‘พรรคส้ม’โวยแหลก! ซัดกลับถ้าบอกเป็น‘ประชาชนพม่า’แล้วรัฐบาลเป็นอะไร เอื้อ‘รบ.ทหารเมียนมา’จนเป็นหนึ่งเดียวขนาดนี้ ข้องใจเปิดขึ้นทะเบียนให้ทันต้นปีหน้า แต่มีแรงงานรออื้อ2ล้านคน จะทันหรือไม่ หวั่นเจอปัญหาตกค้าง ด้าน‘พิพัฒน์’แจงหากไม่ทันเสนอครม. ยืดอายุได้ จ่อทำหนังสือชี้แจงสภาฯอีกครั้ง
เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยในช่วงกระทู้ถามสด นายสหัสวัต คุ้มคง สส.ชลบุรี พรรคประชาชน ตั้งกระทู้ถามนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน เรื่องการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว
โดยนายสหัสวัต กล่าวว่า การยื่นเอกสารต่ออายุใบอนุญาตทำงานตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 24 ก.ย. ที่ผ่านมา ในลักษณะ MOU ซึ่งกระบวนการทั้งหมดจะต้องเสร็จภายในวันที่ 13 ก.พ. 2568 เหลือเวลาอีก 32 วัน แต่เรามีแรงงานที่ต้องต่ออายุประมาณ 2.39 ล้านคน เป็นแรงงานเมียนมาคร่าวๆ 2 ล้านคน จึงอยากทราบว่า ตอนนี้มีคนลงทะเบียนมาแล้วเท่าไหร่และในกรอบเวลาที่เหลืออยู่ จะคิดว่าทันหรือไม่
"ถ้าวันนี้พี่น้องประชาชนมีแรงงานอยู่ที่บ้าน 1 คน ถ้าอยากได้แรงงานสักคนจะต้องทำอย่างไรบ้าง เพราะดูแล้วมีหลายขั้นตอนเหลือเกิน อยากให้ท่านรัฐมนตรีได้ชี้แจงเรื่องดังกล่าวให้ละเอียด" นายสหัสวัต กล่าว
ด้านนายพิพัฒน์ กล่าวว่า ขณะนี้มีการลงทะเบียนแรงงานข้ามชาติผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์มาแล้วประมาณ 4.95 แสนคน ซึ่งนายจ้างสามารถลงทะเบียนได้ด้วยตัวเองหรือจะให้ บนจ.เข้ามาช่วยลงทะเบียนก็ได้ ส่วนการที่จะต่ออายุใบอนุญาตไปอีก 2 ปีในวันที่ 13 ก.พ. 2568 นั้น ก็เหลือระยะเวลาอีกแค่ไม่กี่วัน เชื่อว่าเมื่อถึงเวลาดังกล่าวหากลงทะเบียนไม่ครบหรือทำไม่ทัน ตนคงต้องนำเรื่องนี้ไปหารือกับกรมการจัดหางาน และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขยายเวลาต่อใบอนุญาต แต่การต่ออายุนั้นจะช่วยอำนวยความสะดวก โดยไม่ให้ผู้ใช้แรงงานกลับไปต่ออายุที่ประเทศของตัวเอง เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว แต่หากไม่ทันจะยืดอายุให้อีกครั้ง
นายสหัสวัต จึงลุกขึ้นถามย้ำเหมือนเดิมว่า หากตอบแบบนี้ ตนคิดว่าจะขึ้นทะเบียนไม่ทันแน่นอน เพราะการจะตอบอนุญาตนั้น จะต้องมีขั้นตอนประมาณ 9 ขั้นตอน อีกทั้งโรงพยาบาลที่เปิดให้ตรวจโรคคนที่จะขึ้นทะเบียน มีเพียง 69 แห่งทั่วประเทศ หากทางต้องขึ้นทะเบียนวันละประมาณ 46,875 คน จะทันหรือ แล้วจุดให้เซ็นสัญญามีเพียง 3 ที่เท่านั้น พร้อมถามไปถึงการวางแผนของ ครม.
"เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ถ้าหากไม่ทันแสดงว่าเราจะมีแรงงานตกค้างหรือหมดสถานะ นับแสนนับล้านคน จะทันได้อย่างไร ท่านก็บอกอยู่ว่ามีรายงานแย่งงานแย่งอาชีพคนไทย ยังมีเรื่องตำรวจเรียกเก็บส่วย รีดไถแรงงาน มันจะยิ่งรุนแรงขึ้นหรือไม่" นายสหัสวัต กล่าว
นายสหัสวัต กล่าวอีกว่า ตนยังงงๆอยู่ ว่าตนถามไม่ชัดเจนหรือไม่ ก่อนกล่าวว่า นอกจากปัญหาที่วุ่นวายและแออัดแล้ว ยังมีเรื่องของราคาการต่ออายุของแรงงานสัญชาติเมียนมาที่แบบใหม่มีราคาแพงกว่า ข้อที่มีราคาเพิ่มมาอย่างมีนัยยะสำคัญคือค่าเดินทางไปกลับ รวมถึงค่าบังคับซื้อประกัน
"ผมงงอย่างยิ่ง ทำไมไม่ใช้ประกันสังคม ในเมื่อการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติก็ต้องมีนายจ้างทุกคน ซึ่งสามารถใช้ประกันสังคมได้เลย มันง่ายมาก" นายสหัสวัต กล่าว
จากนั้น นายพิพัฒน์ ชี้แจงว่า ส่วนนายจ้างตามบ้านนั้นสามารถลงทะเบียนและยื่นผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ แต่หากไม่สะดวกให้ยื่นผ่านกรมการจัดหางานทั้ง 76 จังหวัดและกรุงเทพฯ ซึ่งสามารถทำได้ในช่วงวันหยุด สำหรับขั้นตอนของการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างชาติ รวมถึงการตรวจเช็คร่างกายที่โรงพยาบาล ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่ามีจำนวนทไม่เพียงพอต่อการใช้บริการในกรอบระยะเวลาที่กำหนดนั้น เนื่องจากจำเป็นต้องมีการคัดเลือกโรงพยาบาลที่มีห้องแล็บของตัวเอง ถือเป็นข้อจำกัดเพื่อป้องกันไม่ให้โรคระบาดหลุดรอดมาในประเทศ และจากการตรวจเช็คแรงงานชาวเมียนมาที่พบการระบาดของเชื้อโรคอหิวาตกโรคนั้นล่าสุดมีรายงานว่าพบผู้ป่วยในประเทศไทยแล้ว 4 คน แต่ยอมรับว่าการกำหนดโรงพยาบาลตรวจร่างกาย 69 แห่ง กับจำนวนแรงงานที่ต้องใช้บริการ 2.3 ล้านราย และในระยะเวลา 32 วัน
นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า ส่วนคำถามที่บอกว่าหากเราทำไม่ทันนั้น ตนขอย้ำอีกครั้งว่าจะต้องนำเรื่องนี้เข้า ครม.เพื่อเสนอให้มีการยืดเวลาออกไปเพื่อให้ทำให้ทัน และการที่เรายื่นเรื่องเข้าไปเมื่อวันที่ 24 ก.ย.2568 แต่เมื่อ ครม.อนุมัติเรื่องมาเมื่อช่วงเดือนพ.ย. เราจึงมีเวลาที่จะดำเนินการน้อย ที่สำคัญยังมีเงื่อนไขที่จะต้องไปตั้งกับโรงพยาบาลด้วยว่าจะทำอย่างไร นอกจากนี้ ตนยังได้กำชับไปยังเจ้าหน้าที่กรมจัดหางานและชุดเฉพาะกิจที่ได้ตั้งขึ้นมาด้วยว่าอะไรที่เป็นอาชีพสงวนของคนไทย หากเจอก็จะตรวจจับ ปรับ และผลักดันออก รวมถึงขอให้เก็บอัตลักษณ์เพื่อให้เป็นการพิสูจน์ครั้งต่อไปว่าวันนี้เราได้ผลักดันให้เก็บสู่ประเทศเดิมก็จะมีการไปเปลี่ยนชื่อแล้วเข้ามาใหม่ เพื่อที่หากผลักดันออกแล้วเขาลักลอบเข้ามาอีก เราจะได้ดำเนินคดีทางอาญา
นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า สำหรับบริษัทประกันสุขภาพของแรงงานต่างชาติที่เราตั้งไว้นั้น ต้องเป็นบริษัทที่ไม่มีผลทางการขาดทุนเป็นระยะเวลาติดต่อกัน 3 ปี ซึ่งเราได้บริษัทที่ผ่านเงื่อนไข 3 บริษัทคือ ทิพยประกันภัย เมืองไทยประกันชีวิต และโตเกียวมาริน แต่เราก็ไม่ได้ปิดกั้นบริษัทอื่นที่จะยื่นเข้ามา และการที่ต้องตั้งศูนย์ลงทะเบียนที่จ.เชียงใหม่ กรุงเทพฯ และจ.ระนองนั้น ก็เป็นข้อเสนอของรัฐบาลเมียนมา เราไม่สามารถกำหนดได้ แต่หากให้ตนกำหนด ตนจะเสนอให้เป็นจังหวัดใดก็ตามที่มีแรงงานต่างด้าวเกินกว่า 5,000 คน ก็จะกำหนดให้จังหวัดนั้นเป็นศูนย์ลงทะเบียน อย่างไรก็ตาม เข้าใจว่าที่รัฐบาลเมียนมาต้องกำหนดจังหวัดดังกล่าว เพราะมีปัญหาเรื่องเจ้าหน้าที่ที่ไม่มีกำลังที่เพียงพอ
นายสหัสวัต กล่าวว่า "ก่อนหน้านี้พรรคประชาชนของผมถูกกล่าวหาว่าเป็นพรรคประชาชนพม่า แต่ขณะนี้รัฐบาลไทยช่วยรัฐบาลทหารพม่า เรียกเก็บภาษี เราเป็นรัฐบรรณาการทหารพม่าตั้งแต่เมื่อไหร่ ถึงต้องช่วยเขาเก็บภาษี เรื่องนี้ก็ยังเป็นคำถาม แล้วท่านจะไปจ่ายเงินกันที่ไหน ถ้าหากจ่ายที่สถานทูต เรื่องนี้ก็ยังเทาๆ หากจ่ายนอกสถานทูต แสดงว่าเราเอื้อให้รัฐบาลทหารพม่าใช้อำนาจอธิปไตยบนบ้านเรา เรื่องนี้ร้ายแรง นี่ไม่นับว่าเป็นการพยายามเพิ่มการหลีกเลี่ยงการเก็บภาษีซ้อนอีก เรื่องนี้ร้ายแรงมาก ไม่ปกติ นั่นหมายความว่าเงินที่ต้องหมุนเวียนในระบบของประเทศเรา เกือบ 9,000 ล้านบาท ถ้าผมเป็นพรรคประชาชนพม่า แล้วพวกท่านเป็นใคร เป็นหนึ่งเดียวกับรัฐบาลทหารพม่าขนาดนี้ ยื่นเงินให้รัฐบาลทหารพม่าปีละ 9,000 ล้านแบบนี้"
นายสหัสวัส กล่าวด้วยว่า กรณีที่รัฐบาลไทยทำเอ็มโอยูกับรัฐบาลทหารเมียนมา ด้วยการจำกัดศูนย์ลงทะเบียน และไม่เปิดออนไลน์เชื่อว่าทำให้แรงงานข้ามชาติหนีเอ็มโอยู และหลุดออกนอกระบบจำนวนมาก ทั้งนี้มีข้อเสนอให้รัฐบาลไทยขึ้นทะเบียนฝ่ายเดียว ไม่ต้องให้รัฐบาลทหารเมียนมา ที่เป็นรัฐล้มเหลวเข้ามายุ่งเกี่ยว
รมว.แรงงาน ชี้แจงว่า การเก็บภาษีไม่ได้เริ่มเก็บในช่วงนี้ แต่มีการเก็บเพื่อพิสูจน์อัตลักษณ์ หรือ ซีไอ อย่างไรก็ดีหากไทยทำฝ่ายเดียวจะพิสูจน์ได้อย่างไรว่าเป็นชาติเมียนมา สำหรับขั้นตอนและรายละเอียดอื่นๆ จะขอชี้แจงเป็นหนังสือต่อสภาฯ อีกครั้ง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี