‘ปานเทพ’ชี้'รัฐบาล'ไม่พร้อมสู้ด้านข้อมูลเรื่อง‘MOU44’ มอง23ปีผ่านไปปชช.ตื่นรู้มากขึ้น
เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2567 นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต ให้สัมภาษณ์ผ่านระบบซูมกับรายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ในประเด็นที่บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐไทยกับรัฐบาลกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ที่จัดทำขึ้นเมื่อปี 2544 หรือ MOU44 ซึ่งดูเหมือนคนในรัฐบาลเลือกจะตอบโต้ด้วยอารมณ์ เมื่อเทียบกับฝ่ายเรียกร้องให้ยกเลิก MOU44 ที่สู้ด้วยการตีแผ่ข้อมูลต่างๆ ว่า เรื่องนี้บ่งบอกความไม่พร้อมของรัฐบาลในการต่อสู้ทางข้อมูลข่าวสาร
ซึ่งสังเกตง่ายๆ ได้ว่าฝ่ายที่ต้องการให้ยกเลิก MOU44 เรียกร้องให้เปิดเวทีสาธารณะ ให้รัฐบาลกับฝ่ายที่เห็นต่างนำข้อมูลมาพูดกัน แล้วการตื่นรู้ของประชาชนจะทำให้เกิดฉันทานุมัติว่าประเทศไทยควรจะเดินไปอย่างไร ไม่ใช่มุบมิบทำกัน ประชาชนมีสิทธิ์จะรู้เรื่องนี้เพราะเดิมพันด้วยอนาคตของลูกหลานของประเทศ ทรัพยากรในอ่าวไทยซึ่งไม่ใช่เพียงพลังงาน ยังมีเรื่องของประมงอยู่ด้วย เป็นของคนไทยอย่างเดียวหรือต้องไปแบ่งหรือมีข้อพิพาทกับเพื่อนบ้าน
นอกจากนั้น ยังมีเรื่องแหล่งพลังงาน เพราะที่ทะเลาะกันแทบตาย ไม่ว่ากัมพูชาจะแบ่งเอาไปอย่างไม่ถูกต้อง หรือแม้แต่กลับมาเป็นของไทย แต่ก็ให้สัมปทานราคาถูกกับบรรดาบริษัทพลังงานข้ามชาติไปหมดแล้ว ซึ่งไม่เคยมีใครพูดเรื่องการดึงสัมปทานกลับมาก่อน ให้ประโยชน์กับคนไทยก่อนนายทุน ส่วนเรื่องนี้จะนำไปสู่การชุมนุมบนท้องถนนหรือไม่ ปัจจุบันเป็นการต่อสู้กันทางความคิด ประชาชนกำลังหาหนทางต่อสู้ ทั้งในเรื่องความชอบธรรม การตื่นรู้ของประชาชน ดังนั้นก็ต้องใช้เวลา เพราะหากนับจาก 2 เดือนก่อนจนถึงปัจจุบัน ตนมองว่าคนตื่นรู้มากขึ้น
“เรื่องที่มันสลับซับซ้อน ผมว่าที่มันผ่านมาได้ 23 ปี เพราะประชาชนมีความรู้สึกว่า 1.ไกลตัว 2.ฟังไม่รู้เรื่อง มีเรื่องกฎหมายทะเลสากล แต่ผมพบว่าประสบความสำเร็จส่วนหนึ่ง ความยากเรื่องนี้มันมาจากโชว์ด้วยกราฟิกแผนที่ เท่านั้นเลย ช่วงหลังคนเริ่มเอากราฟิกที่ผมนำเสนอในเฟซบุ๊กไปเผยแพร่ตามสื่อเยอะ ผมยินดีมากเพราะการอธิบายเรื่องนี้ด้วยตัวอักษรแล้วงง มันต้องอธิบายประกอบไปพร้อมแผนที่ แล้วเราจะเห็นความแตกต่างเกิดขึ้น แล้ววิวัฒนาการของประชาชนจะค่อยๆ ตัดสินใจเอง” นายปานเทพ กล่าว
นายปานเทพ กล่าวต่อไปว่า ตนเชื่อเรื่องในยุคนี้การชุมนุมเป็นเรื่องรอง แต่การรับรู้ของประชาชนเป็นเรื่องใหญ่ ส่วนจุดตายของรัฐบาลจะมีอยู่หลายด่าน ด่านแรกคือการคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) ซึ่งนายกฯ เคยบอกว่าจะตั้งให้เร็วที่สุด แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ตั้ง โดยหากสังเกตจะพบว่านายกฯ เคยพูดถึงการติดขัดทางข้อกฎหมายและกำลังดูความเสี่ยงในมิติต่างๆ
นั่นแสดงว่าข้อมูลของฝ่ายที่ต้องการให้ยกเลิก MOU44 มีผลต่อคนที่จะไปร่วมใน JTC เพราะคนอาจไม่อยากไปทำภารกิจที่ไม่รู้ว่าจะเสี่ยงผิดกฎหมายที่มีโทษถึงขั้นประหารชีวิตหรือไม่ ไม่เช่นนั้นคงตั้งไปนานแล้ว เป็นการวัดพลังความคิดและการรู้เท่าทันของประชาชน อีกทั้งภาคประชาชนก็ยื่นเรื่องตามช่องต่างๆ ที่มีในข้อกฎหมาย ใครผิดก็ต้องรับผิดชอบ ประชาชนไม่มีอำนาจเท่าฝ่ายการเมืองอยู่แล้ว มีเพียงอำนาจตามข้อกฎหมายและการให้ความรู้ ก็ลองดูว่าประชาชนจะตื่นรู้หรือไม่หลังจากนี้
“ด่านแรกทำเรื่องนี้ก่อน ด่านที่สองสิ่งที่นายกฯ ไม่ทำ ครม. ไม่ทำ เราก็ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป” นายปานเทพ กล่าว
คลิกชมคลิปเต็มที่นี่
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี