วันที่ 1 มกราคม 2568 นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “2568 ความต้องปรากฏ” ระบุว่า ผมได้รับหนังสือส่งตรงมาถึงผมด้วย ที่แสดงความห่วงใย กรณีการรักษาตัวนายทักษิณ ทั้งที่ รพ.ราชทัณฑ์ และ รพ.ตำรวจ ส่งตรงถึงประธานอนุกรรมการสอบสวนคดีจริยธรรม แพทยสภา ลงท้ายว่าเป็นสมาชิกแพทยสภา
ในฐานะที่ผมเป็นแพทย์ และได้รับเอกสารชิ้นนี้ด้วย ผมอ่านแล้วเข้าใจ กระจ่าง ผมจึงขอสรุปแปลเป็นภาษาชาวบ้าน เฉพาะประเด็นสำคัญๆ
1.โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือเพียงพอจริงหรือ ไม่มีทีมแพทย์และพยาบาลจริงหรือ จึงไม่สามารถรักษานายทักษิณได้ ต้องส่งตัวไปโรงพยาบาลตำรวจ รวมทั้งไม่สามารถรับตัวกลับไปรักษาที่ร.พ.ราชทัณฑ์
2.ผู้ป่วยที่อายุเกิน 70 ปี มีสภาพวิกฤติ ต้องส่งต่อ รพ.ตำรวจ และไม่สามารถย้ายกลับ รพ.ราชทัณฑ์ จะต้องมีหลักฐานและแลปที่สำคัญ ที่ตรวจแล้วยืนยันว่าเป็นผู้ป่วยวิกฤติตลอดการรักษาเช่น cardiac enzymes, electrolytes, blood gases, เอกซเรย์ปอด ซึ่งยืนยันสภาพการเจ็บป่วยวิกฤต
3.ห้องพักผู้ป่วยชั้นที่ 14 ซึ่งนายทักษิณพักอยู่ ที่โรงพยาบาลตำรวจ มีอุปกรณ์ที่จะดูแลผู้ป่วยวิกฤติ เช่นมีสถานีพยาบาลผู้ป่วยวิกฤต (Intensive Care Nursing Station) มีอุปกรณ์เพื่อบำบัดผู้ป่วยในวิกฤต เช่น ระบบการติดตามอาการผู้ป่วย (EKG, Oxygen Saturation, Blood Pressure Monitoring System) เครื่องช่วยหายใจ (ventilator) เครื่องดูดเสมหะ รวมทั้งมี การจัดเวรพยาบาลเฝ้าดูติดตามอาการตลอด 24 ชั่วโมงหรือไม่ มีบันทึกสัญญาณชีพ ปริมาณนำเข้า/ออก (intake / output)อาการทั่วไปและการตรวจเยี่ยมของแพทย์อย่างถูกต้องต่อเนื่องทุกวันตลอดการรักษาหรือไม่
4.การตรวจด้วยMRI(นายทวี สอดส่องเคยให้สัมภาษณ์ไว้) โดยปกติแล้ว จะไม่ทำในผู้ป่วยวิกฤติ ถือว่าเป็นข้อห้ามทำในผู้ป่วยวิกฤติ เพราะใช้เวลานานร่วมชั่งโมง ที่สำคัญผู้ป่วยต้องมีสัญญาณชีพปกติ(vital sign) การทำMRIจึงขัดแย้งกับอาการวิกฤติของนายทักษิณ
5.การส่องกล้องผ่าตัดที่หัวไหล่ (ที่ปรากฏตามข่าวว่าเป็นเอ็นเปื่อย???) ถือว่าเป็นการผ่าตัดที่รอได้ จะทำต่อเมื่อผู้ป่วยนั้นไม่มีภาวะวิกฤติแล้วเท่านั้น เพราะต้องใช้การวางยาสลบ (General Anesthesia)ซึ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงอย่างสำคัญโดยไม่จำเป็นต่อหัวใจ ระบบไหลเวียน และปอดในผู้ป่วยผู้สูงอายุมากกว่า 70 ปี (ดังนั้นถ้ามีการส่องกล้องผ่าตัดที่หัวไหล่ แสดงว่า ผู้ป่วยรายนี้ต้องไม่อยู่ในภาวะวิกฤติ ถ้าไม่วิกฤติ ทำไมไม่ส่งตัวกลับราชทัณฑ์)
6.ในทางตรงกันข้าม หากนายทักษิณ ชินวัตร มิได้ป่วยสภาพวิกฤตจริงแล้วไซร้ (ซึ่งยืนยันโดยพฤติการณ์ที่ได้รับการตรวจ MRI และ การผ่าตัดส่องกล้องข้อไหล่ภายใต้การวางยาสลบ) แพทย์ผู้ใดที่ได้ทำเอกสารสำแดงความเท็จรับรองว่าผู้ป่วยมีสภาพวิกฤต ย่อมประพฤติมิชอบ ฝ่าฝืนมาตรฐานวิชาชีพเวชกรรมอย่างร้ายแรง ใช้วิชาชีพแพทย์โดยทุจริตเพื่อช่วยให้ผู้ต้องโทษหลีกเลี่ยงการรับโทษจำคุกในทัณฑสถาน
7.ปรากฏขอเท็จจริงในทางการแพทย์ว่า ผู้สูงอายุที่อยู่ในโรงพยาบาลเพียงสัปดาห์เดียว ไม่ว่าจะต้องนอนอยู่ในเตียงตลอด หรือ จำกัดการเดินในห้องพักผู้ป่วย ย่อมจะเกิดภาวะสภาพการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อลีบลง
แต่ในผู้ป่วยรายนี้ ปรากฏต่อสาธารณะว่า นายทักษิณ ชินวัตรผู้ป่วยมิได้มีสภาพการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ ดังนั้นแล้ว จึงเป็นข้อพิรุธว่า ผู้ป่วยมิได้ป่วยด้วยสภาพวิกฤตตั้งแต่ต้น และ มิได้รับการรักษาแบบผู่ป่วยวิกฤตในโรงพยาบาลตำรวจ
หากนายทักษิณ ชินวัตรป่วยวิกฤตจริงแต่มีการทำกายภาพบำบัดเพื่อป้องกันสภาพมวลกล้ามเนื้อลีบ ย่อมจะต้องมีบันทึกของแพทย์ฟื้นฟู (Rehabilitation Medicine), นักกายภาพบำบัด (Physiotherapist), และ แพทย์สาขาผู้สูงอายุ(Geriatrician)อีกทั้งยังต้องมีการตรวจรักษาภายหลังจากออกจากโรงพยาบาล
นี่คือข้อสังเกตที่เพื่อนแพทย์ ในฐานะสมาชิกแพทยสภา ส่งตรงมาให้ผมได้อ่าน ผมจึงเอาบทสรุปที่สำคัญที่เขาวิเคราะห์ ทางการแพทย์นำมาให้อ่าน ดูแล้วถ้าทุกอย่างตรงไปตรงมา คณะที่ช่วยนายทักษิณน่าจะรอดยาก ปี2568 จึงเป็นปีแห่งความจริงต้องปรากฏ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี