กกต.ไม่ฟันธง"ทักษิณ"ชูนโยบายรัฐ ช่วยหาเสียงท้องถิ่นผิดกฏหมายหรือไม่ อ้างดูเป็นกรณียันไม่ต้องมีหนังสือเตือน เชื่อผู้สมัคร-ผู้ช่วยหาเสียงรู้ข้อกฏหมายดี
วันนี้ (10 ม.ค.) นายอิทธพร บุญประคอง ประธาน กกต.กล่าวถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนนตรี ปราศรัยโดยนำเสนอนโยบายรัฐบาลในเวทีเลือกตั้งท้องถิ่นว่า เรื่องการหาเสียงอยากให้แยกเกี่ยวกับการพูดถึงนโยบายระดับชาติกับการหาเสียงระดับท้องถิ่น ซึ่งเป็นเรื่องที่บางครั้งเชื่อมโยงกันได้ แต่จะเข้าข่ายเป็นการหาเสียงที่ผิดกฎหมายหรือไม่ มีอยู่ 2 ข้อหลัก คือ 1. หาเสียงว่าจะให้หรือเสนอให้ 2. หาเสียงหลอกลวง ซึ่งถ้าหาเสียงว่า"จะให้"มันก็เข้าข่ายผิดกฎหมายแน่นอนตามมาตรา 65 (1) แต่ถ้าเป็นการหาเสียง"หลอกลวง" หากไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ อบจ.นั้นๆ ก็เข้าข่ายหลอกลวงได้
"ฉะนั้นการกล่าวถึงเวลาเราพูดถึงบริบททั่วๆไปบางครั้งกล่าวไปทางนั้นทางนี้ มันจะใช่ถึงขนาดหาเสียงหลอกลวง สัญญาว่าจะให้หรือไม่ ต้องดูบริบทแต่ละอันเป็นรายกรณีไป รวมถึงดูรายละเอียดด้วย"นายอิทธิพร กล่าว
เมื่อถามว่าผู้สมัครและผู้ช่วยหาเสียงจึงควรหาเสียงเฉพาะสิ่งที่ อบจ.ทำได้เท่านั้นหรือไม่ นายอิทธิพร กล่าวว่า ผู้สมัครต้องเสนอนโยบายที่ตนเองจะเข้าไปปฏิบัติ หากได้รับเลือกว่าจะทำอะไรบ้าง เพราะอำนาจหน้าที่ของ อบจ.ก็มีระบุไว้ในกฎหมายชัดเจน การหาเสียงควรมุ่งเน้นในกรอบตรงนั้น แต่จะพูดเลยไปบ้างส่วนตัวมองว่าก็ไม่น่าจะเสียหายอะไร
เมื่อถามว่าขอบเขตของผู้ช่วยหาเสียงเลือกตั้งมีแค่ไหน นายอิทธิพร กล่าวว่า ผู้ช่วยหาเสียงก็ต้องพูดในนโบายที่ผู้สมัครประสงค์จะนำไปปฏิบัติเมื่อได้รับเลือกตั้ง ซึ่งแน่นอนต้องหาเสียงในนโยบายที่ผู้สมัครเขานำเสนอด้วย เพราะไม่เช่นนั้นถ้าไปหาเสียงแล้วไม่พูดถึงนโยบายที่จะไปทำในจังหวัดนั้นๆ มันก็ไม่ใช่การหาเสียง และจะกระทบต่อการที่จะไม่ได้คะแนนด้วย เช่นไปพูดถึงเรื่องอื่น โดยไม่พูดว่าจะไปทำอะไร ในบริบทที่เป็นงานของตัวเอง คะแนนก็อาจจะไม่ค่อยได้
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่านายทักษิณ ไปปราศรัยพูดภาพใหญ่นโยบายของรัฐบาล และจากนั้นรัฐบาลก็รับลูก สามารถทำได้หรือไม่ในเวทีของท้องถิ่น นายอิทธิพร กล่าวว่า การพูดถึงนโยบายโดยบุคคลใดก็ตามที่มาช่วยหาเสียง กับการพูดถึงนโยบายในการหาเสียงตั้งท้องถิ่น มันเป็นสิ่งที่เกี่ยวพันกันได้ แต่จะถึงขั้นผิดหรือไม่ จะให้ตอบตอนนี้คงไม่ได้เพราะจะสับสนและไขว้เขว่ ฉะนั้นผู้สมัคร ผู้ช่วยหาเสียงก็ต้องมีบทบาทหน้าที่ของตัวเองในการที่จะทำอะไรก็ได้ให้มั่นใจว่าทำไปแล้วไม่ฝ่าฝืนกฎหมาย และอย่าลืมว่ามีมาตรา 23 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต.ที่กำหนดว่า พรรคการเมืองหรือผู้สมัครที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายเลือกตั้ง หรือพรรคการเมืองสามารถสอบถามมายัง กกต.ได้ โดยกกต.มีหน้าที่ต้องตอบภายใน 30 วัน ซึ่งเป็นอีกช่องทางหนึ่ง แต่ตนก็เชื่อว่าผู้สมัครและผู้ช่วยหาเสียงตระหนักดี ว่าทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหนเพราะมีตัวอย่าง ทั้งคำวินิจฉัยกกต. ว่าหาเสียงอย่างไรเข้าข่ายหลอกหลวง เสนอว่าจะให้
"ฉะนั้นถือว่าการที่จะพูดอะไรบางอย่าง มันอาจจะไม่ตรงประเด็นร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ถ้ามันเชื่อมโยงกันได้ อย่าเพิ่งไปรีบตัดสินว่ามันถูกหรือผิด เราต้องดูพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงเป็นกรณี"นายอิทธิพร กล่าว
เมื่อถามอีกว่า กรณีที่นายทักษิณ ปราศรัยว่าจะลดค่าไฟจาก 4 บาท ให้เหลือ 3 บาทกว่า น่าจะไม่ใช่อำนาจของ อบจ.ที่จะสามารถทำได้ นายอิทธิพร กล่าวว่า ท้องถิ่นเท่าที่ตนจำได้ก็มีหน้าที่ในการให้บริการและทำนุบำรุงสาธารณูปโภค ซึ่งอันนี้ก็คือสาธารณูปโภค อย่างไรก็ตามจะให้ไปตอบตอนนี้คงไม่ได้ เพราะกกต.มี 7 คน ฉะนั้นจุดเชื่อมโยงตรงไหนที่ว่าเป็นการพูดถึงนโยบายของตัวเองโดยแท้ ไม่เกี่ยวกับการหาเสียงหรือเข้าข่ายหาเสียงหลอกลวง ยังตอบจริงๆไม่ได้ ต้องมาดูเป็นกรณี ก่อนหน้านี้ตนก็พูดไปแล้วว่าอะไรทำได้ไม่ได้มันมีเส้นแบ่งอยู่เสมอ ต้องนำข้อเท็จจริงมาประกอบ แต่ถ้าเป็นไปได้ในเรื่องของการหาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่นก็ควรมุ่งเน้นที่นโยบาย ที่ผู้สมัครมุ่งเน้นจะดำเนินการเมื่อได้รับเลือกตั้ง ถ้ามันเกินขอบเขตอะไรไปแล้วมีคนร้อง ก็ต้องเอาเรื่องทั้งหมดมาดู
เมื่อถามอีกว่า กกต.ต้องทำหนังสือเตือนหรือไม่ ประธานกกต. กล่าวว่า คงไม่ต้องถึงขนาดนั้น เพราะผู้สมัครรู้ดีอยู่แล้วว่าตัวเองต้องทำอะไรบ้าง และเมื่อรับสมัครเสร็จแล้ กกต.ก็มีการประชุมเชิงสมานฉันท์ ซึ่งก็จะแจ้งให้ทราบอยู่แล้วว่าอะไรทำได้บ้าง ฉะนั้นผู้สมัครจะบอกว่าตัวเองไม่ทราบคงไม่ได้ และทั้งผู้สมัคร ผู้ช่วยหาเสียง ก็ต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตัวเองพูดไป ผู้สมัครก็ต้องรู้ ว่าจะปฏิบัติตามกฎหมายอย่างไร ผู้ช่วยหาเสียงก็ต้องรู้ว่าผู้สมัครของตัวเองมีนโยบายอย่างไร และหาเสียงช่วยสนับสนุนในประเด็นที่เป็นอำนาจหน้าที่ในกรอบที่กฎหมายกำหนด อย่างไรก็ตามถึงขณะนี้ยังไม่มีคำร้องเกี่ยวกับการหาเสียงของนายทักษิณ เข้ามา
เมื่อถามว่า ขณะนี้ กกต.ได้จับตาจังหวัดไหนเป็นพิเศษหรือไม่ นายอิทธิพร กล่าวว่า ทุกจังหวัด ผอ.กกต.ทำงานเรื่องของการเลือกตั้งมาอย่างเข้มข้นต่อเนื่องอยู่แล้ว และ ตระหนักถึงสถานการณ์ของจังหวัดตัวเอง อาจมีบางจังหวัดที่จะต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษอย่างจังหวัดปราจีนบุรี ทีมสอบ สวนของกกต. ก็จะลงพื้นที่ 2 สัปดาห์ก่อนวันเลือกตั้ง เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า การแข่งขันจะอยู่ในกรอบกติกา ส่วนจังหวัดอื่นก็มีการพูดคุยกับผู้บังคับการตำรวจภูธรเป็นประจำอยู่แล้ว ซึ่งตำรวจเอง ก็ทราบว่าสถานการณ์การแข่งขันแต่ละพื้นที่ว่ามีความเข้มข้นขนาดไหน ถ้าพื้นที่ไหนมีความเข้มข้นมาก ก็จะมีทีมงานของกกต.ร่วมกับตำรวจ ก็จะเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี