'วุฒิสาร'มองแก้ ม.256 ตั้งส.ส.ร. มีน้ำหนักมากกว่าแก้รายมาตรา แนะฝ่ายการเมืองหารือให้ได้ข้อสรุป ห่วงยื่นร้องตีความทำประชามติ ขัดคำวินิจฉัยศาล รธน.
เมื่อวันที่ 8 ม.ค.2568 ที่โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ นายวุฒิสาร ตันไชย อดีตเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ให้สัมภาษณ์ถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าขณะนี้มีอยู่ 2 กลุ่ม โดยกลุ่มหนึ่งเป็นการเสนอแก้ไขแบบรายมาตราที่เห็นว่าเป็นปัญหา และการแก้ไข ม.256 ว่าด้วยวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีเจตนาเพื่อให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภา โดยเชื่อว่าทิศทางในชุดความคิดจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่น่าจะมีน้ำหนักมากกว่าการแก้ไขแบบรายมาตราที่รัฐสภาเคยดำเนินการมาแล้ว แต่ยังไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาอะไรได้
ส่วนการแก้ไขมาตรา 256 ขึ้นอยู่กับการหารือของวิป ว่าจะตัดสินใจอย่างไร ขณะนี้เนื้อหามีความแตกต่างกันอยู่ในสาระสำคัญ บางพรรคการเมืองเสนอเนื้อหาให้มี ส.ส.ร. และแก้ไขเรื่องอำนาจ สว. เห็นชอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยเสียง 1 ใน 3 และอีกกลุ่มที่จะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ โดยยืนยันว่าคงสาระสำคัญในหมวด 1-2
“ทั้งสองกลุ่มนี้ เชื่อว่ามีคำตอบเหมือนกันคือการจัดทำโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นจุดที่จะต้องพิจารณา ถ้าทิศทางของการแก้ไขมาตรา 256 ไปในทิศทางนี้ แง่ของสาระหรือเนื้อหาจะแก้แค่ไหน กับอันที่สองกระบวนการของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเรื่องของการทำประชามติ 4/2565 ยังมีความเห็นต่างระหว่างการทำประชามติต้องทำก่อนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ หรือทำแล้วค่อยไปถามประชาชน คิดว่ายังเป็นประเด็นที่อาจจะกลายเป็นเงื่อนไข หากรัฐสภาตัดสินว่าจะแก้มาตรา 256 เลย อาจจะมีคนหยิบยกเรื่องนี้ว่าจะขัดต่อคำวินิจฉัยหรือไม่
นายวุฒิสาร ยังกล่าวว่า จากการศึกษาเรื่องการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 3 ครั้ง เป็นการศึกษาก่อนหน้านี้หนึ่งปีที่แล้ว ด้วยหวังว่ามีเวลาที่จะทำ 3 ครั้ง ที่เป็นความปลอดภัย และขณะนี้มีเงื่อนไขเรื่องของการแก้กฎหมายประชามติ ที่ทำให้การทำนั้นสามารถทำได้ง่ายขึ้น และเข้าถึงประชาชน เช่น การทำประชามติผ่านไปรษณีย์ แต่ครั้งนี้กฎหมายสะดุด
”เพราะฉะนั้นคิดว่าในทางการเมืองก็อาจจะเป็นความต้องการทางการเมืองที่อยากจะเสี่ยง หรือลองเสี่ยงดูว่าแก้เลยแล้วไปรอฟังคำวินิจฉัยของศาลอีกครั้งว่ามีคนร้องแล้ว ศาลจะว่าอย่างไร อันนั้นก็เป็นทางที่ฝ่ายการเมืองตัดสินใจ แต่หากถามด้วยเหตุผล คิดว่าอย่างไรก็ตาม การแก้ไขมาตรา 256 เมื่อทำเสร็จก็ต้องไปทำประชามติอยู่แล้ว เพราะว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญบังคับอยู่แล้ว ส่วนครั้งที่สามจะทำหรือไม่ขึ้นอยู่กับการแก้ไขมาตรา 256 แล้วจะต้องทำหรือไม่ทำก็ได้ คิดว่าเป็นอำนาจของรัฐสภา“
อดีตเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าฯ ยังเห็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของการเมืองที่ต้องหารือกัน โดยเฉพาะวุฒิสภามีส่วนสำคัญที่จะกำหนดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะสำเร็จหรือไม่ เพราะกฎหมายกำหนดไว้ว่าอย่างน้อยต้องมีเสียงเห็นชอบด้วย 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งหากไม่ได้ตามจำนวนดังกล่าวการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ไม่สำเร็จ โดยเฉพาะมีร่างแก้ไขของพรรคประชาชนที่แก้ไขเกี่ยวกับอำนาจ การเห็นชอบของวุฒิสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 1 ใน 3 ที่ถูกตัดไป ซึ่งมีเพียงประเด็นที่ฝ่ายการเมืองเห็นตรงกัน คือการให้ ส.ส.ร. จัดทำรัฐธรรมนูญ แต่การได้มายังไม่ได้ข้อยุติ แต่ละพรรคเสนอหลายรูปแบบ และต้องรอติดตามว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะเสนอร่างประกอบด้วยหรือไม่
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี