สรุปข้อเท็จจริง‘MOU 44’ที่ทุกคนควรรู้ ทั้งเสียงคัดค้าน-ฝ่ายรัฐบาล
4 ธันวาคม 2567 รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก Harirak Sutabutr ระบุว่า...
เนื่องจากผลนิด้าโพลบอกว่าคนส่วนใหญ่ไม่มีความเข้าใจใดๆเลย ต่อเรื่อง MOU 44 และในขณะนี้เป็นเวลาที่อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เพราะรัฐบาลมีทางเลือกในการตัดสินใจคือ จะยกเลิก MOU 44 อย่างที่หลายฝ่ายเรียกร้อง หรือจะเดินหน้าตั้งทีมเจรจาร่วมกับกัมพูชา ที่เรียกว่า Joint Technical Committee (JTC) หรือจะนำเข้าหารือในรัฐสภา โดยไม่มีการลงมติ หรือจะนำเข้ารัฐสภาเพื่อให้ลงมติว่าจะผ่านหรือไม่ผ่าน MOU ฉบับนี้ แต่ดูท่าทีของรัฐบาล ยังคงยืนยันจะเดินหน้าคือตั้งทีมเจรจาให้ได้เร็วที่สุด
เสียงคัดค้านที่มีน้ำหนักที่สุดมาจาก น.พ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ซึ่งรวบรวมรายชื่อผู้คัดค้าน MOU 44 ได้มากกว่าแสนคน และจากคุณสนธิ ลิ้มทองกุล อาจารย์ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์และคณะ โดยในวันจันทร์ที่ 9 ธันวาคม 2567 คุณสนธิ ลิ้มทองกุล และคณะจะไปยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อคัดค้านและตั้งข้อกล่าวหาต่อรัฐบาล และยังมีเสียงคัดค้านจากพรรคพลังประชารัฐ มีคุณธีรชัย ภูนารถนรานุบาล และม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี เป็นแกนนำ
วันนี้จึงอยากจะสรุปข้อมูล เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับ MOU 44 ให้มากพอที่จะใช้วิจารณญาณตัดสินกันได้ว่า รัฐบาลควรเลือกทางเดินอย่างไรเพื่อยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติอย่างแท้จริง แต่ก่อนอื่นต้องทราบว่า รัฐบาลเริ่มการผลักดันเรื่องนี้ หลังจากที่คุณทักษิณกล่าวในงาน Dinner Talk : Vision for Thailand เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567 ว่า ประเทศไทยควรต้องรีบเจรจากับกัมพูชาในเรื่องผลประโยชน์จากพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล โดยแบ่งผลประโยชน์กัน 50:50 โดยยังไม่ต้องเจรจาเรื่องพื้นที่ที่อ้างสิทธิที่ทับซ้อนกัน
นายกรัฐมนตรี คุณแพทองธาร ชินวัตร ในช่วงแรก ตอบคำถามนักข่าวว่า MOU 44 ยกเลิกไม่ได้ เพราะถ้ายกเลิกแล้วกัมพูชาจะฟ้องร้องเราอย่างแน่นอน และต่อมา นายกรัฐมนตรีกลับตอบคำถามนักข่าวโดยหันไปขอความมั่นใจจากคุณภูมิธรรม เวชยชัย ซึ่งยืนกำกับการแสดงอยู่ด้านหลังว่า MOU 44 ไม่จำเป็นต้องนำเข้าที่ประชุมรัฐสภา แต่เมื่อไม่กี่วันมานี้ คุณแพทองธารกลับตอบคำถามนักข่าวว่า
“เราสามารถยกเลิก MOU 44 ได้ตามกฎหมาย แต่ถามว่าเราควรยกเลิกฝ่ายเดียวหรือไม่ เพราะเป็นเรื่องระหว่างประเทศ ขอให้คุยกันก่อนดีกว่า เพราะเรื่องนี้อ่อนไหว เราพยายามไม่ให้คนในประเทศของเราเข้าใจผิดในเรื่องอะไรก็ตาม”
นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังแสดงความเห็นว่า เรื่องนี้เป็นประเด็นทางการเมืองหรือเปล่า อย่าเอาเรื่องของกระแสหรือความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศของเรา มาทำให้เป็นประเด็นที่จะกลายเป็นปัญหาระหว่างประเทศ และยังให้ความเห็นว่า MOU 44 เป็นการให้นำข้อที่ไม่เห็นด้วย เอามาคุยกันว่าไม่เห็นด้วยเรื่องอะไร เช่น ไม่เห็นด้วยกับเส้นขีดที่ไม่เหมือนกัน เอามาคุยกัน คุยกันไปมาสมมติว่า ฉันก็ไม่ถอยเธอก็ไม่ถอย ก็มาแบ่งผลประโยชน์กัน นั่นคือสิ่งที่คณะกรรมการต้องไปคุยกันต่อ
ก่อนจะทำความเข้าใจกันเรื่อง MOU 44 ขอย้อนกลับไปที่ประกาศของรัฐบาลกัมพูชา ลงนามโดยนายพลลอนนอล เมื่อปี พ.ศ.2515 เพื่ออ้างสิทธิในไหล่ทวีปและอาณาเขตทางทะเล ซึ่งเป็นการกำหนดโดยไม่คำนึงถึงหลักกฎหมายระหว่างประเทศ หรือหลักสากลใดๆ เรียกได้ว่ากำหนดเอาเองตามอำเภอใจ โดยลากเส้นจากหลักเขตที่ 73 จังหวัดตราด เป็นเส้นตรงผ่านส่วนหนึ่งของเกาะกูดไปทางทิศตะวันตก ซึ่งก็ไม่ทราบว่าขีดออกมาห่างจากเกาะกูดยาว 12 ไมล์ทะเลหรือไม่ แล้วจึงหักลงมาทางทิศใต้ จนถึงจุดที่เป็นแนวเขตระหว่างกัมพูชากับเวียตนาม ภายหลังฝ่ายรัฐบาลไทยโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่ากัมพูชาไม่ได้ลากเส้นผ่านเกาะกูด แต่ยอมวกอ้อมเกาะกูดด้านทิศใต้ น้ำเสียงดูเหมือนจะพูดด้วยความขอบคุณกัมพูชาด้วยซ้ำ
ดูเหมือนจะเป็นการตอบโต้ประกาศของกัมพูชา ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2516 จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชการที่ 9 มีพระบรมราชโองการประกาศเขตไหล่ทวีปของประเทศไทยด้านอ่าวไทย โดยยึดมูลฐานแห่งสิทธิตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ อันเป็นที่ยอมรับนับถือกันโดยทั่วไป และตามอนุสัญญาว่าด้วยไหล่ทวีป ซึ่งกระทำ ณ กรุงเจนีวา ในปี ค.ศ.1958 เนื่องจากเกาะกูดเป็นของไทย พื้นที่ทางทะเลห่างออกมาจากเกาะกูด 12 ไมล์ทะเลก็ควรต้องเป็นพื้นที่ของไทยด้วย ดังนั้นจึงลากเส้นจากหลักเขตที่ 73 จังหวัดตราด ผ่านกึ่งกลางระหว่างเกาะกูดและเกาะกงตรงลงมาจนถึงจุดที่ห่างจากชายฝั่งทะเลของไทยที่อยู่ตรงข้ามกับฝั่งของกัมพูชาเท่ากับที่กฎหมายระหว่างประเทศกำหนด แล้วจึงลากเส้นโดยขนานกับแนวชายฝั่งทะเลของไทยลงไปด้านล่าง จนถึงแนวเส้นแบ่งระหว่างไทยกับมาเลเซีย
ในพระบรมราชโองการได้ระบุว่า
“แผนที่และจุดต่อเนื่องที่แสดงพิกัดภูมิศาสตร์ตามประกาศนี้มีเพื่อแสดงแนวทั่วไปของเส้นกำหนดไหล่ทวีป สำหรับสิทธิอธิปไตยในส่วนที่เป็นทะเลอาณาเขตซึ่งต่อเนื่องกับทะเลอาณาเขตของประเทศใกล้เคียง อันจะถือเป็นจุดเริ่มของเส้นแบ่งเขตไหล่ทวีปนั้นจะเป็นไปตามที่จะได้ตกลงกัน โดยยึดถือมูลฐานแห่งบทบัญญัติของอนุสัญญาว่าด้วยทะเล และอาณาเขตต่อเนื่อง ซึ่งกระทำ ณ กรุงเจนีวา 29 เมษายน ค.ศ.1958” ซึ่งหมายความว่า ประกาศนี้เพื่อแสดงแนวทั่วไปของเส้นกำหนดไหล่ทวีปของไทย และสิทธิอธิปไตยส่วนทะเลอาณาเขตซึ่งต่อเนื่องกับทะเลอาณาเขตของประเทศใกล้เคียง จะเป็นไปตามที่ได้ตกลงกัน ที่สำคัญคือ ข้อตกลงจะต้องยึดถือหลักตามอนุสัญญาที่กระทำ ณ กรุงเจนีวา ค.ศ.1958 ซึ่งดูเหมือนกระทรวงการต่างประเทศจะไม่เน้นประเด็นนี้ แต่ไปเน้นตรงที่บอกว่า จะเป็นไปตามที่ได้ตกลงกัน
ในปี พ.ศ.2544 รัฐบาลไทยรักไทย มีคุณทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการทำบันทึกความเข้าใจ หรือ memorandum of understanding ระหว่างไทยและกัมพูชา เรียกกันว่า MOU 44 ผู้ลงนามฝ่ายไทยคือ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ฝ่ายกัมพูชาคือ นายซก อัน รัฐมนตรีอาวุโสและประธาน การปิโตรเลียมแห่งชาติ เนื้อหาที่เป็นสาระสำคัญในบันทึกความเข้าใจฉบับนี้มีดังนี้
บันทึกฉบับนี้เป็นความปรารถนาที่จะกระชับความสัมพันธ์และความเป็นมิตรที่ดีที่มีอยู่แล้วให้เพิ่มมากขึ้น ระหว่างสองประเทศ
2. เป็นการรับรู้(recognizing) ว่า ผลจากการอ้างสิทธิในทะเลอาณาเขต ไหล่ทวีป และเขตเศรษฐกิจเฉพาะในอ่าวไทย ของทั้งสองประเทศ ทำให้เกิดพื้นที่ที่มีการอ้างสิทธิทับซ้อนกัน
3. ข้อพิจารณาคือ สิ่งที่เป็นผลประโยชน์สูงสุดของทั้งสองประเทศก่อนอื่น คือการบรรลุข้อตกลงร่วมกันในเรื่องหลักพื้นฐานที่เป็นที่ยอมรับได้ของทั้งสองฝ่าย ในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรไฮโดรคาร์บอนในพื้นที่ที่อ้างสิทธิทับซ้อนให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
4. ทั้งสองฝ่ายเห็นว่า สิ่งที่ควรกระทำคือ การเข้าสู่การจัดการอันเป็นการเฉพาะกิจ เพื่อให้เกิดผลในเชิงปฏิบัติในเรื่องเกี่ยวกับพื้นที่ที่มีการอ้างสิทธิที่ทับซ้อนกัน
5. ได้ตกลงร่วมกันแล้วว่า เป็นความตั้งใจของทั้งสองฝ่าย ผ่านการเจรจาต่อรองอย่างเร่งด่วน จะกระทำในเรื่องต่อไปนี้ไปพร้อมๆกัน คือ
5.1 สรุปข้อตกลงในการพัฒนาทรัพยากรไฮโดรคาร์บอนร่วมกัน ตามที่อยู่ในพื้นที่ที่แสดงในเอกสารแนบท้ายซึ่งแสดงพื้นที่ร่วมพัฒนา (สนธิสัญญา ร่วมพัฒนา) และ
5.2 บรรลุข้อตกลงในการกำหนดอาณาเขตทางทะเล ไหล่ทวีป และเขตเศรษฐกิจจำเพาะที่เป็นที่ยอมรับร่วมกันของทั้งสองฝ่าย ตามเอกสารแนบท้ายที่แสดงพื้นที่ที่จะต้องมีการกำหนดอาณาเขต
6. เป็นความตั้งใจอย่างแน่วแน่ของทั้งสองฝ่าย ที่จะจัดการบทบัญญัติตาม 5.1 และ 5.2 ในลักษณะที่เป็นเรื่องเดียวกัน จะแบ่งแยกกันมิได้
7.เพื่อให้เป็นไปตามข้อ 5 จะได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการด้านเทคนิตร่วม หรือ Joint Technical Committee (JTC) ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ผู้แทนจากทั้งสองฝ่าย เพื่อยกร่าง ขอบเขตของข้อตกลงต่างๆ รวมถึงเกณฑ์ที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับได้ เพื่อใช้คำนวณต้นทุน ค่าใช้จ่าย และผลประโยชน์จากการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรไฮโดรคาร์บอน ที่จะแบ่งกันทั้งสองฝ่ายบนพื้นที่พัฒนาร่วม และยกร่างข้อตกลงในเรื่อง การกำหนดอาณาเขตพื้นที่ทางทะเล ไหล่ทวีป และเขตเศรษฐกิจจำเพาะ ระหว่างการอ้างสิทธิของทั้งสองฝ่าย บนพื้นที่ที่จะได้กำหนดอาณาเขต โดยให้เป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง
เมื่อเร็วๆนี้ได้มีการเปิดเผยข้อมูลที่รัฐบาลไม่เคยเปิดเผยหรือไม่เคยรู้ก็ไม่ทราบ โดยอ.ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ซึ่งได้รับเป็นเอกสารจาก ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ เป็นเอกสารที่เป็นแถลงการณ์ร่วม หรือ Joint Communique ระหว่างไทยกับกัมพูชา ผู้ลงนามฝ่ายไทยคือ นายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ฝ่ายกัมพูชาคือ สมเด็จฮุนเซ็น นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน ค.ศ.2001หรือ พ.ศ.2544 มีข้อความส่วนหนึ่งเป็นการให้การรับรอง MOU 44 อ.ปานเทพจึงตีความว่า MOU 44 คือสนธิสัญญา ไม่ใช่บันทึกความเข้าใจทั่วไป และยังมีบทความของดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ผู้ลงนามฝ่ายไทย เมื่อปี 2554 ยืนยันว่า MOU 44 เป็นสนธิสัญญา
ทั้งหมดนี้คือข้อเท็จจริงที่ทุกคนที่สนใจควรต้องรู้ และเพื่อไม่ให้ข้อเขียนนี้มีความยืดยาวจนเกินไป จึงจะขอหยุดเพียงเท่านี้ไว้ก่อน โดยจะขอเก็บการวิเคราะห์วิจารณ์ และความเห็นไว้เป็นโพสต์หน้านะครับ
โปรดคอยติดตาม
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี