‘บัญญัติ’ทำนายปี68 ปีแห่งความ‘รุ่มร้อน’ จาก3 ปัจจัยหลักสารพัดปัญหารุมเร้า ทำรัฐบาล‘ร้อนรุ่ม’ ชี้‘ทักษิณ’ตัวเร่งปรอทให้สังคมอึดอัดต่อกระบวนการยุติธรรม จนต้องลงถนน ส่วนรัฐบาลมีเอกภาพ‘จอมปลอม’ เล่นเกมหยุมหัวชิงความได้เปรียบกันตลอด จนเกิดปรากฎการณ์ใหม่พรรคร่วมอันดับรองดันพรรคแกนนำให้พ้นอำนาจ คาดฝ่ายค้านสบช่องเปลี่ยนแผนยื่นซักฟอกม.151 แทนอภิปรายทั่วไป
31 ธ.ค.67 นายบัญญัติ บรรทัดฐาน สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ วิเคราะห์ถึงสถานการณ์การเมืองในปี 2568 ว่าน่าจะเป็นปีแห่งความรุ่มร้อนและร้อนรุ่ม ด้วย 3 เหตุผล คือ
1. การเมืองในปีที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าค่อนข้างจะร้อนกันอยู่แล้ว ทั้งปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ประชาชนประสบความยากลำบากจากปัญหาเศรษฐกิจครัวเรือน แล้วยังเกิดน้ำท่วมใหญ่ในหลายพื้นที่ ยิ่งซ้ำเติมให้เดือดร้อนมากขึ้น ขณะเดียวกันการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลที่ผ่านมาใช้นโยบายประชานิยม ที่เป็นนโยบายเฉพาะหน้าทำได้เพียงชั่วครั้งชั่วคราว ไม่ได้แก้ที่รากฐานเพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน
แม้รัฐบาลจะประกาศว่าจะทำให้ตัวเลขจีดีพีทางเศรษฐกิจเติบโตให้อยู่ที่2.6 และ2.8 ตอนนี้ดูแล้วไม่เห็นมีปัจจัยอะไรที่สามารถค้ำจุนเศรษฐกิจให้มั่นคงแข็งแรงถาวรได้ ตอนนี้เศรษฐกิจของเราอยู่ได้จากการส่งออกกับรายได้จากการท่องเที่ยว รัฐบาลกำลังทุ่มให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวมากเป็นพิเศษ แต่ถ้าสังเกตให้ดีนโยบายฟรีวีซ่ากับชาวต่างชาติ ที่รัฐบาลภาคภูมิใจหนักหนา ต้องการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพและมีการใช้จ่ายสูง และเข้ามาพักหลายวัน แต่หลายคนในแวดวงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกลับไม่เป็นเช่นนั้น นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามากลายเป็นพวกที่ไม่มีคุณภาพ ทำให้การใช้จ่ายในประเทศไทยไม่มากเท่าที่ควร และสักระยะหนึ่งทุกอย่างจะแผ่วลง
ส่วนเรื่องรายได้จากการส่งออกที่หลายคนเป็นห่วง จากกรณีที่สหรัฐอเมริกาอาจจะมีการปรับเปลี่ยนนโยบายที่มีต่อจีน และอีกหลายประเทศที่เขามองว่าเสียดุล โดยหนึ่งในนั้นมีไทยด้วย ตนจึงคิดว่าไทยอาจอยู่ในเป้าหมายของสหรัฐฯด้วย และอาจโดนสองต่อ คือถ้าสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าจากไทย 10เปอร์เซ็นต์ เราก็จะแย่ และถ้าสหรัฐฯไปเล่นงานจีนหนัก ก็จะกระทบกับไทยด้วย เพราะจีนเป็นคู่ค้าสำคัญของเรา ขณะเดียวกันก็มีสินค้าราคาถูกจำนวนมากเข้ามาตีตลาดกับไทย ตนจึงเห็นว่าเศรษฐกิจในปีหน้ายังหวังอะไรไม่ได้ ประชาชนก็ยังประสบความลำบาก และยังรุ่มร้อนต่อไป และถ้าระดับเพิ่มมากๆทุกคนก็จะมากดดันมายังรัฐบาลให้ร้อนรุ่มไปด้วย
2.ปัญหาที่จะรุมเร้ารัฐบาลมากทั้งปัญหาสังคมเช่นยาเสพติด การฉ้อโกง การลักเล็กขโมยน้อย แต่สิ่งที่จะทำให้ประชาชนรู้สึกอึดอัด โดยเฉพาะผู้ที่ตื่นตัวทางการเมือง คือความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรม และการเลือกปฏิบัติ ถือเป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก แค่เฉพาะเรื่องกรณีของกรมราชทัณฑ์ที่เชื่อมโยงกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตนมองว่าเป็นปัญหาที่น่ากลัวมาก แม้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) และแพทยสภาเริ่มเคลื่อนไหวแล้ว แต่ก็ต้องติดตามดูว่าท้ายที่สุดจะออกมาเป็นอย่างไร ยังบอกไม่ได้ว่าผู้ที่เกี่ยวข้องกับนายทักษิณในเรื่องนี้จะไปให้ถ้อยคำกับทางป.ป.ช.อย่างไร
ส่วนเรื่องที่ดินเขากระโดงที่ จ.บุรีรัมย์ ตนเห็นว่าจะเป็นเรื่องใหญ่ได้เหมือนกัน เพราะคาราคาซังมานาน แม้ศาลจะมีคำพิพากษาแล้ว แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ยังไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล และเมื่อดูจากฝ่ายผู้ครอบครองที่ดินดังกล่าวไม่ใช่บุคคลธรรมดา และเขาพยายามออกมาต่อสู้ไม่ยอมแพ้ จึงไม่แน่ใจว่าเรื่องจะบานปลายมากน้อยแค่ไหน รวมถึงเรื่องปัญหาที่ดินอัลไพน์ที่ถูกพูดถึงอย่างมาก และดูเหมือนจะมีคนยื่นเรื่องให้องค์กรอิสระตรวจสอบแล้วเช่นกัน จึงถือว่าเรื่องเหล่านี้น่ากลัว
อีกทั้งปัญหาข้อขัดแย้งกรณีMOU 44 ระหว่างไทยกับกัมพูชา ก็ยังเกิดเป็นประเด็นได้ แม้รัฐบาลพยายามอธิบายว่าเป็นข้อตกลงที่ทำร่วมกันไว้เพื่อทำให้ไทยและกัมพูชามีการเจรจา โดยสิ่งที่น่าห่วงคือคำพูดของนายทักษิณที่บอกว่าหากการปักปันหรือแบ่งเขตพื้นที่ทับซ้อนยังมีปัญหาก็ให้ไปตกลงแบ่งผลประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติใต้ทะเลกันเสียก่อน เพราะถ้ายิ่งทิ้งเวลาไว้นานก็จะยิ่งไร้คุณค่า เพราะในอนาคตคนจะหันไปให้พลังงานบริสุทธิ์มากขึ้น และยิ่งหากจะให้ไปแบ่งผลประโยชน์แบบ50:50 ตนมองว่ามันทำไม่ได้
ส่วนฝ่ายที่ออกมาต่อต้านเรื่องนี้ก็มีเหตุผลเพราะเขาเรียกร้องให้จัดการพื้นที่เขตทับซ้อนบริเวณไหล่ทวีปให้เสร็จเสียก่อนที่จะไปแบ่งผลประโยชน์ทรัพยากรทางทะเล และถ้าแบ่งเขตพื้นที่ได้อย่างตรงไปตรงมา ตนเชื่อว่า90 เปอร์เซ็นต์ของทรัพยากรในพื้นที่นี้จะเป็นของไทย แต่ถ้าจะแบ่งกันแบบ50:50 หรือ 60:40 สังคมก็จะคัดค้าน และที่หนักกว่านั้นหากไปตกลงแบ่งทรัพยากรกันก่อนก็จะดูเหมือนเรายอมรับการอ้างสิทธิ์ของฝ่ายกัมพูชาว่ามีมูล หลายคนเกรงว่า หากปล่อยไว้นาน ไทยจะเจอกฎหมายปิดปากแบบคดีเขาพระวิหาร
“เรื่องการตั้งคณะกรรมการเจทีซี ตามเอ็มโอยูที่ยังคาราคาซัง ผมมองว่าการที่รัฐมนตรีเข้าประชุมครม.ไม่ครบ จนทำให้นายทักษิณอารมณ์เสีย ไปอาละวาดข้างนอก เพราะรัฐมนตรีกลัวเรื่องนี้ด้วย วันนั้นรัฐมนตรีหลายคนกลัวอยู่สองเรื่อง คือ การแต่งตั้งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ กับการแต่งตั้งคณะกรรมการเจทีซี เขาจึงไม่อยากไปรับรู้ด้วย”
นายบัญญัติ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีหลายเรื่องที่มีการร้องเรียนต่อองค์กรอิสระ โดยเฉพาะป.ป.ช.ที่จะผุดขึ้นมาในปี 2568 ซึ่งเป็นเรื่องที่มีมานานแล้ว ทั้งเรื่องความไม่ชอบธรรม ความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรม การเลือกปฏิบัติ จะยิ่งปรากฏชัดขึ้น และสังคมจะเกิดความรุ่มร้อนเหลืออดเหลือทนจนต้องลงมาบนถนน อาจเกิดขึ้นได้ ความรู้สึกเชื่อมั่นต่อรัฐบาลจะลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้รัฐบาลจะมีเสียงมากก็จริง แต่ความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างแท้จริงนั้นไม่น่าจะมี เพราะสังเกตได้ว่าในระยะหลัง มักจะมีการช่วงชิงความได้เปรียบระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเองมาตลอด
“นับตั้งแต่เริ่มตั้งรัฐบาล พรรคการเมืองอันดับสองใช้เกมช่วงชิงอำนาจกดดันพรรคแกนนำออกไปจากการเป็นผู้นำ ซึ่งในอดีตเราไม่เคยเห็นปรากฏการณ์นี้ มีแต่พรรคแกนนำอันดับหนึ่ง เป็นตัวกดดันพรรคร่วมรัฐบาลให้ออกไป แล้วเอาพรรคอื่นเข้ามาแทน แต่นี่กลับเล่นเกมกันตลอด โดยดึงพรรคที่ประกาศตอนหาเสียงว่าหัวเด็ดตีนขาดก็จะไม่ร่วมรัฐบาลมาร่วมด้วย ดังนั้น การร่วมรัฐบาลครั้งนี้เรียกได้ว่าเป็นการร่วมแบบหลวมๆ และจะช่วงชิงความได้เปรียบเสียเปรียบกันตลอด โดยเกมนี้จะร้อนแรงตลอดในปี68แน่นอน”นายบัญญัติ กล่าว
นายบัญญัติ กล่าวอีกว่า รวมถึงการช่วงชิงระดับท้องถิ่นในการเลือกตั้งนายกฯอบจ.ทั่วประเทศในวันที่ 1 ก.พ.68 ตรงนี้จะเป็นการตอกย้ำความกินแหนงแคลงใจระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน แต่ที่น่าอันตรายกับการพัฒนาประชาธิปไตย คือการช่วงชิงท้องถิ่นของบ้านใหญ่ เพื่อให้เข้ามาค้ำจุนเสถียรภาพของรัฐบาล ดังนั้นการจะแก้ปัญหาผู้มีอิทธิพลในสังคมไทยซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ ก็จะทำได้ยาก เมื่อท้องถิ่นที่มีอิทธิพลเชื่อมกับการเมืองใหญ่จะยิ่งมีอิทธิพลมากขึ้น ทำให้ข้าราชการยิ่งเกรงใจ
ในส่วนของฝ่ายค้าน นายบัญญัติ มองว่า บทบาทของฝ่ายค้านจะมีมากขึ้น การอภิปรายทั่วไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 คงไม่เกิดขึ้น แต่จะเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตามมาตรา 151 มากกว่า ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกต้อง และเป็นหน้าที่ที่ควรทำ หากสามารถทำให้รัฐบาลตั้งอยู่ในหลักในเกณฑ์ รัฐสภามีความแข็งแกร่งแก้ปัญหาของประเทศได้ ความจลาจลที่อาจเกิดขึ้นก็จะลดลง แต่ตนไม่มั่นใจว่าจะทำสำเร็จได้มากน้อยแค่ไหน ได้แต่ภาวนาว่าขอให้ทำได้ มิฉะนั้นอาจเกิดวิกฤตในประเทศอีกครั้งก็เป็นได้ ส่วนจะมาในรูปแบบไหนนั้น ไม่สามารถคาดเดาได้ แต่ความรู้สึกอึดอัดที่ได้รับมาตลอดในปี 2567 ตนยังมั่นใจว่าบทบาทของฝ่ายค้านในปีหน้า น่าดูชมได้พอสมควร
เมื่อถามว่าขณะนี้ทุกพรรคที่ร่วมรัฐบาลยังไม่อยากให้รีบมีการเลือกตั้งใหม่ จึงต้องช่วยประคองกันให้อยู่ครบ 4 ปี เพื่อแต่ละพรรคจะได้เก็บทรัพยากรให้ได้มากที่สุด นายบัญญัติ กล่าวว่า ก็เป็นเช่นนั้น ตนเคยพูดว่า “เขาคงโกรธง่ายหายเร็ว” เพราะถ้าลำดับปัญหาให้เห็นแล้วว่ามันมีมากมาย ถ้ายังใช้นโยบายเดิมๆ คิดแค่กระตุ้นเศรษฐกิจ ถามว่าจะเอางบมาจากที่ไหน ในเมื่อหนี้สาธารณะเกือบจะชนเพดานแล้ว ปัญหาเหล่านี้จะทำให้พรรคร่วมรัฐบาลคิดหนักว่าจะอยู่ล่มไปพร้อมๆกันหรือไม่
เมื่อถามว่าตัวที่เร่งให้การเมืองร้อนรุ่มมากยิ่งขึ้นคือนายทักษิณด้วยใช่หรือไม่ นายบัญญัติ กล่าวว่า นายทักษิณมีมีคนชื่นชมมาก แต่ก็มีคนที่เกลียดอยู่จำนวนไม่น้อย ตามคำโบราณที่ว่า “คนรักเท่าผืนหนัง คนชั่งเท่าผืนเสื่อ” พอมีการขับเคี่ยวกันหนักๆ มีการหยิบยกพฤติกรรมในอดีต และความล้มเหลวในระบอบทักษิณมาพูดให้สังคมรับรู้มากขึ้น ยกตัวอย่างวันนี้ หลายสื่อมีการหยิบยกคดีที่นายทักษิณแพ้ในอดีตขึ้นมาพูด และบางคดีที่ยังคาราคาซัง
“ผมมองว่าจะมีการหยิบยกมาพูดอีก ซึ่งก็เป็นการดีสังคมจะได้รับรู้ และเป็นบทเรียนด้วยว่าดูนักการเมือง อย่าดูเฉพาะหน้าฉาบฉวย หรือดูแต่นโยบายประชานิยมอย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูพฤติกรรมด้วยว่าอดีตที่มาเป็นอย่างไร และอนาคตจะเป็นอย่างไร” นายบัญญัติ กล่าว
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี