“ศ.ดร.สุชาติ”แนะรัฐบาล ควรกำหนดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อเป็น 2-4% จึงจะฟื้นเศรษฐกิจให้โตได้ 4-5% การกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้ออย่างเดิม เศรษฐกิจก็โตต่ำอย่างเดิม
เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2567 ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และอดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เมื่อ 25 ธ.ค.67 กระทรวงคลังได้เสนอ และคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ กรอบเงินเฟ้อ 1-3% เช่นเดิม สำหรับปี 2568 โดยแบงค์ชาติไม่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชน หากเงินเฟ้อสูงกว่าหรือต่ำกว่ากรอบฯ เพียงเขียนคำรายงานอันนี้จะทำให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ยาก เพระกรอบต่ำเกินไปเช่นที่เกิดขึ้นในปี 2567 รัฐบาลควรกำหนดกรอบเงินเฟ้อในปี 2568 เป็น 2-4% และให้ผู้ว่าแบงค์ชาติ และกรรมการนโยบายการเงิน ต้องรับผิดชอบเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบ
ศ.ดร.สุชาติ กล่าวต่อว่า เงินเฟ้อต่ำเกินไปทำให้ประเทศไม่เจริญเติบโตมากว่า 10 ปีแล้ว เงินเฟ้อที่ต่ำมากๆ ถึงขั้นติดลบ เพราะดอกเบี้ยที่แท้จริงสูงไป นอกจากจะทำให้การลงทุนเอกชนน้อยแล้ว ยังทำให้ค่าเงินบาทแข็งเกินไป มีผลให้การส่งออกน้อย และการลงทุนจากต่างประเทศน้อยด้วย เพราะเงินต่างประเทศซื้อของในประเทศไทยได้น้อย เทียบกับการซื้อของในเวียดนาม อินโดนีเซียและอีกหลายประเทศ นอกจากนี้ ยังทำให้ค่าไฟฟ้าที่แพงเกินไปอยู่แล้ว แพงขึ้นไปอีกในสายตานักลงทุนต่างประเทศ
"กรอบเงินเฟ้อที่ต่ำเกินไป เป็นเรื่องใหญ่มาก" ที่ทำให้ประเทศไทยไม่เจริญ ไม่พัฒนา สินค้าที่ผลิตล้าสมัย ขายไม่ได้ ไม่มีเงินมาลงทุนใหม่ ปรัชญาคือ ราคาที่แพงไป ทำให้ขายของไม่ได้ ทำให้ประเทศไม่เจริญ เครื่องมือเครื่องจักรไม่ได้พัฒนา ราคาของในระบบเศรษฐกิจมหภาค คือ อัตราดอกเบี้ย อัตราเงินเฟ้อ และอัตราแลกเปลี่ยน ถ้าราคาเหล่านี้ไม่ถูกต้องเหมาะสม แข่งขันไม่ได้ ประเทศก็ไม่พัฒนา เราจะไปเรียกใครมาลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ เขาก็ไม่มา เขาไปเวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ก่อนครับ" ศ.ดร.สุชาติ กล่าว
ศ.ดร.สุชาติ กล่าวอีกว่า มีคนจำนวนมากรวมทั้งในแบงค์ชาติ ไม่เข้าใจว่า "ทำไมเศรษฐกิจไทยจึงเติบโตต่ำ" ไปโทษเรื่องสินค้าล้าสมัย การส่งออกน้อย การใช้กำลังการผลิตต่ำ การลงทุนน้อย เทคโนโลยีต่ำ แต่ความจริงมาจากค่าเงินบาทแข็งมากๆเกินไป ทำให้ส่งออกไม่ได้ การใช้กำลังการผลิตจึงต่ำ ทำให้การลงทุนน้อย ไม่มีเงินมาซื้อเทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่มีภาษีมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งฮาร์ดแวร์และดิจิทัล เงินบาทแข็งไปมาจากดอกเบี้ยสูงไป มีปริมาณเงินบาทในระบบเศรษฐกิจน้อยเกินไป คือมีน้ำในบ่อน้อย ปลาก็ไม่โตครับ แค่เติมน้ำในบ่อให้พอดีเต็ม ปลาก็โตแล้วครับ
ศ.ดร.สุชาติ กล่าวว่า เทียบ 20 ปีที่ผ่านมา เงินบาทไทยแข็งกว่าทุกประเทศในโลก รวมทั้งจีนและสหรัฐ แข็งกว่าอินเดีย 2.58 เท่า แข็งกว่าเวียดนาม 1.6 เท่า แบงค์ชาติเป็นผู้คุมปริมาณเงินบาท หากมีการขึ้นดอกเบี้ยและขายพันธบัตรแบงค์ชาติออกมา ปริมาณเงินบาทในระบบเศรษฐกิจก็ลดลงครับ
แนวคิดที่ว่า รัฐบาลสามารถเพิ่มปริมาณเงินบาทได้เอง เช่น ไปกู้หรือไปขึ้นภาษีมาใช้จ่ายนั้น เป็นการไปเอาน้ำจากฝั่งหนึ่งของบ่อไปใส่อีกฝั่งหนึ่ง ปริมาณน้ำในบ่อแทบไม่เพิ่มขึ้นครับ
เมื่อมีการลดดอกเบี้ยลง ปริมาณเงินบาทจะเพิ่มขึ้น แล้วก็จะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลงครับ สมมติว่าอ่อนลง 10% เราจะได้รายได้จากการส่งออกเป็นเงินบาทเพิ่มขึ้นอีก 1.2 ล้านๆ บาทเลยทีเดียว (เราส่งออกเป็นเงิน $ คิดเป็นเงินบาทปีละ 12 ล้านๆ บาท) บวกเข้าไป ในสมการ GDP=C+I+G+(X-M) ความจริง Exports (X) เป็นตัวแปรเดียวที่เป็นรายได้ ตัวอื่นๆ ทุกตัวเป็นรายจ่าย (ในที่นี้ ยังไม่นับปริมาณการส่งออกและท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากเงินบาทอ่อนค่าลง)
"การลดดอกเบี้ยและการปรับค่าเงินบาทให้เหมาะสมแข่งขันได้ จึงมีผลต่ออัตราความเจริญของประเทศ มากกว่าการที่รัฐบาลไปกู้หรือเก็บภาษีเพิ่มมาใช้จ่าย อย่างมากครับ" ศ.ดร.สุชาติ กล่าว
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี