เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2567 เวลา 10.00 น. น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้
กฎหมาย
1. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ
1. เห็นชอบการทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 (เรื่อง แนวทางในการส่งเสริมการออมทรัพย์ของสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติเพื่อรองรับการเกษียณผ่านโครงการสลากสะสมทรัพย์เพื่อเงินออมยามเกษียณ) โดยเปลี่ยนชื่อโครงการ จาก “โครงการสลากสะสมทรัพย์เพื่อเงินออมยามเกษียณ” เป็น “โครงการสลากออมทรัพย์เพื่อเงินออมยามเกษียณ (สลากเกษียณ)” และเพิ่มเติมหลักการกรณีผู้ที่มีอายุครบ
60 ปีบริบูรณ์ให้ซื้อสลากของกองทุนต่อไปได้ตามร่างพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
2. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
3. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
4. มอบหมายให้ กค. และ กอช. ดำเนินการขอรับจัดสรรงบประมาณเพื่อรองรับโครงการสลากออมทรัพย์เพื่อเงินออมยามเกษียณ (สลากเกษียณ) ตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง
สาระสำคัญ
เรื่องที่กระทรวงการคลังเสนอ เป็นการขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 (เรื่อง แนวทางในการส่งเสริมการออมทรัพย์ของสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติเพื่อรองรับการเกษียณผ่านโครงการสลากสะสมทรัพย์เพื่อเงินออมยามเกษียณ) โดยเปลี่ยนชื่อโครงการ จาก “โครงการสลากสะสมทรัพย์เพื่อเงินออมยามเกษียณ” เป็น “โครงการสลากออมทรัพย์เพื่อเงินออมยามเกษียณ (สลากเกษียณ)” และเพิ่มเติมหลักการกรณีผู้ที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ให้ซื้อสลากของกองทุนต่อไปได้ และการขออนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 โดยแก้ไขเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ของกองทุนการออมแห่งชาติให้รวมถึงการส่งเสริมการออมทรัพย์โดยการออกและขายสลากและกำหนดคุณสมบัติของสมาชิกที่ซื้อสลากให้ครอบคลุมทั้งสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติในปัจจุบันและผู้ประกันตนตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 (บุคคลทั่วไปที่ประกอบอาชีพอิสระหรือแรงงานนอกระบบที่ไม่มีนายจ้าง เช่น พ่อค้า แม่ค้า แม่บ้าน รับจ้างทั่วไป ฟรีแลนซ์) เพื่อสร้างแรงจูงใจให้สมาชิกมีการซื้อสลากเป็นการออมเงินอีกรูปแบบหนึ่ง รวมทั้งสามารถเป็นกลไกการออมเพื่อการชราภาพสำหรับแรงงานนอกระบบให้มีการสะสมเงินออมได้อย่างเพียงพอและต่อเนื่องในระยะยาวเพื่อรองรับการเกษียณและการเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอด (Super-Aged Society) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สรุปได้ ดังนี้
ประเด็น |
รายละเอียด |
1. บทนิยาม (ร่างมาตรา 3 - มาตรา 7) |
· แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยาม ได้แก่ 1) “สมาชิก” หมายความว่า สมาชิกที่ส่งเงินสะสมและสมาชิกที่ซื้อสลาก (เดิมกำหนดไว้เฉพาะสมาชิกที่ส่งเงินสะสม) 2) “บำนาญ” หมายความว่า เงินที่จ่ายเป็นรายเดือนให้แก่สมาชิกที่ส่งเงินสะสม เมื่อสมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลงเมื่ออายุครบ 3) “เงินดำรงชีพ” หมายความว่า เงินที่จ่ายเป็นรายเดือนแทนเงินบำนาญให้แก่สมาชิกที่ส่งเงินสะสม (กำหนดให้สมาชิกที่ส่งเงินสะสมเท่านั้นที่ได้รับเงินดำรงชีพ) · เพิ่มบทนิยาม ได้แก่ 1) “สมาชิกที่ส่งเงินสะสม” หมายความว่า สมาชิกที่ส่งเงินสะสมเข้ากองทุนและรัฐบาลจ่ายเงินสมทบ 2) “สมาชิกที่ซื้อสลาก” หมายความว่า สมาชิกที่มีสิทธิซื้อสลากและได้รับเงินเกษียณ 3) “สลาก” หมายความว่า สลากออมทรัพย์ที่กองทุนออกขาย 4) “เงินเกษียณ” หมายความว่า เงินที่ซื้อสลากและประโยชน์ของเงินดังกล่าว ที่จ่ายให้แก่สมาชิกที่ซื้อสลาก |
2. วัตถุประสงค์ (ร่างมาตรา 8) |
· เพิ่มวัตถุประสงค์ของกองทุนให้รวมถึงการส่งเสริมการออมทรัพย์โดยการออกสลากและขายสลาก เพื่อจูงใจให้มีการซื้อสลากซึ่งเป็นการออมเงินอีกรูปแบบหนึ่ง (เดิมกำหนดวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการออมทรัพย์ของสมาชิกและเพื่อเป็นหลักประกันการจ่ายบำนาญและให้ประโยชน์ตอบแทนแก่สมาชิกเมื่อสินสมาชิกภาพ) |
3. ทรัพย์สินของกองทุน (ร่างมาตรา 9) |
· กำหนดเพิ่มเติมให้เงินที่สมาชิกซื้อสลากเพื่อการออมเป็นทรัพย์สินของกองทุน (เดิมไม่ได้กำหนด) |
4. อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ กอช. (ร่างมาตรา 10) |
· กำหนดให้คณะกรรมการ กอช. มีอำนาจหน้าที่กำหนดประเภทการออก การขายและรายละเอียดที่เกี่ยวกับสลากตามที่กำหนดในกฎกระทรวง (เดิมไม่ได้กำหนด) |
5. เพิ่มหมวด 3/1 สมาชิกที่ซื้อสลากและสิทธิประโยชน์ (ร่างมาตรา 13) |
· กำหนดคุณสมบัติของสมาชิกที่ซื้อสลาก ได้แก่ 1) สมาชิกประเภท ก. (สมาชิกที่ส่งเงินสะสม) และ 2) สมาชิกประเภท ข. ตามพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 และระเบียบสำนักงานประกันสังคมว่าด้วยการรับสมัครและขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนตามมาตรา 40 พ.ศ. 2561 ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่มีสิทธิประโยชน์ (เช่น เงินสมทบ เงินบำนาญตลอดชีพ และการลดหย่อนภาษี) โดยสมาชิกประเภท ก. (สมาชิกที่ส่งเงินสะสม) มีสิทธิซื้อสลากได้ด้วย ทั้งนี้ ผู้ซื้อสลากไม่สามารถลาออกจากการเป็นสมาชิกที่ซื้อสลากได้ · กำหนดหลักเกณฑ์การซื้อสลาก ได้แก่ 1) กำหนดให้การซื้อสลากทำได้โดยแสดงความจำนงพร้อมกับ 2) กำหนดให้การจ่ายเงินซื้อสลากเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่คณะกรรมการ กอช. ประกาศกำหนด 3) กำหนดให้นำเงินที่สมาชิกซื้อสลากเข้ากองทุน เพื่อนำไป · กำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเงินรางวัลจากบัญชีเงินกองกลางตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้ รัฐบาลต้องจัดสรรเงินให้เพียงพอสำหรับการจ่ายเงินรางวัลดังกล่าว · กำหนดสิทธิประโยชน์แก่สมาชิกที่ซื้อสลาก ได้แก่ 1) เมื่อมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ มีสิทธิได้รับเงินเกษียณจากกองทุน โดยแสดงความจำนงในการรับเงินเกษียณจากกองทุน 2) เมื่อมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ให้มีสิทธิเป็นสมาชิกที่ซื้อสลากของกองทุนต่อไปได้อีก 10 ปี และเมื่อครบ 10 ปี ให้มีสิทธิได้รับเงินเกษียณจากกองทุน 3) กรณีสมาชิกที่ซื้อสลากถึงแก่ความตาย ให้จ่ายเงินที่ซื้อสลากและผลประโยชน์ของเงินดังกล่าวทั้งหมดให้แก่บุคคลซึ่งสมาชิกผู้ตายได้แสดงเจตนาไว้หรือทายาท · กำหนดให้ถือว่าการออกสลาก รวมทั้งการจัดให้มีการแถมพกหรือรางวัลด้วยการเสี่ยงโชคโดยวิธีใด ๆ เกี่ยวกับการออกสลากได้รับใบอนุญาตและประทับตราจากเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการพนันแล้วและไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม |
6. บัญชีของกองทุน (ร่างมาตรา 14 - มาตรา 15) |
· กำหนดให้เพิ่ม 1) บัญชีเงินรายบุคคลของสมาชิกที่ซื้อสลาก และ 2) บัญชีเงินเกษียณซึ่งแสดงรายการเงินที่ซื้อสลากและผลประโยชน์ของเงินดังกล่าวที่โอนมาจากบัญชีเงินรายบุคคลของสมาชิกที่ซื้อสลาก · กำหนดให้โอนเงินจากบัญชีเงินรายบุคคลมาเข้าบัญชีเงินเกษียณ เมื่อสมาชิกที่ซื้อสลากมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ หรือเลือกเป็นสมาชิกที่ซื้อสลากของกองทุนต่อไปอีก 10 ปี เมื่อมีอายุครบ |
7. การจัดสรรดอกผล (ร่างมาตรา 16) |
· กำหนดให้จัดสรรดอกผลของการนำเงินของบัญชีรายบุคคลไปลงทุนเป็นผลประโยชน์ของเงินสะสม เงินสมทบ และเงินที่ซื้อสลากของเงินที่มีอยู่ในบัญชีของสมาชิกแต่ละคน |
8. การแจ้งยอดเงินที่ซื้อสลาก (ร่างมาตรา 17) |
· กำหนดให้กองทุนแจ้งยอดเงินที่ซื้อสลากพร้อมทั้งผลประโยชน์ตอบแทนของเงินดังกล่าวให้สมาชิกทราบอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการ กอช. ประกาศกำหนด |
4. กค. ได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายตามแนวทางมติคณะรัฐมนตรี (19 พฤศจิกายน2562) เรื่อง การดำเนินการเพื่อรองรับและขับเคลื่อนการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 พร้อมทั้งได้เผยแพร่ผลการรับฟังความคิดเห็นพร้อมการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายผ่านทางเว็บไซต์ของ กอช. (www.nsf.or.th) และระบบกลางทางกฎหมาย (www.law.go.th) เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบแล้ว ดังนี้
1. ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การจำหน่ายสลากของกองทุนจะทำให้มีเม็ดเงินจำนวน 13,000 ล้านบาทต่อปี [ประมาณการจากการจำหน่ายสลาก 5 ล้านใบต่องวด (ต่อสัปดาห์) จำนวน 52 งวดต่อปี หรือจำนวน 260 ล้านใบต่อปี ในราคาขายใบละ 50 บาท คิดเป็นเงินจำนวน 13,000 ล้านบาทต่อปี] ซึ่งจะถูกนำไปบริหารจัดการผ่านการลงทุนและส่งผลให้มีเม็ดเงินจำนวนดังกล่าวหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้นเมื่อเทียบกับต้นทุนเงินรางวัลที่รัฐจะจัดสรรจำนวน 780 ล้านบาทต่อปี
2. ผลกระทบต่อสังคม สร้างแรงจูงใจให้แรงงานนอกระบบเกิดการออมมากขึ้นในรูปแบบ “สลากออมทรัพย์เพื่อเงินออมยามเกษียณ” (สลากเกษียณ) และสามารถเก็บเป็นเงินสะสมให้กับสมาชิกเพื่อรับเป็นเงินบำนาญเมื่อเกษียณอายุได้
3. ผลกระทบอื่นที่สำคัญ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและการสร้างโอกาสการเข้าถึงการบริการของรัฐ โดยให้แรงงานนอกระบบที่ยังไม่ได้รับความคุ้มครองเพื่อการชราภาพอย่างทั่วถึงมีช่องทางหรือโอกาสเข้าถึงระบบการออมเงิน เพื่อสร้างความมั่นคงในบั้นปลายของชีวิตและลดภาระของภาครัฐในการดูแลผู้สูงวัยในระยะยาว
2. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. .... และรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ต้องออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. เนื่องจากระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหาร จัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. 2563
ใช้บังคับกับราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาคและราชการส่วนท้องถิ่นเท่านั้น แต่ไม่สามารถบังคับให้เอกชนดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดได้ เนื่องจากเกินขอบเขตอำนาจที่พระราชบัญญัติระเบียบพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินพ.ศ. 2534 มาตรา 11 (8) ซึ่งให้อำนาจนายกรัฐมนตรีในการออกระเบียบปฏิบัติราชการไว้ส่งผลให้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ ไม่สามารถบังคับใช้ได้กับภาคเอกชน ซึ่งการขนส่งสาธารณะในประเทศไทยในปัจจุบันนั้น มีทั้งผู้ประกอบการที่เป็นส่วนราชการและภาคเอกชน ดังนั้นการบูรณาการให้เกิดระบบตั๋วร่วมอย่างครอบคลุมทั้งระบบจำเป็นต้องใช้กลไกของกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ
2. ร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดมาตรฐานทางเทคโนโลยีของระบบตั๋วร่วมเพื่อเป็นมาตรฐานกลาง สำหรับการให้บริการระบบตั๋วร่วมในอนาคต และสำหรับผู้ให้บริการในปัจจุบันที่จะเข้าสู่ระบบตั๋วร่วม กำหนดอัตราค่าโดยสารร่วม การจัดตั้งกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม เพื่อสนับสนุนประชาชน รวมถึงสนับสนุนผู้รับใบอนุญาตที่เข้าร่วมระบบตั๋วร่วม กำหนดผู้ประกอบการที่จะมีสิทธิขอรับการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม และในกรณีมีความจำเป็นให้ตราพระราชกฤษฎีกากำหนดให้การประกอบกิจการขนส่งสาธารณะใดเป็นกิจการที่ต้องใช้ระบบตั๋วร่วม โดยร่างพระราชบัญญัติฯ สรุปได้ ดังนี้
ประเด็น |
สาระสำคัญ |
กำหนดบทนิยาม ร่างมาตรา 3 |
- “ตั๋วร่วม” หมายความว่า รูปแบบการชำระค่าโดยสาร ค่าธรรมเนียม หรือค่าบริการในการขนส่ง สาธารณะทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยใช้มาตรฐานทางเทคโนโลยีของระบบตั๋วร่วม ไม่ว่าด้วยการใช้บัตรหรือสิ่งอื่นใดแทนการใช้บัตรก็ตาม - “ระบบตั๋วร่วม” หมายความว่า ระบบชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับค่าโดยสารค่าธรรมเนียม หรือค่าบริการ ในการขนส่งสาธารณะ ซึ่งใช้มาตรฐานทางเทคโนโลยีของระบบตั๋วร่วม - “ขนส่งสาธารณะ” หมายความว่า การขนส่งผู้โดยสาร |
หมวด 1 คณะกรรมการ นโยบายระบบตั๋วร่วม (ร่างมาตรา 5-13) |
- ให้คณะกรรมการนโยบายระบบตั๋วร่วม (คนต.) (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน) มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม การพัฒนาระบบตั๋วร่วมหรือการพัฒนาการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม กำหนดแนวทางและระยะเวลาการดำเนินงานและระยะเวลาเข้าร่วมดำเนินงานในการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณอัตราค่าโดยสารร่วม พิจารณาเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางต่อคณะรัฐมนตรีในการสนับสนุนระบบตั๋วร่วม รวมถึงกำหนดนโยบายในการนำส่งเงินเข้ากองทุนและการใช้จ่ายเงินกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม |
หมวด 2 การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม |
ส่วนที่ 1 การกำกับดูแล - ให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) รับผิดชอบงานธุรการของ คนต.รวมถึงมีภารกิจในการจัดทำและเสนอนโยบายหรือแนวทาง ในการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมต่อ คนต. รวมถึงการออกประกาศ ระเบียบ หรือข้อบังคับโดยความเห็นชอบของ คนต. ในเรื่องมาตรฐานทางเทคโนโลยีของระบบตั๋วร่วม รูปแบบของระบบตั๋วร่วม หลักเกณฑ์ เงื่อนไข ข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม การเชื่อมต่อระบบตั๋วร่วมระหว่างผู้ได้รับใบอนุญาต และการบริหาร จัดการรหัสความปลอดภัยของระบบตั๋วร่วม อีกทั้ง สนข. ยังมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแล ติดตามตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินงานของผู้รับใบอนุญาตและผู้ให้บริการขนส่ง - เมื่อ สนข. ออกประกาศกำหนดมาตรฐานทางเทคโนโลยีของระบบตั๋วร่วมแล้ว ให้หน่วยงานของรัฐ ที่มีหน้าที่รับผิดชอบอนุญาตให้เอกชนประกอบกิจการขนส่งสาธารณะจะต้องน้ำมาตรฐานทางเทคโนโลยีของระบบตั๋วร่วมดังกล่าวไปใช้บังคับ ในกรณีที่มีการจัดทำสัญญาสัมปทาน สัญญาร่วมงานหรือสัญญาร่วมลงทุนที่มีข้อกำหนดเกี่ยวกับระบบตั๋วร่วม ส่วนที่ 2 การประกอบกิจการระบบตั๋วร่วม - กำหนดให้ผู้ใดประสงค์จะประกอบกิจการระบบตั๋วร่วมตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมโดยความเห็นชอบของ คนต. ทั้งนี้ โดยการขอรับใบอนุญาตเป็นโดยความสมัครใจของผู้ประกอบการ หากผู้ประกอบการรายใดไม่ขอรับใบอนุญาต จะมีผลทำให้ไม่มีสิทธิได้รับการสนับสนุนเงินกองทุน แต่จะไม่มีโทษ ทั้งนี้ ใบอนุญาตประกอบกิจการระบบตั๋วร่วมแบ่งเป็น 3 ประเภท และมีอายุไม่เกิน 10 ปี ได้แก่ (1) การให้บริการศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง (2) การให้บริการออกตั๋วร่วม และ (3) การให้บริการระบบตั๋วร่วม - กำหนดให้ในกรณีจำเป็น เพื่อรักษาการให้บริการระบบตั๋วร่วม หรือเพื่อประโยชน์ในการเสริมสร้างระบบตั๋วร่วม หรือเพื่อป้องกันความเสียหาย ต่อสาธารณชน ให้มีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดให้การประกอบกิจการขนส่งสาธารณะใดเป็นกิจการที่ต้องใช้ระบบตั๋วร่วม และต้องได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ โดยก่อนมีการตราพระราชกฤษฎีกานั้น จะต้องจัดให้มีการเจรจาและทำความตกลงร่วมกับผู้ประกอบกิจการขนส่งสาธารณะที่จะถูกบังคับ รวมถึงดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามความเหมาะสมและนำข้อมูลที่ได้รับมาประกอบการพิจารณา ซึ่งหากผู้ประกอบการที่ถูกบังคับภายใต้พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษทางปกครอง |
หมวด 3 การดำเนินงานในการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม
|
- กำหนดหน้าที่ของผู้รับใบอนุญาต 1. ประกอบกิจการระบบตั๋วร่วมให้เป็นไปตามมาตรฐานทางเทคโนโลยีของระบบตั๋วร่วม เพื่อให้ระบบตั๋วร่วมทั้งหมดมีมาตรฐานเดียวกันและสามารถเชื่อมโยงข้อมูลถึงกันได้ 2. บำรุงรักษา ซ่อมแซม และแก้ไขปรับปรุงระบบตั๋วร่วม หรือเครื่องมือต่าง ๆ ที่ใช้ในการประกอบกิจการระบบตั๋วร่วมให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีมาตรฐาน ในกรณีที่เกิดความชำรุดเสียหาย จะต้องดำเนินการแก้ไขให้สามารถใช้งานได้โดยเร็ว 3. รวบรวมข้อมูลการใช้บริการระบบตั๋วร่วม ข้อมูลการเดินทาง และข้อมูลส่วนบุคคลอื่น ๆ ที่ สนข. ร้องขอ และประมวลผลข้อมูลเพื่อรายงานต่อสำนักงาน ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ สนข. ประกาศกำหนด 4. รับเรื่องราวร้องทุกข์จากผู้ใช้บริการที่ไม่ได้รับความสะดวก ได้รับการบริการที่ไม่สุภาพ หรือได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายอื่นใดอันเนื่องมาจากการให้บริการระบบตั๋วร่วม เพื่อรายงานต่อ สนข. 5. นำส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม 6. ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือตามที่กำหนดในประกาศ ระเบียบหรือข้อบังคับของคณะกรรมการ |
หมวด 4
|
- การกำหนดอัตราค่าโดยสารร่วมให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยจะต้องสอดคล้องกับหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณอัตราค่าโดยสารร่วมตามที่ คนต. กำหนด โดยให้คำนึงถึงหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ 1. การบูรณาการอัตราค่าโดยสารระหว่างระบบขนส่งสาธารณะที่ต่างระบบและต่างผู้ให้บริการขนส่ง 2. ค่าใช้จ่ายอันสมควรในการให้บริการขนส่งสาธารณะโดยมีกำไรที่สมเหตุสมผล ตามประเภทและลักษณะของการให้บริการที่เป็นไปตามปกติในการประกอบธุรกิจ 3. ความเป็นธรรม ความเสมอภาค และไม่เป็นการเลือกปฏิบัติ 4. ต้องไม่เป็นภาระแก่ผู้ให้บริการขนส่งและผู้ใช้บริการเกินกว่าปกติ และ 5. การแข่งขันที่เป็นธรรม ในกรณีที่ คนต. เห็นว่าหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณตามวรรคหนึ่งไม่เหมาะสม อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพเศรษฐกิจ สังคม การลงทุนหรือเทคโนโลยี ให้ คนต. มีอำนาจปรับหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณอัตราค่าโดยสารร่วมให้หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบอนุญาตให้เอกชนประกอบกิจการขนส่งสาธารณะจะต้องนำอัตราค่าโดยสารร่วมที่กำหนด ไปใช้บังคับ ในกรณีที่มีการจัดทำสัญญาสัมปทาน สัญญา ร่วมงานหรือสัญญาร่วมลงทุนที่มีข้อกำหนดเกี่ยวกับระบบตั๋วร่วม |
หมวด 5
|
- ให้จัดตั้งกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วมใน สนข. โดยมีวัตถุประสงค์ของกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม ดังนี้ 1. เพื่อส่งเสริมและอุดหนุนประชาชนผู้ใช้บริการระบบตั๋วร่วมให้สามารถใช้ระบบขนส่งสาธารณะด้วยความสะดวก โดยมีต้นทุนการเดินทางที่สมเหตุสมผล 2. เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานระบบตั๋วร่วมของผู้รับใบอนุญาตที่ได้รับผลกระทบเนื่องจากการเข้าร่วมระบบตั๋วร่วม และ 3. เพื่อให้ผู้รับใบอนุญาตกู้ยืมสำหรับดำเนินการลงทุน ปรับปรุง และพัฒนาการให้บริการระบบตั๋วร่วม - แหล่งที่มาของเงินกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม (1) เงินทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้ (2) เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี (3) เงินค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาต (4) เงินที่ได้รับจากผู้ได้รับใบอนุญาต (5) เงินที่ได้รับจากผู้ให้บริการขนส่ง เมื่อมีสัญญาสัมปทาน สัญญาร่วมงาน หรือสัญญาร่วมลงทุน แล้วแต่กรณี มีข้อสัญญาให้ผู้ให้บริการขนส่งจะต้องส่งเงินเข้ากองทุน (6) เงินค่าปรับทางปกครอง (7) เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้แก่กองทุน (8) ดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินของกองทุน (9) เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้จากกองทุน กองทุนหมุนเวียน เงินทุน เงินทุนหมุนเวียน หรือทุนหมุนเวียน - กำหนดการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุน ดังต่อไปนี้ (1) เป็นเงินส่งเสริมและอุดหนุนผู้รับใบอนุญาตเนื่องจากประกอบกิจการระบบตั๋วร่วมเพื่อให้ประชาชนผู้ใช้บริการระบบตั๋วร่วมสามารถใช้ระบบขนส่งสาธารณะด้วยความสะดวก โดยมีต้นทุน และค่าใช้จ่ายในการเดินทางตามที่ คนต. กำหนด (2) เป็นเงินสนับสนุนการดำเนินงานระบบตั๋วร่วมของผู้รับใบอนุญาต เนื่องจากการนำอัตราค่าโดยสารร่วมมาประยุกต์ใช้ (3) เป็นเงินสนับสนุนการจัดตั้งหรือปรับปรุงศูนย์บริหารจัดการรายได้กลางที่ดำเนินการโดยหน่วยงานของรัฐ (4) เป็นเงินสนับสนุนการลงทุนพัฒนาระบบจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติของผู้รับใบอนุญาต (5) ให้ผู้รับใบอนุญาตกู้ยืมสำหรับดำเนินการลงทุน ปรับปรุง และพัฒนาการให้บริการระบบตั๋วร่วม (6) เป็นเงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการลงทุน การวิจัย และพัฒนาระบบตั๋วร่วม (7) เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของกองทุน ให้มีคณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม ที่เป็นไปตามมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558 |
หมวด 6
|
- กำหนดให้ คนต. มีอำนาจสั่งพักใช้ใบอนุญาต หรือเพิกถอนใบอนุญาตการประกอบกิจการ - กำหนดให้กรณี คนต. สั่งพักใช้ใบอนุญาต หรือเพิกถอนใบอนุญาตการประกอบกิจการ คนต.สามารถมอบหมายให้หน่วยงานใด หรือ สนข. เข้าดำเนินการแทนโดยจ้างพนักงานของผู้รับใบอนุญาตได้โดยให้ผู้รับใบอนุญาตเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย |
หมวด 7
|
- กำหนดโทษทางปกครองสำหรับกรณีที่ผู้ประกอบกิจการขนส่งสาธารณะซึ่งมีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ต้องใช้ระบบตั๋วร่วม และต้องได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา (อ้างอิงจากพระราชบัญญัติระบบชำระเงิน |
บทเฉพาะกาล |
- เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ออกกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าโดยสารร่วมแล้ว และค่าโดยสารร่วมดังกล่าวจะกระทบต่อสัญญาสัมปทาน สัญญาร่วมงาน หรือสัญญาร่วมลงทุนแล้วแต่กรณีให้หน่วยงานของรัฐที่เป็นคู่สัญญากับเอกชนดำเนินการเจรจาเพื่อแก้ไขข้อสัญญาให้สอดคล้องกับอัตรา ค่าโดยสารร่วมที่กำหนด โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปีนับแต่วันที่กฎกระทรวงประกาศใช้บังคับ ทั้งนี้ ให้หน่วยงานของรัฐที่เป็นคู่สัญญากับเอกชนรายงานต่อรัฐมนตรีเจ้าสังกัดเพื่อให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัดรายงานความคืบหน้าของการดำเนินการต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบทุก 60 วัน |
3. เรื่อง การปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..)
พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมและคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้ส่งสินค้าทางเรือ ให้ความร่วมมือและประสานงานกับหน่วยงานของรัฐและเอกชนทางเรือ ตลอดจนเป็นผู้แทนผู้ส่งสินค้าทางเรือในการปรึกษา เจรจาต่อรองหรือทำความตกลง กับผู้ขนส่งสินค้าทางเรือ รวมทั้งหน่วยงานของรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้าทางเรือในเรื่องอัตราค่าระวาง ค่าบริการ ค่าใช้จ่าย ข้อกำหนด หรือเงื่อนไขต่างๆ ในการขนส่งสินค้าทางเรือ แต่เนื่องจากพระราชบัญญัติสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2537 มิได้บัญญัติให้อำนาจแก่สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยอย่างเพียงพอในการดำเนินการเพื่อสนับสนุนผู้ส่งสินค้าทางเรือ ซึ่งไม่สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติของสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยในปัจจุบัน ทำให้เกิดข้อขัดข้องแก่สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยในการสนับสนุนผู้ส่งสินค้าทางเรือ จึงมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงบทบัญญัติที่เป็นปัญหาดังกล่าวให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับการดำเนินการในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น กระทรวงพาณิชย์จึงได้เสนอ ร่างพระราชบัญญัติมาเพื่อดำเนินการ มีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2537 ในประเด็นต่าง ๆ สรุปได้ ดังนี้
1.1 แก้ไขอำนาจหน้าที่ตามวัตถุประสงค์ของสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือ (สภาฯ)
ให้ครอบคลุมการดำเนินการด้านการสนับสนุนผู้ส่งสินค้าทางเรือและมีความคล่องตัวในการดำเนินการมากยิ่งขึ้น เช่น เพิ่มอำนาจของสภาฯ ในการจัดให้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยหรือตั้งผู้แทนเข้าร่วมเจรจาไกล่เกลี่ยในกรณีที่เกิด
ข้อพิพาทระหว่างผู้ส่งสินค้าทางเรือ เพื่อเป็นทางเลือกในการระงับข้อพิพาท (จากเดิม สภาฯ จะเป็นคนกลางหรือเป็นตัวแทนในการแก้ไขปัญหาและให้คำแนะนำเบื้องต้นก่อนที่จะใช้วิธีการทางกฎหมายโดยการฟ้องร้องต่อศาล)
1.2 แก้ไขอำนาจของคณะกรรมการสภาฯ โดยกำหนดให้คณะกรรมการสภาฯ ออกหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับที่เป็นการกำหนดตำแหน่ง อัตราเงินเดือน ค่าจ้าง และเงินบำเหน็จรางวัลพนักงานการบรรจุ การแต่งตั้ง การถอดถอน รวมทั้งระเบียบวินัยการลงโทษและการ้องทุกข์ของพนักงานได้โดยไม่ต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่สภาฯ และไม่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีก่อน (จากเดิม การแก้ไขข้อบังคับดังกล่าวต้องได้รับอนุมัติจาก ที่ประชุมใหญ่สภาฯ และได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีก่อนจึงให้ใช้บังคับได้) ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นอำนาจการบริหารงานภายในของสภาฯ อย่างแท้จริง
1.3 ยกเลิกมาตรา 14 และมาตรา 41 ที่กำหนดให้ผู้ส่งสินค้าทางเรือที่เป็นนิติบุคคล ซึ่งเป็นผู้มีมูลค่าการส่งออกที่ใช้บริการการขนส่งสินค้าทางเรือรวมกันตลอดปีตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป จะต้องเป็นสมาชิกสามัญภายใน 90 วัน และหากผู้ส่งสินค้าทางเรือที่มีคุณสมบัติดังกล่าวผู้ใดไม่ปฏิบัติตาม จะต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท และปรับอีกวันละ 200 บาทจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง อันเป็นการบังคับให้เข้าเป็นสมาชิก (เนื่องจากสภาฯ ต้องการรวบรวมผู้ส่งสินค้าทางเรือที่มีปริมาณการส่งออกจำนวนมาก เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองกับฝ่ายผู้รับขนส่งสินค้า (ฝ่ายเรือ) และมีการเก็บค่าบำรุงเป็นรายปีจากสมาชิกสามัญทุกราย) ทั้งนี้ การยกเลิกทั้ง 2 มาตรา เพื่อให้เสรีภาพแก่ผู้ส่งสินค้าทางเรือในการเข้าเป็นสมาชิกสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยได้โดยความสมัครใจ และเพื่อให้บทบัญญัติดังกล่าวของพระราชบัญญัติสภาผู้ขนส่งสินค้าทางเรือ พ.ศ. 2537 ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1)
2. กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เสนอความเห็นมาเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีด้วยแล้ว ไม่ขัดข้องในหลักการโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีความเห็นเพิ่มเติมว่า กระทรวงพาณิชย์ควรประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจกับผู้ประกอบการเพื่อให้รับทราบรายละเอียดและแนวทางการดำเนินงานตามกฎหมายดังกล่าวอย่างทั่วถึงต่อไป
4. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่แขวงออเงิน เขตสายไหม แขวงสามวาตะวันตก แขวงสามวาตะวันออก เขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร และตำบลลาดสวาย ตำบลบึงคำพร้อย ตำบลลำลูกกา ตำบลบึงทองหลาง อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่แขวงออเงิน เขตสายไหม แขวงสามวาตะวันตก แขวงสามวาตะวันออก เขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร และตำบลลาดสวาย ตำบลบึงคำพร้อย ตำบลลำลูกกา ตำบลบึงทองหลาง อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา เป็นการกำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่แขวงออเงิน เขตสายไหม แขวงสามวาตะวันตก แขวงสามวาตะวันออก เขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร และตำบลลาดสวาย ตำบลบึงคำพร้อย ตำบลลำลูกกา ตำบลบึงทองทองหลาง อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี เพื่อสร้างทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ- ถนนลำลูกกา) และสิ่งจำเป็นอื่นเพื่อประโยชน์ของทางพิเศษหรืออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการทางพิเศษ และเพื่อนำที่ดินไปชดเชยให้เกิดความเป็นธรรมแก่เจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืน ทั้งนี้ เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าไปทำการสำรวจเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องได้มาโดยแน่ชัด
มีกำหนดใช้บังคับ 5 ปี โดยให้เริ่มต้นเข้าสำรวจที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ภายในแนวเขตที่ดินที่จะเวนคืนภายใน 180 วัน นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ
5. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดด่านศุลกากรและด่านพรมแดน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... (สำนักงานศุลกากร
มาบตาพุด)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดด่านศุลกากรและด่านพรมแดน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (สำนักงานศุลกากรมาบตาพุด) ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องเร่งด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของเรื่อง
ร่างกฎกระทรวงกำหนดด่านศุลกากรและด่านพรมแดน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... ที่กระทรวงการคลังเสนอ มีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดด่านศุลกากรและด่านพรมแดน พ.ศ. 2560 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยกฎกระทรวงกำหนดด่านศุลกากร และด่านพรมแดน (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2566 เพื่อแก้ไขที่ตั้งสำนักงานศุลกากรมาบตาพุด จาก “ตั้งอยู่ที่ตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง” เป็น “ตั้งอยู่ที่ตำบลแม่น้ำคู้ อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง” เนื่องจากด่านศุลกากร สำนักงานศุลกากรมาบตาพุดเดิมคับแคบ จึงได้ก่อสร้างอาคารที่ทำการแห่งใหม่ขึ้นซึ่งได้ก่อสร้างเสร็จแล้ว เพื่อรองรับการบริการและเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน จึงได้ย้ายสถานที่ปฏิบัติราชการจากอาคารที่ทำการสำนักงานศุลกากรมาบตาพุดแห่งเดิม ไปอยู่ที่สำนักงานศุลกากรมาบตาพุดแห่งใหม่ และได้เปิดดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติพิธีการศุลกากรและการตรวจของที่ขนส่งมาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งกระทรวงคมนาคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติเห็นด้วยในหลักการของร่างกฎกระทรวงดังกล่าวและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่า คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการของร่างกฎกระทรวงดังกล่าวได้และสำนักงานฯ จะตรวจพิจารณาร่างกฎกระทรวงดังกล่าวให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 ต่อไป
6. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุม
(ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ รวมทั้งให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมรับความเห็นของสำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญของเรื่อง
1. ปัจจุบันได้มีการกำหนดสาขาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุมเพื่อประโยชน์ใน
การคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและสภาพแวดล้อมรวมทั้งสิ้น 8 สาขา ได้แก่ (1) สาขานิวเคลียร์ (2) สาขาการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านวิทยาศาสตร์และการควบคุมมลพิษ (3) สาขาการผลิต การควบคุมและการจัดการสารเคมีอันตราย (4) สาขาการเพาะเลี้ยงจุลินทรีย์และการใช้จุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรค (5) สาขาธรณีวิทยา (6) สาขานิติวิทยาศาสตร์ (7) สาขาอนามัยสิ่งแวดล้อม และ (8) สาขาอาชีวอนามัยและความปลอดภัยซึ่งผู้ที่ประกอบวิชาชีพทั้ง 8 สาขาดังกล่าวต้องมีใบอนุญาตจากสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติส่งเสริมวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ. 2551
2. ปัจจุบันกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ออกกฎกระทรวงเพื่อกำหนดค่าธรรมเนียมเพื่อเก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาตสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุมดังกล่าวแล้ว จำนวน 6 สาขา ยังขาดอีก 2 สาขา คือ สาขานิติวิทยาศาสตร์ และสาขาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมจึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มาเพื่อดำเนินการ เพื่อให้สามารถจัดเก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาตใน 2 สาขาดังกล่าวได้
ร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้เป็นการปรับปรุงกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพและเทคโนโลยีควบคุม พ.ศ. 2559 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุม สาขานิติวิทยาศาสตร์ ฉบับละ 1,000 บาท และสาขาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ระดับเชี่ยวชาญ ฉบับละ 2,000 บาท ระดับชำนาญการ ฉบับละ 1,500 บาท และระดับปฏิบัติการ ฉบับละ 1,000 บาท ซึ่งอัตราค่าธรรมเนียมดังกล่าวเป็นอัตราต่ำกว่าที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติส่งเสริมวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ. 2551 (ใบอนุญาต ฉบับละ 5,000 บาท)
ทั้งนี้ การกำหนดค่าธรรมเนียมดังกล่าวได้คำนึงถึงสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบันและประโยชน์ของสมาชิก และเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงต้นทุนในการบริหารจัดการ และการให้บริการในอนาคต และเมื่อพิจารณาอัตราค่าธรรมเนียมที่จัดเก็บใน 6 สาขาที่ผ่านมาก็เป็นอัตราที่ใกล้เคียงกับอัตราในร่างกฎกระทรวงนี้
7. เรื่อง ร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการ
คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พ.ศ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของเรื่อง
ร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมฯ ที่ ทส. เสนอ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจแล้วมีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พ.ศ. 2560 ที่จะสิ้นสุดระยะเวลาการใช้บังคับในวันที่ 15 ธันวาคม 2567 เพื่อกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในเขตพื้นที่จังหวัดภูเก็ตให้มีประสิทธิภาพและมีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และเพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างการบังคับใช้กฎหมายอันเป็นการป้องกัน สงวน รักษา และคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อมแหล่งธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมศิลปกรรมที่มีคุณค่าในบริเวณพื้นที่จังหวัดภูเก็ตให้คงอยู่ได้อย่างสมดุลตามธรรมชาติเกิดความต่อเนื่องและคงความสมบูรณ์ยั่งยืนต่อไปในอนาคต โดยมีการปรับปรุงเนื้อหาจากประกาศ ปี 2560 สรุปได้ ดังนี้
1. กำหนดให้พื้นที่เขตอนุรักษ์ เขตผังเมืองรวม เขตควบคุมอาคาร เขตควบคุมมลพิษในจังหวัดภูเก็ต เป็นเขตพื้นที่ที่ให้ใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและได้แบ่งพื้นที่ดังกล่าวออกเป็น 8 บริเวณ (เดิมแบ่งพื้นที่ออกเป็น 9 บริเวณ)
2. กำหนดมาตรการเพื่อการอนุรักษ์พื้นที่ ป้องกัน และลดผลกระทบจากการพัฒนาเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารและการก่อสร้างโรงงาน (กำหนดขึ้นใหม่) เช่น โรงงานต้องจัดให้มีเครื่องจักรหรืออุปกรณ์เพื่อควบคุมมลพิษหรือแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม มาตรการพื้นที่น้ำซึมผ่านได้ การปลูกต้นไม้หรือจัดให้เป็นพื้นที่สีเขียวในพื้นที่ว่าง และปรับปรุงมาตรการให้มีความเหมาะสมในการดำเนินการ ซึ่งต้องได้รับความเห็นจากจังหวัดภูเก็ต (ผู้ว่าราชการจังหวัด) เช่น กิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐ (เดิมต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามผลการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมภูเก็ต)
3. กำหนดมาตรการห้ามกระทำหรือประกอบกิจกรรมใด ๆ ที่อาจเป็นอันตรายหรือกระทบต่อระบบนิเวศ เช่น การทำให้เกิดมลพิษ การทอดสมอเรือ และการกระทำที่อาจเกิดอันตรายหรือมีผลกระทบต่อปะการัง รวมทั้งห้ามจับหรือครอบครองปลาสวยงามตามบัญชีท้าย (ปลาขี้ตังเบ็ด ปลาวัว ปลาตั๊กแตนหิน ปลาผีเสื้อ) (คงเดิม)
4. เพิ่มขนาดจำนวนห้องพักของโรงแรม อาคารอยู่อาศัยรวม อาคารชุดที่เข้าข่ายต้องดำเนินการ
ตามข้อกำหนดท้ายประกาศ (11 ถึง 49 ห้อง เดิม 10 ถึง 29 ห้อง) และที่ต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม
(50 ถึง 79 ห้อง เดิม 30 ถึง 79 ห้อง)
5. พัฒนากลไกการกำกับดูแลและติดตามผลการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมโดยให้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ตเป็นหน่วยงานประสานงานในการบูรณาการความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ แทนการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามผลการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่รัฐมนตรีแต่งตั้งขึ้น
6. กำหนดให้ร่างประกาศในเรื่องนี้มีผลใช้บังคับ 5 ปี (คงเดิม)
8. เรื่อง ร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง ให้เศษพลาสติกเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง ให้เศษพลาสติกเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน โดยให้รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ รวมทั้ง ให้กระทรวงพาณิชย์รับความเห็นของกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญของเรื่อง
ร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง ให้เศษพลาสติกเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. .... ที่กระทรวงพาณิชย์เสนอเป็นการยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ ว่าด้วยการนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ 112) พ.ศ. 2539 โดยปรับปรุงมาตรการกำกับดูแลการนำเข้าเศษพลาสติกเข้ามาในราชอาณาจักร (ในพื้นที่ทั่วไปไม่รวมพื้นที่เขตปลอดอากร) โดยกำหนดให้เศษพลาสติก (เศษ เศษตัดและของที่ใช้ไม่ได้ที่เป็นพลาสติก เช่น ฝาขวดน้ำดื่ม ขวดน้ำอัดลม ขวดน้ำมันน้ำมันพืช) ตามพิกัดศุลกากรประเภท 39.15 เป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตในการนำเข้ามาในราชอาณาจักรยกเว้นการนำติดตัวเข้ามาเพื่อใช้เฉพาะตัวในปริมาณเท่าที่จำเป็น เพื่อให้สอดคล้องกับมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2565 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 (เรื่อง นโยบายกำกับการนำเข้าเศษพลาสติก) ที่อนุญาตให้นำเข้ามาในราชอาณาจักรจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567 เพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้าเศษพลาสติกที่เป็นของเสีย/ขยะพลาสติกเข้ามาในประเทศซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชน นอกจากนี้ยังเป็นการสนับสนุนการนำเข้าเศษพลาสติกภายในประเทศมาหมุนเวียนเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในโรงงาน
9. เรื่อง ร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง ให้เศษพลาสติกเป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง ให้เศษพลาสติกเป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน โดยให้รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปประกอบพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงพาณิชย์รับความเห็นของกระทรวงมหาดไทยไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญ
1. ร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง ให้เศษพลาสติกเป็นสินค้าต้องห้ามฯ เป็นการปรับปรุงมาตรการควบคุมนำเศษพลาสติกเข้ามาในราชอาณาจักร โดยกำหนดให้เศษ เศษตัดและของที่ใช้ไม่ได้ ที่เป็นพลาสติก ตามพิกัดศุลกากรประเภท 39.15 เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร (ในพื้นที่ทั่วไปและพื้นที่เขตปลอดอากร) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป5 เพื่อให้สอดคล้องกับมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2565 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 (เรื่อง นโยบายกำกับการนำเข้าเศษพลาสติก) ที่กำหนดให้ห้ามนำเข้าเศษพลาสติกตั้งแต่ปี 2568 เพื่อแก้ปัญหาการล้นทะลักและปัญหาการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ปะปนมากับขยะพลาสติก รวมทั้งมีการนำเข้าเศษพลาสติกไม่เป็นไปตามที่ได้รับอนุญาต ประกอบกับการจัดการปัญหาขยะที่มีอยู่เดิมภายในประเทศยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยของประชาชน ตลอดจนยังเป็นการสนับสนุนการนำเศษพลาสติกภายในประเทศมาหมุนเวียนเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในโรงงาน
2. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นชอบด้วยในหลักการและมีความเห็นเพิ่มเติมบางประการโดยกระทรวงมหาดไทยเห็นว่า ควรดำเนินการตามระเบียบ กฎกระทรวง มติคณะรัฐมนตรี และหนังสือเวียนที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นว่า ควรแก้ไขชื่อร่างประกาศฯ เป็น “ร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้เศษพลาสติกเป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. ...” เพื่อให้สอดคล้องกับบทอาศัยอำนาจตามมาตรา 5 (1) แห่งพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 และสอดคล้องกับชื่อประกาศกระทรวงพาณิชย์ฉบับอื่นที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัตินี้ การอ้างบทอาศัยอำนาจในร่างประกาศฯ เห็นควรให้ตัดการอ้างวรรคหนึ่งของมาตรา 5 ออก และระบุเป็นมาตรา 5 (1) และวรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 เนื่องจากตามมาตรา 5 ไม่มีอนุมาตราในวรรคอื่น และตัดวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติร่างประกาศฯ ออก เนื่องจากเป็นเนื้อหาที่ไม่ต้องระบุไว้ และร่างข้อ 3 ควรใช้คำว่า “พิกัดอัตราศุลกากร” เพื่อให้เป็นไปตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 และขอให้กระทรวงพาณิชย์ใช้เป็นแนวทางการเขียนร่างประกาศให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันต่อไป
__________________
5 ปัจจุบันกรมโรงงานได้ดำเนินการตามมติคณะอนุกรรมการเพื่อบูรณาการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกที่นำเข้าจากต่างประเทศอย่างเป็นระบบ โดยไม่มีการอนุญาตให้นำเข้าเศษพลาสติกรายใหม่ ตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งการนำเข้าเศษพลาสติกในช่วงระหว่างปี 2562 – 2563 เป็นไปตามโควต้าเก่าที่ได้รับอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม และสิ้นสุดตามใบอนุญาตในเดือนกันยายน 2563 ส่งผลให้ไม่มีการนำเข้าเศษพลาสติกสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ทั่วไปตั้งแต่เดือนกันยายน 2563 จนถึงปัจจุบัน สำหรับพื้นพื้นที่เขตปลอดอากรนำเข้าได้ตามกฎหมายเฉพาะของกรมศุลกากรซึ่งได้รับยกเว้นเฉพาะการนำเข้าไม่อยู่ภายใต้ข้อบังคับของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการนำเข้ามาในราชอาณาจักร แต่กรณีการห้ามนำเข้าสินค้าจะต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522
เศรษฐกิจ-สังคม
10. เรื่อง ขอยกเลิกโครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวและขอเสนอโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบการยกเลิกโครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว(โครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนฯ) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2567
2. เห็นชอบโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68 (โครงการฯ) วงเงินงบประมาณ 38,578.22 ล้านบาท โดยใช้แหล่งเงินทุนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 2 ส่วน ดังนี้
2.1 กรอบวงเงินโครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนฯ จำนวน 29,518.02 ล้านบาท
2.2 กรอบวงเงินทุน ธ.ก.ส. สำรองจ่ายการดำเนินงานตามโครงการฯ เพิ่มเติมอีก จำนวน 9,060.20 ล้านบาท และให้ ธ.ก.ส. ขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อไป
3. อนุมัติผ่อนปรนการไม่ถือปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 ในกรณีให้ทุกหน่วยงานหลีกเลี่ยงการดำเนินการในลักษณะการให้เงินอุดหนุน ช่วยเหลือ ชดเชย หรือประกันราคาสินค้าเกษตร โดยตรงแก่เกษตรกรเฉพาะสินค้าข้าว
สาระสำคัญ
โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68 ที่เสนอในครั้งนี้ (วัตถุประสงค์และวิถีการดำเนินงานเหมือนโครงการฯ ปีการผลิต 65/66 ที่เคยดำเนินการ) มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกรสามารถดำรงชีพอยู่ได้ และลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น รวมถึงเพื่อให้เกษตรกรมีกำลังใจในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว โดยมีสาระสำคัญ เช่น กลุ่มเป้าหมาย 4.61 ล้านครัวเรือน รัฐจะจ่ายเงินสนับสนุนแก่เกษตรกรในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 10 ไร่ ครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท วงเงินงบประมาณ 38,578.22 ล้านบาท แบ่งเป็น (1) วงเงินที่จ่ายให้เกษตรกร 37,414.04 ล้านบาท 2) ค่าชดเชยต้นทุนเงิน ธ.ก.ส. ในอัตราร้อยละ 3.05 จำนวน 1,164.18 ล้านบาท และ 3) ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ 23.05 ล้านบาท โดยใช้แหล่งเงินทุนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 2 ส่วน (1) กรอบวงเงินโครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนฯ จำนวน 29,518.02 ล้านบาท และ (2) กรอบวงเงินทุน ธ.ก.ส. สำรองจ่ายการดำเนินงานตามโครงการฯ เพิ่มเติมอีก จำนวน 9,060.20 ล้านบาท และให้ ธ.ก.ส. ขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อไป
11. เรื่อง ผลการดำเนินการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) ของพื้นที่กลุ่มที่ 4 จำนวน 11 จังหวัด
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบผลการดำเนินการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (การปรับปรุงแผนที่ One Map) พื้นที่กลุ่มที่ 4 จำนวน 11 จังหวัด ประกอบด้วย กาฬสินธุ์ มุกดาหาร หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ (ยกเว้นวนอุทยาน ภูสิงห์ - ภูผาผึ้ง) สกลนคร ยโสธร บึงกาฬ หนองคาย ขอนแก่น อุดรธานี (ยกเว้นพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าลำปาว) และนครพนม และให้หน่วยงานที่มีที่ดินอยู่ในความรับผิดชอบปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับผลการดำเนินการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐดังกล่าว โดยใช้แผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบแล้ว ในการแก้ไขแผนที่แนบท้ายกฎหมาย และใช้เป็นแนวเขตที่ดินของรัฐตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จภายใน 360 วัน โดยอาจขอขยายระยะเวลาการดำเนินการต่อคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ได้ตามเหตุผลความจำเป็น แต่ไม่เกิน 180 วัน ทั้งนี้ แนวทางการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่อาจขึ้นกับประชาชน ให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 ที่ให้นำไปใช้กับทุกกลุ่มจังหวัดเพื่อเป็นมาตรฐานเดียวกัน
2. เห็นชอบการขยายระยะเวลาการดำเนินการให้หน่วยงานที่มีที่ดินอยู่ในความรับผิดชอบ ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับผลการดำเนินการปรับปรุงแผนที่ One Map ของพื้นที่กลุ่มที่ 1 จำนวน 11 จังหวัด ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 เพิ่มเติมอีก 180 วัน โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานผลการดำเนินงานให้ สคทช. ทราบทุกเดือนและให้ สคทช. นำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบทุกไตรมาส
3. มอบหมาย สคทช. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (สทอภ.) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) กรมแผนที่ทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณา แนวทางการจัดทำแผนที่ท้ายกฎหมายในรูปแบบแผนที่ดิจิทัล โดยให้มีผลทางกฎหมายและเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลดิจิทัล
12. เรื่อง โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ตอน ทางยกระดับบางขุนเทียน - บางบัวทอง ของกรมทางหลวง
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้กรมทางหลวง (ทล.) ดำเนินโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ตอน ทางยกระดับบางขุนเทียน - บางบัวทอง (โครงการฯ) ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
โครงการฯ ของ ทล. มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยแบ่งเบาปริมาณจราจร บนถนนกาญจนาภิเษกด้านตะวันตก และเชื่อมต่อโครงข่ายทางหลวงพิเศษรอบกรุงเทพมหานครที่ขาดหาย (Missing Link) ทั้งนี้ ปัจจุบันรายงานการประเมินผลกระทบ สิ่งแวดล้อม (รายงาน EIA) ของโครงการฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการ ผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ) เพื่อนำเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) แต่เนื่องจากโครงการฯ มีลำดับความสำคัญสูง ซึ่งได้รับการบรรจุไว้ในแผนปฏิบัติการด้านคมนาคม พ.ศ. 2566 – 2570 และแผนแม่บทฯ ที่คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบกได้ให้ความเห็นชอบและคณะรัฐมนตรีได้รับทราบแล้ว ประกอบกับคณะกรรมการฯ ได้มีมติเห็นชอบหลักการของโครงการฯ ไว้แล้ว และการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 (พระราชบัญญัติการร่วมลงทุนฯ) จนถึงขั้นตอนการคัดเลือกให้ได้มาซึ่งเอกชนผู้ร่วมลงทุน ต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการอีกอย่างน้อยประมาณ 18 เดือน ก่อนลงนามในสัญญาร่วมลงทุนกับเอกชน เมื่อรายงาน EIA ได้รับความเห็นชอบแล้ว ดังนั้น เพื่อไม่ให้กระทบแผนการดำเนินงานโครงการฯ และสามารถเปิดให้บริการตามกำหนดในปี 2573 ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการจราจร เติมเต็มโครงข่ายคมนาคมขนส่งให้ครบสมบูรณ์เชื่อมโยงพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลกับภูมิภาคโดยรอบ จึงจำเป็นต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติให้ ทล. ดำเนินโครงการฯ ต่อไป ตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนฯ และมาตรา 49 วรรค 4 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561
โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 สายถนนวงแหวน รอบนอกกรุงเทพมหานคร ตอน ทางยกระดับบางขุนเทียน - บางบัวทอง (โครงการฯ) ของกรมทางหลวง (ทล.) มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. มูลค่าโครงการ 68,686.63 ล้านบาท ประกอบด้วย (1) ค่าลงทุนโครงการวงเงิน 56,035,.26 ล้านบาท (2) ค่าใช้จ่ายการดำเนินงานและบำรุงรักษาโครงการ วงเงิน 12,651.37 ล้านบาท
2. ระยะเวลาดำเนินโครงการ 34 ปี ประกอบด้วย (1) ออกแบบและก่อสร้าง 4 ปี (2) ดำเนินงานและบำรุงรักษา 30 ปี ทั้งนี้ หากก่อสร้างเสร็จก่อนให้เปิดบริการได้ทันที
3. รูปแบบการลงทุน ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ในรูปแบบ PPP NET Cost (เอกชนลงทุนก่อสร้างงานโยธาทั้งหมด รวมถึงลงทุนก่อสร้างและติดตั้งงานระบบ และองค์ประกอบอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยเอกชนจะโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ลงทุนทั้งหมดหรือบางส่วนให้แก่ภาครัฐก่อนเริ่มดำเนินงานในลักษณะของ BTO (Build Transfer Operate) นอกจากนี้ เอกชนจะเป็นผู้ดำเนินงานและบำรุงรักษาโครงการ (O&M) ตามขอบเขตที่กำหนดตลอดอายุของสัญญา ส่วนภาครัฐรับผิดชอบเวนคืนที่ดินทั้งหมดของโครงการ และเป็นผู้ก่อสร้างพร้อมทั้งดำเนินงานบำรุงรักษางานระบบของด่านเก็บค่าผ่านทางบางขุนเทียนซึ่งเป็นด่านตัดแบ่งระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมระหว่าง
สายทาง ทั้งนี้ รูปแบบ PPP Net Cost เอกชนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รายได้ค่าผ่านทาง โดยรัฐทยอยจ่ายเงินร่วมลงทุนให้แก่เอกชนในภายหลัง เป็นระยะเวลา 15 ปี นับจากปีเปิดให้บริการ จำนวนรวม 71,101.37 ล้านบาท
(มูลค่าปัจจุบันเท่ากับ 47,521.04 ล้านบาท)
4. ประมาณการรายได้โครงการ เนื่องจากรูปแบบ PPP Net Cost เอกชนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รายได้ผ่านทาง ดังนั้น รัฐจะมีรายได้ จากการเก็บภาษีทั้งหมด 11,580.76 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มประมาณ 2,786.17 ล้านบาท และภาษีนิติบุคคลประมาณ 8,794.59 ล้านบาท ทั้งนี้ คาดว่ารัฐ น่าจะไม่ได้รับส่วนแบ่งรายได้ค่าธรรมเนียมผ่านทางจากเอกชน เนื่องจากผลการวิเคราะห์พบว่ารายได้ค่าธรรมเนียมผ่านทางไม่สามารถสร้างผลตอบแทนได้มากพอที่จะสามารถแบ่งปันรายได้ให้กับภาครัฐ เว้นแต่ในกรณีที่ปริมาณผู้ใช้ทางและรายได้รายปีที่เกิดขึ้นจริงสูงกว่าคาดการณ์ทั้งนี้ สามารถสรุปสิทธิประโยชน์ที่รัฐได้รับเหนือเอกชน จากรูปแบบการลงทุนแบบ PPP Net Cost
13. เรื่อง แผนพัฒนาและกลุ่มจังหวัด พ.ศ. 2566 – 2570 ฉบับทบทวน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 แผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดและข้อเสนอโครงการของส่วนราชการ ที่สอดคล้องกับเป้าหมายและแนวทางพัฒนาภาค พ.ศ. 2566 – 2570 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะ ฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ (ก.น.บ.) เสนอ ดังนี้
1. อนุมัติแผนพัฒนาจังหวัด 76 จังหวัด และแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด 18 กลุ่มจังหวัด พ.ศ. 2566 - 2570 ฉบับทบทวน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 โดยให้จังหวัดและกลุ่มจังหวัดนำความเห็นและข้อเสนอแนะไปปรับปรุงแผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดในระยะต่อไป
2. อนุมัติแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ของจังหวัด 76 จังหวัด และกลุ่มจังหวัด 18 กลุ่มจังหวัด ประกอบด้วย (1) เห็นควรสนับสนุนในกรอบวงเงิน จำนวน 1,391 โครงการ งบประมาณ 29,646.80 ล้านบาท และ (2) เห็นควรสนับสนุนเกินกรอบวงเงิน จำนวน 468 โครงการ งบประมาณ 14,094.98 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 1,859 โครงการ งบประมาณรวม 43,741.78 ล้านบาท จำแนกเป็น ดังนี้
2.1 โครงการและงบประมาณของจังหวัด 76 จังหวัด ประกอบด้วย (1) เห็นควรสนับสนุนในกรอบวงเงิน จำนวน 1,192 โครงการ งบประมาณ 20,774.27 ล้านบาท และ (2) เห็นควรสนับสนุนเกินกรอบวงเงิน จำนวน 422 โครงการ งบประมาณ 10,742.39 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 1,614 โครงการ งบประมาณรวม 31,516.66 ล้านบาท จำแนกเป็น
(1) โครงการและงบประมาณของจังหวัด ส่วนที่ 1 โครงการ สำคัญตามแผนพัฒนาจังหวัด เห็นควรสนับสนุนในกรอบวงเงิน จำนวน 930 โครงการ งบประมาณ 17,796.25 ล้านบาท และเห็นควรสนับสนุนเกินกรอบวงเงิน จำนวน 273 โครงการ งบประมาณ 8,911.00 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 1,203 โครงการ งบประมาณ รวม 26,707.26 ล้านบาท
(2) โครงการและงบประมาณของจังหวัด ส่วนที่ 2 โครงการอื่นที่จำเป็นเพื่อแก้ไขปัญหาของจังหวัด หรือสนับสนุนการขับเคลื่อนแผนพัฒนาจังหวัด เห็นควร สนับสนุนในกรอบวงเงิน จำนวน 262 โครงการ งบประมาณ 2,978.02 ล้านบาท และเห็นควรสนับสนุนเกินกรอบวงเงิน จำนวน 149 โครงการ งบประมาณ 1,831.38 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 411 โครงการ งบประมาณรวม 4,809.40 ล้านบาท
2.2 โครงการและงบประมาณของกลุ่มจังหวัด 18 กลุ่มจังหวัด ประกอบด้วย (1) เห็นควรสนับสนุนในกรอบวงเงิน จำนวน 199 โครงการ งบประมาณ 8,872.52 ล้านบาท และ (2) เห็นควรสนับสนุนเกินกรอบวงเงิน จำนวน 46 โครงการ งบประมาณ 3,352.60 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 245 โครงการ งบประมาณรวม 12,255.12 ล้านบาท
(1) โครงการและงบประมาณของกลุ่มจังหวัด ส่วนที่ 1 โครงการสำคัญตามแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด เห็นควรสนับสนุนในกรอบวงเงิน จำนวน 149 โครงการ งบประมาณ 7,802.24 ล้านบาท และเห็นควรสนับสนุนเกินกรอบวงเงิน จำนวน 26 โครงการ งบประมาณ 2,818.95 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น
175 โครงการ งบประมาณรวม 10,621.19 ล้านบาท
(2) โครงการและงบประมาณของกลุ่มจังหวัด ส่วนที่ โครงการอื่นที่จำเป็นเพื่อแก้ไขปัญหาของกลุ่มจังหวัด หรือสนับสนุนการขับเคลื่อนแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด เห็นควรสนับสนุนในกรอบวงเงิน จำนวน 50 โครงการ งบประมาณ 1,070.28 ล้านบาท และเห็นควรสนับสนุนเกินกรอบวงเงิน จำนวน 20 โครงการ งบประมาณ 533.65 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 70 โครงการ งบประมาณรวม 1,603.93 ล้านบาท
3. อนุมัติข้อเสนอโครงการของส่วนราชการที่สอดคล้องกับเป้าหมายและแนวทางการพัฒนาภาค พ.ศ. 2566 - 2570 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 รวมจำนวนทั้งสิ้น 467 โครงการ ทั้งนี้ ขอให้สำนักงบประมาณ (สงป.) ให้ความสำคัญและพิจารณาสนับสนุนงบประมาณโครงการที่สอดคล้องกับเป้าหมายและแนวทางการพัฒนาภาคเป็นลำดับแรก เพื่อให้การขับเคลื่อนการพัฒนาเชิงพื้นที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุผลอย่างเป็นรูปธรรม สอดคล้องตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13
ทั้งนี้ มอบหมายให้ สศช. รับไปดำเนินการประสาน สงป. เพื่อดำเนินการ ตามระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป
14. เรื่อง การอนุญาตให้ผู้ควบอากาศยานต่างชาติ (นักบิน) ทําการบินในเส้นทางการบินภายในประเทศ เป็นการชั่วคราว
คณะมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบการอนุญาตให้ผู้ควบคุมอากาศยานต่างชาติ (นักบิน) ทําการบินในเส้นทางการบินภายในประเทศเป็นการชั่วคราว
2. เห็นชอบในหลักการร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้ผู้ควบคุมอากาศยานต่างชาติ (นักบิน) ทําการบินในเส้นทางการบินภายในประเทศเป็นการชั่วคราว
3. มอบหมายให้ รง. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ และความเข้าใจให้นายจ้าง ผู้ประกอบการ คนต่างด้าว และผู้ที่เกี่ยวข้อง รับทราบข้อมูลการดําเนินการดังกล่าวอย่างทั่วถึง
สาระสำคัญ
1. ร่างประกาศกระทรวงแรงงานที่กระทรวงแรงงานเสนอ เป็นการออกประกาศโดยอาศัยอํานาจตามมาตรา 14 แห่งพระราชกําหนดการบริหารจัดการ การทํางานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกําหนดการบริหารจัดการการทํางานของคนต่างด้าว (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 ซึ่งมีสาระสําคัญเป็นการกําหนดให้คนต่างด้าวสามารถทํางานเป็นผู้ควบคุมอากาศยานต่างชาติ (นักบิน)ทําการบินในเส้นทางการบินภายในประเทศเป็นการชั่วคราวได้ เพื่อแก้ไขปัญหาผู้ควบคุมอากาศยาน (นักบิน) ไม่เพียงพอกับการรองรับจํานวนการเติบโตของผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นจากนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทํางานของคนต่างด้าวได้เห็นชอบด้วยแล้ว
2. โดยที่รัฐบาลได้มีนโยบายเร่งด่วนในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งในปัจจุบันการเดินทางผ่านทางอากาศยานเป็นปัจจัยสําคัญประการหนึ่งที่ช่วยให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางท่องเที่ยวในประเทศได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม สายการบินมีอากาศยาน (เครื่องบิน) และผู้ควบคุมอากาศยาน (นักบิน) ไม่เพียงพอกับการรองรับจํานวนการเติบโตของผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นจากนโยบายดังกล่าว ทําให้สายการบินต้องแก้ปัญหาในระยะเร่งด่วนด้วยการใช้วิธีการเช่าอากาศยาน (เครื่องบิน) พร้อมผู้ประจําหน้าที่ (Wet Lease) มาให้บริการเป็นการชั่วคราว รวมถึงผู้ควบคุมอากาศยานต่างชาติ (นักบิน) ทําการบินในเส้นทางการบินภายในประเทศไทย ซึ่งสายการบินได้รับอนุญาตให้ใช้อากาศยานด้วยวิธีการเช่าพร้อมผู้ประจําหน้าที่รวมถึงผู้ควบคุมอากาศยานต่างชาติ (นักบิน) แล้วแต่การทํางานของผู้ควบคุมอากาศยานต่างชาติ (นักบิน) เป็นงานที่คนต่างด้าวห้ามทําโดยเด็ดขาดตามประกาศ รง. เรื่อง กําหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทํา ลงวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2563 ดังนั้น เพื่อให้ผู้ควบคุมอากาศยานต่างชาติ (นักบิน) ซึ่งเป็นคนต่างด้าวที่มาพร้อมอากาศยาน (เครื่องบิน) สามารถทําการบินในเส้นทางการบินภายในประเทศไทยได้เป็นการชั่วคราว เพื่ออํานวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและต่างประเทศในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวให้มีอากาศยาน (เครื่องบิน) และผู้ควบคุมอากาศยานต่างชาติ (นักบิน) เพียงพอสําหรับการรองรับจํานวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นจากนโยบายดังกล่าว จึงมีความจําเป็นต้องขออนุญาตให้คนต่างด้าวเข้ามาทําหน้าที่เป็นผู้ประจําหน้าที่นักบินหรือผู้ควบคุมอากาศยานเป็นกรณีพิเศษ
เพื่อประโยชน์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ของประเทศ จึงได้เสนอร่างประกาศฯ ซึ่งมีสาระสําคัญดังนี้
2.1 กําหนดนิยามคําว่า “คนต่างด้าว” หมายความว่าคนต่างด้าวซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง และได้รับหนังสือรับรองหรือเอกสาร ซึ่งระบุรายชื่อและอากาศยานที่คนต่างด้าวจะทํางานจากสํานักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยให้เป็นผู้ประจําหน้าที่นักบินหรือผู้ควบคุมอากาศยานของผู้ดําเนินการเดินอากาศที่ได้รับอนุญาตให้จัดหาอากาศยานและได้รับอนุญาตให้ใช้อากาศยานด้วยวิธีการเช่าพร้อมผู้ประจําหน้าที่ (Wet Lease) ตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศ
2.2 กําหนดการยื่นคําขอและอายุใบอนุญาต ให้ยื่นต่อนายทะเบียน และให้ใบอนุญาตทํางานมีอายุเท่ากับระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตให้ใช้อากาศยาน ด้วยวิธีการเช่าพร้อมผู้ประจําหน้าที่ (Wet Lease)
แต่ไม่เกิน 6 เดือนนับแต่วันที่ออกใบอนุญาตทํางาน
2.3 สิทธิของคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้ทํางานให้มีสิทธิทํางานเฉพาะงานขับขี่เครื่องบินในประเทศ
2.4 ข้อยกเว้นของผู้ที่จ้างคนต่างด้าว ไม่ต้องแจ้งข้อมูลการเข้าทํางาน และการยื่นคําขออนุญาตตามประกาศนี้ เป็นการแจ้งข้อมูลการเข้าทํางานกับนายจ้าง ให้นายทะเบียนทราบตามมาตรา 64/2
แห่งพระราชกําหนดการบริหารจัดการการทํางานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560
2.5 เงื่อนไขหรือเหตุของการอนุญาตทํางานสิ้นสุดลงนอกจากใบอนุญาตทํางานสิ้นอายุลง ให้ใบอนุญาตทํางานสิ้นสุดเมื่อคนต่างด้าวไม่ได้ทํางานกับผู้ดําเนินการเดินอากาศที่ระบุไว้ในหนังสือรับรอง
ต่างประเทศ
15. เรื่อง ร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจ
ไทย-ฮังการี ครั้งที่ 4
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบต่อร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ไทย-ฮังการี ครั้งที่ 4 เพื่อเป็นกรอบในการหารือกับฝ่ายฮังการี ในระหว่างการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมฯ ครั้งที่ 4 ในวันที่ 10 ธันวาคม 2567 ณ กรุงบูดาเปสต์ ฮังการี
2. อนุมัติให้ปลัดกระทรวงการต่างประเทศร่วมลงนามในเอกสารผลลัพธ์การประชุมดังกล่าวรวมกับปลัดกระทรวงการต่างประเทศและการค้าฮังการี
ทั้งนี้ หากมีความจําเป็นต้องแก้ปรับปรุงเอกร่างสารผลลัพธ์การประชุมดังกล่าวในส่วนที่จะเป็นประโยชน์ต่อการดําเนินความสัมพันธ์ แต่มิใช่สาระสําคัญหรือกระทบต่อผลประโยชน์ของไทยให้กระทรวงการต่างประเทศและคณะผู้แทนไทยที่เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมฯ ครั้งที่ 4 สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง
สาระสำคัญของเรื่อง
คณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยเศรษฐกิจ ไทย-ฮังการี (Thailand - Hungary Joint Commission for Economic Cooperation: JCEC) จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2547 โดยได้จัดการประชุมมาแล้ว 3 ครั้ง (1) การประชุมครั้งแรก เมื่อวันที่ 15 - 16 ธันวาคม 2548 ที่กรุงเทพมหานคร (2) การประชุม ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 10 - 11 กันยายน 2558 ที่กรุงบูดาเปสต์ ฮังการี และ (3) การประชุม ครั้งที่ 3 (เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2565 ที่กรุงเทพมหานคร) โดยคณะผู้แทนไทยจะเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมฯ ครั้งที่ 4 ในวัน 10 ธันวาคม 2567 และทั้งสองฝ่ายจะร่วมลงนามในเอกสารผลลัพธ์การประชุมฯ ที่กรุงบูดาเปสต์ ฮังการี
สาระสําคัญของร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมฯ ครั้งที่ 4 มีสาระสําคัญเป็นการสรุปผลการหารือของคณะกรรมาธิการว่าด้วยความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับฮังการี โดยมีประธานร่วมกันในระดับปลัดกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองฝ่าย เพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือในการส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างกัน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจอื่น ๆ อาทิ ด้านสิ่งแวดล้อม และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ด้านการเกษตร ด้านวัฒนธรรม ด้านพลังงาน และด้านการท่องเที่ยว
ร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมฯ ไม่มีถ้อยคําหรือบริบทใดที่มุ่งจะก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ กอปรกับวรรคก่อนวรรคสุดท้ายก่อนลงนามระบุว่า ร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมฉบับนี้ไม่ถือเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศ และไม่ก่อให้เกิดสิทธิและพันธกรณีใด ๆ ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ ดังนั้น ร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมฯ จึงไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศและไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560
ประโยชน์และผลกระทบ
การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ไทย-ฮังการี ครั้งที่ 4 เป็นกลไกการหารือเพื่อกระชับความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจไทย-ฮังการี ที่มุ่งส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะการส่งเสริมการค้า การลงทุน การเกษตร การบริหารจัดการน้ำ และการศึกษา รวมทั้งเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฮังการีในภาพรวมให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นต่อไป
ฮังการีเป็นตลาดส่งออกที่มีศักยภาพของไทยในภูมิภาคยุโรปตะวันออก โดยในปี 2566 การค้ารวมของประเทศทั้งสองมีมูลค่า 771.87 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งไทยได้เปรียบดุลการค้า 262.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการส่งออก 517.01 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการนําเข้า 254.86 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีสินค้าส่งออกที่สําคัญ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์ยานยนต์และส่วนประกอบแผงสวิตช์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์ ขณะที่สินค้านําเข้าที่สําคัญ ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบด้านการท่องเที่ยว ในปี 2566 มีนักท่องเที่ยวชาวฮังการีเดินทางมาประเทศไทย จํานวน 27,906 คน และมีนักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางไปฮังการีปีละประมาณ 7,000 คน
16. เรื่อง ขอความเห็นชอบต่อการเสนอให้ประเทศไทยเป็นสถานที่ตั้งของศูนย์ให้คําปรึกษาด้านการระงับข้อพิพาทด้านการลงทุนระหว่างประเทศ
คณะรัฐมตรีมีมติอนุมัติในหลักการให้ประเทศไทยเป็นสถานที่ตั้งของศูนย์ให้คําปรึกษาด้านการระงับข้อพิพาท ด้านการลงทุนระหว่างประเทศ (Advisory Centre on International Investment Dispute Resolution: Advisory Centre) (ศูนย์ให้คําปรึกษา) ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ โดยคํานึงถึงประโยชน์และผลกระทบที่ประเทศไทยจะได้รับหากได้รับเลือก ทั้งนี้ หากประเทศไทยได้รับเลือกเป็นสถานที่ตั้งของศูนย์ให้คําปรึกษา กต. จะดําเนินการขอรับการจัดสรรงบประมาณต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
เรื่องนี้เป็นการขออนุมัติในหลักการให้ประเทศไทยเป็นสถานที่ตั้งของศูนย์ให้คําปรึกษาด้านการระงับข้อพิพาทด้านการลงทุนระหว่างประเทศ (ศูนย์ให้คําปรึกษา) โดยกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จะแสดงความจํานงค์ดังกล่าวในการประชุมร่วม ฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมาธิการกฎหมายการค้าระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ (United Nations Commission on International Trade Law: UNCITRAL) ที่ กต. จะเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมระหว่างวัน 2 - 4 ธันวาคม 2567 ณ กรุงเทพมหานคร โดยสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (United Nations General Assembly: UNGA) จะเห็นชอบสถานที่ตั้งศูนย์ให้คําปรึกษาดังกล่าวตามที่คณะทํางาน 6 (คณะกฎหมาย) ของ UNCITRAL เสนอ ในอีก 1 - 2 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ กต.ได้จัดประชุมเตรียมการฝ่ายประเทศไทยกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพาณิชย์ (กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ) สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สํานักงานอัยการสูงสุด สํานักงานศาลยุติธรรม และสถาบันอนุญาโตตุลาการ ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าจะเป็นประโยชน์กับประเทศไทย โดยเฉพาะเมื่อคํานึงถึงค่าใช้จ่ายที่ประเทศไทยต้องใช้ในการต่อสู้คดีที่เกี่ยวกับกฎหมายการลงทุนระหว่างประเทศในช่วงผ่านมา และเป็นโอกาสในการเสริมสร้างขีดความสามารถของบุคลากรของหน่วยงานภาครัฐ ในการได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทด้านการลงทุนระหว่างประเทศ ทั้งนี้ หากประเทศไทยได้รับการเลือกให้เป็นที่ตั้งของศูนย์ให้คําปรึกษาจะต้องดําเนินกระบวนการภายใน เช่น การจัดหาสถานที่ที่เหมาะสม
การพิจารณาหาแหล่งเงินและจัดเตรียมงบประมาณที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเรื่องลักษณะนี้คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติ (6 พฤศจิกายน 2561 และ 14 พฤษภาคม 2562) อนุมัติและเห็นชอบให้ประเทศไทยเป็นที่ตั้งศูนย์บริการด้านธุรการระดับภูมิภาคของสหประชาชาติและศูนย์สมาคมแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เพื่อผู้สูงอายุที่มีศักยภาพและนวัตกรรมมาแล้ว
ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับ สรุปได้ ดังนี้
1. บทบาทของประเทศไทยในฐานะประเทศสมาชิก UNCITRAL จะเป็นที่ประจักษ์มากยิ่งขึ้น ด้วยการขับเคลื่อนงานที่เป็นรูปธรรมและสอดคล้องกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของชาติ โดยการจัดตั้งศูนย์ให้คําปรึกษาจะช่วยรับรองและส่งเสริมความเป็นนิติรัฐของประเทศไทยในด้านการคุ้มครองนักลงทุน ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและดึงดูดการลงทุนทางตรงจากต่างชาติ ทั้งนี้ หากดําเนินการอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง จะสร้างภาพลักษณ์ที่ดี และความน่าเชื่อถือของประเทศไทยที่สนับสนุน และส่งเสริมกลไกการระงับข้อพิพาทที่เป็นสากล รวมทั้งเพิ่มอํานาจต่อรองของประเทศไทย ในการพัฒนากฎหมายการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับการดําเนินนโยบายที่มุ่งมั่นจะทํางานร่วมกับนานาประเทศเพื่อส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงร่วมกัน และขยายบทบาทตามนโยบายของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางของที่ตั้งสํานักงานของสหประชาชาติและองค์การระหว่างประเทศในภูมิภาค
2. ประเทศไทยจะเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้เกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทด้านการลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชนและกฎหมายการลงทุนระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของศูนย์ให้คําปรึกษาในการเสริมสร้างขีดความสามารถผ่านกิจกรรมความช่วยเหลือทางเทคนิคแก่ประเทศสมาชิกซึ่งในอนาคตจะนําไปสู่การยกระดับมาตรฐานของประเทศ รวมทั้งสมาชิกจะได้รับคําปรึกษา และบริการผู้แทนทางกฎหมายในอัตราค่าบริการที่ต่ำกว่าราคาตลาด และบุคลากรของหน่วยงานภาครัฐยังจะได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทด้านการลงทุนระหว่างประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมหากเกิดคดีที่เกี่ยวกับกฎหมายการลงทุนระหว่างประเทศในอนาคต
17. เรื่อง ร่างความตกลงประเทศเจ้าบ้าน (Host Country Agreement) ระหว่างราชอาณาจักรไทยกับองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ สำหรับการจัดการประชุม “The Global Forum on the Ethics of Artificial Intelligence in 2025”
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ ดังนี้
1.เห็นชอบการเป็นเจ้าภาพร่วมระหว่างประเทศไทยและองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมสหประชาชาติ ในการจัดการประชุม “The Global Forum on the Ethics of Artificial Intelligence in 2025” โดยมีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (หน่วยงานหลัก) กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมเป็นเจ้าภาพในนามของประเทศไทย
2. เห็นชอบร่างความตกลงประเทศเจ้าบ้าน (Host Country Agreement) ระหว่างราชอาณาจักรไทยกับองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ สําหรับการจัดการประชุม “The Global Forum on the Ethics of Artificial Intelligence in 2025” ทั้งนี้ ในกรณีที่มีความจําเป็นต้องปรับปรุงถ้อยคําที่มิใช่สาระสําคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดําเนินการโดยไม่ต้องนําเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง
3. อนุมัติให้ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย เป็นผู้ลงนามในร่างความตกลงประเทศเจ้าบ้านฯ ตามข้อ 2
สาระสำคัญ
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะเจ้าภาพหลักได้หารือกับยูเนสโก ในรายละเอียดเบื้องต้นตามร่างความตกลงประเทศเจ้าบ้าน (Host Country Agreement) ที่รัฐบาลไทยและยูเนสโกจะต้องลงนามดังกล่าว ซึ่งเบื้องต้นเห็นพ้องกําหนดจะจัดการประชุม “The Global Forum on the Ethics of Artificial Intelligence 2025” รายละเอียดต่อไปนี้
ผู้เข้าร่วม ผู้แทนประเทศในระดับรัฐมนตรี ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ ผู้แทน องค์กรภาคประชาสังคม ผู้แทนภาคอุตสาหกรรมและภาคเอกชน ผู้แทนสหประชาชาติและองค์กรระหว่างประเทศ ผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตและคณะทูต ผู้แทนสื่อมวลชน ซึ่งมีความพร้อมทั้งด้านสถานที่ การอํานวยความสะดวก การเตรียมอุปกรณ์ขั้นพื้นฐานต่าง ๆ สําหรับการประชุมเอกสิทธิ์และความคุ้มกัน การรักษาความปลอดภัย ความเสียหายและอุบัติเหตุ พิธีการตรวจลงตราและศุลกากร และการรับผิดชอบเมื่อเกิดความเสี่ยงจากภัยต่าง ๆ เป็นต้น
สาระสำคัญของร่างความตกลงประเทศเจ้าบ้านฯ
1) เนื้อหาหลักของความตกลงครอบคลุมลักษณะและขอบเขตของการประชุมผู้เข้าร่วม สถานที่และวันจัดการประชุม การจัดการประชุม เอกสิทธิ์และความคุ้มกัน การรักษาความปลอดภัย และการระงับข้อพิพาท ซึ่งรัฐบาลไทยจะอํานวยความสะดวกในการเดินทางเข้าออกประเทศ มาตรการในการคุ้มครอง สถานที่จัดประชุมเพื่อให้มีบรรยากาศที่ปลอดภัยและสงบสุข การรับผิดชอบต่อการเกิดอันตรายต่อบุคคลหรือความเสียหายต่อทรัพย์สินในสถานที่จัดประชุมหากอยู่ภายใต้การดูแลรักษาความปลอดภัยของรัฐบาลไทย
2) ภาคผนวก - ข้อเสนอความประสงค์แสดงรายละเอียดหน้าที่ความรับผิดชอบ ของยูเนสโก และประเทศเจ้าภาพ เช่น การเตรียมการสารัตถะ/การบริการ การจัดสถานที่ การเดินทาง การรักษาความปลอดภัย คณะทํางาน และอุปกรณ์ต่าง ๆ เป็นต้น
ประโยชน์และผลกระทบ เช่น
1) ยกระดับบทบาทของประเทศไทยในเวทีโลกในการกําหนดนโยบายและมาตรฐานด้านปัญญาประดิษฐ์ในระดับนานาชาติ เสริมสร้างภาพลักษณ์ของประเทศไทยในฐานะผู้นําด้านจริยธรรม ปัญญาประดิษฐ์ของภูมิภาค และสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยหากสามารถดึงดูดความสนใจจากสมาชิกยูเนสโกและผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ทั่วโลกเดินทางมาร่วมการประชุม
2) การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ ในครั้งนี้จะช่วยเปิดโอกาสกระตุ้นการแลกเปลี่ยนพัฒนาความรู้และความเชี่ยวชาญด้านจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์กับผู้เชี่ยวชาญระดับโลก รวมถึงกระตุ้นผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ทั่วโลกเดินทางมาร่วมการประชุมฯ การพัฒนาอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ในประเทศ สร้างความตระหนักและความเข้าใจเกี่ยวกับความสําคัญ ของจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ในภาคธุรกิจไทย และส่งเสริมให้ได้รับการยอมรับในตลาดธุรกิจโลก ซึ่งสอดคล้องกับคําแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ด้านนโยบายส่งเสริมโอกาสในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตในการวางรากฐานให้คนไทยทุกกลุ่มวัยใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการพัฒนาตนเองเพิ่มประสิทธิภาพการทํางาน และสร้างสรรค์นวัตกรรม นําประเทศสู่ความล้ำสมัย อีกทั้งสนับสนุนเป้าหมาย ด้านของแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย พ.ศ. 2565– 2570 ได้แก่ สร้างคนและเทคโนโลยี สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงสร้างผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม
18. เรื่อง การเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาวอลเลย์บอล FIVB Women’s World Championships 2025
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาวอลเลย์บอล FIVB Women’s World Championships 2025 ภายในกรอบวงเงิน 1,124,500,000 บาท ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) เสนอ โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะขอรับจัดสรรงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
สมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย ได้นำเรื่องการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาวอลเลย์บอล FIVB Women's World Championships 2025 เสนอในที่ประชุมใหญ่สามัญของสหพันธ์วอลเลย์บอลนานาชาติ ครั้งที่ 39 ระหว่างวันที่ 15 - 17 พฤศจิกายน 2567 ณ เมืองปอร์โต้ สาธารณรัฐโปรตุเกส และจะต้องแจ้งยืนยันการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาวอลเลย์บอล FIVB Women's World Championships 2025 ของประเทศไทยอย่างเป็นทางการไปยังสหพันธ์วอลเลย์บอลนานาชาติ (FIVB) ภายในวันที่ 6 ธันวาคม 22567 และได้กำหนดให้มีพิธีจับฉลากแบ่งสายภายในวันที่ 15 ธันวาคม 2567
การเป็นเจ้าภาพดังกล่าวสอดคล้องกับคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 ที่ระบุว่ารัฐบาลจะเร่งส่งเสริมการท่องเที่ยว ด้วยการสานต่อความสำเร็จในการปรับโครงสร้างการตรวจลงตราทั้งหมดของประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ขอวีซ่า เช่น กลุ่มผู้เข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติ (MICE) และกลุ่มชาวต่างชาติที่ทำงานทางไกล (Digital Nomad) ซึ่งสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวถึง 1.892 ล้านล้านบาท ในปี 2566 โดยส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ เพิ่มแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น (Man-made Destinations) เช่น สวนน้ำ สวนสนุก ศูนย์การค้า สถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) นำคอนเสิร์ต เทศกาล และการแข่งขันกีฬาระดับโลกมาจัดในประเทศไทย รวมถึงส่งเสริมการท่องเที่ยว เมืองน่าเที่ยว เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและเม็ดเงินมหาศาลที่จะกระจายลงสู่ผู้ประกอบการภายในประเทศได้อย่างรวดเร็ว โดยการเป็นเจ้าภาพมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
(1) กำหนดการแข่งขันกีฬาวอลเลย์บอล FIVB Women's World Championships 2025 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22 สิงหาคม - 7 กันยายน 2568
(2) สถานที่จัดการแข่งขัน ณ ประเทศไทย (จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดภูเก็ต จังหวัดนครราชสีมา และกรุงเทพมหานคร)
(3) ผู้เข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 32 ทีม ประกอบด้วย
(3.1) ประเทศไทย (เจ้าภาพ 1 ทีม)
(3.2) สาธารณรัฐเซอร์เบีย (แชมป์เก่า 1 ทีม)
(3.3) ทีมชนะเลิศ รองชนะเลิศ และอันดับ 3 จากชิงแชมป์ของทั้ง 5 ทวีป รวมเป็น 15 ทีมได้แก่
ทวีปเอเชีย ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศญี่ปุ่น และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
ทวีปยุโรป ได้แก่ ประเทศทูร์เคีย ราชอาณาจักรเนเธอแลนด์ และสาธารณรัฐอิตาลี
ทวีปแอฟริกา ได้แก่ สาธารณรัฐเคนยา สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ และสาธารณรัฐแคเมอรูน
นอร์เซกา ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สมาพันธ์รัฐแคนาดา และสาธารณรัฐโดมินิกัน ทวีปอเมริกาใต้ ได้แก่ สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล สาธารณรัฐอาร์เจนตินา และสาธารณรัฐโคลอมเบีย
(3.4) ทีมคะแนนสะสมอันดับโลก (FIVB World Ranking) ที่ยังไม่ผ่านเข้ารอบ 15 ทีม ได้แก่ สาธารณรัฐโปแลนด์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ราชอาณาจักรเบลเยียม สาธารณรัฐเช็ก เครือรัฐปวยร์โตรีโก สาธารณรัฐประชาชนยูเครนตะวันตก สาธารณรัฐฝรั่งเศส สาธารณรัฐบัลแกเรีย สาธารณรัฐคิวบา ราชอาณาจักรสวีเดน สหรัฐเม็กซิโก สาธารณรัฐสโลวีเนีย สาธารณรัฐสโลวัก ราชอาณาจักรสเปน และสาธารณรัฐเฮลเลนิก
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
1. สร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยสู่สายตาประชาคมโลก ผ่านการถ่ายทอดสดการแข่งขันฯ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวและนักลงทุนนานาชาติ ให้เห็นถึงศักยภาพความพร้อมของประเทศในทุก ๆ ด้าน ทั้งในด้านการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ สังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศเกิดการหมุนเวียนในระบบ
2. ประเทศไทยจะมีรายได้จากการใช้จ่ายเงินของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางติดตามชมการแข่งขัน มีโอกาสนำเสนอความสวยงามของแหล่งท่องเที่ยวและวัฒนธรรมอันดีงามของประเทศไทย รวมทั้งมีรายได้จากการใช้จ่ายเงินของนักกีฬา เจ้าหน้าที่ ผู้แทนองค์กรกีฬาต่าง ๆ และผู้สังเกตการณ์ ประมาณ 768,300,000 บาท มูลค่าด้านการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อโซเชียลมีเดียทั่วโลก จากจำนวนผู้เข้าชมโดยรวมประมาณ 1,300,000,000 คน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 5,596,500,000 บาท และก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวมในประเทศประมาณ 2,070,900,000 บาท คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจที่คาดว่าประเทศไทยจะได้รับจากการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาดังกล่าวทั้งสิ้นประมาณ 8,435,700,000 บาท
19. เรื่อง ข้อตกลงการจัดตั้งศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อควบคุมมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน (Agreement on the Establishment of the ASEAN Co-ordinating Centre for Transboundary Haze Pollution Control)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบต่อร่างข้อตกลงการจัดตั้งศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อควบคุมมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน (ร่างข้อตกลงฯ) (Agreement on the Establishment of the ASEAN Co-ordinating Centre for Transboundary Haze Pollution Control)
2. เห็นชอบให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จัดทําหนังสือมอบอํานาจเต็ม (Instruments of Full Power) ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือผู้แทน เพื่อลงนามในข้อตกลงดังกล่าว
3. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือผู้แทนเป็นผู้ลงนามในข้อตกลงดังกล่าว และแสดงเจตนาให้มีผลผูกพันในคราวเดียวกัน
ทั้งนี้ หากมีความจําเป็นต้องแก้ไขถ้อยคําในร่างข้อตกลงดังกล่าวในส่วนที่ไม่ใช่สาระสําคัญ และไม่ขัดต่อกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้ ทส. พิจารณาดําเนินการได้ โดยไม่ต้องนําเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง
สาระสำคัญ
ร่างข้อตกลงการจัดตั้งศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อควบคุมมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน (ร่างข้อตกลงฯ) ตามที่ ทส. เสนอมาในครั้งนี้ เป็นการดําเนินการตามพันธกรณีของข้อตกลงของอาเซียนด้านมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ที่กําหนดให้มีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานอาเซียนด้านการควบคุม มลพิษจากหมอกควันข้ามแดน (ศูนย์ประสานงานอาเซียนฯ) ขึ้นสําหรับการประสานงานในการดาเนินความร่วมมือเกี่ยวกับการจัดการกับไฟไหม้ ไฟป่า และมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน โดยร่างข้อตกลงฯ มีสาระสําคัญ เช่น การกําหนดหน้าที่และโครงสร้างของศูนย์ประสานงานอาเซียนฯ พันธกรณีของประเทศเจ้าบ้าน การคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา และการรักษาความลับของข้อมูลและข่าวสาร ซึ่งการจัดตั้งศูนย์ประสานงานดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยในการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนที่ผ่านมา เนื่องจากประเทศไทยจะสามารถเข้าถึงข้อมูลการแจ้งเตือนปัญหาหมอกควันข้ามแดน จํานวนจุดความร้อน และการคาดการณ์ด้านสภาพภูมิอากาศจากศูนย์เชี่ยวชาญด้านอุตุนิยมวิทยาเฉพาะทางแห่งอาเซียน (ASEAN Specialized Meteorological Centre : ASMC) ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศได้ นอกจากนี้ การดําเนินงานของศูนย์ประสานงานอาเซียนฯ จะมีการดําเนินการร่วมกับหน่วยงานสนับสนุนต่าง ๆ ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในหลากหลายประเด็น เช่น ศูนย์อาเซียนว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในการจัดการภัย และศูนย์วิจัยและฝึกอบรมอาเซียนด้านเทคโนโลยีอวกาศและการประยุกต์ใช้ ซึ่งจะทําให้ประเทศไทยสามารถรับมือกับปัญหาได้อย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพมากกว่าที่ผ่านมา
20. เรื่อง ร่างปฏิญญาระดับรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดการความขาดแคลนน้ำ และการฟื้นฟูดินเพื่อระบบเกษตรและอาหารที่ยั่งยืนและยืดหยุ่น (Ministerial Declaration on managing water scarcity and reversing soil degradation for sustainable and resilient agrifood systems)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างปฏิญญาระดับรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดการความขาดแคลนน้ำ และการฟื้นฟูดินเพื่อระบบเกษตรและอาหารที่ยั่งยืนและยืดหยุ่น (Ministerial Declaration on managing water scarcity and reversing soil degradation for sustainable and resilient agrifood systems) โดยหามีความจําเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างปฏิญญาดังกล่าวในส่วนที่ไม่ใช่สาระสําคัญ และเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง รวมทั้ง อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายรับรองร่างปฏิญญาฯ ดังกล่าว ตามที่กระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
การรับรองร่างปฏิญญาระดับรัฐมนตรีฯ จะจัดขึ้นระหว่างการประชุมนานาชาติระดับ รัฐมนตรีว่าด้วยการจัดการทรัพยากรดิน และน้ำ เพื่อความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน (The International Soil and Water Forum 2024) ระหว่างวันที่ 9 - 11 ธันวาคม 2567 ณ ห้องประชุม โรงแรมอนันตรา สยามกรุงเทพมหานคร
สาระสําคัญของร่างปฏิญญาฯ ประกอบด้วย
1. ความเห็นร่วมของรัฐมนตรีว่า ในปี ค.ศ. 2023 ทั่วโลกมีผู้คนมากกว่า 2.33 พันล้านคนที่ประสบปัญหาความไม่มั่นคงด้านอาหาร และมีประมาณ 2.3 พันล้านคนที่อาศัยอยู่ในประเทศที่มีปัญหาขาดแคลนน้ำ ซึ่งปัญหานี้ยังคงทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการอาหารและน้ำที่คาดว่า จะเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสําคัญ และรับทราบว่า ดินได้รับการละเลยอย่างมากในวาระการพัฒนาระดับโลก โดย 33 % ของ ทั่วโลกได้รับการเสื่อมโทรมแล้วและมากกว่า 60% ของการเสื่อมโทรมของที่ดินที่เกิดจากการกระทําของมนุษย์ และเกิดขึ้นในพื้นที่เกษตรกรรม และยอมรับว่า การเกษตรคือภาคเศรษฐกิจที่ใช้น้ำมากที่สุด และการผลิตอาหารมีการใช้น้ำกว่า 95% โดยประสิทธิภาพการผลิตเกษตรมีพื้นฐานอยู่ที่สุขภาพของดิน ดังนั้นสุขภาพของดินจะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการจัดการที่ดิน ทรัพยากรดิน และทรัพยากรน้ำที่ไม่มีประสิทธิภาพ
2. การเน้นย้ำความสําคัญว่าการเปลี่ยนแปลงระบบเกษตรและอาหารเป็นปัจจัยสําคัญในการแก้ไขปัญหาที่เชื่อมโยงกันของการเสื่อมโทรมของที่ดินและทรัพยากรดิน การขาดแคลนน้ำ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และภัยคุกคามเร่งด่วนจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการ ตลอดจนการทําความเข้าใจการแลกเปลี่ยนที่สําคัญและใช้ประโยชน์จากโอกาสในมิติต่าง ๆ ของความสัมพันธ์ระหว่างน้ำ - พลังงาน - อาหาร - สิ่งแวดล้อม เพื่อการใช้ทรัพยากรดินและน้ำ อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเชื่อมโยงความสมดุลระหว่างความต้องการระดับชาติ ภูมิภาค และระดับโลกสําหรับอาหาร น้ำ พลังงาน และบริการสนับสนุนท่ามกลางจํานวนประชากรที่เพิ่มขึ้นและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
แต่งตั้ง
21. เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อเตรียมการจัดการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ปี 2569
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้ง คณะกรรมการระดับชาติเพื่อเตรียมการจัดการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ปี 2569
องค์ประกอบที่เสนอแต่งตั้ง จำนวน 22 ตำแหน่ง ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นรองประธานกรรมการ และกรรมการ ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยปลัดกระทรวงการคลัง เป็นกรรมการและเลขานุการ และผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
หน้าที่และอำนาจ
1. กำหนดนโยบายและแนวทางจัดเตรียมการจัดการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ปี 2569 ทั้งด้านสารัตถะ พิธีการและอำนวยการ การรักษาความปลอดภัยและการจราจร การประชาสัมพันธ์ งบประมาณ และการจัดซื้อจัดจ้าง รวมทั้งกำกับและติดตามการดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ เพื่อให้การทำหน้าที่เจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ปี 2569 ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพ ส่งเสริมสถานะและบทบาทของประเทศไทยในเวทีโลก
2. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงาน เพื่อดำเนินการตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
3. เชิญส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมชี้แจงการประชุม หรือร่วมดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการจัดประชุมตามความจำเป็นและเหมาะสม
4. ปฏิบัติหน้าที่อื่นใดที่เกี่ยวกับการประชุมตามที่ประธานกรรมการมอบหมาย
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2567 เป็นต้นไป
22. เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอแต่งตั้ง คณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 ประกอบด้วย รองนายกรัฐมนตรีกำกับการบริหารราชการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นรองประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงการคลัง อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีแพ่งหรือผู้แทน อธิบดีอัยการ สำนักงานการบังคับคดี หรือผู้แทน ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เป็นกรรมการ โดยมีผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการและเลขานุการ
หน้าที่และอำนาจ
1. วางนโยบาย อำนวยการเกี่ยวกับการจัดการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13
2. จัดการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 ให้บรรลุเป้าหมายด้วยดี เป็นไปตามกฎธรรรมนูญสหพันธ์และเป็นผลดีที่สุดแก่ประเทศชาติ
3. ประสานงาน ปฏิบัติการและดูแลทั่วไปเกี่ยวกับการเตรียมงานทั้งปวง และคณะกรรมการฝ่ายต่าง ๆ
4. จัดสรรและบริหารงบประมาณที่ใช้ในการจัดการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
5. ติดต่อประสานงาน ตลอดจนการขอรับการสนับสนุนในการเตรียมงานและจัดการแข่งขันจากหน่วยราชการรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานเอกชน
6. รายงานการดำเนินงานให้แก่คณะรัฐมนตรีทราบเป็นระยะ ๆ และจัดทำรายงานเสนอเมื่อเสร็จสิ้นการแข่งขัน
7. เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการเป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงให้ประธานกรรมการจัดการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการฝ่ายได้ตามความจำเป็นเหมาะสม รวมทั้งกำกับดูแลและควบคุมการดำเนินงานของคณะกรรมการฝ่าย คณะกรรมการสาขา
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2567 เป็นต้นไป
23. เรื่อง การแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอพิจารณามอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค) เป็นผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ตามความในมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2567 เป็นต้นไป
24. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 3 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ดังนี้
1. นายสุรินทร์ วรกิจธำรง รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
2. นายยงยุทธ นาควิโรจน์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
3. นายธีระชุณ บุญสิทธิ์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2567 ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
25. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง พันเอก เฟื่องวิชชุ์ อนิรุทธเทวา เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีลงนามในประกาศแต่งตั้ง ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบแล้ว
26. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการอื่นในคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้ง นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ (ผู้แทนสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม) เป็นกรรมการอื่นในคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร แทน นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข กรรมการอื่นเดิมที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากขอลาออก ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2567 เป็นต้นไป และผู้ได้รับแต่งตั้งแทนนี้อยู่ในตำแหน่งตามวาระของผู้ซึ่งตนแทน
27. เรื่อง การแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเพื่อทำหน้าที่ผู้แทนการค้าไทย
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นายอุเมสนัส ปานเดย์ และนายวีระพงษ์ ประภา เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเพื่อทำหน้าที่ผู้แทนการค้าไทย ตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 เป็นต้นไป
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี