‘อิ๊งค์’ไม่สนองข้อเสนอ‘สนธิ’
คว่ำเวทีสาธารณะ
ชี้มีช่องทางรับฟังความเห็น
บอกใจเย็นๆแก้ปัญหา MOU44
บัวแก้วฉะทำไมไม่โวยยุคบิ๊กตู่
นายกฯ“อิ๊งค์” ไม่ให้ราคา “สนธิ ลิ้มทองกุล” ปัดเปิดเวทีสาธารณะ ถกปัญหา MOU44 ระบุมีช่องทางรับฟังความเห็นอยู่แล้ว ขณะที่“ภูมิธรรม” บอกยังไม่มีความคืบหน้าอะไรเลย ด้านผู้ช่วย รมว.ต่างประเทศโวยทำไมไม่ไปประท้วงในยุครัฐบาลบิ๊กตู่
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2567 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีนายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ยื่นหนังสือคัดค้าน MOU44 เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.ที่ผ่านมา ขณะนี้ได้เห็นหนังสือแล้วหรือยัง ว่า เห็นแล้ว เราได้ดูเรียบร้อยแล้ว แต่ต้องให้มั่นใจนิดหนึ่งเรื่องประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ อยากให้ทุกฝ่ายใจเย็นๆกันนิดหนึ่งมันไม่มีการบิดเบือนอะไรไปนอกจากนี้เลย
เมื่อถามว่าที่นายกฯเคยบอกว่าจะเปิดรับฟังความคิดเห็น จะเป็นอย่างไร จะเป็นเวทีสาธารณะอย่างที่มีการเรียกร้องหรือไม่ น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า จริงๆแล้วเรามีหน่วยงานรับฟังความคิดเห็นอยู่แล้วก็ผ่านมาได้ เหมือนอย่างที่นายสนธิมายื่นหนังสือก็ถือเป็นการรับฟังความคิดเห็นเช่นกัน ทุกอย่างที่เราได้มาเรารับพิจารณาเพราะเราทราบดีว่าทุกเรื่องที่ยื่นมามีความคิดเห็นที่แตกต่างกันอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นไม่ได้จะเปิดเวทีสาธารณะหรืออะไร
เมื่อถามอีกว่าหากเป็นเช่นนั้นยืนยันจะเดินหน้า MOU44 ใช่หรือไม่ น.ส.แพทองธาร กล่าวว่าเรากำลังดูเรื่องรายละเอียดอยู่ว่ามีผลกระทบอะไรอย่างไรบ้าง อันนี้ไม่ได้คิดว่าจะเดินหน้าอะไร แต่กำลังพิจารณาในสิ่งที่มีการนำเสนอมาให้รอบคอบมากยิ่งขึ้น
เมื่อถามว่าการตั้งคณะกรรมการด้านเทคนิค หรือ JTC มีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง น.ส.แพทองธาร ตอบว่า มีความคืบหน้าแต่ยังไม่เสร็จสิ้น
เมื่อถามย้ำว่า นายกฯเคยพูดว่าหลังจากเดินทางกลับจากประชุมเอเปคการตั้งคณะกรรมการจะเรียบร้อย ติดขัดอะไรเหตุใดยังไม่เสร็จ น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า มีการตามเรื่องการตั้งคณะกรรมการแต่ยังมีในเรื่องรายละเอียดที่อ่อนไหวพอสมควร ฉะนั้นจะตั้งหรือจะเคาะกรรมการเราอยากให้การตั้งขึ้นมาไม่ติดขัดในเรื่องของอะไรเพิ่มเติม แต่เร่งอยู่ไม่ได้ปล่อยเรื่องนี้เพราะเป็นเรื่องที่อยู่ในลิสต์ที่นึกถึงอยู่ทุกวัน
ในประเด็นดังกล่าว นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวว่า ยังไม่ได้เห็นเงื่อนไขของนายสนธิ แต่คิดว่าเป็นสิทธิของผู้เสนอ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะนายสนธิ ประชาชน นักข่าว หากใครมีข้อคิดเห็นก็ข้อเสนอได้ เราก็รับฟัง ส่วนจะทำได้แค่ไหน หรือทำด้วยความรู้สึกที่เห็นพ้องต้องกัน หรือไม่เห็นด้วย ก็อีกเรื่องหนึ่ง
ส่วนประเมินว่าม็อบนี้จะจุดติดหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ตนเองไม่หมิ่นประมาทการจัดม็อบ ถือเป็นสิทธิ์ของประชาชน ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ ขอเพียงอย่างเดียวคือทำให้เหมาะสม วันนี้ก็รับม็อบมาตลอดตั้งแต่ทำงาน รัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ยังทำงานไม่ครบ 100 วัน ก็มากันเยอะแล้ว ก็เสนอได้ ก็รับฟัง ขออย่างเดียวต้องพูดให้ตรงกับข้อเท็จจริง และเป็นความเห็นต่างได้ เพราะข้อเท็จจริงควรจะเห็นในมุมที่ต่างกัน มุมที่ตัวเองสนใจ พร้อมยกตัวอย่างว่า ปี๊บใบหนึ่ง จะเห็นว่าข้างใต้เป็นอย่างหนึ่ง ข้างบนก็เป็นแบบหนึ่ง แต่ละด้านก็ติดป้ายกันคนละแบบ มองได้หลายมุม ซึ่งคิดว่าก็มีสิทธิ์มองเพื่อให้เกิดความรอบคอบ และรอบด้านขึ้น แต่ไม่สามารถบอกได้ว่า ด้านที่เห็นด้านหนึ่งจะเป็นปี๊บทั้งใบ
นายภูมิธรรม ยังกล่าวถึงการตั้งคณะกรรมการด้านเทคนิค หรือ JTC ว่า ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้า ต้องรอการทำความเข้าใจกันทั้งหมด แต่คงพยายามทำให้เร็วที่สุด เมื่อถามว่า ส่วนที่หนึ่งในข้อเรียกร้องของนายสนธิ ขอให้ตั้งเวทีสาธารณะนั้น นายภูมิธรรม กล่าวว่า ต้องดูมวลรวม และให้คนที่รับผิดชอบไปดู จะไปหยิบของนายสนธิ ซึ่งบางเรื่องเราเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย ก็ยังไม่รู้ คิดว่าต้องเอาความเห็นทุกคน โดยนายสนธิเป็นแค่หนึ่งเสียงในหนึ่งกลุ่มคนที่รู้สึก ซึ่งคิดว่ายังมีคนเห็นต่างแบบนี้อีกเยอะ การบริหารประเทศไม่ควรโฟกัสแค่คนคนเดียว หรือส่วนเดียว
ด้าน นายรัศม์ ชาลีจันทร์ ผู้ช่วย รมว.ต่างประเทศ ตั้งข้อสังเกตถึงกรณีที่มีอดีตแกนนำมวลชน ออกมาคัดค้าน และเรียกร้องให้ยกเลิก MOU44 ในการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทย และกัมพูชา โดยได้ตั้งข้อสังเกตถึงการประท้วงดังกล่าวว่า หากวันนี้จะประท้วง MOU44 คุณไปอยู่ที่ไหนมาถึงไม่ประท้วงก่อนหน้า? โดยเฉพาะ 10 ปีที่ผ่านมาในสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ที่แต่งตั้งพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เป็นประธานคณะกรรมการเทคนิคร่วมฯ หรือ ประธานคณะเจรจา JTC? และหากไม่ท้วงก่อนหน้า ย่อมแสดงว่า ในอดีตเคยยอมรับ แต่มาทำตอนนี้ก็ต้องถามว่า หลักการ ความน่าเชื่อถือ หรือเจตนาบริสุทธิ์อยู่ที่ใด? หรือหากใครบอกว่าไม่มีพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศอยู่จริง มีแต่เพียงเส้นอ้างสิทธิของฝ่ายไทยเท่านั้น เหตุใดในยุครัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ในฐานะอดีตหัวหน้า คสช.ที่มีอำนาจมหาศาล มีรัฐธรรมนูญมาตรา 44 ในมือ สามารถสั่งได้ทุกอย่างจึงไม่รีบไปขุดก๊าซขึ้นมาสร้างประโยชน์ให้ประเทศชาติ? ซึ่งนั่นก็เพราะว่า มันทำไม่ได้จริงหากไม่มีการเจรจาตกลงกับอีกประเทศก่อนนั่นเอง
นายรัศม์ ตั้งข้อสังเกตอีกว่า หากการแบ่งผลประโยชน์ในไหล่ทวีป เพื่อนำก๊าซธรรมชาติใต้ทะเลมาใช้ สามารถสร้างความเจริญกินดีอยู่ดีให้ประชาชน ดังเช่นที่ไทยเคยทำกับมาเลเซีย การขัดขวางการเจรจากับกัมพูชาเพื่อนำก๊าซในทะเลมาใช้ได้นั้น ย่อมเท่ากับเป็นการขัดขวางการสร้างความเจริญ และทำลายโอกาสของประเทศชาติใช่หรือไม่? และในเมื่อในประกาศพระบรมราชโองการ 2516 ระบุไว้ชัดเจนว่า จะต้องเป็นไปตามที่จะได้ตกลงกัน ซึ่งย่อมหมายถึงจะต้องมีการเจรจา ดังนั้น ระหว่างผู้ที่ดำเนินการให้มีการเจรจา กับผู้ขัดขวางการเจรจา ใครกันแน่คือผู้ที่ไม่ทำตามเจตนารมณ์ของพระบรมราชโองการ? และใครกันแน่ทำลายชาติ ?
นายรัศม์ ยังย้ำว่า MOU44 ไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่วัน แต่เป็นผลสืบเนื่องจากการเจรจาอย่างต่อเนื่องกับฝ่ายกัมพูชา ตั้งแต่ปี 2513 หรือกว่า 50 ปี หรือครึ่งทศวรรษมาแล้ว แต่ที่ยืดเยื้อนานมากเพราะปัญหาความไม่สงบ และการเมืองภายในของทั้งสองประเทศ ซึ่งนับตั้งแต่การเจรจา จนมีการลงนามทำ MOU ฉบับนี้ในปี 2544 เป็นต้นมา ทุกรัฐบาล ก็ถือตามบันทึกความเข้าใจนี้มาโดยตลอด ไม่เคยมีรัฐบาลใดขอเจรจาเพื่อยกเลิกอย่างเป็นทางการ รวมถึงในสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ก็ดำเนินการตามนี้ พร้อมยังแต่งตั้งพลเอกประวิตร เป็นประธานคณะกรรมการเทคนิคร่วมฯ หรือ JTC ทำหน้าที่หัวหน้าการเจรจา ดังนั้นจึงยืนยันว่า การดำเนินการของรัฐบาลปัจจุบัน จึงไม่ได้แตกต่างไปจากทุกรัฐบาลในอดีตแต่อย่างใด โดยเห็นว่า แนวทางนี้ ที่ได้มีการศึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญโดยตรงมาแล้วอย่างละเอียดถี่ถ้วน เป็นแนวทางที่ดีที่สุดในการปกป้องและเสริมสร้างผลประโยชน์ของประเทศชาติ
นายรัศม์ ย้ำว่า การดำเนินการตาม MOU 44 ถือเป็นการดำเนินการตามเจตนารมณ์ของประกาศพระบรมราชโองการการประกาศเขตไหล่ทวีปของไทยในปี 2516 ทุกประการ เพราะในพระบรมราชโองการมีข้อความระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “…เส้นแบ่งเขตไหล่ทวีปนั้นจะเป็นไปตามที่จะได้ตกลงกัน...” ดังนั้นการเจรจาเพื่อนำไปสู่ความตกลงกัน จึงเป็นไปตามที่พระบรมราชโองการระบุไว้
ส่วนผลของการเจรจาตาม MOU 44 นั้น นายรัศม์ ย้ำว่า จะต้องนำเข้าสู่การพิจารณาให้ความเห็นชอบโดยรัฐสภาก่อน จึงจะมีผลตามกฎหมายได้ โดยที่รัฐบาลหรือบุคคลใดก็ตาม ไม่สามารถไปเจรจาตกลงเองตามลำพังได้ เพราะท้ายที่สุด ประชาชนไทยต้องเป็นผู้ให้ความเห็นชอบผ่านตัวแทน และกลไกของรัฐสภาอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ตามระบอบประชาธิปไตยฯ
“เรื่องการแบ่งผลประโยชน์ในพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกับประเทศอื่นนั้น ไทยเราก็ได้เจรจาเช่นนี้สำเร็จมาแล้วกับมาเลเซีย รวมทั้งเจรจาเรื่องเขตทางทะเลกับเวียดนาม เรื่องเหล่านี้ จึงเคยมีการดำเนินการมาแล้วทั้งสิ้น และสามารถสร้างประโยชน์ให้ประเทศชาติในการนำพลังงานก๊าซธรรมชาติมาใช้ ดังในยุคโชติช่วงชัชวาลที่ไทยมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงมาก” นายรัศม์ กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี