‘จุตพร’ขย่มซ้ำสนามกอล์ฟอัลไพน์
‘อิ๊งค์’ต้องรับผิดชอบ
ครอบครองที่ดินไม่ถูกต้องตามก.ม.
ตอก‘ความผิดสำเร็จแล้ว’
จี้รองปลัดมท.รีบเพิกถอน
“จตุพร” ขย่มซ้ำปมที่ดิน สนามกอล์ฟอัลไพน์ หลัง “กฤษฎีกา-ศาล” ชี้ชัดแล้ว ย้ำ “อุ๊งอิ๊งค์” ต้องรับผิดชอบ ครอบครองที่ธรณีสงฆ์-ถือหุ้น แม้โอนให้คนอื่น การถือหุ้นครอบครองที่ดินไม่ถูกต้องตามกฎหมาย จะอ้างซื้อต่อกันมาก็ไม่สมควรกระทำ เมื่อกระทำแล้ว จึงเป็นความผิดสำเร็จแล้ว ส่วนการเพิกถอนกรรมสิทธิ์ ถ้ารองปลัด มท. ไม่สั่งการก็ต้องรับผิดชอบ ชี้เข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตาม ม.157
เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2568 นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์เมื่อคืนวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา โดยกล่าวถึงสนามกอล์ฟอัลไพน์ว่า นายชาดา ไทยเศรษฐ อดีต รมช.มหาดไทย ได้ลงนามเพิกถอนกรรมสิทธิ์สนามกอล์ฟอัลไพน์และให้ที่ดินตกเป็นธรณีสงฆ์ตามเดิมเมื่อ 3 กันยายน 2567 ก่อนพ้นวาระ 3 วัน โดยยึดตามการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาและศาลที่วินิจฉัยให้การเพิกถอนเป็นหน้าที่ของกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย
ดังนั้น โดยขั้นตอนแล้ว นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ รองปลัดกระทรวง หัวหน้ากลุ่มภารกิจต้องเป็นผู้ลงนามเพิกถอนจึงจะมีผลสมบูรณ์ ถ้าไม่ลงนามก็จะเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตาม ม. 157
อีกทั้งกล่าวว่า นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ รองปลัด กระทรวงมหาดไทย คนนี้ เคยให้สัมภาษณ์แบบตีกันเชียงหนีปัญหา โดยบอกว่า ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไม่เซ็น แต่ยังไม่เซ็น อย่างไรก็ตาม มีข่าวสะพัดว่า หลังจากเกษียณราชการในเดือนกันยายนนี้ จะคิดไปสมัครเป็นกรรมการ ปปช. ซึ่งเท็จจริงหรือไม่ อยากให้ชี้แจงด้วย
“หากคุณไม่เซ็นในเรื่องการเพิกถอนสนามกอล์ฟอัลไพน์แล้ว สว.หน้าไหนไปโหวตให้เป็น ปปช. คงเกิดเรื่องแน่ และจะถูกด่าเช้าด่าเย็นเลย เพราะการไม่เซ็นคือการขาดคุณสมบัติข้อแรกในการป้องกัน ปราบปราม การทุจริตคอร์รัปชันในวงราชการ” นายจตุพร กล่าว
นายจตุพร กล่าวว่า ที่ดินที่เป็นสนามกอล์ฟอันไพน์ในขณะนี้ มีเรื่องราวเกิดขึ้นตั้งแต่พฤศจิกายน 2512 โดย นางเนื่อม ชำนาญชาติศักดา ทำพินัยกรรมยกโฉนดที่ดินกว่า 920 ไร่ให้วัดธรรมมิกการามวรวิหาร ดังนั้น จึงเป็นธรณีสงฆ์ ไม่ใช่ประสงค์บริจาคให้เป็นสนามกอล์ฟ
จากนั้น กุมภาพันธ์ 2533 รมว.มหาดไทยและ รมช.มหาดไทยขณะนั้น สั่งไม่อนุญาตให้วัดมีที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน ม.84 ถัดมาสิงหาคม 2533 มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยในฐานะผู้จัดการมรดกได้ถอนที่ดินให้เป็นของมูลนิธิฯ แล้วนำไปขายทั้งสองแปลงกับบริษัท อัลไพน์ เรียลเอสเตท จำกัด และบริษัทอัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จำกัดในราคา 142 ล้าน แต่ปัจจุบันมีมูลค่ากว่า 7,000 ล้าน
หลังจากนั้นอีก 11 ปี คือ กุมภาพันธ์ 2544 คณะกรรมการกฤษฎีกาโดยที่ประชุุมใหญ่มีความเห็นให้ที่ดินเป็นธรณีสงฆ์ ดังนั้นต้องโอนที่ดินตามมรดกพินัยกรรมให้กลับคืนแก่วัดเท่านั้น จะโอนให้คนอื่นนอกเหนือจากวัดไม่ได้ ถัดมา ธันวาคม 2544 อธิบดีกรมที่ดินขณะนั้น มีคำสั่งเพิกถอนการโอนที่ดินมรดกนี้ให้กลับมาเป็นธรณีสงฆ์ตามเดิม อย่างไรก็ตาม ที่ดินมรดกผืนนี้ยังไม่ถูกเพิกถอนกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลและนิติบุคคลให้กลับมาเป็นที่ธรณีสงฆ์
อีกทั้ง ที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ แต่เดิมนั้น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นผู้ถือหุ้นคนสำคัญถึง 30 % แม้ก่อนมาเป็นนายกฯ ได้โอนหุ้นให้บุคคลอื่นแล้ว แต่ต้องรับผิดชอบ ที่ไปครอบครองที่ธรณีสงฆ์ ไม่สามารถซื้อขายเป็นกรรมสิทธิ์ได้ ดังนั้น การถือหุ้น ครอบครองที่ดินจึงไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งจะอ้างว่าซื้อต่อกันมา ก็ไม่สมควรกระทำ และเมื่อกระทำแล้วจึงเป็นความผิดสำเร็จแล้ว
“เมื่อนายชาดา สั่งให้พิจารณาเพิกถอน ที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ให้เป็นที่ธรณีสงฆ์ ตามคำสั่งของคณะกรรมการกฤษฎีกา และคำพิพากษาของศาล แต่การจะเป็นธรณีสงฆ์สมบูรณ์เมื่อรองปลัดมหาดไทยที่รับผิดชอบกรมที่ดินได้ลงนามแล้ว ขณะนี้รองปลัดคนนี้ยังไม่เซ็น แต่หนีไม่พ้นความรับผิดชอบไปได้” นายจตุพร กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี