‘กฤษฎีกา’ยังไม่ตีตก
ต่อลมหายใจ‘กิตติรัตน์’อีกเฮือก
ชี้ชะตาปธ.บอร์ดธปท. 25 ธ.ค.
เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ปัดข่าวรั่ว “กิตติรัตน์” ขาดคุณสมบัตินั่ง “ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย” เผยเตรียมประชุมคณะกรรมการร่วม 3 คณะกรณีสอบคุณสมบัติ 25 ธันวาคมนี้ ด้าน“กิตติรัตน์” ยันไม่มีอะไรค้างคาใจ ได้อาสาทำงานเพื่อชาติแล้วพร้อมเคารพการตัดสินใจของผู้พิจารณา
เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีกระแสข่าวมีความเห็นข้อกฎหมายเรื่องคุณสมบัติของนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ขาดคุณสมบัติเป็นผู้ได้รับการเลือกจากคณะกรรมการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ว่า ตอนเช้าก็อ่านข่าวเหมือนกัน บอกตรง ๆ ก่อนหน้านี้วันที่ผู้สื่อข่าวถามตน กระทรวงการคลังยังไม่ได้หารือมายังคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่หลังจากวันนั้น สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลังได้หารือมา จากนั้นตนจึงได้นำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเป็นการประชุมคณะกรรมการกฤษฎีการ่วม จำนวน 3 คณะ ได้แก่ คณะที่ 1 คณะที่ 2 และคณะที่ 13 เนื่องจากเป็นประเด็นปัญหาสำคัญ
“เมื่อเช้ายังประชุมอยู่เลย ตอนผมอ่านข่าวอ่ะเอ้า ไปเอาไม่จากไหน รู้ก่อนผมอีก (หัวเราะ) ยังประชุมอยู่เลยครับ รับรองไม่มีรั่วมาจากในห้องประชุมเด็ดขาด ไม่รู้ว่าข่าวมาจากไหน เดี๋ยวรอบันทึกเสร็จก่อน”นายปกรณ์กล่าว และว่า การประชุมร่วมคณะกรรมการกฤษกา 3 คณะ ยังไม่ได้ข้อสรุป วันที่25 ธ.ค.จะมีการประชุมอีกครั้ง คาดว่าจะได้ข้อสรุป กฤษฎีกาพยายามทำให้เร็ว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ประเด็นข้อกฎหมายใดบ้างที่คณะกรรมการกฤษฎีกาต้องพิจารณา นายปกรณ์กล่าวว่า มี 2 ประเด็น ประเด็นแรก ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 234/2566 ประเด็นที่สอง ประธานคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 316/2566 เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่
เมื่อถามว่า การมีคำว่า ‘ประธาน’ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี กับไม่มี “ของ” แตกต่างกันอย่างไร นายปกรณ์กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับว่าคณะกรรมการกฤษฎีการ่วม 3 คณะจะตีความอย่างไรโดยส่วนตัวเห็นว่า ตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ถ้าเป็นที่ปรึกษาเฉยๆ ไม่ได้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่ขอย้ำว่า เป็นความเห็นส่วนตัว อย่าเพิ่งเอาไปวิพากษ์วิจารณ์อะไร เพราะมีผลกระทบกับเศรษฐกิจของประเทศ เพราะเมื่อเช้าสำนักข่าวต่างประเทศถึงกับอีเมลมาถามว่า ตกลงมันยังไงแน่ ตนยังพิจารณาอยู่ยังไม่รู้เลย
“ตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นข้าราชการการเมือง ตามกฎหมายพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบข้าราชการการเมือง พ.ศ.2535 ส่วนตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งตามพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ก็ต้องไปดูว่ามีพฤติกรรมหรือการกระทำอะไรที่มีลักษณะไปยุ่งเกี่ยวในทางนโยบายอะไรหรือไม่ แต่โดยทั่ว ๆ ไปตำแหน่งที่ปรึกษาของ (นายกรัฐมนตรี) เขาไว้ใช้พิมพ์นามบัตร ดังนั้นจึงไม่ได้ดูเพียงถ้อยคำ” นายปกรณ์ กล่าว
นายปกรณ์กล่าวต่อว่า ข้าราชการการเมือง กับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่เหมือนกัน ข้าราชการการเมืองตามกฎหมาย เป็นการเมืองแน่ๆ ส่วนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คณะกรรมการกฤษฎีกาเคยมีแนวคำวินิจฉัยอยู่แล้ว คือ เป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและหน่วยงานนำไปปฏิบัติ ถ้าเป็นเพียงตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ทั่ว ๆ ไป ก็เอาไว้พิมพ์นามบัตร
ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า ตำแหน่งประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ถือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ นายปกรณ์กล่าวว่า คณะกรรมการกฤษฎีการ่วม 3 คณะ อยู่ระหว่างตีความประเด็นนี้
เมื่อถามว่า ตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีเป็นไม่ใช่ตำแหน่งข้าราชการการเมือง นายปกรณ์กล่าวว่า ไม่ใช่ตำแหน่งข้าราชการการเมือง ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีการ่วม 3 คณะ กำลังตีความว่า เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเปล่า
ถามต่อว่า แสดงว่า ตำแหน่งประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี กับตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งด้วยคำสั่งแตกต่างกัน ใช้ระเบียบคนละฉบับกันใช่หรือไม่ นายปกรณ์กล่าวว่า ตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นข้าราชการการเมืองตามกฎหมายระเบียบข้าราชการการเมือง ตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี และประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งตามกฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน มาตรา 11 (6)
ถามว่า การแต่งตั้งตำแหน่งประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี กับ ตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งตามระเบียบเดียวกัน ทำไมถึงต้องแยกตีความ นายปกรณ์กล่าวว่า ต้องพิจารณาว่า หนึ่ง ตัวคำสั่งเขียนอย่างไร แต่งตั้งตามระเบียบอะไร และสอง อำนาจหน้าที่ ทำงานอย่างไร ต้องพิจารณาอย่างละเอียด จะดูเพียงถ้อยคำคงไม่ได้
เมื่อถามว่าคณะกรมการกฤษฎีกาจะชี้ถึงขั้นว่า ขาดหรือไม่ขาดคุณสมบัติหรือไม่ นายปกรณ์กล่าวว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ได้เป็นคนชี้ มีหน้าที่ตอบคำถามที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลังถามมาเป็นการทั่วไปว่า ตำแหน่งประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่
ผู้สื่อข่าวถามว่าคณะกรรมการกฤษฎีการ่วม 3 คณะ จะได้ข้อสรุปเมื่อไหร่ นายปกรณ์กล่าวว่า คาดว่าในวันที่ 25 ธันวาคม จะได้ข้อสรุป ต้องเร็ว เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา
ถามว่า ถ้าพรุ่งนี้คณะกรรมการกฤษฎีการ่วม 3 คณะ ได้ข้อสรุปแล้วจะทำบันทึกความเห็นกฤษฎีกาส่งไปยังกระทรวงการคลังก่อนปีใหม่หรือว่าหลังปีใหม่ นายปกรณ์ตอบว่า ตนทำการไม่ช้า
ด้าน นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก สืบเนื่องจากกรณีกระแสข่าวสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่า คุณสมบัติไม่ผ่านเกณฑ์การดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย โดยระบุว่า “ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ผมไม่มีอะไรค้างคาใจ ผมได้อาสาทำงานให้ประเทศแล้ว ไม่เคยขลาดกลัวหนีหายเอาตัวรอดกราบขอบพระคุณท่านปลัดกระทรวงการคลังที่เชื่อว่าผมจะทำหน้าที่ประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยได้ดีจนเสนอชื่อเข้าสู่การคัดเลือก และกราบขอบพระคุณกรรมการคัดเลือกเสียงข้างมากที่มีมติคัดเลือกผม เพื่อนำสู่การพิจารณาของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังส่วนการพิจารณาใดๆ จากขั้นตอนดังกล่าวย่อมเป็นสิทธิและหน้าที่ของผู้พิจารณา ผมเคารพการตัดสินใจครับ”
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี