‘นายกสมาคมทนาย’กาง 5 ข้อ ทุบเปรี้ยง‘ผบ.เรือนจำ’มีอำนาจส่ง‘ทักษิณ’รักษาชั้น14
19 มกราคม 2568 เพจเฟซบุ๊ก “สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย” โพสต์บันทึกของนายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย มีเนื้อหาดังนี้...
บันทึกจากนายกสมาคมทนายความฯ
ตามที่มีนักกฎหมายบางท่านแสดงความคิดเห็นว่า การที่ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครได้ส่งตัวอดีตนายกทักษิณ ชินวัตร ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ อันเป็นการส่งตัวอดีตนายกไปคุมตัวในสถานที่อื่นนอกจากเรือนจำโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อหมายขังของศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 146 นั้น
ผมเห็นว่าเป็นความเห็นที่คลาดเคลื่อน ดังนี้
(1) กรณีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 246 วรรคหนึ่ง (2) เป็นเรื่องของ “การทุเลาการบังคับให้จำคุก“ ซึ่งต้องหักจำนวนวันที่จำเลยอยู่ในความควบคุมในสถานที่นอกจากเรือนจำออกจากระยะเวลาจำคุกตามคำพิพากษา แต่กรณีของอดีตนายกเป็นเรื่องของ ”การส่งตัวไปรักษาพยาบาลนอกเรือนจำ“ ตามมาตรา 55 วรรคสอง ของพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 ซึ่งกฎหมายให้ถือว่าถูกคุมขังอยู่ตลอดเวลาที่รักษาตัว จึงเป็นคนละกรณีหรือเป็นคนละเรื่องกัน
(2) การส่งตัวอดีตนายกไปรักษาตัวนอกเรือนจำดังกล่าว ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 55 วรรคสอง ประกอบกฎกระทรวง การส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะที่ให้อำนาจผู้บัญชาการเรือนจำมีอำนาจส่งตัวผู้ต้องขังไปยังสถานบำบัดรักษาสำหรับโรคนั้นโดยเฉพาะได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาล
(3) มาตรา 55 วรรคสาม ของพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 บัญญัติว่าในกรณีที่ส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำตามวรรคสอง มิให้ถือว่าผู้ต้องขังนั้นพ้นจากการคุมขัง และถ้าผู้ต้องขังไปเสียจากสถานที่ที่รับผู้ต้องหาไว้รักษาตัว ให้ถือว่ามีความผิดฐานหลบหนีที่คุมขังตามประมวลกฎหมายอาญา
(4) ดังนั้น ห้องพักรักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ จึงมีสถานะตามกฎหมายเป็นสถานที่คุมขังอันเป็นเรือนจำตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 4 จึงถือว่าอดีตนายกทักษิณถูกคุมขังตามหมายขังของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในเรือนจำตลอดเวลาที่พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตามกฎหมาย การที่อดีตอาจารย์กฎหมายบางท่านแสดงความเห็นว่าต้องให้ศาลฎีกาฯ ออกหมายขังอดีตนายกและนำตัวกลับมาขังในเรือนจำใหม่นั้น เป็นความเห็นที่คลาดเคลื่อนถึงขั้น ”เลอะเทอะ“ เพราะไม่มีกฎหมายให้อำนาจนำผู้ต้องขังที่ได้รับโทษครบถ้วนแล้วกลับไปขังซ้ำอีก
(5) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กับพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 เป็นกฎหมายสองฉบับที่มีฐานะเท่ากันโดยเป็นพระราชบัญญัติเช่นเดียวกัน พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พ.ศ. 2477 มีผลบังคับใช้วันที่ 10 มิถุนายน 2478 ในกรณีที่กฎหมายที่มีฐานะเท่ากันมีบทบัญญัติแตกต่างกัน ต้องถือว่ากฎหมายที่ออกมาในภายหลังเป็นข้อยกเว้นหรือออกมาแทนที่ (supersedes) กฎหมายฉบับแรก จึงต้องใช้กฎหมายที่ออกมาในภายหลังที่มีบทบัญญัติในเรื่องนั้นโดยเฉพาะ การส่งตัวอดีตนายกไปรักษาตัวนอกเรือนจำจึงต้องเป็นไปตามมาตรา 55 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะที่ออกมาในภายหลัง อันเป็นความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไปที่สอนในชั้นปีที่ 1 ของคณะนิติศาสตร์
จึงสรุปได้ว่า การส่งตัวอดีตนายกไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ เป็นอำนาจของผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครตามกฎหมายราชทัณฑ์ จึงไม่ต้องขออนุญาตศาลและที่พักรักษาตัวในโรงพยาบาลและที่พักรักษาตัวในโรงพยาบาลตำรวจ กฎหมายถือว่าอดีตนายกถูกขังตามหมายขังของศาลในเรือนจำตลอดเวลาตามกฎหมายราชทัณฑ์แล้ว
นรินท์พงศ์ จินาภักดิ์
นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย
18 มกราคม 2568
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี