มีแต่หมอที่จับหมอด้วยกันได้
‘วรงค์’ชี้จบแน่
กรณี‘เทวดา’ป่วยทิพย์ชั้น 14
แพทยสภาไม่ปล่อยเด็ดขาด
คุกแจงพักโทษพวกโกงชาติ
กระหึ่ม! รายการ“สีสันการเมืองแบบ เด้งเด้ง”ทางช่องยูทูบ แนวหน้าออนไลน์“หมอวรงค์”ร่วมแจงขั้นตอน “แพทยสภา” สอบผู้เกี่ยวข้อง“ชั้น 14” ระบุ“มีแต่หมอที่จับหมอด้วยกันได้”เชื่อเทวดาป่วยทิพย์ ตกสวรรค์ ด้านกรมราชทัณฑ์แจงพักโทษคดีทุจริตโกงชาติ เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และตามที่กฎหมายกำหนดไว้
เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2567 นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี ให้สัมภาษณ์ผ่านระบบซูมกับรายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ในประเด็นท่าทีของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้นำจิตวิญญาณพรรคเพื่อไทย ที่ระยะหลังๆ มักพูดจาข่มขู่คนที่เห็นว่าเป็นฝ่ายตรงข้าม ว่า หากนายทักษิณทำในสิ่งที่ถูกต้องก็ไม่เป็นปัญหา แต่เมื่อนายทักษิณยังทำแบบเดิมซ้ำๆ พวกตนจึงต้องออกมาสู้
อย่างไรก็ตาม ตนก็แปลกใจที่นายทักษิณเก็บอาการไม่อยู่ หากดูตั้งแต่ไปร่วมงานสัมมนาของพรรคเพื่อไทยก็ออกมาแล้วครั้งหนึ่ง ที่บอกว่าไม่หมูแล้วและจะเล่นงานกลับ กระทั่ง 2 วันล่าสุดนี่แทบจะทุกเวที ตนขอมองในเชิงหลักการ คือคนที่คุมสถานการณ์ได้จะต้องนิ่ง แต่การที่ไม่นิ่งก็บ่งบอกว่ามีความกังวล นี่เป็นหลักจิตวิทยาทั่วไป ลองนึกถึงเพื่อนร่วมงาน หากนั่งบ่นซ้ำๆ อยู่อย่างนั้นก็คือกังวลหรือเครียดเรื่องงาน หรือหากตัวเราเองบ่นเรื่องอะไรบ่อยๆ นั่นหมายถึงเรารำคาญ หงุดหงิด กังวลใจและเครียดต่อเรื่องนั้น
ดังนั้นการที่นายทักษิณพูดขู่อยู่เรื่อยๆ ว่าจะเอาคืน นายทักษิณก็น่าจะกังวลในเรื่องนี้ แต่ตนก็เชื่อว่าด้วยข้อมูลหลักฐานที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน นั่งกำลังบ่งบอกว่าเรื่องนี้กำลังผูกมัดตัวบุคคลที่ช่วยนายทักษิณ และในฐานะที่ได้รับประโยชน์จากสิ่งนั้น นายทักษิณก็อาจต้องเผชิญปัญหาที่ตามมา เช่น กรณีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และแพทยสภา กำลังตรวจสอบบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการส่งตัวนายทักษิณจากเรือนจำ ในช่วงที่ต้องโทษจำคุก 1 ปี ไปพักที่ รพ.ตำรวจ โดยอ้างเรื่องสุขภาพ
“ก่อนอื่นต้องชื่นชมว่าหมอต้องเอาหมอมาจับ เอาคนอื่นมาจับหมอมันจับไม่ได้ แม้แต่ ป.ป.ช. ผมยังท้วงอยู่หลายครั้งว่าต้องแต่งตั้งคณะที่ปรึกษาที่เป็นทีมแพทย์ ถึงจะทำให้ท่านสามารถทำงานได้ ลำพังท่านตรวจสอบเองท่านไม่ทันหมอหรอก ดังนั้นวันนี้แพทยสภาตรวจสอบ แต่ต้องย้ำว่าแพทยสภาตรวจสอบเฉพาะแพทย์นะ ไม่สามารถตรวจสอบเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้ยกเว้นแพทย์ของ รพ.ราชทัณฑ์ ขั้นตอนแพทยสภาเป็นการตรวจสอบเชิงจรรยาบรรณหรือของผู้ประกอบวิชาชีพ” นพ.วรงค์ กล่าว
นพ.วรงค์ กล่าวต่อไปว่า เมื่อมีคนร้องเรียน แพทยสภาก็จะต้องดูว่าเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งแพทยสภาจะส่งเรื่องไปให้คณะอนุกรรมการจริยธรรม และอนุฯ จริยธรรม จะมีเวลาทำงาน 4 เดือน บวกได้ไม่เกิน 2 เดือน หรือตามภาษากฎหมายคือ 120 วัน บวกได้ไม่เกิน 60 วัน เบ็ดเสร็จแล้วประมาณ 6 เดือน แล้วอนุฯ จริยธรรม จะทำเรื่องสรุปส่งมาให้คณะกรรมการแพทยสภา หากผลออกมาว่ามีมูลก็จะตั้งคณะอนุกรรมการสอบสวน โดยกรณีชั้น 14 ล่าสุดนั้นอยู่ในขั้นตอนของอนุฯ สอบสวน ซึ่งก็จะมีเวลาทำงานประมาณ 180 วัน ขยายอีกก็ได้ประมาณ 120 วัน
แต่ที่น่าสนใจคืออนุฯ สอบสวนชุดนี้ได้ทำหนังสือถึงแพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ และ ผอ.รพ.ราชทัณฑ์ นอกจากนั้นตนทราบว่ายังทำหนังสือถึงอธิบดีกรมราชทัณฑ์ด้วย เพื่อขอข้อมูลที่เกี่ยวข้องทางการแพทย์ ไล่ตั้งแต่ 1.ภาพรวมการรักษาทั้งหมด แพทย์ท่านใดรักษาอาการใด เนื่องจากแพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ เคยบอกว่ามีแพทย์ร่วมรักษาหลายคน 2.รายชื่อแพทย์ที่เกี่ยวข้องพร้อมเลขที่ใบประกอบวิชาชีพ เพราะต้องตรวจสอบว่าแต่ละคนที่ถูกอ้างถึงเป็นแพทย์จริงหรือไม่ เพื่อยืนยันอำนาจในการตรวจสอบของแพทยสภา แต่หากไม่มีเลขที่ใบประกอบวิชาชีพก็คือแพทย์ปลอม
3.หนังสือส่งตัวจาก รพ.ราชทัณฑ์ มายัง รพ.ตำรวจ ซึ่งแพทย์จาก รพ.ราชทัณฑ์ จะต้องแจ้งว่าผู้ต้องขังที่จะส่งตัวออกไปรักษาภายนอกเรือนจำนั้นมีอาการเจ็บป่วยอย่างไร 4.เวชระเบียน หรือบันทึกการรักษาผู้ป่วยตั้งแต่รับตัวเข้าโรงพยาบาลจนถึงออกจากโรงพยาบาล 5.เอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น รายงานการดูแลของพยาบาล รายงานการผ่าตัด รายงานการให้ยาระงับความรู้สึก ผลเอ็กซเรย์ ผลการทำ MRI ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดจะต้องสัมพันธ์ผูกโยงกัน
“อันนี้คือจุดตายไม่ใช่จุดน็อก เพราะแพทยสภาเขาต้องตรวจรายงานแต่ละอย่างว่าการเจ็บป่วยเขาจะต้องป่วยหนักจึงไม่สามารถกลับไปรักษาที่ รพ.ราชทัณฑ์ ได้จริงหรือไม่? เขาต้องดูขีดความสามารถของ รพ.ราชทัณฑ์ แล้วแพทย์ รพ.ตำรวจ ช่วยเหลือหรือเปล่า? หรือไม่ได้ป่วยจริง แล้วจุดตายอีกจุดหนึ่งคือแพทยสภาขอใบความเห็นแพทย์ที่ทำการรักษานายทักษิณ ตอนช่วง 30 วัน 60 วัน และ 120 วัน ดังนั้นเอกสารเหล่านี้มันจะผูกมัดไว้แน่นมาก ผมยืนยันว่าการแต่งย้อนหลัง 180 วันไม่ง่าย ไม่มีทาง” นพ.วรงค์ ระบุ
นพ.วรงค์ ยังกล่าวอีกว่า เมื่ออนุฯ สอบสวนของแพทยสภาพิจารณาเรื่องเสร็จแล้ว ก็จะสรุปความเห็นส่งกลับมาให้คณะกรรมการแพทยสภา ว่าแพทย์แต่ละคนมีใครช่วยเหลือผู้ต้องขังหรือไม่และผู้ต้องขังป่วยหนักจริงหรือไม่ นี่คือภาพรวมการทำงานของแพทยสภาทั้งหมด อนึ่ง เท่าที่ตนเห็นในข่าว ทางแพทยสภามีการเก็บข้อมูลเชิงลึกมาแล้วประมาณครึ่งปี
“ซึ่งอย่าลืมว่าอนุฯ จริยธรรม เขาเก็บข้อมูลมาหมดแล้วจึงชี้ว่ามีมูล แล้วอนุฯ สอบสวนจึงขอข้อมูลอย่างเป็นทางการไปที่ รพ.ตำรวจ และ ผอ.รพ.ราชทัณฑ์ และที่อยากให้สังเกตคือ มีการกำหนดเส้นตายไว้ด้วยว่าภายในวันที่ 15 ม.ค. 2568 ซึ่งจริงๆ แล้วมีกรอบเวลาทำงานอยู่ที่ 6 เดือน แต่อาจจบก่อนก็ได้ หรือหากต้องต่อเวลาออกไปก็จะอยู่ที่ประมาณ 4 เดือน สรุปแล้วก็ประมาณ 1 ปี”นพ.วรงค์ กล่าวย้ำ
จากกรณีที่มีการเผยแพร่ข่าว พาดหัว 10 กรณี คอร์รัปชันแห่งปี 2567 ป่วยทิพย์ ชั้น 14 โกงซ้อนโกง โดยมี ดร.มานะ นิมิตรมงคล ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) โพสต์ข้อความ พาดพิงกรณีลดโทษพักโทษมอบอภิสิทธิ์ให้นักโทษคดีโกงชาติ
ล่าสุดกรมราชทัณฑ์ ได้ออกเอกสารชี้แจงว่า การพักการลงโทษเป็นระบบการบริหารโทษประการหนึ่งที่ใช้กันทั่วโลก โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้ต้องขังที่ถูกจำคุกมาแล้วระยะเวลาหนึ่ง และผ่านกระบวนการในการพัฒนาพฤตินิสัย มีความประพฤติดี มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ไม่มีความเสี่ยงที่จะกระทำความผิดซ้ำ ได้มีโอกาสกลับไปใช้ชีวิตในสังคม อันเป็นการเตรียมความพร้อมทั้งด้านอาชีพ ครอบครัว การปรับตัว ตลอดจนการวางแผนอนาคต ก่อนที่จะครบระยะเวลาต้องโทษและกลับคืนสู่สังคม
ทั้งนี้ ในระหว่างพักการลงโทษนั้น ผู้ต้องขังจะต้องปฏิบัติตัวตามเงื่อนไขในความควบคุมดูแลของกรมคุมประพฤติจนกว่าจะพ้นโทษตามหมายจำคุกของศาล แต่หากผิดเงื่อนไข ก็จะถูกนำตัวกลับไปคุมขังยังเรือนจำต่อไป ซึ่งกรมราชทัณฑ์ได้ดำเนินการบริหารโทษตามแนวทางดังกล่าวมาตั้งแต่พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช 2479 จนมาสู่พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นฉบับปัจจุบัน
สำหรับข้อกล่าวอ้างที่ว่า จำคุกน้อยปล่อยตัวไวนั้น ขอเรียนว่าผู้ต้องขังทุกรายได้รับการพิจารณาจากคณะทำงานในชั้นเรือนจำ และเสนอต่อคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษ ที่ประกอบด้วยหน่วยงานภายนอกหลายหน่วยงาน โดยดำเนินการตามหลักเกณฑ์และข้อกำหนดภายใต้พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 กฎกระทรวงกำหนดประโยชน์ของนักโทษเด็ดขาดและเงื่อนไขที่นักโทษเด็ดขาดซึ่งได้รับการลดวันต้องโทษจำคุกหรือการพักการลงโทษและได้รับการปล่อยตัวต้องปฏิบัติ พ.ศ. 2562 และฉบับที่ (2) พ.ศ. 2564 อย่างเสมอและเท่าเทียมกัน
ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการลงโทษจำคุกตามหมายจำคุกล่าสุด กล่าวคือ ผู้ต้องขังที่จะได้รับการพิจารณาการพักการลงโทษ กรณีปกติ จะต้องจำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 และเหลือโทษจำคุกไม่เกิน 2-5 ปี ส่วนผู้ต้องขังที่จะได้รับการพิจารณาพักการลงโทษกรณีพิเศษ เช่น เจ็บป่วยหรือสูงอายุ 70 ปี ต้องจำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ดังนั้น การพิจารณาการพักการลงโทษ จึงได้ดำเนินการตามกฎ กติกา ที่ไม่สามารถเลือกปฏิบัติ หรือเอื้อประโยชน์ให้กับผู้หนึ่งผู้ใดได้
กรมราชทัณฑ์ ขอยืนยันว่าการดำเนินการที่ผ่านมาเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ และชอบด้วยกฎหมาย มิได้เอื้อสิทธิประโยชน์ หรือเลือกปฏิบัติต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งแต่อย่างใด
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี