"ศิริกัญญา"จี้ถาม"ปฏิรูประบบภาษี" บี้เปิดปากแจงให้ชัด VAT 15% ใครรับภาระ ทำคนธรรมดาต้องจ่ายเพิ่ม ด้าน"รมช.คลัง"แตะเบรก แค่เป็นแนวทางศึกษา ไร้ตั้งธง ไม่มีเป้า แค่เดินหน้าหวังได้ผลลัพธ์ดีสุด ทำเอา"ศิริกัญญา"อึ้ง ฟังแล้วเหนื่อยจะไปต่ออย่างไร เจอโต้คืนเอาใจยาก ย้ำเก็บภาษีเพิ่มเตรียมตัวสู่ OECD รับต้องยึดตามเทรนด์โลก ทุกประเทศวางเพดานเก็บขั้นต่ำ
เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณากระทู้ถามสดด้วยวาจาของ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) ถาม น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แต่ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง มาตอบแทน
โดย น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า คำถามแรกคือ กรณีที่ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รวมถึงปลัดกระทรวงการคลัง ออกมาพูดว่ามีแนวคิดที่จะศึกษาว่าจะมีการปฏิรูปโครงสร้างภาษีและการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ซึ่งตนเห็นด้วยว่าต้องมีการการปฏิรูปโครงสร้างภาษีและการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ทั้งนี้ นายพิชัยได้เสนอภาษี 3 ตัว คือ 2 ลด 1 เพิ่ม ได้แก่การศึกษาว่าจะการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลงจาก 20% เหลือ 15% และมีการศึกษาว่าจะลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่จากเดิมที่จัดเก็บเป็นขั้นบันใดมาเป็นเลทเดียวกันทั้งประเทศคือ 15% รวมถึงมีการศึกษาว่าจะเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มเช่นเดียวกันคือ 15% จึงขอทราบวัตถุประสงค์และเป้าหมายของการศึกษาการปฏิรูปโครงสร้างภาษีว่าต้องการเก็บรายได้เข้ารัฐให้มากขึ้นหรือไม่ ตอนให้หน่วยงานไปศึกษาได้ให้โจทย์ไปหรือไม่ว่าต้องการจัดเก็บรายได้เข้ารัฐเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ อัตราที่ควรจะเป็นคือ 15% ของทั้งสามภาษีใช่หรือไม่ รวมถึงได้ตั้งโจทย์ไว้หรือไม่ว่าใครควรจะต้องรับภาระภาษีในการปฏิรูป หรือใครควรจะได้รับการลดภาษีลง
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ หากจะลดภาษีนิติบุคคลลดเหลือ 15% จริงๆ นั้น มีการคำนวณไว้หรือไม่ว่าทุก 1% ที่ลดลงนั้น จะทำให้รายได้ของรัฐบาลลดลงเท่าไหร่ ซึ่งหากลองคำนวณคร่าวๆ ก็จะลดลงประมาณ 30% หรือ 1.9 แสนล้านบาท และในปี 2566 ที่มีการลดภาษีลงหากดูเป็นตัวเงินจะพบว่าภาษีเงินได้นิติบุคคลดูเหมือนจะเพิ่มขึ้น แต่หากเทียบกับจีดีพีจะพบว่าลดลงด้วยซ้ำ หรือหากจะอ้างว่าอยากลดภาษีเพื่อให้สอดคล้องกับภาษีเพิ่มเติมจากบริษัทที่เข้าตามมาตรการต้องเสียภาษีขั้นต่ำ (Global Minimum Tax หรือ GMT) ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ที่ออกกฎว่าประเทศที่เข้าร่วมต้องเก็บภาษีในอัตรา 15% แต่คิดว่ากระทรวงการคลังก็เตรียมแผนสำรองไว้แล้ว และการที่จะเก็บภาษีในอัตรา 15% สำหรับคนที่เป็นมนุษย์เงินเดือนทั่วไปนั้นที่มีรายได้ไม่ถึงสามแสนบาทต่อเดือนจำเป็นจ่ายภาษีที่มากขึ้น การทำงาน 12 เดือน เท่ากับเขาต้องเสียเงินเดือน 1 เดือนไปเป็นภาษี ซึ่งกลับหัวกลับหางกับความตั้งใจของบุคคลธรรมดาที่ต้องสร้างความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี
"จึงงงๆ ว่าหากท่านอยากจัดเก็บรายได้ให้มากขึ้นและกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด ทำไมจึงเลือกที่จะลดภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลง ทำให้คนธรรมดาต้องจ่ายภาษีเพิ่ม และกลับไปเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจริงๆ ต้องปรับขึ้นอยู่แล้ว แต่หากท่านไม่มีแผนที่จะเสียรายได้ขนาดนี้จากการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล ก็ไม่จำเป็นต้องขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเช่นนี้" น.ส.ศิริกัญญา กล่าว
ด้าน นายจุลพันธ์ ลุกขึ้นชี้แจงว่า กระทรวงการคลังศึกษาการปฏิรูปภาษีอย่างจริงจัง รวมถึงแนวความคิดในการเดินหน้า ภาษีชดเชยให้กับผู้ยากไร้ เรียกว่าสวัสดิการถ้วนหน้าผ่านทางโครงสร้างภาษี เรามีปัญหาในเรื่องโครงสร้างภาษีมาอย่างยาวนาน การจัดเก็บรายได้ของรัฐเทียบกับ GDP 14% เศษ ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานของโลกค่อนข้างมาก ที่เฉลี่ยจะตกอยู่ที่ 18% สิ่งหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้ถึงตัวเลขที่เราต้องการ มาจากการลดหย่อนหลายเรื่อง รวมถึง VAT ภาษีเงินได้ประเภทต่างๆ มันผูกพันกันจนเป็นใยเดียวกัน จึงต้องมาศึกษาอย่างจริงจัง เพื่อให้รัฐจัดเก็บรายได้มากขึ้นและเกิดเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่จะมีความมั่นคงแข็งแรง ซึ่งต้องกระทบกับประชาชนให้ได้น้อยที่สุด
"ตัวเลขไม่มีการตั้งเป้า ว่าเป็นเท่าไหร่ แต่แนวความคิดที่มีการพูดคุยกัน ตัวเลข 15% ก็เป็นไปได้ครับ ว่ามีการพูดคุยกันในระดับนานาชาติ เช่น OECD มีการพูดถึงภาษีนิติบุคคล 15% เป็นขั้นต่ำ โดยหลักคิดทุกประเทศไม่ควรมีการแข่งขันกันในเรื่องลดอัตราภาษีอีกต่อไปแล้ว ในอดีตแข่งกันลดราคา ลดหย่อน สุดท้ายไม่มีรายได้เข้ารัฐ พอที่จะนำไปพัฒนาประเทศพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน วันนี้จึงมีเกณฑ์ขึ้นมาว่าทุกประเทศมีการเก็บภาษีขั้นต่ำ 15% สุดท้ายคงเป็นทิศทางของโลกที่จะต้องไหลเข้าสู่ตัวเลขนี้โดยอัตโนมัติ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันได้เราก็คิดว่า 15% เป็นหนึ่งในตัวเลือกเท่านั้นเอง แต่ไม่ได้หมายความว่าสุดท้ายจะต้องดึงตัวเลขทั้งหมดเข้ามาอยู่ที่ 15% ทั้งหมดทั้งมวลอยู่ในขั้นตอนของการศึกษา ท่านก็รู้ว่ากระบวนการเรื่องภาษีไม่สามารถเปลี่ยนแบบพลิกฟ้าพลิกดินได้ มันมีเรื่องของระยะเวลา" นายจุลพันธ์ กล่าว
นายจุลพันธ์ กล่าวอีกว่า ขอแนะนำว่า ให้ถอยมาหนึ่งก้าว แล้วจะมองเห็นภาพใหญ่ว่ากลไกในการเดินหน้าในเรื่องของการปรับโครงสร้างภาษีมันไม่ได้มีเพียงเรื่องเดียว ใจอยากให้ลดความเหลื่อมล้ำ แต่กลไกบังคับใช้ไม่ได้เกิดประสิทธิภาพเพียงพอ
นายจุลพันธ์ ยังชี้แจงเรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคลว่า ยังไม่ได้มีข้อตกลงหรือข้อสั่งการและความชัดเจนใดๆ เป็นเพียงแค่แนวความคิด ยังไม่ได้มีข้อตัดสินใจ เพราะฉะนั้น หากใช้คำว่าเลือกที่จะทำ ตนตอบว่ายังไม่ได้ดำเนินการ แต่ข้อเสนอนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศด้วยและในประเทศให้มากขึ้น
นายจุลพันธ์ กล่าวอีกว่า เรากำลังจะเข้าร่วม OECD ถือเป็นโอกาสของประเทศไทย พร้อมย้ำว่า ประเทศไทยไม่ได้เก็บภาษีแบบแนวระนาบ แต่เป็นภาษีแบบคนรวยจ่ายมากกว่าคนจน วันนี้โลกมันต่อกันทั้งหมดแล้ว ไม่มีรอยตะเข็บ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นในการกำหนดอัตราภาษี อย่างไรก็ตาม จะต้องคำนึงถึงความสามารถในการแข่งขันผลกระทบกับประเทศที่มีความเกี่ยวเนื่อง ทั้งเรื่องการแข่งขันทางการค้า คู่ค้า เพื่อจากกำหนดให้เป็นอัตราที่มีความเหมาะสม
"ไม่มีโจทย์ ไม่มีเป้า ไม่มีธง เราก็จะเดินหน้าไป และหวังว่าสุดท้ายเราจะได้โจทย์ที่ดีที่สุด และสุดท้ายกลไกเหล่านี้ ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ก็มีโอกาสกลับมาถก มาหารือกันในสภาผู้แทนราษฎรและรัฐสภาอีกอยู่ดี ท่านคงได้มีโอกาสพูดคุยกับผมอีกครั้งหนึ่ง" นายจุลพันธ์ กล่าว
ทำให้ น.ส.ศิริกัญญา กล่าวด้วยท่าทีตกใจว่า จากการฟังรัฐมนตรีชี้แจงแล้วก็รู้สึกเหนื่อยเพราะไม่มีเป้าหมาย เราจะไปอย่างไรต่อ และไม่รู้ว่าปฏิรูปเสร็จแล้วจะมีรายได้เพิ่มขึ้นตามที่ตั้งเป้าหมายไว้หรือไม่ รวมถึงท่านยังคิดที่จะดึงดูดนักลงทุนด้วยภาษีทั้งที่หากเข้าร่วมกับภาคีนี้ก็ต้องเก็บภาษีที่ 15% เหมือนกันหมด แทนที่จะไปเร่งสร้างเรื่องความสามารถในการแข่งขันด้านอื่นๆ หรือเพิ่มทักษะให้คนไทยด้วยกันเอง แต่ก็ไม่เป็นอะไรเพราะท่านก็ไม่มีโจทย์ ไม่มีธงเท่ากับสิ่งที่พูดไปก็อาจจะไม่เกิดขึ้น และการศึกษานี้จะออกสู่สาธารณะเมื่อไหร่ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการใช้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศว่าสมควรที่จะนำออกมาใช้หรือไม่ และทุกครั้งที่มีการพูดถึงเรื่องนี้มักจะพูดในรัฐบาลของพรรค เพื่อไทยที่เป็นผู้นำ จึงอยากถามว่ารัฐบาลและกระทรวงการคลังมีแผนที่จะนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมาใช้จริงหรือไม่ และนำมาจากส่วนไหนของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ จะใช้เท่าไหร่
นายจุลพันธ์ จึงกล่าวติดตลกว่า "เอาใจท่านยากพอสมควร พอตอบว่ามีธง มีเป้าหมาย แล้วท่านก็จะมาอีกวิธีหนึ่ง ก็เลยบอกว่าไม่มีธง เพราะเปิดการศึกษาให้เป็นอิสระ"
นายจุลพันธ์ กล่าวด้วยว่า ทุกอย่างหากดำเนินการต้องเป็นไปตามกรอบของกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกฉบับจะต้องมีการศึกษาให้ละเอียดรอบคอบ ทั้งนี้ ตนก็ไม่กล้าที่จะการันตี ประเด็นที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นคนพูด เพราะตนยังไม่เคยได้ยินจริงๆ ไม่แน่ใจว่าจับประเด็นมาถูกต้องหรือไม่ด้วยซ้ำ หวังว่าถูก แต่สุดท้ายไม่เป็นไร มีประเด็นจั่วหัวมาแล้วอย่างนี้ คงมีเวลาในสภากันอีกครั้งหนึ่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดการถามกระทู้ น.ส.ศิริกัญญา มีสีหน้าตั้งใจฟังนายจุลพันธ์อย่างเคร่งเครียด และมีการทวนคำพูดนายจุลพันธ์ไปด้วย
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี