...“ชัชชาติ” กับเวลาที่เหลืออีก 1 ปีครึ่ง ลั่นไม่มีแชมเปี้ยนโปรเจกท์ เดินหน้านโยบายทำทุกเรื่องสำคัญหมดทุบโต๊ะปี’68 ลุยแก้จราจร เตรียมสร้างศูนย์ราชการฝั่งธนฯเมกะโปรเจกท์ก่อนหมดวาระ เผย 2 ปี 6 เดือนคนกรุงสัมผัสได้ว่าดีขึ้น...
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการทำงานที่ผ่านมา 2 ปี 6 เดือน ว่า เห็นผลลัพธ์ที่ดีขึ้นในหลายเรื่อง ในปี 2568 ยังคงเดินหน้านโยบายหลัก 9 ด้าน 9 ดี เพราะทุกเรื่องทุกด้านสำคัญหมดไม่มีลูกเมียน้อยเมียหลวง แต่หัวใจสำคัญคือต้องโฟกัส “งานที่ไม่เป็นไปตามเป้า” เพื่อให้สำเร็จไปตามแนวทางที่วางหรือกำหนดไว้ มุ่งเน้นให้กรุงเทพฯ เป็น “เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคนตลอดทั้งผู้มาเยือน”
“กทม.คงไม่มีแชมเปี้ยนโปรเจกท์ โครงการที่จะสร้างคุณภาพชีวิตของคนให้ดีขึ้นได้ มีเป็นร้อยเป็นพันเรื่องซึ่งต้องทำควบคู่กันไป เพราะกทม.มีงานหลายหน้า นโยบายมีเยอะมาก ทุกโครงการสำคัญเท่าเทียม ไม่มีเรื่องใดเหนือกว่า ทุกคนต้องเดินหน้าในหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่โดยเราได้กำหนดเป้าหมายชัดเจนให้ทุกสำนัก ทุกเขตผลักดันการทำงาน ในปี 2568 เป็น 34 เป้าหมาย”
ผู้ว่าฯชัชชาติยังได้อธิบายถึงปฏิกิริยาตอบรับตอบกลับของคนกรุงเทพฯว่า ประชาชนคน กทม.มีจำนวนมาก แต่ละคนมีปัญหาแตกต่างกัน กทม.จึงต้องทำในทุกมิติจึงจะให้คุณภาพชีวิตเขาดีขึ้น ที่ผ่านมาดูจากการตอบรับตอบกลับของประชาชนพบ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ต้องการบริการจาก กทม. (คนที่ส่งลูกเรียนโรงเรียน กทม. คนที่ไปหาหมอโรงพยาบาลกทม.) ใช้ฟุตปาธทางเท้า หรือใช้บริการอื่นๆ จะเป็น “รู้สึกว่าชีวิตดีขึ้น” อีกกลุ่ม คือ ที่ไม่ได้ใช้บริการกทม. ก็อาจยังไม่ค่อยเห็นว่าเราได้ทำอะไรไปบ้าง ก็ต้องมีการสื่อสารให้ชัดเจนขึ้น เพราะอย่างที่บอกสิ่งที่ กทม.ให้กับประชาชนนั้นมากมายหลายด้าน โดยทุกด้านสำคัญเสมอเหมือน
การลงพื้นที่ทุกจุดทุกที่ทุกแห่งที่ผ่านมาได้รับรู้ว่าและแลเห็นว่า ปัญหาของประชาชนได้รับการแก้ไขมากน้อยแค่ไหนอย่งไร ขณะเดียวกัน เมื่อมีผลงานและมีคนมาชมว่า กทม.ทำอะไรหลายอย่างดีขึ้น ตรงนี้ยอมรับเป็นกำลังใจให้กับคนทำงาน อยากบอกย้ำว่าการมาเป็นผู้ว่าฯกทม. นั้นไม่ได้อยากเป็นเพราะอยากมีอำนาจ และไม่ต้องการให้ใครมาเดินตาม การลงพื้นที่ทั้งทางตรงทางอ้อมสิ่งที่อยากเห็น คือ ปัญหาและสิ่งที่ได้กระทำไปประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้นหรือไม่อย่างไร ขณะเดียวกัน เมื่อปรากฏว่ามีคนมาบอกว่าผู้ว่าฯกทม.ช่วยแก้ปัญหาทำอะไรให้เขาได้ แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อย เช่น ไฟติดสว่าง ซึ่งวันนี้ทั่วถึงขึ้นน้ำท่วมเดือดร้อนปัจจุบันแม้จะท่วมขัง แต่น้ำก็ลงเร็วแค่นี้เรื่องนี้บอกตรงๆ ก็แฮปปี้แล้ว ส่วนการด่าหรือตำหนิก็เป็นเรื่องดีเพราะจะได้นำไปปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้น” ผู้ว่าฯชัชชาติ กล่าว
9 ด้าน 9 ดี ที่จะมุ่งเน้นให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่ยังคงเดินหน้าต่อไป
“วิสัยทัศน์เราไม่ได้ต้องการเป็นเมืองที่ฉลาดที่สุด หรือเมืองที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ทว่าขอให้เป็น “เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน” จะดีที่สุด การทำให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ก็ต้องมีตลาดแรงงานที่มีประสิทธิภาพทรงประสิทธิภาพ สามารถดึงดูดผู้คนได้ และประชาชนปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน ดังนั้น การจะให้เมืองถูกกล่าวขานในสิ่งดีๆ จำเป็นต้องมีการพัฒนาทุกด้านไปพร้อมกัน เพื่อคนทุกคนรวมทั้งผู้มาเยือน “นโยบายที่ตอกย้ำเน้นหนักมาตลอดวันนี้ยังเข้มข้นเหมือนเดิม”
ด้านความ “โปร่งใสดี” เรื่องความโปร่งใสถือเป็นเรื่องสิ่งสำคัญที่คนไม่ค่อยพูดถึง เป็นนโยบายที่เน้นย้ำมาตั้งแต่ต้น โดยใช้ Traffy Fondue (ทราฟฟี่ฟองดูว์) เป็นตัวช่วย เป็นผลงานที่ภูมิใจมากอันหนึ่ง ได้เปลี่ยนมิติการทำงานของข้าราชการ ทำให้ประชาชนไว้ใจมากขึ้น จากวันแรกที่เปิดใช้มีคนแจ้ง 20,000 ปัจจุบันมีคนแจ้ง 772,912 เรื่อง แก้ไปแล้ว 616,321 เรื่อง ส่งต่อไป 53,573 เรื่อง จากแก้เฉลี่ย 2 เดือน/เรื่อง เป็นแก้ได้ใน2 วันต่อเรื่อง เห็นผลชัดคนรากหญ้ามีชีวิตดีขึ้น และยังเป็นหนึ่งเครื่องมือในการประเมินการทำงานของผอ.เขตด้วย
ด้านความโปร่งใส วันนี้ได้ให้ประชาชนดำเนินการขออนุญาตทางออนไลน์ ซึ่งจะช่วยแก้เรื่อปัญหาการทุจริต โดยเฉพาะการขออนุญาตก่อสร้างที่เป็นปัญหาอันดับต้นๆของกทม. แค่ 14 วัน รู้เรื่อง อนุญาตไปแล้ว 12 เคส รวมถึงการสร้างความโปร่งใสในการประมูล ช่วยประหยัดงบประมาณของกทม. เช่น โครงการของสำนักสิ่งแวดล้อม ปีงบประมาณ 2566-ปัจจุบัน รวม 16 โครง ประหยัดงบไปกว่า 3,500 ล้านบาท
ด้านการ “เดินทางดีปลอดภัย” เป็นเรื่องที่ประชาชนเห็นผลงานหลายจุด เนื่องจากได้ก่อสร้างปรับปรุงทางเท้าใหม่จากโครงการพัฒนาทางเท้า 1,000 กม.วันนี้ดำเนินการไปแล้ว 800 กม. ภายในวาระที่เหลืออยู่ก็จะทำให้ได้ 2,000 กม. หรือโครงการ Bike sharing ก็พยายามทำให้ประชาชนมีทางเลือกในการเดินทางมากขึ้นตรงนี้มีกว่า 200 แห่ง รวมกว่า 1,200 คัน โครงการผายปากทางแยก แก้จุดติดขัดทางจราจร ทำไปแล้ว 33 จุดจากที่สำรวจไว้ 187 จุด
ประเด็นปัญหารถติดถือเป็นส่วนหนึ่งของความปลอดภัย ตรงนี้ยอมรับยังทำได้ไม่ดีพอ ต้องเร่งดำเนินการต่อไป โดยจะหารือกับ ผบ.ตร. เรื่องการกวดขันวินัยจราจร รวมถึงเรื่อง ATC (Area Traffic Control) ระบบสัญญาณไฟปรับเปลี่ยนตามปริมาณจราจรแต่ละแยก จากทางแยก 500 แยก ที่ให้ตำรวจกดสัญญาณไฟกำลังติดตั้ง 72 จุด และกําลังของบประมาณติดตั้งเพิ่มอีก 200 จุด ถ้าเสร็จแล้วเชื่อว่ารถจะไหลลื่นดีขึ้น หรือปัญหาน้ำท่วมก็เช่นกัน เดิมทีมีจุดเสี่ยงน้ำท่วม 12 จุดปี 2565 น้ำท่วมใหญ่ สรุปสุดเสี่ยงน้ำท่วมได้ 737 จุด ปรับปรุงไปแล้วเกินครึ่ง จุดที่แก้เสร็จแล้ว 115 จุด แก้บางส่วน165 จุด อยู่ระหว่างแก้ 323 จุด โดยรวมเชื่อว่าดีขึ้น น้ำลงเร็ว น้ำท่วมเป็นเรื่องที่ต้องทำตลอดเพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ฝน ทั้งความพร้อมระบบระบายน้ำและอุปกรณ์-เจ้าหน้าที่
ด้าน “สิ่งแวดล้อมดี” ปลูกต้นไม้ล้านต้น ทำได้เกินเป้า ปัจจุบันปลูกไป 1,225,336 ต้น สวน 15 นาที ตั้งเป้า 500 สวน ปี 2568 เป้า 357 สวน ทำได้แล้ว 179 สวน เรื่อง PM2.5 จะทำ Low Emission Zone ห้ามรถบรรทุกนอก Green List เข้าพื้นที่ด้านในวงแหวนรัชดาฯ ในช่วงฝุ่นเยอะ มีรถลงทะเบียนแล้ว 4,000 กว่าคันและจะประสานกระทรวงเกษตรฯ และกองทัพอากาศทำฝนหลวงด้วย ในส่วนนโยบายแยกขยะที่ผ่านมาเริ่มในบริษัทใหญ่ๆ ปริมาณขยะลดลงจากช่วงก่อน COVID มากกว่า 10% ประหยัดงบประมาณมากกว่าปีละ 140 ล้านบาท ปีหน้าจะมีการแยกขยะกันอย่างจริงจัง โดยมีการออกข้อบัญญัติ กทม.มาแล้ว เรื่องค่าธรรมเนียมขยะใหม่บ้านเรือนทั่วไป รวมถึงบริษัทใหญ่ถ้าไม่แยกขยะจะเพิ่มถึง 3 เท่า เชื่อว่าจะทำให้ลดปริมาณขยะลงได้มาก
ด้าน “สังคมดี” มีโครงการ BKK Food Bank ส่งต่ออาหารส่วนเกินให้กลุ่มเปราะบาง ส่งต่ออาหารที่ยังไม่หมดอายุให้ผู้ต้องการไปแล้ว 104,514 คน รวม 3,532,185 มื้อ คิดเป็นน้ำหนัก 800,000 กก. ลดการปล่อยคาร์บอนได้กว่า 2,127,721.28 kgCO e เทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 115,598 ต้น และเปิด BKK Food Bank ครบ 50 เขต มีต่างชาติมาดูงาน เรามีทะเบียนกลุ่มเปราะบาง 50 เขต อยู่ 23,000 คน แจกไปแล้ว 5,000-6,000 คน อนาคตจะครอบคลุมได้หมด
ในส่วนการปรับปรุงประปาแม้นศรี เพื่อรองรับคนไร้บ้าน ได้งบประมาณแล้วอยู่ระหว่างประมูลหาผู้รับจ้างดำเนินการ จะเปิดในปี 2568 เพื่อเป็นจุดรับคนไร้บ้านอย่างเป็นรูปธรรมเป็นระบบ เป็นที่พักชั่วคราว ลงทะเบียนทำบัตรประชาชน ดูสิทธิ์ ตรวจสุขภาพ หางานให้ มีที่แจกอาหารไม่ต้องไปตามถนน นอกจากนี้ ยังมีโครงการพัฒนาศูนย์กีฬาหลายจุด มีความร่วมมือกับเอกชนที่มาช่วยกัน เช่น ที่ศูนย์กีฬาสวนเบญจกิติ เป็นต้น
ด้าน “สุขภาพดี” ได้ให้ความสำคัญกับเส้นเลือดฝอยโดยพัฒนาระบบสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ที่ผ่านมามีการก่อสร้าง/ปรับปรุง ศูนย์บริการสาธารณสุขมากกว่า 50 แห่ง และแผนก่อสร้างโรงพยาบาลใหม่ 3 แห่ง ที่ภาษีเจริญ สายไหม และทุ่งครุ รวมถึงกำลังก่อสร้างอาคารใหม่ที่โรงพยาบาล ลาดกระบัง บางนา และคลองสามวา จะเปิดให้บริการในเร็วๆ นี้ และยังมี Health Tech (ศูนย์เทคโนสุขภาพดี) เป็นคลินิกออนไลน์ ใช้เทคโนโลยีเชื่อมหมอกับคนป่วย อํานวยความสะดวกประชาชนผ่าน Telemed เปิดแล้ว 7 แห่ง
โครงการตรวจสุขภาพล้านคน เป็นประวัติศาสตร์ของ กทม. ที่มีการตรวจแบบละเอียด ให้บริการตรวจไปแล้วประมาณ 7 แสนคน น่าจะตรวจได้ถึง 1 ล้านคน เราจะได้ฐานข้อมูลสุขภาพประชาชนที่ละเอียดเป็นข้อมูลสำคัญที่จะช่วยในการให้บริการได้ตรงจุดเป้าหมาย และเป็นประโยชน์กับประชาชนมีหลายคนเพิ่งได้รู้ว่าตัวเองป่วยและได้เข้ารับการรักษา ถือเป็นเรื่องที่ดีมาก อีกเรื่องคือ การทำหมันหมา-แมว ก็เป็นเรื่องใหญ่ เป็นปัญหาสำคัญที่เรายังมีโรคพิษสุนัขบ้าอยู่ ปี 2567 เราทำหมันหมา-แมว ไปแล้ว 36,387 ตัว ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าไป 177,277 ตัว ต้องพยายามขยายผลตรงนี้ เพราะยังมีคนบ่นโดยเฉพาะปัญหาแมวจรจัดที่จับยาก
ด้าน “เศรษฐกิจดี” มีการจัดระเบียบหาบเร่-แผงลอย ทำให้คนเข้าสู่ระบบค้าขายอย่างถูกต้อง ไม่ต้องมาเอาที่สาธารณะ ได้จัดระเบียบไป มากกว่า 350 จุด ผู้ค้าลดลงกว่า 5,300 ราย จะเห็นว่าหลายจุดดีขึ้น เช่น โบ๊เบ๊ ตลาดลาว สาทร สีลม สุขุมวิท หลังสวนก็จัดระเบียบได้ดีเป็นระเบียบ ขณะเดียวกันก็จัดหาพื้นที่ทดแทนให้ผู้ค้า และได้ประกาศเกณฑ์หาบเร่แผงลอยใหม่นำเข้าสู่ระบบภาษีเพื่อไม่ให้คนรวยเข้ามาใช้ที่สาธารณะในการทำมาหากิน ก็จะเป็นธรรมมากขึ้น รวมถึงมีการตั้งHawker Center ร่วมมือกับการทางพิเศษฯ ใช้พื้นที่ใต้ทางด่วน และมีที่ด้านข้างศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า) และกำลังทำที่สวนลุมพินี นอกจากนี้ มีทำถนนคนเดินหลายจุดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย
ด้าน “ปลอดภัยดี” เป็นเรื่องสำคัญ กรุงเทพฯมีคนตายจากอุบัติเหตุเยอะมาก ได้ทำหลายเรื่องเพื่อให้อุบัติเหตุลดลง และให้ปลอดภัยในการเดินทาง วัดได้จากสถิติอุบัติเหตุทางถนนของกรุงเทพฯ (ม.ค.-ก.ย.2566) 677 ราย (ม.ค.-ก.ย.2567) 617 ราย ลดลงประมาณ 9% ขณะที่ทั้งประเทศลด 1% เชื่อว่าเป็นผลมาจากการทำหลายๆ เรื่องรวมกัน นายชัชชาติกล่าวและว่า
โครงการเปลี่ยนโคมไฟ LED เปลี่ยนไปแล้วมากกว่า 85,000 ดวง ตั้งเป้าจะเปลี่ยนอีก 41,000 ดวงในปี 2568 ภายในวาระน่าจะเปลี่ยนได้ถึง 2 แสนดวง โครงการปรับปรุงทางม้าลายมาตรฐานใหม่ทั่วกรุงเทพฯ ติด AI CCTV จับ-ปรับขับขี่บนทางเท้า ติดแล้ว 100 จุด ณ พ.ย. 2567 จับไปแล้ว 55,000 คดี เอาจริงจับ-ปรับจริงจัง รวมถึงจับรถบรรทุกน้ำหนักเกิน เป็นครั้งแรกที่มีการติดเซ็นเซอร์ใต้สะพานทุกสะพานในกรุงเทพฯ ตรวจจับรถบรรทุกน้ำหนักเกินอัตโนมัติ จับปรับไปแล้ว49 คัน นอกจากนี้ เรื่องความปลอดภัยยังมีในส่วนสถานีดับเพลิง มีโครงการก่อสร้าง/ปรับปรุง 17 แห่ง และแจกถังดับเพลิงมือถือ 36,000 ถัง พร้อมระบุพิกัดทุกชุมชนแล้ว
ด้าน “เรียนดี” ได้เปิดรับอนุบาล 3 ขวบ ลดอายุเข้าเรียน เพิ่มเวลาผู้ปกครอง ดําเนินการแล้ว 300 ห้องเรียนนักเรียน 5,576 คน มี Digital classroom ที่ กทม.เน้นให้ความสำคัญมาก เพราะห้องเรียนปกติมีครูคนเดียว เด็กเก่งและปานกลางจะเสียโอกาสในการพัฒนาการเรียนการใช้ Digital classroom จะช่วยให้เด็กปรับเป้าการเรียนของตัวเองได้ ซึ่งทดสอบแล้วคะแนนของเด็กในทุกวิชาเพิ่มสูงขึ้น 28% ก็จะขยายผลไปทุกโรงเรียนให้โรงเรียนกทม. เป็นโรงเรียนที่มีคุณภาพเท่ากับเอกชนให้ได้
“เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้ปัญหาน้ำท่วมหรือจราจร เพราะเรามีเด็ก 250,000 คนอยู่กับเรา ถ้าทำให้เด็กมีคุณภาพดีได้ เขาจะเป็นทรัพยากรที่สำคัญมากๆ สุดท้ายเมืองจะดีขึ้นได้ แต่ต้องบอกว่าเรื่องการพัฒนาโรงเรียนจะเห็นผลยากทำไม่ได้ง่าย ไม่เหมือนกับเรื่องน้ำท่วมที่ทำแล้วคนจะเห็นว่าน้ำลดเร็ว เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ความอดทน แต่เชื่อว่าที่ผ่านมาเราได้ทำเรื่องไปเยอะและจะเห็นผลในไม่กี่ปีข้างหน้านี้”
ด้าน “บริหารจัดการดี” งบ 200,000 บาท/ชุมชน เป็นเรื่องที่ประชาชนชอบ เป็นการกระจายอํานาจการตัดสินใจให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม มีสิทธิกําหนดสิ่งที่ต้องการพัฒนาเอง ปี 2567 มีชุมชนเข้าร่วมโครงการมากขึ้น 300 ชุมชน เบิกจ่ายงบประมาณไปเกือบ 60% นอกจากนี้ มีการแก้กฎหมายก่อสร้างที่ซ้ำซ้อน ทําข้อบัญญัติควบคุมอาคารใหม่ ออกกฎควบคุมแสงสว่างป้ายโฆษณา ออกกฎหมายควบคุมก่อสร้าง-ดัดแปลงอาคารและออกกฎหมายควบคุมก่อสร้างสะพานข้ามคลองส่วนเรื่องการจัดเก็บภาษี ทำได้มีประสิทธิภาพ ปีที่ผ่านมากทม.เก็บภาษี (ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ป้าย) ได้ 120% เกินเป้าที่กําหนด ปีนี้จะขยายผลไปมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ได้ขอเปลี่ยน พ.ร.บ. เพื่อให้เก็บภาษีบุหรี่ ภาษีน้ำมัน และภาษีโรงแรมให้ครอบคลุม วันนี้เรื่องยังอยู่ที่กระทรวงมหาดไทย นโยบายทั้งหมดได้ตั้งเป้าหมายให้ทุกเขตไปดำเนินการ รวมเป้าหมายการทำงานในปี 2568 (34 เป้า) ที่ทุกเขตจะต้องไปผลักดัน โดยผู้บริหารจะต้องลงไปติดตามเนื้องานเรื่องที่ไม่ได้ตามเป้าหมายต่อเนื่องด้วย เช่น การก่อสร้างสถานีดับเพลิง การรุกล้ำคลองเปรมประชากร เป็นต้น
**งานที่จะเน้นทำในปี 2568
ครับ ปี 2568 สิ่งที่ต้องทำเร่งด่วน คือ การจราจร เพราะเป็นเรื่องที่ประชาชนต้องการให้แก้ไขอย่างมาก ตรงนี้ถ้ามีอำนาจเต็มจะสามารถเข้าแก้ไขได้มากกว่าที่เป็นอยู่ เรื่องต่อมาเกี่ยวกับสาธารณสุข และการศึกษา โดยจะขับเคลื่อนให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น ทำให้คน กทม. รู้สึกว่ามีความเปลี่ยนแปลง ส่วนงานที่ทำได้ดีขึ้นปัจจุบัน คือ เรื่องแก้ไขปัญหาน้ำท่วม การพัฒนาจัดระเบียบทางเท้าสวนสาธารณพื้นที่สีเขียว และกิจกรรมงานศิลปะต่างๆแต่สิ่งที่ภูมิใจมากที่สุด ช่วง 2 ปีกว่าที่ผ่านมา คือ การได้รับความไว้ใจจากประชาชน วันนี้ประชาชนให้ความร่วมด้วยช่วยกันสูงมาก
อย่างไรก็ตาม โครงการใหญ่ที่จะทำถือว่าสำคัญมากๆ เร่งด่วนด้วย คือ การก่อสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่ตามแผน 3 แห่ง, โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน วงเงิน 2,000 ล้านบาท หากครม.ผ่าน ก็เริ่มได้ โครงการก่อสร้างศูนย์ราชการฝั่งธนบุรี ที่เขตคลองสาน บนเนื้อที่ 12 ไร่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสำนักการศึกษา กับสำนักงานเขตคลองสาน แผนจะสร้างเป็นศูนย์ราชการเชื่อมโยงหน่วยราชการในพื้นที่ มีหอศิลป์ พื้นที่สาธารณะที่มีคุณภาพกำลังอยู่ระหว่างการออกแบบ และเจรจากรมเจ้าท่า
**2 ปี 6 เดือน ให้คะแนนการทำงานอย่างไร
การจะให้คะแนนตัวเองในการทำงานที่ผ่านมานั้น ผู้ให้ที่ดีต้องประชาชน ถ้าประชาชนับได้ หรือเนื้อเม็ดงานที่ทำลงไปประชาชนมีความสุข คะแนนย่อมสูง แต่ถ้าเสียงสะท้อนประชาชนขาดความไว้วางใจไม่มีความสุข การจะให้คะแนนตัวเองขาดการยอมรับจากประชาชนเป็นสิ่งที่น่าห่วง อย่างไรก็ตาม จากการที่ได้สัมผัสกับประชาชน
บอกได้ว่า ประชาชนส่วนใหญรับได้ ส่วนทีมงานรองผู้ว่าฯกทม.นั้น คนเป็นผู้ว่าฯกทม.ให้คะแนนได้ 8-9 คะแนน
พรสวรรค์ จรเจริญ...สัมภาษณ์
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี