วันที่ 24 ธันวาคม 2567 รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก "เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง" ระบุว่า ครม. พรรคร่วมรัฐบาล ต้องยับยั้ง ทักษิณเพื่อไทย ลุยไฟตั้งกิตติรัตน์ประธานแบงค์ชาติ
โดย รศ.ดร. เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
ต้นมกราคมนี้ คณะรัฐมนตรีจะนำรายชื่อนายกิตติรัตน์ ณ.ระนอง เข้าพิจารณาเพื่อมีมติอนุมัติหรือไม่อนุมัติให้นำรายชื่อขึ้นทูลเกล้า เพื่อลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้งเป็นประธานบอร์ดแบงค์ชาติ
ในฐานะนักวิชาการที่ติดตามในเรื่องนี้มาแต่ต้น ขอแสดงความห่วงใยมายังพรรคร่วมรัฐบาล ที่ต้องรับผิดชอบในมติดังกล่าวดังต่อไปนี้
ด้านคุณสมบัติ ตามพระราชบัญญัติของธนาคารแห่งประเทศไทย
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง แม้จะได้ลาออกจากสมาชิกพรรคเพื่อไทย ออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์แล้ว แต่ทุกคนก็รู้ได้ว่านายกิตติรัตน์มีความสัมพันธ์ทางการเมืองอย่างแนบแน่นกับพรรคเพื่อไทย และที่จำต้องออกจากตำแหน่งประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีไปพร้อมกับนายเศรษฐา ทวีสิน ก็เพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นายกฯต้องพ้นจากตำแหน่ง นายกิตติรัตน์จึงต้องพ้นจากการดำรงตำแหน่งทางการเมือง และนับถึงปัจจุบันก็ยังไม่ครบหนึ่งปีตามกฏหมายกำหนด
ตำแหน่งประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เป็นการดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างแน่นอน เพราะเข้ารับตำแหน่งตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี และพ้นจากตำแหน่งไปตามวาระของนายกรัฐมนตรี อีกทั้งยังมีอำนาจตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีให้เรียกข้าราชการและข้อมูลทางราชการได้ ได้รับค่าตอบแทนเบี้ยประชุมและมีอิทธิพลต่อนโยบายสั่งการของนายกรัฐมนตรี
การตีความว่าตำแหน่งใดจะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะต้องพิจารณาจากเจตนารมย์ของพระราชบัญญัติแต่ละฉบับที่ระบุ จะใช้การตีความโดยทั่วไปหรืออ้างการตีความของพระราชบัญญัติอื่นไม่ได้ ดังนั้นกรณีนี้จะต้องพิจารณาจากเจตนารมย์ของพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งไม่ต้องการให้พรรคการเมืองและนักการเมืองเข้าครอบงำธนาคารแห่งประเทศไทยที่ควรเป็นอิสระในการกำหนดนโยบายและดำเนินมาตรการทางการเงิน ตามมาตรฐานสากลในอารยะประเทศ เพราะมิฉะนั้นจะเกิดผลเสียแก่ประเทศอย่างมากและยากที่จะเยียวยา
ด้านผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยประเทศไทย
กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคมได้เคยระบุไว้ในแถลงการณ์มาแล้วว่าตำแหน่งประธานและกรรมการธนาคารแห่งชาติ (บอร์ดแบงก์ชาติ) เป็นตำแหน่งที่มีอำนาจและอิทธิพลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ เพราะมีความเชื่อมโยงกับการแต่งตั้งผู้กำหนดนโยบายทางการเงิน นโยบายกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ และมีบทบาททางตรงในการบริหารเงินสำรองระหว่างประเทศ
แม้ว่าประธานและคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยจะไม่ได้กำหนดนโยบายดอกเบี้ยโดยตรง ไม่ได้มีหน้าที่กำกับการแทรกแซงค่าเงินบาทโดยตรง แต่ก็อาจรู้ล่วงหน้าว่าแบงก์ชาติจะปรับดอกเบี้ยขึ้นหรือลง หรือจะเข้าแทรกแซงค่าเงินบาทเมื่อใด เพราะอาจส่งคนของตนเข้าไปเป็นคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายการเงิน
ข้อมูลล่วงหน้าเหล่านี้สามารถนำไปใช้เก็งกำไรในตลาดการเงินหรือการลงทุนได้ เช่นทำการซื้อหรือขายหุ้นล่วงหน้า (insider trading) หรือในกรณีการแทรกแซงค่าเงินบาทนั้นหากรู้ก่อนก็สามารถหาประโยชน์ได้มหาศาล
ตัวอย่างในประเทศไทยเกิดขึ้นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 2540 ที่มีข้อกังขาว่านักการเมืองในระบอบทักษิณและกลุ่มพวกพ้องได้ใช้ข้อมูลที่รู้ล่วงหน้าเกี่ยวกับการลดค่าเงินบาท เปลี่ยนเงินบาทของตนเป็นดอลลาร์ล่วงหน้า สร้างกำไรให้ตัวเอง ขณะที่เศรษฐกิจทั้งประเทศเผชิญความเสียหายรุนแรง ประชาชนต้องแบกรับภาระหนักจากการล่มสลายของระบบการเงิน
หากนโยบายการเงินถูกแทรกแซงให้สนองนโยบายทางการเมืองเป็นหลัก ก็จะเกิดผลเสียตามมามากมาย ตัวอย่างเช่น การลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น แม้จะช่วยเพิ่มการจับจ่ายใช้สอยในช่วงแรก แต่ในระยะยาวกลับสร้างปัญหาใหม่ เช่น หนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือการเพิ่มอัตราเงินเฟ้อจนค่าครองชีพสูงขึ้น
ตัวอย่างในกรณีของประเทศอาร์เจนตินา หลายครั้งที่รัฐบาลกดดันให้ธนาคารกลางลดดอกเบี้ยและปล่อยให้เงินเฟ้อพุ่งสูง ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว
ในส่วนการแทรกแซงค่าเงินบาทนั้น นักการเมืองมักจะชอบสร้างภาพผลงานที่เกินจริง หรือปกปิดผลกระทบเชิงลบจากการทำนโยบาย เพื่อให้ได้การยอมรับและเสียงสนับสนุนจากประชาชนเช่น อ้างว่าได้ทำการสั่งแบงก์ชาติแทรกแซงเงินบาทเพื่อดันเป้าส่งออกไทยโต 15%
ประวัติในอดีตของผู้ที่ได้รับการคัดเลือกในครั้งนี้ให้เป็นประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย เขาเคยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เคยพูดเท็จเพื่อหวังผลทางการเมืองมาแล้ว และอ้างว่าเป็นการโกหกด้วยเจตนาดี หรือ"โกหกสีขาว" ซึ่งส่งผลเสียต่อความน่าเชื่อถือไม่เพียงของรัฐบาลแต่กระทบถึงความน่าเชื่อถือของธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย
ถ้ากลุ่มการเมืองมีอำนาจเหนือธนาคารแห่งประเทศไทย อาจสั่งหรือกดดันให้แบงก์ชาติรับซื้อพันธบัตรรัฐบาลในตลาดแรกเพื่อให้รัฐบาลกู้เงินได้ง่ายขึ้น (monetary financing) เป็นการกระทำที่ผิดหลักสากลของวินัยการเงินการคลัง เสมือนการพิมพ์แบงค์เพิ่มปริมาณเงินตราในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือค่าเงิน และวิกฤติเงินเฟ้อ (กรณี Zimbabwe ช่วง 2000s / Venezuela ช่วง 2010s / Argentina หลายครั้ง)
ส่วนอำนาจโดยตรงในการบริหารจัดการสินทรัพย์ต่างประเทศที่แบงก์ชาติลงทุนก็มีผลประโยชน์มหาศาล เช่น
(ก) ผู้หวังผลประโยชน์ สามารถรู้ล่วงหน้าว่าจะมีการเพิ่มหรือลดน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศหรือสินทรัพย์ในประเทศ ซึ่งจะทำให้สามารถเก็งกำไรในสินทรัพย์นั้นก่อนการซื้อ-ขายได้
(ข) เปิดโอกาสให้ฝ่ายการเมืองนำเงินสำรองของประเทศมาใช้ในทางที่ผิด เช่น การนำเงินสำรองมาชำระหนี้รัฐบาลโดยสามารถแก้กฎหมายให้นำเงินสำรองไปใช้หนี้ที่กองทุน FIDF ต้องนำส่งภาครัฐแทนที่จะไปเก็บจากภาคธนาคาร เป็นการ ปลดล็อกเพดานการกู้ยืมของรัฐบาลให้สามารถทำนโยบายประชานิยมอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อหาคะแนนนิยมได้
การกระทำนี้อาจช่วยรัฐบาลในระยะสั้น แต่จะลดความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ และอาจสร้างปัญหาในยามที่ประเทศต้องการเงินสำรองไว้รองรับวิกฤต
ดังจะเห็นจากตัวอย่างในกรณีของประเทศซิมบับเวที่รัฐบาลดึงเงินสำรองมาใช้มากเกินไป ส่งผลให้ค่าเงินล่มสลายและประชาชนประสบปัญหาค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้นอย่างรุนแรง
การนำเงินสำรองมาใช้นี้เป็นข้อเรียกร้องมาตลอดของกลุ่มนักการเมืองที่ต้องการเข้าแทรกแซงธนาคารแห่งประเทศไทย โดยไม่ได้ตระหนักความเป็นจริงพื้นฐานว่าเงินสำรองเป็นของประเทศ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการทำมาหาได้ของธุรกิจและอีกส่วนมาจากการนำเงินเข้ามาลงทุนของต่างชาติ ซึ่งมีข้อจำกัดในการนำออกไปใช้
(ค) กลุ่มการเมืองนี้อาจปรับเกณฑ์ให้นำเงินทุนสำรองไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น เพื่อหวังผลตอบแทนที่สูงขึ้น โดยในกรณีที่มีกำไร รัฐบาลจะมีรายได้เพิ่มขึ้นแต่หากขาดทุนรัฐบาลไม่ต้องรับผิดชอบ
เงินสำรองซึ่งเป็นกันชนรองรับความผันผวนและวิกฤติของประเทศจะลดค่าลง ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมอย่างมหาศาล
นอกจากนี้ หากตำแหน่งประธานและกรรมการบอร์ดแบงก์ชาติยังมีอิทธิพลต่อกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนใหญ่ เช่น การผ่อนปรนกฎเกณฑ์ให้ธนาคารพาณิชย์สามารถปล่อยกู้ให้กับลูกหนี้รายใหญ่ได้มากขึ้น หากธุรกิจของลูกหนี้เหล่านี้ล้มเหลว ผลกระทบจะไม่จำกัดแค่บริษัทเหล่านั้น แต่จะกระจายไปถึงประชาชนทั่วไปที่ฝากเงินกับธนาคาร และอาจนำไปสู่การล้มของธนาคารทั้งระบบ ตัวอย่างในต่างประเทศ เช่น วิกฤติซับไพรม์ในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2008 เกิดขึ้นจากการปล่อยสินเชื่อที่ไม่มีคุณภาพ (Subprime Mortgages) ซึ่งส่งผลกระทบร้ายแรงต่อระบบการเงินทั่วโลก
ประธานและคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย มีอำนาจในการอนุมัติการแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงของธนาคารแห่งประเทศไทย เช่นตำแหน่งรองผู้ว่าการ และผู้ช่วยผู้ว่าการ เปิดช่องทางให้รัฐบาลแทรกแซงการทำนโยบายของ ธนาคารแห่งประเทศไทย ด้วยการนำผู้ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับการเมืองเข้ามาเป็นผู้บริหาร หรือในคณะกรรมการต่าง ๆ เพื่อ กำหนดนโยบายตามความต้องการของกลุ่มการเมือง
เช่นเดียวกับที่เห็นในวิกฤติตอนปี 2540 ซึ่ง คณะกรรมการศึกษาและเสนอแนะมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบการเงินของประเทศ (ศปร.) ได้รายงานข้อเท็จจริงไว้ว่า “สาเหตุที่สำคัญของวิกฤติการณ์ครั้งนั้นเกิดจากผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทย ที่สนองความต้องการของฝ่ายการเมืองขณะนั้นอย่างเต็มที่”
ประธานและคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยยังมีส่วนในการดำเนินนโยบายการปรับโครงสร้างหนี้ครัวเรือน ซึ่งหากทำเรื่องนี้ในลักษณะนโยบายประชานิยมที่ไม่คำนึงถึงผลระยะยาว เช่น การอนุญาตให้พักชำระหนี้ยาวนานเกินไปจนลูกหนี้ขาดวินัยทางการเงินก็จะเกิดผลเสียเพราะบางครั้งการแก้หนี้แบบไม่สมเหตุสมผล ทำให้เกิดหนี้เสียในระบบการเงินเพิ่มขึ้น และส่งผลกระทบต่อธนาคารและผู้ฝากเงินในที่สุด
การใช้ตำแหน่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติในทางที่ผิดไม่ได้กระทบเพียงแค่เศรษฐกิจในประเทศเท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงความเชื่อมั่นจากต่างชาติและการลงทุนระหว่างประเทศ การมีระบบตรวจสอบที่เข้มงวดและโปร่งใสจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวและรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจในระยะยาว โดยเฉพาะในประเทศที่ระบบการเมืองยังไม่มีเสถียรภาพ การบริหารเงินสำรองและนโยบายการเงินต้องถูกดำเนินการด้วยความโปร่งใสและยึดถือผลประโยชน์ของประชาชนในระยะยาวเป็นสำคัญที่สุด
ความลงท้าย สิ่งที่น่าเป็นห่วงลำดับถัดไป
ปีใหม่ 2568 ต้นมกราคมกลุ่มการเมืองจะสามารถ ส่งคนเข้าไปเป็นประธานบอร์ดแบงค์ชาติสำเร็จหรือไม่
ไตรมาสถัดไป การรุกคืบหน้าเพื่อครอบงำแบงค์ชาติ โดยกลุ่มการเมืองชุดนี้ก็อาจส่งคนเพื่อไปดำรงตำแหน่งผู้ว่าแบงค์ชาติแทนคนเดิมที่จะครบวาระพ้นตำแหน่งในเดือนกันยายน และจะต้องดำเนินการสรรหาในปลายเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้
สมาชิกรัฐสภา องค์กรของรัฐ องค์กรภาคประชาสังคม และประชาชนภาคส่วนต่างๆ อย่าได้วางใจและจะต้องจับตาเพราะอาจเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดได้
จึงขอวิงวอนให้คณะรัฐมนตรีและพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล ที่จะต้องร่วมรับผิดชอบต้องตระหนัก ถึงความเสียหายอย่างใหญ่หลวงที่จะเกิดขึ้นกับประเทศชาติ หากมีกลุ่มการเมืองหรือพรรคการเมืองใดสามารถล้วงลูกแทรกแซง ครอบงำธนาคารกลางของชาติเพื่อหวังประโยชน์การเมืองและประโยชน์ของกลุ่มบุคคล อันจะเกิดความเสียหายที่ยากจะเยียวยาให้กับคืนมาดังเดิม
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี