"วุฒิสภา"เช็คผลงาน"กกต." แนะเข้ม"เลือกตั้งท้องถิ่น" ด้าน"แสวง"แจงต้องรักษาระบบ รับเลือกตั้งที่ผ่านมามีผิดพลาด แต่เปอร์เซ็นต์น้อย ชี้ระบบ"อีโหวตดิ้ง"พร้อมใช้ช่วงเลือกตั้งท้องถิ่น-ประชามติ
เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2568 ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มี พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณารายงานผลการปฏิบัติงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประจำปีงบประมาณ 2566 ตามมาตรา 22(8) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พ.ศ.2560 โดยมี นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต.และคณะ ร่วมชี้แจง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการอภิปรายของ สว.นั้น มีการท้วงติงต่อการทำงานของ กกต.ในกระบวนการเลือก สว.ที่มีข้อครหาว่ามีกระบวนการเลือกกันเองของผู้สมัครกลุ่มต่างๆ ที่ไม่โปร่งใส จนมีประเด็นฟ้องร้องต่อศาลหลายกรณีนอกจากนั้นแล้วยังมีข้อเสนอให้ กกต.ได้พิจารณานำเครื่องออกเสียงลงคะแนนด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์มาทดลองใช้ในการเลือกตั้ง เพื่อสามารถพัฒนาระบบไม่ให้มีข้อผิดพลาดในการใช้ลงคะแนนในการเลือกตั้ง
ทั้งนี้ ช่วงหนึ่งของการอภิปราย สว.ได้ซักถามถึงความพร้อมต่อการเลือกตั้งท้องถิ่น รวมถึงการกำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันเสาร์ที่ 1 ก.พ.แทนวันอาทิตย์ รวมถึงความพร้อมของเจ้าหน้าที่ โดย นายนิคม มากรุ่งแจ้ง สว.อภิปรายเป็นข้อเสนอให้ กกต.สั่งการไปยังผู้อำนวยการการเลือกตั้งจังหวัด ให้จัดการอบรมผู้ปฏิบัติงานในการเลือกตั้งท้องถิ่นในวันที่ 1 ก.พ.อย่างเข้มงวดจริงจัง ทั้งนี้ ทราบว่ามีงบประมาณจัดอบรม 1 วัน แต่พบการจัดอบรมจริงแค่ครึ่งวัน อาจทำให้ผู้ปฏิบัติงานไม่มีความรู้ในการปฏิบัติหน้าที่วันเลือกตั้ง ขณะที่ชุดเคลื่อนที่เร็วสำหรับการเลือกตั้ง อบจ.และ ส.อบจ.ที่จะปฏิบัติหน้าที่ 23 ม.ค.นี้ ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ควรทำได้จริง หากผู้ตรวจการเลือกตั้งเรียกใช้บุกจับยามวิกาลต้องพร้อมตลอดเวลาไม่ใช่แค่ตรวจตามหน่วย ขอให้กกต.สั่งการไปยังจังหวัดให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถทำงานได้จริง
ขณะที่ นายแสวง ชี้แจงว่า กกต.ไม่ได้คิดต่างจากประชาชนทุกเรื่อง แต่บางอย่างที่คิดต่างออกไปเพราะกฎหมายกำหนด ที่อภิปรายเช่น รูปแบบบัตรออกเสียงลงคะแนน การประกาศผลที่ล่าช้า หรือการจัดให้บางอาชีพของ สว.จัดอยู่ในกลุ่มเลือกของ สว.เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนลงสมัครเป็น สว.ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ การประกาศผลช้านั้นเป็นเรื่องที่กฎหมายกำหนด หากประกาศน้อยกว่าหรือมากกว่าจะไม่ปลอดภัยต่อกระบวนการการเลือกตั้ง ทั้งนี้ กกต.ไม่ใช่ผู้วินิจฉัยว่าการเลือกตั้งจะเป็นโมฆะหรือไม่ หากทำเกินกฎหมาย
"สำหรับการเลือกตั้ง 1 ก.พ.นั้น มีหน้าที่รักษากระบวนการการเลือกตั้งให้สำเร็จ หากเกินจากนั้นเวลาที่กฎหมายกำหนด อาจมีคนไปร้องและทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะได้ ดังนั้นต้องรักษากระบวนการการเลือกตั้ง ทั้งนี้ ตนเข้าใจคนที่ลงแข่งขันอยากให้ประชาชนมีส่วนร่วม แต่กกต.ต้องรักษาระบบ" นายแสวง กล่าว
นายแสวง ชี้แจงต่อว่า สำหรับการลงคะแนนเลือกตั้งด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อีโหวตดิ้ง นั้น ขณะนี้กฎหมายไม่ให้ใช้ แต่หากพิจารณาการเลือกตั้งที่อาจนำมาใช้ได้ คือ ระดับท้องถิ่นและการออกเสียงประชามติ เพราะกฎหมายเปิดโอกาสให้ใช้ได้ ขณะที่การตรวจสอบนโยบายของพรรคการเมืองนั้น เป็นไปตามเงื่อนไขของกฎหมาย อย่างการเลือกตั้งที่ผ่านมา พบว่ามีพรรคที่เสนอนโยบาย พบว่ามี 700 โครงการ งบประมาณรวม 7 แสนล้านบาท ที่มองว่าเป็นนโยบายประชานิยมนั้นสุดแล้วแต่ประชาชน แต่การตรวจสอบของกกต.ต้องเป็นไปตามกฎหมาย ในการทำงานของ กกต.ยืนยันหลักความโปร่งใส มีส่วนร่วมของประชาชน อำนวยความสะดวกให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง สำหรับการเลือกตั้งที่ผ่านมายอมรับว่า มีปัญหาอยู่ 30 - 40 หน่วย ซึ่งเป็นเปอร์เซ็นต์น้อย
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี