ประธาน กกต.ระบุบัตรเลือกตั้ง อบจ.พิมพ์เสร็จแล้ว อยู่ระหว่างขั้นตอนจัดส่ง เตือนผู้สมัครหลีกเลี่ยงให้เงินแต๊ะเอีย-สิ่งของในช่วงตรุษจีน สุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายเลือกตั้ง
เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2568 นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงความคืบหน้าในการจัดการเลือกตั้ง อบจ.ว่า ขณะนี้จัดพิมพ์บัตรเลือกตั้งเสร็จสิ้นแล้วและอยู่ระหว่างกระบวนการจัดส่งไปยัง อบจ.แต่ละจังหวัด โดยมีมาตรการรักษาความปลอดภัย โดยมีตำรวจนั่งประจำรถไปด้วย มีระบบติดตาม GPS ในการติดตามตำแหน่งของรถแต่ละคัน ตั้งแต่การรับบัตรเลือกตั้งที่โรงพิมพ์ ไปส่งแต่ละจังหวัด เมื่อถึงแล้วก็เป็นหน้าที่ของผู้อำนวยการการเลือกตั้ง องค์การบริหารส่วนจังหวัดรับผิดชอบ และมีการเก็บรักษาโดยมีกล้องวงจรปิดติดตาม มีเจ้าหน้าที่เฝ้า จนถึงวันเลือกตั้ง 1 กุมภาพันธ์นี้
ขณะเดียวกันก็มีการจัดอบรมบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับกระบวน การการเลือกตั้ง เช่นพนักงานสืบสวนไต่สวนของ กกต.รวมถึงการตั้งชุดเคลื่อนที่เร็วในการลงพื้นที่ในการป้องกันปราบปรามการซื้อเสียง ทุกอย่างเดินไปตามแผนงานของ กกต.ไม่มีอุปสรรคปัญหาใด และขั้นตอนสุดท้ายการอบรม กปน.อีกครั้งก่อนวันเลือกตั้งเพื่อเกิดความแม่นยำในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่ง กปน.คือหัวใจความสำเร็จของการเลือกตั้ง โดยการเลือกตั้งในปี 2562 มีคำร้องเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของ กปน. 100 เรื่อง แต่ในการเลือกตั้งปี 2566 พบว่าคำร้องเรียนเหลือเพียง 17 เรื่อง สะท้อนประสิทธิภาพการทำงานของ กปน.ดีขึ้น ทั้งนี้ ย้ำว่าการอบรม กปน. 3 วันก่อนการเลือกตั้ง เป็นการตอกย้ำให้ระมัดระวังและสิ่งที่ควรทำ และวันแจกวัสดุอุปกรณ์ก็มีความสำคัญ
ประธาน กกต.ยังเปิดเผยถึงคำร้องเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง อบจ.ถึงขนาดนี้มีจำนวน 30 เรื่อง ส่วนใหญ่จะเป็นประเด็นเกี่ยวกับการซื้อเสียง พร้อมเตือนประชาชนที่ไม่ได้ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ นี้ ให้แจ้งเหตุอันไม่อาจไปใช้สิทธิ์ได้เพื่อไม่ให้ถูกจำกัดสิทธิ์ บางประการตามที่กฎหมายกำหนดไว้
ส่วนข้อควรระวังในการหาเสียงในช่วงเทศกาลตรุษจีนนั้น นายอิทธิพร กล่าวว่าสิ่งที่ควรทำหรือไม่ควรทำนั้น ผู้สมัครได้รับการบรรยายอย่างชัดเจนจาก กกต.จังหวัดผ่านโครงการเลือกตั้งเชิงสมานฉันท์ สิ่งที่เป็นการกระทำที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย เสนอให้ จัดให้ สัญญาว่าจะให้ให้บุคคล ให้ชุมชน องค์กร สถาบัน การจัดเลี้ยง จัดมหรสพ การหาเสียงใส่ร้ายบังคับขู่เข็ญ ผู้สมัครย่อมรู้ดีว่ามีอะไรที่ตนเองทำไม่ได้ และการแจ้งรายชื่อผู้ช่วยหาเสียงก็มีความสำคัญ เนื่องจากในช่วงหลังก็มีคำร้องเรื่องนี้เพิ่มขึ้น รวมถึงการหาเสียงตามวงเงินที่กำหนด การรายงานค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้งให้ครบถ้วน ภายใน 90 วันหลังเลือกตั้ง นอกจากนี้ ก็ยังมีคู่มือผู้สมัคร ที่เป็นคำแนะนำสำหรับผู้สมัครว่าสิ่งใดควรทำ ไม่ควรทำ ขอให้ศึกษารายละเอียดเพื่อความเข้าใจที่กระจ่างแจ้ง รวมถึงสอบถามมายัง กกต.โดยตรงได้
ประธาน กกต.ยังกล่าวถึงเรื่องเงินแต๊ะเอียที่เป็นประเพณีนั้น หากหลีกเลี่ยงได้ ก็ควรจะหลีกเลี่ยง เพราะเสี่ยงในการถูกมองว่าเป็นการให้เงิน ซึ่งเคยเกิดขึ้นหลายกรณีเมื่อมีคำร้อง ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวนก็ระบุว่าผู้ถูกร้องให้การว่าไม่ได้ทำเช่นนั้นเพราะตระหนักดีว่ากฎหมายทำไม่ได้ จึงสั่งให้ผู้เกี่ยวข้องไม่ทำเช่นนั้น เช่นยุติการให้พวงหรีดในช่วงเลือกตั้ง ซึ่งหลายคนให้ความร่วมมือ ดังนั้นหากหลีกเลี่ยง ไม่เสี่ยงต่อการถูกตีความไปเช่นนั้นได้ ก็ขอให้อย่าทำในช่วงที่มีการเลือกตั้งเป็นช่วงนี้พอดี ขณะที่กรณีงานแต่งงาน หากเป็นญาติก็คงไม่ถึงขั้นซื้อเสียงกับญาติ เป็นประเพณีปฏิบัติ ก็มีข้อยกเว้นได้เหมือนกัน แต่จุดที่อาจจะเป็นสีเทา อะไรที่เลี่ยงได้ขอให้เลี่ยง หากเป็นสำนวนเข้ามายัง กกต.ก็ต้องดูข้อเท็จจริงที่ปรากฎ และชี้ว่าตั้งใจหรือเป็นประเพณีปฏิบัติจริงๆ โดยทั่วไปในธรรม เนียมไทย หากญาติแต่งงานก็มีการให้เงินอยู่แล้ว เป็นธรรมดา ส่วนใหญ่ที่จะทำให้เกิดความมั่นใจ ต้องไม่บอกหมายเลข อย่าหาเสียงเลือกตั้ง เพราะจะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายเลือกตั้ง
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี