างผิดวัตถุประสงค์ เสกสรรค์ปั้นแต่ง “เหตุ” ขึ้นมาเพื่อ “อ้าง” ให้ “เจือสม” กับบทยกเว้นตอนท้ายของข้อ 12 ข้อย่อย 1 อนุสัญญาว่าด้วยทะเลอาณาเขตและเขตต่อเนื่อง ค.ศ. 1958 เพื่อขยายทะเลอาณาเขตของกัมพูชาให้เกินกว่าหลักทั่วไปที่กำหนดไว้ในบทหลักตอนต้นของข้อเดียวกัน
เพราะพ้นจากข้ออ้างเยี่ยงนี้แล้วไม่มีเหตุผลทางข้อกฎหมายอื่นใดให้ลากเส้นเขตไหล่ทวีปมาผ่านเกาะและน่านน้ำภายในที่อยู่ใต้อธิปไตยชาติอื่นได้
ดร.ประจิตต์ โรจนพฤกษ์ อดีตอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตสมาชิกวุฒิสภา (ปี 2554-2557) เคยเขียนบทความเผยแพร่ไว้ในปี 2554 ว่าเส้นประกาศเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาที่ลากผ่านเกาะกูดนี้มันผิดอย่างน่าเกลียด โอกาสที่มันจะถูกมีอยู่เงื่อนไขเดียวเท่านั้นคือกรรมสิทธิในเกาะกูดถูกแบ่งเป็น 2 ส่วนระหว่างไทยกับกัมพูชาตามแนวยอดสูงสุดของตัวเกาะ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ด้วยประการทั้งปวงเพราะขัดกับสนธิสัญญาประธานในข้อ 2 ที่ระบุไว้ชัดเจนว่าฝรั่งเศสยกเกาะกูดให้ไทย
นี่คือการกระทำของกัมพูชาที่เป็นการอ้างสิทธิ “โดยนัยยะ” เหนือเกาะกูดเมื่อ 52 ปีก่อน
เมื่อรัฐบาลปักธงปูทางมาตั้งแต่ปี 2515 จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่ความคิดความเชื่อเช่นนี้จะฝังอยู่ในหัวชาวกัมพูชาทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนในแทบทุกระดับ โดยมีการพูดหรือแสดงออกมาเนือง ๆ
ขอยกตัวอย่างเหตุการณ์จริงในรอบ 30 ปีมาให้ดู 4 กรณี
1. นสพ.รัศมีกัมพูชา ปี 2539
2. ความคิดเห็นเจ้าหน้าที่กัมพูชาช่วงก่อนก่อน 18 มิถุนายน 2544
3. ความคิดเห็นเจ้าหน้าที่กัมพูชาระหว่างเจรจาภายใต้กรอบ MOU 2544 ช่วงปี 2544-2548
4. เพจข่าวพนมเปญโพสต์
กรณีที่ 1 : นสพ.รัศมีกัมพูชา ปี 2539
นสพ.รัศมีกัมพูชาฉบับลงวันที่ 23-30 มกราคม 2539 ตีพิมพ์บทความบิดเบือนความจริงอย่างสิ้นเชิงว่าเกาะกูดเป็นหรือเคยเป็นของกัมพูชา ไทยใช้กำลังเข้ายึดไว้ในสมัยเขมรแดง
ดร.สมบูรณ์ เสงี่ยมบุตร อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายกระทรางการต่างประเทศในขณะนั้น ได้ดำเนินการเชิญนายซา สมบัติ อัครราชทูตที่ปรึกษาสถานเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำไทย มาพบอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2539 เพื่อให้จัดการแก้ไขเสียให้ถูกต้อง โดยฝ่ายกัมพูชาได้ชี้แจงว่าหนังสือพิมพ์ของกันพูชามักลงข่าวคลาดเคลื่อนไม่ตรงกับข้อเท็จจริงก่อให้เกิดความสับสนและเข้าใจผิดกับประเทศเพื่อนบ้านอยู่เนือง ๆ และมิอาจถือได้ว่าข้อความในหนังสือพิมพ์นั้น ๆ เป็นท่าทีของรัฐบาลกัมพูชา ฝ่ายไทยจึงได้ขอให้นำความแจ้งต่อรัฐบาลกัมพูชาเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกับสื่อมวลชน ฝ่ายกัมพูชารับที่จะรายงานเรื่องนี้ให้รัฐบาลกัมพูชาทราบ เพื่อพิจารณาหามาตรการป้องกันและแก้ไขต่อไป
กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ได้ออกเอกสารข่าวสารนิเทศที่ 97/2539 แถลงต่อสาธารณะดังภาพประกอบ
กรณีที่ 2 : ความคิดเห็นเจ้าหน้าที่กัมพูชาช่วงก่อน 18 มิถุนายน 2544
ดร.สุรเกียรติ เสถียรไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศผู้ลงนามใน MOU 2544 เขียนเล่าไว้ในหน้า 34 ของบทความทางวิชาการเรื่อง “พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา : ปัญหาและพัฒนาการ“ ตีพิมพ์ในจุลสารความมั่นคงศึกษาฉบับที่ 92 พฤษภาคม 2554 สนับสนุนการพิมพ์โดยสถาบันการข่าวกรอง สำนักข่าวกรองแห่งชาติ
“ในการเจรจาก่อนการจัดทำบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ ฝ่ายกัมพูชาตั้งแต่ระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสจนถึงระดับสูงได้กล่าวถึงเกาะกูดว่าอย่างน้อยกึ่งหนึ่งของเกาะกูดอยู่ในเขตแดนของกัมพูชาอยู่เนือง ๆ มีครั้งหนึ่งในช่วงระหว่างการเจรจาบันทึกความเข้าใจนี้ ผู้เขียนเคยพูดกับผู้กำหนดนโยบายระดับสูงของกัมพูชาว่า ‘ถ้าเส้นเขตทางทะเลลากจากฝั่งและผ่ากลางเกาะกูดแล้ว ในทางปฏิบัติก็คงจะแปลก ดี เพราะคนไทยขึ้นบนเกาะกูดจากฝั่งไทย ถ้าจะลงมาเล่นน้ำอีกฝั่งของเกาะต้องถือพาสปอร์ต (หนังสือเดินทาง) มาด้วย’ และครั้งหนึ่งในการหารือข้อราชการกับนายกรัฐมนตรีกัมพูชา นายกรัฐมนตรีกัมพูชาได้กล่าวกับผู้เขียนว่า ‘กัมพูชาจะยกเลิกข้อเรียกร้อง (Claims) ที่ถือว่าเกาะกูดเป็นของกัมพูชากึ่งหนึ่ง และถือว่าเกาะกูดเป็นของไทย คือ จะยกอธิปไตยเหนือเกาะกูดให้ไทย แต่อย่าเพิ่งประกาศ เพราะจะเกิดปัญหาทางการเมืองภายในกัมพูชาได้’….ฯลฯ….”
ขอขีดเส้นใต้เพื่อตอกย้ำข้อความ 2 ส่วน
“ฝ่ายกัมพูชาตั้งแต่ระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสจนถึงระดับสูงได้กล่าวถึงเกาะกูดว่าอย่างน้อยกึ่งหนึ่งของเกาะกูดอยู่ในเขตแดนของกัมพูชาอยู่เนือง ๆ”
“กัมพูชาจะยกเลิกข้อเรียกร้อง (Claims) ที่ถือว่าเกาะกูดเป็นของกัมพูชากึ่งหนึ่ง และถือว่าเกาะกูดเป็นของไทย คือจะยกอธิปไตยเหนือเกาะกูดให้ไทย…”
แน่ะ - อย่างนี้ก็มีด้วย — เสกสรรค์ปั้นแต่งเรื่องบิดเบือนว่าเกาะกูดเป็นของเขา พอเห็นท่าว่าจะไปต่อไม่ได้ยังมีหน้ามาบอกเหมือนจะเอาบุญคุณอีกว่าใจเย็น ๆ จะเลิกเคลมแล้วจะยกเกาะกูดให้ไทยแล้วนะ
และฝ่ายไทยเราก็ช่าง “เรียบร้อย” และ “มักน้อย” เสียเต็มประดา โดนลูบหน้าอย่างนี้แต่แค่ได้แผนผังเอกสารแนบท้าย MOU 2544 เป็นเส้นเว้าใต้เกาะกูดเป็นรูปตัว ‘U’ ก็ดีใจแล้วบอกว่าเป็นความสำเร็จขั้นสำคัญแล้ว - แน่ะ — อย่างนี้ก็มีด้วยเหมือนกัน !
กรณีที่ 3 : ความคิดเห็นเจ้าหน้าที่กัมพูชาระหว่างเจรจาภายใต้กรอบ MOU 2544 ช่วงปี 2544-2548
ดร.สุรเกียรติ เสถียรไทย ยังกล่าวต่อไปในบทความทางวิชาการเรื่องเดียวกันหน้า 35-36 ว่า…
“ในการเจรจาของคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคที่มีขึ้นภายหลังจากการลงนามในบันทึกความเข้าใจแล้วนั้น ฝ่ายไทยก็ได้มอบหมายให้ผู้เขียนพยายามที่จะเจรจาในระดับรัฐมนตรีเพื่อไม่ให้เส้นเขตแดนล้อมรอบเกาะกูดถูกกำหนดเป็นรูปตัว ’U’ ซึ่งผู้เขียนจำได้ว่าเคยหารือกับนายชก อาน รัฐมนตรีอาวุโสของกัมพูชา (ตำแหน่งในขณะนั้น) ว่าเหตุใดเส้นเขตแดนจึงมีโค้งเป็นเบ้าขนมครก เหตุใดจึงไม่เป็นเส้นตรง ซึ่งหมายความว่าจากหลักเขตแดนที่ 73 นั้น เส้นเขตทางทะเลควรจะลากจากลงมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้เป็นเส้นตรง และต้องไม่ลากผ่านเกาะกูด มิใช่ลากเส้นมาถึงเกาะกูดแล้ว จึงเกิดส่วนเว้าหลบอ้อมเกาะกูดไป ซึ่งในแง่ของไทยแล้วการลากเส้นเขตแดนเป็นเส้นตรงโดยไม่ผ่านกึ่งกลางของเกาะกูดจะมีผลทำให้อธิปไตยของเกาะกูดมีความชัดเจนมากขึ้น และทำให้อาณาเขตรวมของพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลมีขนาดเล็กลง ซึ่งในเรื่องนี้อยู่ในระหว่างการที่ฝ่ายกัมพูชาจะขอความเห็นชอบจาก ผู้นำสูงสุดของกัมพูชา แต่ผู้เขียนได้พ้นหน้าที่ความรับผิดชอบในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมทางเทคนิคไปเสียก่อน…ฯลฯ….“
ดร.สุรเกียรติ เสถียรไทยพ้นจากหน้าที่และอำนาจมาเกือบจะ 20 ปีเต็มแล้ว ข้อเสนอของท่านยังไม่เห็นความคืบหน้า
ความสำเร็จมีแค่ขั้นแรกและขั้นเดียวเท่านั้น คือเส้นเขตไหล่ทวีปเว้นเป็น “เบ้าขนมครก” เส้นเดียวในโลก !
กรณีที่ 4 : เพจข่าวพนมเปญโพสต์
เพจข่าวพนมเปญโพสต์ลงข่าวคำพูดของทั้งสมเด็จฮุนเซน และสมเด็จฮุนมาเนต เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 ขอให้พวกเราดูการเลือกประเด็นเป็นข่าว การพวดหัว เนื้อข่าว และคำบรรยายภาพ จะพบว่ามุ่งเน้นที่ “เกาะกูด” เป็นสำคัญ
“Hun Sen urges diplomacy on Koh Kut, legal action on extremism”
“the Koh Kut issue”
“PM defends government’s silence on Koh Kut dispute”
โดยเฉพาะคำบรรยายภาพต่อไปนี้…
“A satellite image of Koh Kut, an island claimed by both Cambodia and Thailand…”
ขีดเส้นใต้เพื่อย้ำนะ…
“Koh Kut, an island claimed by (both) Cambodia (and Thailand).”
ดังนั้นแม้คำพูดของสมเด็จฯฮุนเซนและสมเด็จฯฮุนมาเนตจะยืนยันแต่ว่าทุกอย่างยังอยู่ในการเจรจา ยังไม่มีข้อตกลง กัมพูชาไม่ได้เสียอะไร และยืนยันจะแก้ปัญหาด้วยการทูต แต่ก็เท่ากับยืนยีนในด้านกลับว่าปัญหาเกาะกูดยังไม่จบใช่ไหม ยังไม่ได้ยอมรับว่าเกาะกูดเป็นของไทยใช่ไหม ?
ผมมีข้อสังเกตสำคัญว่าสมเด็จฮุนมาเนตพูดโยงปัญหาเขตแดนไทยกับกัมพูชาทั้งทางบกและทางทะเลเข้าไว้ด้วยกัน โดยเอ่ยอ้างสนธิสัญญาสยามฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงนั่นเป็นข้อตกลงแบ่งเขตแดนทางบก สยามกับฝรั่งเศสไม่เคยมีการเจรจาและมีข้อตกลงใด ๆ เรื่องเขตแดนทางทะเลกันเลย
หรือว่าสมเด็จนายกฯท่านยังเชื่อเรื่อง “เส้นประ” (ในแผนผังหนังสือคิดท้ายสัญญาค.ศ. 1907) ตามกฤษฎีกาค.ศ. 1972 อยู่ ?
4 กรณี 4 ช่วงระยะเวลา ล้วนสะท้อนให้เห็นว่าจากอดีตถึงปัจจุบัน ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ สื่อ และประชาชนกัมพูชาทั่วไป ยังคงเชื่อว่าเกาะกูดเป็นของกัมพูชาไม่ทั้งหมดก็อย่างน้อยกึ่งหนึ่ง
นักการเมืองไทยอย่าทะลึ่งไปออกตัวแทนว่ากัมพูชาไม่เคยอ้างสิทธิเหนือเกาะกูดก็แล้วกัน !
คำนูณ สิทธิสมาน
2 ธันวาคม 2567
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี