เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2568 นายราเมศ รัตนะเชวง อดีตโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์กับรายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ในประเด็น นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในช่วงที่ยังต้องโทษจำคุก 1 ปี ได้รับอนุญาตให้ไปพักอยู่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ ด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ ไม่ต้องอยู่ในเรือนจำแม้แต่วันเดียวจนถึงได้รับอนุญาตให้เข้ามาตรการพักโทษ ว่า ในฐานะที่ตนเป็นนักกฎหมาย ก็ค่อนข้างชัดเจน บวกกับตนก็ตามเรื่องนี้มาตั้งแต่แรก ด้วยความสงสัยจึงไปเปิดระเบียบดู ก็ยิ่งชัดไปอีก
กล่าวคือ เมื่อบุคคลกลายเป็นผู้ต้องขังเข้าไปอยู่ในเรือนจำ หากมีอาการเจ็บป่วย แพทย์ของราชทัณฑ์ก็จะต้องทำความเห็นก่อนว่าจำเป็นต้องส่งตัวออกไปที่อื่นหรือไม่ อย่างที่พูดกันถึงเรื่องเวชระเบียน ดังนั้นหากจะบอกว่านายทักษิณป่วยหนักอาการไม่ไหวแล้วก็ต้องมีหลักฐานการตรวจ ราชทัณฑ์ก็ต้องมีเวชระเบียนเช่นกัน ไม่ใช่เฉพาะในฝั่งของ รพ.ตำรวจ และเมื่อ รพ.ตำรวจ รับตัวนายทักษิณไว้รักษาแล้วให้พักอยู่ต่อเป็นระยะเวลายาวนาน ทุกอย่างเป็นเส้นทางเดินของหลักการทั้งหมด
ดังนั้นหากนำหลักการมาจับ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีความความสามารถในการสอบสวนอยู่แล้ว ตนจึงไม่ค่อยกังวลเพราะจะจับประเด็นได้ง่ายมาก และแพทย์เมื่อลงความเห็นแล้วก็ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ทำ ซึ่งการที่มีแพทยสภามาช่วยตรวจสอบก็ถือเป็นเรื่องดี และนายชวน หลีกภัย อดีตนายกฯ และอดีตประธานรัฐสภา ก็ทำหนังสือถึงแพทยสภาขอให้ทำงานอย่างตรงไปตรงมา หากไปดัดแปลงอะไรที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงอาจมีปัญหาตามมาในภายภาคหน้าได้
ซึ่งเรื่องชั้น 14 จะมีปัญหาทั้งกับตัวของนายทักษิณ รวมถึงรัฐบาลชุดปัจจุบันด้วย โดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพราะหากว่ากันตามระเบียบ ทุกอย่างรัฐมนตรีต้องรับรู้ เช่น เหตุใดอยู่ใน รพ.ราชทัณฑ์ ไมได้ ต้องไปอยู่ รพ.ตำรวจ เรื่องการผ่าตัดต่างๆ มีจริงหรือไม่ ส่วนท่าทีของนายทักษิณ ตนเป็นคนแรกๆ ที่บอกว่านายทักษิณไม่ได้ครอบงำ เพราะนายทักษิณใช้คำว่าครอบครองซึ่งตามพจนานุกรมแปลว่าเป็นเจ้าของ ก็หมายความว่านายทักษิณเป็นเจ้าของรัฐบาล จะทำอย่างไรก็ได้ ซึ่งก็เป็นตามนั้น เห็นได้จากทั้งสื่อทั้งภาคเอกชนก็มุ่งไปที่นายทักษิณ
“ที่เขาบอกว่าหน้าที่เขาคือ ส.ท.ร. ผมว่าพูดสนุกพูดได้ แต่ด้วยหลักการบริหารราชการแผ่นดินบางเรื่องมันต้องเกิดความโปร่งใส บางเรื่องคนมีตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเขามีกลไกในการตรวจสอบถ่วงดุล ฉะนั้นถ้าเกิดเอาคนนอกมาเป็นนายกฯ ที่แท้จริง แล้วทำเหมือนเป็นนายกฯ ตัวจริง ผมว่ามันก็มีปัญหาตามมาแน่นอน อันนี้ผมไม่พูดถึงความเชื่อมั่นของตัวนายกฯ เอง ซึ่งประชาชนทราบอยู่แล้วว่าเขาให้ความเชื่อมั่นนายกฯ มาก-น้อยขนาดไหน” นายราเมศ กล่าว
นายราเมศ กล่าวต่อไปว่า อย่างเรื่องหนึ่งที่อนาคตน่าจะเป็นปัญหา คือการไปนัดผู้นำบางประเทศ บอกว่านายทักษิณไปเจอกันกลางทะเล เรื่องนี้มีคำถาม เช่น หากเป็นการเจอกันในเขตประเทศไทย แม้จะเป็นระดับผู้นำประเทศแต่ก็ถือเป็นชาวต่างชาติ ถามว่าเข้ามาอย่างถูกกฎหมายหรือไม่ มีคำถามมากมายที่แสดงถึงความไม่โปร่งใส ในการที่ลูกเป็นนายกฯ แต่พ่อเข้ามาแสดงบทบาทแทนลูก
หรืออย่างที่นายทักษิณแนะนำว่าควรผลักดันเอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ รัฐบาลก็ตอบสนองทันที บรรดารัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยก็ออกมารับ แบบนี้ก็มองออกว่าทำงานกันเป็นระบบครอบครัว ซึ่งจริงๆ ก็ชัดเจนอยู่แล้ว เห็นได้จากมีการตั้งตำแหน่ง ผอ.ครอบครัวเพื่อไทย การเป็นพรรคการเมืองมาทำงานให้ประชาชนเสมือนครอบครัวก็คงไม่ได้เพราะไม่ใช่ธุรกิจ อย่างที่นายชวนบอกว่าเข้ามาทำงานการเมืองไม่ใช่ทำธุรกิจการเมือง นายชวนจึงเข้ามาเป็นปากเป็นเสียงให้ประชาชน
เพราะหากเข้ามาในทางการเมืองแล้วอ้างประชาธิปไตยเพื่อให้ตนเองมีอำนาจแล้วแสวงหาประโยชน์ที่ไม่ควรได้ด้วยกฎหมาย ซึ่งพูดไปก็ไม่ต้องกลัวที่จะถูกฟ้อง 2 อดีตนายกรัฐมนตรี นายทักษิณ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ถูกศาลตัดสินไปแล้วว่าผิดจริง อีกทั้งจากการรวบรวมข้อมูลไว้ ยังพบว่านักการเมืองและข้าราชการที่ติดคุกอยู่ในรัฐบาลของ 2 อดีตนายกฯ ดังกล่าวมากที่สุด ซึ่งที่น่าเศร้าคือในส่วนของข้าราชการที่ไปรับใช้นักการเมือง จะด้วยความเกรงใจก็ได้ แต่เมื่อรับใช้แล้วภาระความรับผิดชอบก็มาตกอยู่กับตนเอง ซึ่งก็จะมีสถิติเก็บอยู่ว่าไม่ใช่การบริหารบ้านเมืองแบบสุจริตตรงไปตรงมา
หรืออย่างที่นายทักษิณฟ้องหมิ่นประมาทนายชวน กรณีไปบรรยายแล้วพาดพิงว่า 1.นายทักษิณใช้กระบวนการนอกกฎหมาย 2.นายทักษิณแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จนทำให้สถานการณ์รุนแรงมาจนถึงปัจจุบัน ประเด็นกรือเซะ-ตากใบ 3. การปราบปรามยาเสพติดที่มีผู้เสียชีวิตถึง 2,500 ราย จนถึงปัจจุบันก็ไม่มีการชี้แจงว่าเสียชีวิตว่าเพราะอะไร คดีนี้มีการต่อสู้กันจนสุดท้ายศาลตัดสินยกฟ้อง เพราะนายชวนพูดความจริง และมีกระบวนการพิสูจน์
อย่างเรื่อง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หากวันหนึ่งคดีถึงที่สุดแล้วสังคมจะได้เห็นความจริงมากขึ้น ว่าคนเป็นนายกฯ ขณะนั้น ได้ใช้อำนาจในการสั่งการให้ดำเนินการอย่างไร เช่น กรณีเหตุระเบิดที่สถานีรถไฟหาดใหญ่ แล้วนายกฯ ในขณะนั้นบินไปสั่งการในพื้นที่ ถามว่ามีผู้ก่อการร้ายมีกี่คน เมื่อเจ้าหน้าที่ตอบว่า 18-19 คน ก็ไปบอกว่าจัดการเดือนละ 10 คน เรื่องนี้ถูกนำไปกล่าวในศาล โดยมีนายทหารมาเป็นพยาน
ซึ่งเมื่อตนถามไปว่าเมื่อผู้นำสูงสุดพูดแบบนี้ตีความว่าอย่างไร นายทหารคนดังกล่าวที่ดูแลเรื่องยุทธศาสตร์ตอบว่าในเชิงยุทธศาสตร์ตีความอย่างอื่นไม่ได้ หากบอกว่าให้ไปจัดการ 10 คน เดือนเดียวก็หมดแล้ว การจัดการก็คือการเก็บเสีย หรืออะไรแบบนั้น ประเด็นนี้อยู่ในคำพิพากษาด้วย แต่ด้วยความเป็นนักกฎหมาย คงต้องรอให้คดีถึงที่สุดแล้วอาจมีการเขียนเป็นหนังสือหรือแถลงข่าวอีกสักรอบหนึ่ง
ดังนั้นบริบทของนายทักษิณที่บริหารราชการแผ่นดินมา และมีบทบาททางการเมืองในปัจจุบัน จะไม่ให้เกิดความกังวลได้อย่างไร ที่บอกว่าคนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์นายทักษิณคือคนที่เคียดแค้น หรือไม่ชอบเป็นการส่วนตัว หรือเพราะแพ้การเลือกตั้ง ซึ่งกรณีนี้เป็นการกล่าวหานายชวน แต่ตนเชื่อว่าทุกคนที่ออกมาต่อสู้กันอยู่ขณะนี้เพื่อเรียกร้องความถูกต้อง คนเป็นผู้นำ การรับฟังเสียงส่วนน้อยหรือฝ่ายที่ค้าน ยิ่งในระบบการเมืองเป็นเรื่องสำคัญ
“คนที่พอจะพูดแล้วสังคมรับฟังบ้าง แล้วหันกลับมามองคุณทักษิณ องคาพยพของคุณทักษิณ ระบอบทักษิณที่ดำรงคงอยู่จนถึงปัจจุบัน ถ้าเกิดว่าสิ่งไหนไม่ดีก็ต้องพูดเพื่อติติงให้สังคมเห็น บอกว่าตอนนี้คนที่เป็นนักร้อง คนที่ไมเห็นด้วย มากินกาแฟ กินไวน์กันไหม เดี๋ยวจะได้มาทำงานร่วมกัน ผมว่าถ้าเกิดว่าเราจะใช้ความสนิทสนม ใช้กระบวนการพวกพ้องแล้วบอกว่าต่อไปนี้เราทำงานง่ายขึ้น ผิด-ถูกไม่รู้แต่เป็นพวกกันแล้วเห็นด้วยกันทั้งหมด ผมว่าอันนั้นไม่ใช่หลักการประชาธิปไตย” นายราเมศ ระบุ
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี