สส.ไม่ใช่อาชญากร
‘วันนอร์’ชี้แรงเกินไป
โทษตัดสิทธิ์-ยุบพรรค
ลุยรื้อรธน.หาทางออก
“วันนอร์” ชี้นักการเมืองไม่ใช่อาชญากร มองโทษคดีการเมืองไม่ควรรุนแรงเกินความผิด ถึงขั้นตัดสิทธิ์-ยุบพรรค หากยุบแล้วสร้างใหม่ พรรคการเมืองจะอ่อนแอตลอด หนุนแก้รัฐธรรมนูญหาทางออก “ชูศักดิ์” เมินเสียงค้าน แก้รธน.ต้องทําประชามติ 3 ครั้ง-ขู่ร้อง ม.157 ระบุ หากถูกยื่นศาล เป็นโอกาสให้ชี้ขาด เผย พท.ถกเสนอร่างประกบ 7 ม.ค.นี้
วันที่ 2 มกราคม 2568 ที่รัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์กรณีสถานการณ์การเมืองปี 2568 มีโอกาสเกิดคดีความที่นำมาสู่การยุบพรรคการเมือง และตัดสิทธิ สส. โดยระบุว่า เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับองค์กรที่มีหน้าที่วินิจฉัย ไม่อยากมองในแง่ร้ายอย่างเดียวว่าทุกคดีจะจบที่การยุบพรรค หรือตัดสิทธินักการเมือง ส่วนตัวมองว่ากฎหมายที่เป็นอยู่ในขณะนี้อาจจะมีความรุนแรงมากไป ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เรากำลังทำอยู่นี้ อาจจะช่วยแก้ไขสิ่งเหล่านี้ไปได้ ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องไม่มีกฎหมายบังคับในทางการเมือง แต่โทษยุบพรรคหรือตัดสิทธิตลอดชีวิตจะค่อนข้างรุนแรงเกินไป เพราะนักการเมืองไม่ใช่อาชญากร
“นักการเมืองไม่ใช่อาชญากร เขาใช้สติปัญญา อาจจะตรงบ้างไม่ตรงบ้าง ถ้าเราคิดว่านักการเมืองไม่ใช่อาชญากร โทษจึงควรสมควรกับความผิด ไม่ใช่การตัดสิทธิ 10 ปี 20 ปี ตลอดชีวิต หรือยุบพรรค พรรคการเมืองเป็นของประชาชน ไม่ควรจะยุบ เราควรส่งเสริมให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง หากยุบพรรคแล้วไปสร้างใหม่ พรรคการเมืองก็จะอ่อนแอตลอด” นายวันมูหะมัดนอร์กล่าว
นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ว่า นายวันมูฮะหมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร จะใช้อำนาจสั่งบรรจุร่างแก้ไขมาตรา 256 ที่เสนอโดยพรรคประชาชน (ปชน.) จากเดิมที่จะไม่บรรจุ เพราะกลัวจะขัดต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ แต่ความเห็นของฝ่ายกฎหมายสภาฯ เปลี่ยนแปลงไป และได้มีการประสานไปยังแต่ละพรรคการเมืองว่า จะเสนอร่างประกบด้วยหรือไม่ ในส่วนพรรคเพื่อไทย ก็เคยเสนอไปแล้ว เพียงแต่ไม่ได้บรรจุ ซึ่งพรรคจะประชุมกันในวันที่ 7 มกราคมนี้ ว่าจะเสนอร่างที่มีอยู่แล้วหรือไม่
นายชูศักดิ์ กล่าวว่า สาระสำคัญของร่างพรรคเพื่อไทย คือการแก้มาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 ว่าด้วยการมี สสร.200 คนแบ่งตามจังหวัดและจำนวนประชากร
เมื่อถามว่า มีคนออกมาท้วงว่าหากไม่ทำประชามติ 3 ครั้ง จะผิดกฎหมาย นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ยังมีความเห็นแตกต่างกันอยู่ แต่ถ้าบรรจุไปแล้ว และหากมีคนขอให้ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก็ถือเป็นเรื่องดีจะได้วินิจฉัยไปเลยว่าสรุปแล้วจะเป็น 2 หรือ 3 ครั้ง ทั้งนี้ หากทำประชามติ 2 ครั้ง มีโอกาสที่การแก้รัฐธรรมนูญจะเสร็จทันรัฐบาลนี้ เพราะจะย่นเวลาจากที่รอ 180 วัน
เมื่อถามถึงกรณีนายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา ระบุว่าการแก้มาตรา 256 เลย โดยไม่ทำประชามติก่อน เสี่ยงจะถูกร้องกฎหมายอาญามาตรา 157 นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เราทำตามอำนาจหน้าที่ของสภาฯ ไม่ต้องวิตกกังวล ที่ผ่านมาเราคิดเรื่องนี้กันมากแต่ลืมไปว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของสภาฯ เราก็ทำโดยสุจริตไม่ต้องกลัวอะไร ใครจะร้องก็ว่ากันไป
เมื่อถามถึงความคืบหน้าร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของพรรคเพื่อไทย นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้มีการพิจารณาว่าจะยื่นประกบกันหรือไม่ ซึ่งเชื่อว่าเรื่องนี้จะมีการพิจารณาในช่วงปลายสมัยประชุม ซึ่งในส่วนของพรรคเพื่อไทยได้ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเสร็จแล้ว แต่ให้รอดูสถานการณ์ก่อนว่าจะยื่นตอนไหน ยืนยันว่าร่างของพรรคเพื่อไทยไม่มีนิรโทษกรรม มาตรา 112
ด้านนายนิกร จํานง เลขานุการกรรมาธิการร่วมเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ กล่าวถึงกรณีสภาผู้แทนราษฎร เตรียมพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และหมวด 15/1 ที่นายพริษฐ์ วัชรสินธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน เป็นผู้เสนอ ว่า เป็นความพยายามที่ตนเอาใจช่วย แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด เพราะมีอุปสรรคและปัญหาทางนิติศาสตร์ อาจมีสมาชิกรัฐสภาเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ว่าทําได้หรือไม่ แต่ถ้าไม่มีการยื่นศาล ก็อาจมีปัญหาเหมือนปี 2563 ที่สมาชิกรัฐสภามีความกังวลในการลงคะแนนสนับสนุนร่างแก้ไข มาตรา 256 เพราะเป็นการกระทำที่ขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากไม่มีการทำประชามติก่อน และจะเสี่ยงถูกร้องกฎหมายอาญา มาตรา 157 และผิดมาตรฐานจริยธรรม นำไปสู่การถอดถอนได้
นายนิกร กล่าวต่อว่า เชื่อว่าการพิจารณาในวาระ 1 โอกาสผ่านยากมาก แต่ถ้าผ่านไปได้ การตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) ในวาระ 2 ก็ยากพอกัน เพราะเนื้อในร่างแก้ไขของพรรค ปชน. ไปหักอํานาจของวุฒิสภา เน้นสภาผู้แทนราษฎรมากเกินไป นอกจากนี้ ยังไปถอด (8) ออกหมด ทําให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 1 และหมวด 2 รวมถึงอำนาจขององค์กรอิสระ รัฐสภา และคณะรัฐมนตรี ไม่ต้องทำประชามติ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเปลี่ยนหลักการสำคัญ เชื่อว่าจะมีแรงต่อต้านค่อนข้างมาก และจะมีปัญหาในวาระ 3 แน่นอน
นายนิกร กล่าวอีกว่า การพิจารณาร่างแก้ไขมาตรา 256 จะทําให้เกิดความขัดแย้งที่รุนแรงระหว่างสองสภา อภิปรายปะทะกันหนัก ดังนั้น ต้องระวังผลกระทบที่จะตามมาให้มาก หากไม่ได้อะไรขึ้นมา มีแต่จะเกิดบาดแผลความขัดแย้งที่ลึกลงไปอีก
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี