‘สว.พันธุ์ใหม่’ย้ำชัด
สนับสนุนร่าง‘ปชน.’
ทำรธน.ใหม่ทั้งฉบับ
อ้าง‘เจตจำนงปชช.’
“สว.พันธุ์ใหม่” แถลงจุดยืน หนุนร่าง“ปชน.”ทำรธน.ฉบับใหม่ทั้งฉบับ โดยส.ส.ร.เพื่อยึดโยงกับประชาชน ยินดีให้ตัดอำนาจสว. 1 ใน 3 ให้ความเห็นชอบการแก้ไขรธน.
และตัดอำนาจโหวตเลือกกรรมการองค์กรอิสระ เหตุไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน จี้รัฐบาลยื่นร่างประกบ เพื่อแสดงความจริงใจ”ราเมศ”ค้านสุดตัว ชี้เจตนาแฝงชัดเจนเปิดช่องแก้ไขเพิ่มเติมตัดทอนหมวด 1-2
เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2568 ที่รัฐสภา สว.กลุ่มพันธุ์ใหม่ นำโดย น.ส.นันทนานันทวโรภาส สว. ร่วมกันแถลงจุดยืนเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลังจากมีกระแสข่าวการสนับสนุน และคัดค้านร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของพรรคประชาชน (ปชน.) โดยยืนยันว่า จุดยืน สว.พันธุ์ใหม่ คือสนับสนุนร่างของพรรคประชาชน ที่มีเนื้อหาลดอำนาจ สว. ที่กำหนดจำนวน 1 ใน 3 ที่ต้องเห็นชอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระแรก โดยอ้างอิงว่า สว.ชุดนี้ไม่ได้มาจากประชาชน จึงไม่สามารถอ้างว่าเป็นตัวแทนของประชาชนทั้งประเทศได้“เรายินดีสละอำนาจในการลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ และคิดว่าหากให้ตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริงหรือสส. เป็นผู้ลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นสิ่งที่ตรงกับความต้องการของประชาชนมากที่สุด จึงสนับสนุนร่างนี้”น.ส.นันทนา กล่าว
น.ส.นันทนา กล่าวว่า นอกจากนี้เราสนับสนุนในการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) 100เปอร์เซนต์ เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ ส่วนวิธีการคุยกันในรายละเอียด โดยหลักการเห็นด้วยว่าผู้ที่ร่างรัฐธรรมนูญควรเป็นตัวแทนที่ประชาชนเลือกมาโดยตรง จึงจะได้รัฐธรรมนูญที่เป็นฉบับของประชาชนและเป็นไปตามเจตจำนงของประชาชนจะได้ถูกบรรจุในกฎหมายสูงสุดของประเทศ และเห็นว่าหากไม่ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับอาจจะทำให้มีมรดกเผด็จการยังคงอยู่
นรเศรษฐ์ ปรัชญากร สว. กล่าวเสริมว่า สว. ชุดปัจจุบันไม่ได้มาจากการยึดโยงของประชาชน 100 เปอร์เซ็นต์ แต่มาด้วยกระบวนการที่แปลกประหลาด และเห็นว่าด้วยอำนาจที่จะต้องโหวตให้ความเห็นชอบกับบุคคลดำรงตำแหน่งกรรมการในองค์กรอิสระ ควรที่จะยึดโยงกับประชาชนมากกว่านี้ และพร้อมเปิดทางการตัดอำนาจ สว. ที่จะสรรหาบุคคลดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และพร้อมที่จะให้มีการแก้ไขให้มีการเลือก สว. โดยตรงจากประชาชน
ด้านนายเทวฤทธิ์ มณีฉาย สว. แถลงเรียกร้องให้รัฐบาลเสนอร่างของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เข้าร่วมประกบด้วยไม่ใช่เพียงร่างของพรรคเพื่อไทยเท่านั้น หลังรัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเอาไว้ เพื่อย้ำเจตนาอารมณ์ว่ารัฐบาลมีเจตนารมย์นี้จริง และเพื่อพิสูจน์ความจริงใจ และชี้แจงว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องทำใหม่ทั้งฉบับไม่เคยมีการกำหนดว่าห้ามแตะหมวด1 หรือหมวด2 เพราะมีการกำหนดไว้อยู่แล้วว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือรูปแบบของรัฐ
“ไม่รู้ว่าคนที่กังวลว่าจะไปแตะหมวด1 หมวด2 กังวลยังไง และที่ผ่านมารัฐธรรมนูญปี 2540และรัฐธรรมนูญปี 2550 รวมถึงรัฐธรรมนูญปี 2560 มีการแก้ไขหมวด1 และหมวด2 ให้สอดคล้องกับเนื้อหาทั้งหมดอยู่แล้วทั้ง มาตรา3 มาตรา5 มาตรา7 มาตรา 11” นายเทวฤทธิ์ กล่าว
ที่รัฐสภา นายพริษฐ์วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) ให้สัมภาษณ์กรณีที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมมาตรา 256 ที่พรรคประชาชนเสนอเข้าไปว่า มีเนื้อหาสาระสำคัญอยู่ 2 เรื่องคือการเพิ่มหมวด 15/1 คือการให้สภาร่างรัฐธรรมนูญให้ทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เรื่องที่สองเป็นการแก้ไขเกี่ยวกับเกณฑ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งมาถึงวันนี้เราก็รอดูอยู่ว่าจะมีร่างอื่นเข้ามาประกบหรือไม่ เพราะเห็นว่าอาจจะมีสมาชิกรัฐสภาบางส่วนที่มีความเห็นต่างในเชิงรายละเอียดอยู่บ้าง ซึ่งโดยร่างที่คิดว่าจะมีการยื่นประกบเข้ามาคือ ร่างของพรรคเพื่อไทย (พท.) และคาดหวังว่าร่างดังกล่าวจะไม่ต่างไปจากร่างของพรรคเพื่อไทยเคยยื่นเมื่อปี 67 และคิดว่าควรจะมีคือร่างของคณะรัฐมนตรี เพราะเรื่องการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นนโยบายที่รัฐบาลได้เคยประกาศต่อรัฐสภา และสัญญากับประชาชน
ส่วนจะมีการพิจารณาร่างแก้ไขแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ในวันไหนนั้นจากที่มีการพูดคุยกับวิป4 ฝ่ายที่ผ่านมาเราได้มีการพูดคุยกันเบื้องต้นว่า หากร่างเกี่ยวกับ ส.ส.ร.หรือมาตรา 256 บรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมเราจะหยิบมาเป็นร่างหลักในการพูดคุยกัน ในวันที่มีการประชุมรัฐสภาในวันที่ 14 - 15 มกราคม และคิดว่าในการประชุมวิป3 ฝ่ายในวันที่ 8 มกราคม ก็น่าจะเห็นตรงกับที่เคยตกลงกันไว้
เมื่อถามว่า พรรคเพื่อไทยอาจกังวลเรื่องการไม่ได้เสียงในการแก้ไขจาก สว.จึงทำให้มีการประนีประนอม นายพริษฐ์กล่าวว่า ในเมื่อไม่เป็นอุปสรรครอบที่แล้วก็หวังว่าจะไม่เป็นอุปสรรคในรอบนี้ หรือหากเห็นต่างจริงๆก็สามารถยื่นร่างเข้ามาประกบได้ หากพรรคเพื่อไทยยึดตามร่างที่เคยเสนอเมื่อปี 67 ก็จะเสนอให้ตัดเงื่อนไข 1 ใน 3 ของ สว.ออกเช่นกัน แต่หากมีฝ่ายไหนที่กังวลตนจึงทวงถามว่า ครม.จะยื่นร่างเข้ามาประกบหรือไม่ในส่วนนี้ต้องถามทางรัฐบาล และไม่ควรมีเหตุผลอะไรที่ ครม.จะไม่ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญตนหวังว่าทุกฝ่ายจะพิจารณาร่างกฎหมายจากประโยชน์ส่วนรวม และระบบการเมืองที่เราคิดว่าจะตอบโจทย์ประเทศไทย ไม่ใช่มากังวลว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะไปลดอำนาจหรือไม่ ซึ่งตนยินดีที่จะไปพูดคุยกับทุกฝ่ายเพื่อทำความเข้าใจในรายละเอียดของร่างพรรคประชาชน
นายราเมศ รัตนะเชวง ในฐานะนักกฎหมาย กล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับพรรคประชาชน เกี่ยวกับการแก้มาตรา 256 ให้มีส.ส.ร. ว่า ในประเด็นจำนวนคะแนนเสียงของ สว.ในการลงมติในวาระที่สองและวาระที่สาม จำนวนสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ รวมถึงที่มาของ สสร.ในประเด็นเหล่านี้ก็เป็นเรื่องความเห็นที่แตกต่างกันได้ แต่สาระสำคัญที่ชี้ให้เห็นได้ถึงเจตนาที่ซ่อนไว้ในร่างมาตรา 256/18 ที่กำหนดหน้าที่ของสภาร่างรัฐธรรมนูญ และได้กำหนดไว้ใน (2) บรรทัดที่สิบ ไว้เพียงกว้างๆ ว่าการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือมีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐจะกระทำมิได้
นายราเมศ กล่าวว่า มีความหมายชัดเจนตามร่างของพรรคประชาชน คือ สภาร่างรัฐธรรมนูญสามารถแก้ไขเพิ่มเติมตัดทอนหมวด 1 และหมวด 2 ได้ทั้งหมด ซึ่งถ้าไปดูรายละเอียดของหมวด 1 และหมวด 2 มีรายละเอียดเยอะมาก ที่จะขอยกมา 2 หลักการสาระสำคัญ คือ มาตรา 6 ที่บัญญัติไว้ว่าองค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ และวรรคสอง ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้ ซึ่งชัดเจนว่าร่างของพรรคประชาชน ระบุไว้กว้างๆ เมื่อเป็นเช่นนั้นแสดงว่า มาตรา 6 ก็สามารถแก้ไขเพิ่มเติม ยกเลิกได้ เพราะความจริงที่ผ่านมาการดำเนินกิจกรรมทุกองคาพยพตั้งแต่ของอนาคตใหม่ สู่ก้าวไกล สู่พรรคประชาชน มีความต้องการจะแก้ไข ยกเลิก ตัดทอน สิ่งเหล่านี้อยู่แล้ว ซึ่งเช่นเดียวกันกับความพยายามในการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ยังไม่ได้ลดละความพยายามแต่อย่างใด การไม่ระบุให้ชัดถึงอำนาจหน้าที่ของสภาร่างรัฐธรรมนูญคือเจตนาที่แฝงอยู่อย่างชัดเจน
นายราเมศ กล่าวต่อไปว่า ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เมื่อสภาสมัยที่ผ่านมา ซึ่งได้รวมเข้ากับร่างของพรรคร่วมรัฐบาลขณะนั้น มีตนและ นายชินวรณ์บุณยเกียรติ เป็นตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ มีร่างของพรรคเข้าร่วมพิจารณา ซึ่งทั้งประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ ชาติไทยพัฒนา พลังท้องถิ่นไทย และอีกหลายพรรค ระบุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับลงวันที่ 1 กันยายน 2563 ชัดเจนไว้ในร่าง มาตรา 256/13 วรรคห้า ว่า “การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จะกระทำมิได้” นี่คือการตั้งต้นที่มีความมั่นคง ชัดเจน ของพรรคประชาธิปัตย์
“เมื่อร่างของพรรคประชาชนเป็นเช่นนี้ การที่จะแสวงหาแนวร่วมจาก สว.และพรรคการเมืองอื่นๆ จึงยากยิ่ง และอย่าไปกล่าวหาเขาเหล่านั้นว่าขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญ เพราะเขาเห็นด้วยอยู่แล้วให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ อย่างที่บอกว่าจำนวน สสร.เท่าใด ที่มา น้ำหนักคะแนน สว.เป็นเรื่องที่พอรับฟังกันได้ แต่เรื่องเดียวที่เชื่อว่าเขาเหล่านั้นจะรับไม่ได้และไม่เห็นด้วย คือร่างที่เปิดประตูไปสู่การแก้ไข เพิ่มเติม ตัดทอน หมวด 1 และหมวด 2 ซึ่งจะลามไปถึงประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยส่วนตัวจึงไม่เห็นด้วยกับร่างของพรรคประชาชน เรื่องนี้เรื่องใหญ่ ที่ออกมาพูดไม่ใช่เรื่องการเมืองแต่เป็นเรื่องของบ้านเมืองที่สำคัญที่สุด” นายราเมศ กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี