‘เสธ.หิ’เดือด! สวนกลับบทความโจมตี‘พีระพันธุ์’ ไล่คนเขียนลาออกไปรับเงินเดือนเอกชน
8 มกราคม 2568 นายหิมาลัย ผิวพรรณ ผอ.พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) และที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน (นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ” ระบุว่า...
รู้กฎหมาย และสำนึกในบุญคุณของประชาชนและประเทศชาติ
ตามที่เป็นข่าวฮือฮา ในเรื่องของการลงบทความ โจมตี พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ในหัวข้อ “ รู้กฎหมาย ไม่รู้เรื่อง พลังงาน” โดยผู้เขียนบทความ ผ่านเพจพลังงานจังหวัดลำปางนั้น เป็นเรื่องที่น่าตกใจเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะ เมื่อคุณ สายธาร ประสงค์ความดี พลังงานจังหวัดลำปาง ได้เปิดเผยว่า โพสต์ดังกล่าว มาจากทีมงานประชาสัมพันธ์จากส่วนกลาง ยิ่งน่ากังวลเป็นอย่างมาก
ผู้เขียนบทความ อ้างว่าเป็นคนในกระทรวงพลังงานที่อึดอัดกับการทำงานของ ท่านรัฐมนตรีพลังงานเป็นอย่างมาก ใช้คำพูดค่อนข้างรุนแรง ว่านโยบายของท่าน เป็นคำพูดสวยหรู ดันทุรัง เป็นการสร้างภาพ แสดงว่าผู้เขียนบทความ ไม่ได้ทำความเข้าใจอย่างแท้จริง กับนโยบาย ของนายพีระพันธุ์ ที่ทำเพื่อประชาชน
ผมเคยเขียน บทความ และพูด ให้กลุ่มคนเล็กๆที่สนใจในเรื่องนี้ฟังหลายครั้ง ซึ่งหลังจากอธิบายด้วยภาษาง่ายๆ ก็สามารถสร้างความเข้าใจได้ แต่อาจจะยากสำหรับท่านผู้เขียนบทความท่านนี้ ท่านน่าจะมีการศึกษาที่สูงส่ง จนไม่เข้าใจ คำอธิบายง่ายๆ ของท่านรัฐมนตรีพลังงาน ผมใคร่ขอชี้แจง อีกสักครั้ง
การสำรองน้ำมัน 90 วันนั้น เป็นไปเพื่อความมั่นคงของประเทศ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ท่านอย่าคิดว่า สถานการณ์ที่จำเป็นจะไม่เกิดขึ้น ให้ย้อนไปดูสถานการณ์ของโลก ในปัจจุบันนี้ ที่มีความขัดแย้งอยู่ทั่วไปในภูมิภาค หากเกิดความขัดแย้งในภูมิภาคแถวนี้ และการขนส่งน้ำมันไม่สามารถจะทำได้ นั่นหมายความว่าธุรกิจภายในประเทศจะต้องหยุดชะงักหลังจากพ้น 30 วันไปแล้ว
การที่ประเทศมหาอำนาจ และประเทศที่ต้องการความมั่นคงทางเศรษฐกิจ กำหนดให้ระยะเวลา 90 วันนั้น ได้มีการคำนวณตามหลักวิชาการและประสบการณ์ อย่างถี่ถ้วนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นขบวนการขนส่ง การเจรจาคู่ขัดแย้ง การเปิดน่านน้ำ การบริโภคภายในประเทศ ตัวเลข 90 วัน จึงเป็นตัวเลขที่เหมาะสมที่สุด ที่สำคัญ ภาระในการสำรองน้ำมันเพื่อความมั่นคง ไม่ใช่ของประชาชน เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องแบกรับ แต่หากเกิดสถานการณ์ขึ้นจริง เขาก็สามารถ มีน้ำมันที่จะขาย สร้างรายได้ให้บริษัทฯ ในช่วงนั้นอยู่แล้ว ทีนี้เรามาตั้งคำถามต่อไปว่า ผู้เขียนบทความอ้างว่าหากใช้ระบบนี้ จะทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนเพิ่มขึ้น อาจจะถึงขั้นแบกรับไม่ไหวต้องถอนตัวออกจากธุรกิจไป ก็ต้องถามต่อไปว่า แล้วที่เขาไปทำธุรกิจน้ำมัน กับหลายประเทศ ที่กำหนดไว้ 90 วัน ทำไมเขาถึงทำได้ ก็เห็นข่าวว่ามีแหล่งน้ำมันที่ไหน บริษัทที่ท่านเป็นห่วงก็ไปแย่งประมูลทุกที่ไป อย่าไปกังวลแทนเขาเลยครับ
ผู้เขียนบทความ ยังเหวี่ยงแหระหว่างการสำรองน้ำมันเพื่อความมั่นคง ที่บริษัทผู้ค้า ต้องเป็นผู้สำรองเพื่อเป็นหลักประกันว่าท่านจะมีน้ำมันขายให้กับประชาชนในประเทศนี้ไม่ต่ำกว่า 90 วัน ไปพูดขยายความว่า รัฐจะต้องนำเงินจากภาษีประชาชนมาซื้อน้ำมันส่วนนี้ หากกระทรวงพลังงานมีข้าราชการแบบนี้อยู่ น่าเป็นห่วงนะครับ เพราะท่านนี้หากเป็นนักเรียนก็เป็นประเภทไม่สนใจเรียน เวลาครูสอนก็ไม่ฟัง ผลสอบมาก็ตก แล้วยังหน้าด้านไปติวเพื่อนอีก ถ้าไม่เข้าใจก็ย้อนกลับไปอ่านซ้ำๆหลายทีนะครับ ส่วนที่ท่านพูดถึงว่าอาจจะต้องใช้เงินภาษีประชาชนซื้อ น่าจะเป็น น้ำมันเพื่อความมั่นคงตามยุทธศาสตร์ชาติ ท่านพีระพันธุ์ ท่านก็มาคิดว่าเมื่อสำรองน้ำมันให้ประชาชนใช้ 90 วันแล้ว หากมีสถานการณ์เกิดขึ้น รัฐจะเอาน้ำมันที่ไหนมาบริหารด้านความมั่นคง เช่น ให้ทหารใช้เพื่อการป้องกันประเทศ ให้ตำรวจใช้เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม ให้หน่วยราชการต่างๆใช้ เพื่อให้บริการประชาชน ทำอย่างไรไม่ให้การใช้น้ำมันของภาครัฐไปเบียดบังประชาชนในสถานการณ์วิกฤต ท่านจึงคิดระบบสำรองน้ำมันเพื่อยุทธศาสตร์ชาติ และเชื่อไหมครับว่า ระบบของท่าน ไม่ต้องใช้เงินแม้แต่บาทเดียว ทำอย่างไรหรือครับ ท่านก็ใช้วิธีเก็บกองทุนน้ำมันเป็นน้ำมันครับ น้ำมันส่วนนี้แหละครับ ที่ที่รัฐจะใช้ เพื่อความมั่นคงของประเทศ และยังใช้เพื่อรักษาเสถียรภาพ ราคาน้ำมันด้วย ทำได้อย่างไรหรือครับ ผมจะอธิบายให้ฟัง
เรามาดูที่มาของกองทุนน้ำมันก่อนครับ ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ในช่วง วันที่ 5 เม.ย. 2510 - 10 มิ.ย. 2510 ได้เกิดสงคราม 6 วัน ระหว่าง อิสราเอลกับกลุ่มประเทศอาหรับ ได้แก่ จอร์แดน ซีเรีย และอียิปต์ ผลของสงครามทำให้เกิดวิกฤตการณ์ขาดแคลนน้ำมันในตลาดโลกทำให้ราคาน้ำมันขึ้นสูงมาก ประเทศต่างๆจึงได้คิดระบบกองทุนน้ำมันเพื่อรักษาเสถียรภาพ ของราคาน้ำมันในประเทศตัวเองขึ้น ประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศต่างๆในยุโรปใช้วิธีตั้งกองทุนน้ำมันเป็นน้ำมัน คือเก็บน้ำมันเข้าคลังสำรองน้ำมันของประเทศ หากราคาน้ำมันขึ้นราคา ก็ใช้วิธีนำน้ำมันจากกองทุนน้ำมัน ออกสู่ท้องตลาด ทำให้มีน้ำมันเพียงพอต่อความต้องการ ราคาน้ำมันก็จะลดระดับลง ท่านพีระพันธุ์ ก็นำความคิดนี้แหละครับ มาใช้ในประเทศเรา ระบบนี้มีข้อดีอย่างไรผมขอชี้แจงอย่างนี้นะครับ
ในปัจจุบัน กองทุนน้ำมันที่ตั้งขึ้นมาที่ประเทศอื่นเขาเก็บเป็นน้ำมัน แต่เราเก็บเป็นเงิน สภาพกองทุน ติดลบตลอดเวลา เพราะอะไรรู้ไหมครับ เพราะมันผิดธรรมชาติครับ เจตนาการตั้งกองทุน เพื่อแบ่งกำไรจากผู้ประกอบการมาเข้ากองทุนในช่วงที่ราคาน้ำมันของตลาดโลกลดราคาลงและนำเงินส่วนที่เก็บไว้นี้จ่ายคืนให้ผู้ประกอบการในช่วงที่ราคาน้ำมันของตลาดโลกขึ้นราคา เพื่อเป็นการชดเชยให้ผู้ประกอบการสามารถขายน้ำมันในราคาที่ถูกลงได้ แต่มันผิดธรรมชาติอย่างไรรู้ไหมครับ กองทุนน้ำมันที่เราตั้งใจเก็บจากกำไรของผู้ประกอบการกลับถูกนำไปบวก เพิ่มในราคาน้ำมันของเรา แสดงว่ากองทุนนี้โดนผลักภาระมาเป็นของประชาชน เท่านั้นยังไม่พอนะครับ สมมุติว่า วันนี้ ต้นทุนน้ำมันอยู่ที่ 20 บาท รัฐให้มีค่าใช้จ่ายต่างๆได้ 10 บาท ราคาขายจะเป็น 30 บาท รัฐแจ้งว่า ต้องการให้ลดราคาน้ำมันเหลือ 25 บาท
นั่นหมายความว่ารัฐต้องชดเชยต้นทุนน้ำมันลิตรละ 5 บาทเพื่อให้ราคาลงมาที่ 25 บาท ประเด็นอยู่ตรงนี้นะครับ ที่ผ่านมารัฐไม่เคยทราบต้นทุนราคาน้ำมันที่แท้จริงเลย เมื่อรัฐ แจ้งให้ขายในราคา 25 บาท แล้วผู้ประกอบการแจ้งว่า ต้นทุนราคาน้ำมันของตัวเองอยู่ที่ 30 บาท ราคาขายจะต้องเป็น 40 บาท เมื่อรัฐต้องการให้ขาย ที่ 25 บาท นั่นหมายความว่า รัฐต้องจ่ายให้ผู้ประกอบการ 15 บาท ท่านเห็นอะไรไหมครับ
เป็นเรื่องตลกสิ้นดี ถ้าเราไม่รู้ต้นทุนราคาน้ำมัน ผู้ประกอบการได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง ครั้งแรก กองทุนน้ำมันผู้ประกอบการก็ไม่ได้ควักกระเป๋า มาบวกเอากับผู้บริโภคเอาดื้อๆ เท่านั้นยังไม่พอเมื่อรับแจ้งควบคุมราคาน้ำมันก็มาเอาเงินของประชาชนกลับเข้ากระเป๋าของตัวเองอย่างหน้าตาเฉย ทีนี้เรามาดูนะครับ น้ำปลา มาม่า เนื้อหมู เนื้อไก่ ผู้ประกอบการยังต้องแจ้งต้นทุน จะขึ้นราคายังต้องขออนุญาต ที่ผ่านมาผู้ประกอบการน้ำมันขึ้นราคาได้ตามอำเภอใจ โดยอ้างว่าต้นทุนมีราคาสูงแล้วเมื่อรัฐขอดูก็ไม่ให้
นี่คือเหตุผลที่ท่านพีระพันธุ์ ต้องออกกฎหมายให้แจ้งต้นทุนราคาน้ำมัน เพื่อใช้คำนวณและหาค่าเฉลี่ยนำไปสู่การควบคุมราคาน้ำมันให้ขึ้นลงได้เดือนละ 1 ครั้ง สิ่งนี้มีผลในทางธุรกิจสูงมากนะครับ เพราะต้นทุนราคาน้ำมันนั้น เป็นต้นทุนสำคัญของภาคการผลิต อย่างน้อยราคาน้ำมันปรับเดือนละครั้ง ผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ ก็จะสามารถทราบต้นทุนการผลิตของตนเองในส่วนนี้ได้ ในขณะเดียวกันเมื่อรัฐแจ้งนโยบายราคาน้ำมัน รัฐก็จะรู้ต้นทุนที่แท้จริง ว่าจะต้องเอากองทุนอุดหนุนกลับไปให้กับผู้ค้าน้ำมันเป็นเงินเท่าไหร่ จึงจะเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย
ทีนี้มาดูต่อครับ ถ้าเราเก็บกองทุนน้ำมันเป็นน้ำมัน เวลารัฐจะอุดหนุน ก็จะอุดหนุนกลับไปเป็นน้ำมันใช่ไหมครับ ทีนี้ลองมาดูนะครับ ถ้ารับสั่งให้คงราคาน้ำมันที่ 25 บาท บริษัท A แจ้งว่า ต้นทุนเขาอยู่ที่ 20 + ค่าประกอบการตามที่รัฐให้อีก 10 บาท ราคาขายของเขา ก็จะเป็น 30 บาท รัฐต้องชดเชยให้เขา 5 บาทสมมุติเค้าขายไป 100 ลิตร รัฐต้องชดเชยเขา 500 บาท ราคาน้ำมันของเขา 30 บาท เขาจะได้น้ำมันกลับไปเท่าไร ก็เอา 500 หาร 30 บริษัท A ก็จะได้ นำมันกลับไป 16.667 ลิตร
ที่นี้มาดู บริษัท B เจ้าเล่ห์หน่อย แจ้งต้นทุน 30+ ค่าประกอบการตามที่รัฐให้อีก 10 บาท ค้าขายของเขา ก็จะเป็น 40 บาท เมื่อรัฐสั่ง ให้ราคานโยบาย อยู่ที่ 25 บาท ถ้ารับเป็นเงินแบบเดิม และไม่มีการพิสูจน์ต้นทุนราคาน้ำมันเหมือนที่ผ่านมา บริษัท B ก็จะได้รับชดเชย 15 บาท ถ้าขายไป 100 ลิตร เขาจะได้รับชดเชยเป็นเงิน ถึง 1500 บาท แต่ถ้ากองทุนน้ำมันเป็นน้ำมัน ก็เอา 1500 หารด้วยราคาน้ำมัน 40 บาท ตามที่เขาแจ้ง เขาจะได้น้ำมันกลับไป 37.5 ลิตร
เห็นหรือยังครับว่า การแจ้งต้นทุนราคาน้ำมัน สำคัญอย่างไร เพราะหาก บริษัท B แจ้งต้นทุนราคาน้ำมัน มาสูงกว่าราคากลางที่รัฐกำหนด บริษัท B จะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า ต้นทุนราคาน้ำมันของตัวเองนั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร หากชี้แจงไม่ได้ก็ต้องใช้ราคากลางที่รัฐกำหนด ซึ่งถ้าผู้ประกอบการทำธุรกิจอย่างตรงไปตรงมา ก็ไม่มีอะไรน่ากังวล
ท่านผู้เขียนบทความที่อ้างว่าเป็นคนในกระทรวงพลังงาน ยังพยายามที่จะใส่ร้ายท่านพีระพันธุ์ ต่อไปอีกว่า ระบบ Cost Plus จะทำให้ประชาชนต้องมาแบกรับความเสี่ยง
ผมว่าท่านเพ้อเจ้อ
ท่านเขียนบทความนี้รู้สึกละอายบ้างไหมครับ วันนี้ประชาชนไม่ได้โง่นะครับ ทุกวันนี้น้ำมันที่ขายในประเทศถามจริงๆนะครับ เรือน้ำมันเข้ามาส่งที่ไหนครับ ที่แหลมฉบัง เกาะสีชังกับท่าเรือต่างๆในประเทศใช่ไหมครับ แล้วการไปอิงราคาหน้าโรงกลั่นสิงคโปร์ มีการเอาค่าขนส่งจากสิงคโปร์มาไทยบวกเข้าไปในต้นทุนราคาน้ำมัน ในฐานะที่ท่านเป็นข้าราชการกินเงินเดือนภาษีจากประชาชนท่านปล่อยให้เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ได้อย่างไรครับ ไม่ว่าจะเป็นการเอาเงินกองทุนน้ำมันไปบวกในโครงสร้างราคาน้ำมัน เอาค่าขนส่งไปบวกในโครงสร้างราคาน้ำมัน ทำไมท่านไม่ค้านเขาครับ แล้วไปห่วงเรื่องค่าการตลาดของเขาอีก ค่าการตลาดก็ไปบวกในโครงสร้างราคาน้ำมันอีก การตลาดของธุรกิจที่ไหนก็ตามก็ต้องเป็นต้นทุนของผู้ประกอบการทั้งนั้นแหละครับ แล้วค่าการตลาดของบริษัทน้ำมัน มันมีอยู่จริงหรอครับ มันต้องโฆษณาต้องจัดอีเวนท์ ต้องสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ทำปั๊มน้ำมันหรอครับ ที่ผมสงสัยเนี่ยประชาชนหลายคนก็สงสัยท่านช่วยตอบผมด้วยนะครับ
และการที่ท่านพีระพันธุ์ มีแนวคิดให้ผู้ประกอบการเฉพาะด้านเฉพาะกลุ่ม สามารถรวมตัวกันจัดซื้อน้ำมันได้เอง ก็เพื่อลดภาระของประชาชน เช่นกลุ่มขนส่ง กลุ่มเกษตรกร กลุ่มประมง เมื่อเค้าซื้อน้ำมันได้ถูก ต้นทุนสินค้าจากกลุ่มพวกนี้ก็จะถูกลงไปด้วย เรื่องแบบนี้ท่านคิดไม่ออกจริงๆหรอครับ
ท่านรู้หรือไม่ครับ ว่าพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ทำงานหนักเพื่อประชาชนขนาดไหน ตีสองตีสามท่านยังส่งข้อความสั่งงานผมอยู่เลยครับ พอตอนเช้า ก่อน 8 โมงเช้าท่านถึงกระทรวงหรือทำเนียบแล้วครับ ท่านบอกผมว่าท่านต้องเร่งทำงานทุกวันเพราะไม่รู้ว่าจะอยู่ทำงานได้ถึงวันไหนท่านต้องการให้ทุกๆวัน ท่านได้ตอบแทนประชาชน ไม่ใช่คำพูดสวยหรูครับ พรรครวมไทยสร้างชาติไม่ใช่พรรคที่มีทุนหนา แต่อยู่ได้ด้วยศรัทธาและความรักจากประชาชน เราได้รับเงินอุดหนุนพรรคการเมืองจาก คณะกรรมการการเลือกตั้ง ปี 2568 เป็นอันดับ 1 เป็นจำนวนถึง 17,934,107.84 บาท ซึ่งเงินจำนวนนี้ส่วนหนึ่งมาจากการบริจาคให้พรรคการเมืองของประชาชน
ดังนั้น ทุกสิ่งอย่างที่พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ทำนั้น เป็นเพราะรู้สำนึกในบุญคุณของประชาชนและประเทศชาติ
สำหรับท่านผู้เขียนบทความ ในฐานะคนในกระทรวงพลังงานแต่ลงท้ายบทความว่า “ ในฐานะผู้ผลิต” ผมขอแนะนำให้ท่านลาออกจากราชการ และไปรับเงินเดือนจากบริษัทผู้ค้าน้ำมันน่าจะถูกต้องกว่า
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี