วันที่ 11 มกราคม 2567 สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า เป็นประเด็นที่ถูกตั้งคำถามขึ้นมาทันที! เมื่อ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีเข้ารับตำแหน่ง เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2567 อยู่กินฉันสามีภริยา นายปิฎก สุขสวัสดิ์ และบุตรที่ยังม่บรรลุนิติภาวะ แจ้งมีทรัพย์สินทั้งสิ้น 13,993,826,903 บาท หนี้สินทั้งสิ้น 4,441,159,711.49 บาท
เฉพาะรายการหนี้สิน น.ส.แพทองธาร แจ้งว่ามีหนี้สิน 4,439,980,600.96 บาท นายปิฎกมีหนี้สิน 1,179,110.53 บาท (เงินเบิกเกินบัญชี)
รายการหนี้สินของ น.ส.แพทองธาร มี 10 รายการ ประกอบด้วย เงินเบิกเกินบัญชี 10 บัญชี 5,458,262 บาท และ หนี้สินอื่น 9 รายการ ได้แก่
1.สัญญากู้ยืมเงินจาก น.ส.พินทองทา ชินวัตร คุณากรวงศ์ ,
2.สัญญากู้ยืมเงินจากนายพานทองแท้ ชินวัตร
3.สัญญากู้ยืมเงินนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์
4.สัญญากู้ยืมเงินนางบุษบา ดามาพงศ์
และ5.สัญญากู้ยืมเงินคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์
รวมมูลค่า 4,434,522,338 บาท
จากการตรวจสอบบัญชีรายการทรัพย์สินของ น.ส.แพทองธารพบว่า หนี้ก้อนนี้เป็นหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงิน เพื่อชำระค่าหุ้นบริษัทในครอบครัวชินวัตรจำนวน 9 บริษัท ให้แก่บุคคลในครอบครัวชินวัตร ดามาพงศ์ จำแนกเป็น ตั๋วสัญญาใช้เงิน ให้แก่ 5 บุคคล
1.นางสาวพินทองทา ชินวัตร คุณากรวงศ์ จำนวน 4 ฉบับ ลงวันที่ 8 ก.ย.2559 (8/9/2559) รวมเป็นเงิน 2,388,724,095.42 บาท ชำระ ค่าหุ้นบริษัท พี.ที.คอร์ปอเรชั่น จำกัด ,บริษัท เรนด์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด,บริษัท เอสซี ออฟฟิซ พลาซ่า จำกัด และ บริษัท เอส ซี เค เอสเทต จำกัด
2.นายพานทองแท้ ชินวัตร จำนวน 1 ฉบับ ลงวันที่ 8 ก.ย.2559 (8/9/2559) เป็นเงิน 335,420,541 บาท ชำระค่าหุ้น บริษัท เรนด์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด
3.นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ จำนวน 2 ฉบับ ลงวันที่ 9 ม.ค.2556 (9/1/2556) , 8 พ.ค.2556 (8/5/2556) รวมเป็นเงิน 1,315,460,000 บาท ชำระค่าหุ้น บริษัท โอเอ ไอ แมนเนจเม้นท์ จำกัด และ บริษัท บี.บี.ดี. ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด
4.นางบุษบา ดามาพงศ์ จำนวน 1 ฉบับ ลงวันที่ 8 พ.ค.2556 (8/5/2556) เป็นเงิน 258,400,000 บาท ชำระค่าหุ้น บริษัท บี.บี.ดี. ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด
5.คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ จำนวน 1 ฉบับ ลงวันที่ 8 ก.ย.2559 (8/9/2559) เป็นเงิน 136,517,701.60 บาท ชำระค่าหุ้น บริษัท โอเอไอ คอนซัลแต้นท์ แอนด์ แมนเนจเม้นท์ จำกัด
จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้นพบว่า ตั๋วสัญญาใช้เงินกว่า 4,400 ล้านบาท เป็นแบบครบกำหนดเมื่อทวงถาม ไม่มีดอกเบี้ย หรือพูดแบบบ้านๆคือ ให้กู้หรือเป็นหนี้ไปได้เรื่อยๆ ไม่ต้องชดใช้ ถ้าไม่ทวง
ยิ่งถ้าดูรูปแบบการแบ่งทรัพย์สินในครอบครัวชินวัตร ตั้งแต่นายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2544 ‘กงสี’จะโอนหุ้นส่วนใหญ่ให้กับนายพานทองแท้ ชินวัตร ซึ่งมีอายุเกิน 20 ปี และบุคคลอื่น เช่น นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายบุญธรรมของคุณหญิงพจมาน ไม่ได้โอนให้ลูกสาวสองคนที่อายุยังไม่ถึง 20 ปี จะได้ไม่มีปัญหาหรือต้องยุ่งยากให้การแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช.
ต่อมา เมื่อบุตรสาวสองคนบรรลุนิติภาวะ และมีครอบครัวแล้วก็ทยอยโอนหุ้นของ ‘กงสี’ให้แก่บุตรสาวทั้งสอง ส่วนใครจะได้เท่าไหร่ อย่างไรก็ต้องตรวจสอบกันต่อไป
ดังนั้น จึงมีการตั้งคำถามว่า การที่บุคคลต่างๆในครอบครัว ญาติพี่น้องข้างต้นโอนหุ้นมูลค่ากว่า 4,400 ล้านให้แก่ น.ส.แพทองธารเป็นการโอนให้ (สัญญาให้)หรือไม่ ไม่ใช่การซื้อขายที่ต้องมีการชำระราคา
ถ้า น.ส.แพทองธารไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช.การโอนหุ้นดังกล่าวก็คงไม่มีปัญหาอะไร เพราะหุ้นทั้ง 9 บริษัท ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นการโอนหุ้นในครอบครัวญาติพี่น้องแบบเงียบๆ ที่ไม่มีใครไปตรวจสอบหรือ ถ้าจะตรวจสอบคงไม่สามารถทำได้ง่ายๆ
แต่เมื่อ น.ส.แพทองธาร ต้องเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างกระทันหันต่อจากนายเศรษฐา ทวีสิน ที่ต้องตกเก้าอี้แบบไม่คาดฝัน ทำให้ต้องมีการเตรียมพร้อมในการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช.เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยเหมือนนายทักษิณ เมื่อปี 2544
เมื่อเป็นเช่นนี้คำถามแรกที่เกิดขึ้นคือ ตั๋วสัญญาใช้เงินที่ทำขึ้นจำนวน 9 ฉบับ ลงวันที่ 9 มกราคม 2556 บ้าง 8 กันยายน 2559 บ้าง เป็นการทำขึ้นเพื่อชำระราคาในวันโอนหุ้นเลยหรือ ทำขึ้นย้อนหลังเพื่อให้แสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช.ไม่มีปัญหาหรือไม่
วิธีการตรวจสอบทำได้ไม่ยาก โดยใช้วิธีการทางนิติวิทยาศาสตร์ ตรวจสอบกระดาษและน้ำหมึกที่ใช้ในการออกตั๋วสัญญาใช้เงิน
คำถามที่สอง การทำตั่วสัญญาใช้เงินเพื่อเป็นการชำระราคาค่าหุ้น เป็น ‘นิติกรรมอำพราง’สัญญาให้หุ้นหรือไม่ เพราะ ถ้าคิดในรูปแบบบการแบ่งสรรทรัพย์สินในครอบครัวในฐานะบุตรหนึ่งในสามคนก็ต้องได้รับทรัพย์สินเหล่านั้นจาก ‘กงสี’อยู่แล้ว ไม่ต้องมีการซื้อขาย
คำถามที่สาม แล้วทำไมต้องออกตั๋วสัญญาใช้เงินชำระราคา ‘อำพราง’สัญญาให้หุ้นมูลค่ากว่า 4,400 ล้านบาท คำตอบคือ เมื่อมีการเปิดเผยเรื่องนี้ต่อสาธารณะ ในฐานะนายกรัฐมนตรีต้องถูกตั้งคำถามว่า เมื่อมีรายได้จากการให้ขนาดนี้ ถือเป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษีบุคคลธรรมดาหรือไม่
ถ้าคิดอย่างเร็ว ๆ เงินได้กว่า 4,400 ล้านบาท ต้องเสียภาษีเงินได้เกือบ 1,500 ล้านบาท
บางคนบอกว่า วิธีการดังกล่าว เป็นการ ‘วางแผนภาษี’ซึ่งมีเส้นกั้นบางๆว่า กับคำว่า ‘เลี่ยงภาษี’
คำถามที่เกิดขึ้นทั้งหมด ผู้ที่ให้คำตอบได้ดีที่สุด ไม่ใช่ น.ส.แพทองธาร แต่เป็นผู้ที่วางแผนให้ทั้งหมดเหมือนกับกรณีคดีซุกหุ้นภาค 1 และซุกหุ้นภาค 2 ของนายทักษิณ ชินวัตร
ขอบคุณข้อมูล : isranews
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี