‘จตุพร’เผยฝ่ายประชาชนแทบทุกวงการนัดหารือปัญหา‘ชั้น 14’ จ่อขยับไปเยี่ยม‘ป.ป.ช.’ทวงถามทำหน้าที่ตรวจสอบ‘ป่วยทิพย์’ จี้รัฐบาลเลิก MOU 44 หวั่นก่อปัญหาระหว่างประเทศ ย้ำต้องเจรจาเขตแดนก่อนหารือผลประโยชน์ เตือนสิ่งที่ทำไม่ต่างจากเรียกทหารออกมา‘ยึดอำนาจ’
13 ธันวาคม 2567 นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊คไลฟ์เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.67 ว่า ฝ่ายประชาชนแทบทุกวงการนัดรับหารือปัญหาบ้านเมืองเมื่อวันที่ 11 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยแต่ละฝ่ายไปในฐานะบุคคลไม่เกี่ยวกับตำแหน่งแห่งหนในอดีต ซึ่งเป็นเรื่องของอดีตไปแล้ว ส่วนปัจจุบันและอนาคตล้วนห่วงใยสถานการณ์บ้านเมือง ฝ่ายประชาชนหลายภาคส่วนมาคุยกัน เพราะห่วงใยบ้านเมือง โดยพูดถึงกรณีป่วยทิพย์ชั้น 14 เป็นประเด็นหลัก ผลสอบจะนำเข้าที่ประชุมใหญ่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในวันพุธสัปดาห์หน้าหรือไม่ และในเรื่องนี้สถานการณ์ด้าน ป.ป.ช.จะเป็นอย่างไรกัน
นายจตุพร กล่าวว่า ดังนั้นในที่ประชุมเห็นตรงกันว่าจะไปให้กำลัง ป.ป.ช. กันสักหน่อย เพราะทำหน้าที่จนประชาชนเกิดความไม่สบายใจ และไม่ได้ไปยื่นหนังสือใดๆอีก แค่ไปเยี่ยมถามข่าวคราวการไต่สวนป่วยทิพย์ชั้น 14 ซึ่งมีไอ้โม่ง ป.ป.ช. บางคนพยายามปกปิด แทรกแซงให้ยุติการตรวจสอบ
“ภาพบางส่วนที่ถูกเผยแพร่นั้น แสดงถึงบุคคลจากหลายวงการมารวมกันเป็นกลุ่มก้อนชุดใหญ่ คงเขย่าขวัญรัฐบาลพรรคเพื่อไทยได้พอสมควร เพราะหลายเรื่องรัฐบาลไม่ใส่ใจความเห็นแตกต่าง โดยเฉพาะกรณี mou 44 ที่เป็นประตูเปิดไปสู่การเจรจากับกัมพูชาทั้งการปักปันเขตแดนและผลประโยชน์พลังงานใต้ทะเลในพื้นที่อ้างสิทธิกัน กรณี mou 44 จุดเริ่มต้นโดยตรงมาจากทักษิณ ชินวัตร เมื่อครั้งเป็นนายกฯ ช่วงปี 2544 แล้วมาพูดในการแสดงวิสัยทัศน์ไทยแลนด์วิชั่น โดยเสนอให้แบ่งผลประโยชน์พลังงานกัน 50:50 แล้วรัฐบาลพรรคเพื่อไทยนำไปเป็นนโยบายรัฐบาล และนายกฯ อุ๊งอิ๊งค์-แพทองธาร ชินวัตร ตอกย้ำเจตนาว่า ถ้าตกลงปักปันเขตแดนไม่ได้ก็แบ่งผลประโยชน์กัน” นายจตุพร กล่าว
นายจตุพร กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2544 มานั้น รัฐบาลทุกชุดไม่ได้ดำเนินการอะไรกับ mou 44 เลย เพราะเป็นเรื่องสุ่มเสี่ยงกับเขตแดนของประเทศ สิ่งสำคัญยังไม่มีรัฐบาลชุดใดพูดถึงผลประโยชน์อื่นใดในสัญญายกสัมปทานให้บริษัทเชฟรอน ส่วนไทยได้เพียงค่าภาคหลวงหรือเศษของน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเท่านั้น mou 44 รัฐบาลต้องคุยกับกัมพูชาให้ยกเลิกกันไป เพราะคนไทยไม่สบายใจและในระยะยาวคนกัมพูชาก็ไม่สบายใจเพราะต้องยืนในหลักการชาตินิยมเช่นเดียวกัน ดังนั้นปัญหาอยู่ที่ว่า ถ้ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยไม่ออกอาการหิวจนเกินเหตุแล้ว ก็คงไม่เกิดปัญหาขึ้น
นายจตุพร ย้ำว่า ปัญหาง่ายๆ ที่รัฐบาลไม่อธิบายให้ประชาชนรับรู้เลย คือ ทำไมไม่เจรจาปักปันเขตแดนให้จบเรียบร้อยก่อนจึงมาแบ่งผลประโยชน์ในพื้นที่ที่ยังอ้างสิทธิกันอยู่ อีกอย่างในเรื่องผลประโยชน์ที่ไทยจะได้นั้น ไทยต้องรื้อสัญญาหรือยกเลิกสัมปทานเชไฟรอนหรือไม่
นายจตุพร กล่าวว่า แม้เรื่องดินแดนขณะนี้ยังไม่เกิดเหตุ แต่ไม่ได้หมายความว่าอนาคตจะไม่เกิดขึ้น เพราะแค่เรื่องคำพูดหาเสียงจากประชาชนยังรักษาไว้ไม่ได้ แล้วจะมาการันตีอะไรกับเรื่องดินแดน คุณจะเอาอะไรมารับผิดชอบคำพูดไม่เสียดินแดน เพราะเมื่อถึงเวลาก็ไม่รู้อยู่ไหนกันแล้ว ดังนั้น เราจะสุ่มเสี่ยงเรื่องการเสียดินแดนกันทำไม
นายจตุพร กล่าวว่า เมื่อประชาชนทักท้วงรัฐบาลพรรคเพื่อไทยกลับไม่ฟัง เอาแต่บอกย้ำอธิบายถึงเกาะกูดเป็นของไทย ซึ่งใครก็รู้ และไม่แตกต่างจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อธิบายกรณีปราสาทพระวิหารเป็นของไทย แต่เมื่อเกิดเรื่องฟ้องศาลโลก แล้วก็แพ้คดีต้องกลายเป็นของกัมพูชาไป ซึ่งเป็นบทเรียนได้อย่างดียิ่ง ถ้าไทยไปตกลงผลประโยชน์ 50:50 แล้วเรื่องดินแดนจะต้องถูกแบ่งครึ่งกันหรือไม่ โดยสิ่งนี้อาจกลายเป็นปัญหากฎหมายปิดปากฝ่ายไทย ดังนั้น ที่ภาคประชาชนจึงไม่ไว้วางใจรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่แสดงอาการอยากแบ่งผลประโยชน์ โดยไม่ใส่ใจปัญหาดินแดนเลย
“สิ่งนี้เป็นปฐมบทของผลประโยชน์ ซึ่งเกิดในรัฐบาลไทยรักไทย (เพื่อไทย) แล้วมาเดินหน้าเจรจาสมัยรัฐบาลเพื่อไทยในขณะนี้ ซึ่งไม่แตกต่างจากนโยบายจำนำข้าวของพรรคเพื่อไทยที่มากด้วยการทุจริตคอร์รัปชัน จนรัฐมนตรีถูกคดีและติดคุก แต่มาปล่อยตัวพักโทษผู้เกี่ยวข้องออกจากคุกในสมัยรัฐบาลเพื่อไทยเช่นกัน” นายจตุพร กล่าว
นายจตุพร กล่าวว่า กรณีนายกฯ อุ๊งอิ๊งค์ จะลดราคาน้ำมันในปี 2568 นั้น นายจตุพร กล่าวว่า ช่วงหาเสียงได้ประกาศจะลดลงทันที ดังนั้น ต้องลดมาตั้งแต่รัฐบาลชุดเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ เมื่อ ส.ค.ปี 2566 แล้ว ส่วนขณะนี้บอกจะลดลงในปี 2568 ดังนั้น คำพูดจึงไม่มีหลักประกันจะเป็นความจริงเลย
นายจตุพร กล่าวว่า ถ้าวันนี้ยังประมาทอีก โดยคิดว่าตัวเองแน่ และเชื่อจะไม่มีรัฐประหารอีกแล้ว จะเอาอะไรมารับผิดชอบ ดังนั้นอย่าไปเชื่อน้ำยาในคำอธิบายของรัฐบาลเพื่อไทย และอยู่ดีๆ นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ ต้นตำรับนิรโทษกรรมสุดซอยออกมาเสนอแก้กฎหมายว่าด้วยระเบียบกลาโหม จึงเป็นศิลปะเล่นเกมเสี่ยงทางการเมืองอย่างหนึ่ง แล้วคิดว่าทหารเขาโง่เหรอ
“ฝ่ายประชาชนทุกวงการไม่ต้องการให้เกิดรัฐประหาร แต่สิ่งที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยทำกันอยู่นั้น ทั้งกรณี mou 44 กับกัมพูชา จะเป็นปัญหาระยะยาว อีกอย่างโครงการต่างๆ ล้วนเป็นปัญหาของบ้านเมืองทั้งสิ้น สิ่งนี้ไม่แตกต่างจากเรียกทหารออกมายึดอำนาจ” นายจตุพร กล่าว
นายจตุพร กล่าวว่า สิ่งที่น่าจะทำเพื่อให้เกิดความสบายใจทั้งคนไทยและกัมพูชาคือ ต้องถอด mou 44 ออกไป เมื่อสถานการณ์คลี่คลายก็มาหารือกันใหม่ได้ ดังนั้น การมัดมือเอาผลประโยชน์จากการอ้างมูลค่าพลังงานถึง 10 ล้านล้านกันนั้น แล้วไทยได้ประโยชน์สักบาทหรือไม่ ก็ไม่ได้อะไร แต่กลับสุ่มเสี่ยงกับการเสียดินแดนอีกด้วย ถ้ารัฐบาลจะหาเรื่องก็ทำกันไป
ทั้งนี้ นายกฯ อุ๊งอิ๊งค์ ระบุถึงโครงการใหม่กรณีบ้านเพื่อไทย โดยให้ผ่อนเช่าเดือนละ 4,000 ภายใน 30 ปี แต่ถือสิทธิอยู่นานถึง 99 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาให้ต่างชาติมาอยู่ในไทย 99 ปี ดังนั้น คุณค่าคนไทยผู้เป็นเจ้าของแผ่นดินมีสิทธิอยู่อาศัยเท่ากับคนต่างชาติเลย จึงเป็นหลักคิดแผลงๆ และคิดมาได้อย่างไรกัน
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี