"ศาลล้มละลายกลาง"ยกคำร้อง"ก.คลัง" ขอเพิ่มผู้บริหารแผนฟื้นฟูการบินไทย เป็น 5 คน ศาลชี้ผู้บริหารแผนปัจจุบัน 3 คน ก็บริหารได้มีประสิทธิภาพ-ไม่มีปัญหา หากเพิ่มผู้บริหารแผนอีก 2 คน จะมีข้อยุ่งยาก เสียเวลา ต้องจัดสรรแบ่งหน้าที่กันใหม่ ทั้งยังสิ้นเปลืองงบประมาณค่าใช้จ่ายปีละ 5 ล้านต่อคน ส่วนผู้บริหารแผน 2 คน ที่"ก.คลัง"เสนอมา ก็เป็น"จนท.ภาครัฐ"ไม่เคยมีส่วนร่วมบริหารการบินไทย
เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2568 ที่ศาลล้มละลายกลาง ศูนย์ราชการฯ ถ.แจ้งวัฒนะ ศาลออกนั่งบัลบังก์อ่านคำสั่ง คดีบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ลูกหนี้ผู้ร้องขอ กับ นางกิติมา สีตลกาญจน์ นายธนายุส โฆสิตสกุล เจ้าหนี้รายที่ 21 เจ้าหนี้รายที่ 1774 , สหกรณ์ออมทรัพย์การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จำกัด เจ้าหนี้รายที่ 2089 , สหกรณ์ออมทรัพย์ป่าไม้ จำกัด เจ้าหนี้รายที่ 2244 , สหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จำกัด เจ้าหนี้รายที่ 2245 , สหกรณ์ออมทรัพย์องค์การเภสัชกรรม จำกัด เจ้าหนี้รายที่ 2481 , นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง เจ้าหนี้รายที่ 3932 , สหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขสุราษฎร์ธานี จำกัด เจ้าหนี้รายที่ 5913 เรื่อง ฟื้นฟูกิจการ (ชั้นพิจารณาให้ความเห็นชอบข้อเสนอขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ)
คดีสืบเนื่องจากศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ลูกหนี้ และตั้งบริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ร่วมกับ พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค นายบุญทักษ์ หวังเจริญ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ นายจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล และนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร เป็นผู้ทำแผน เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2563
ต่อมาศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน โดยมี นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ นายพรชัย ฐีระเวช นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ และนายไกรสร บารมีอวยชัย เป็นผู้บริหารแผน กระทั่งวันที่ 20 ตุลาคม 2565 ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยข้อเสนอ ขอแก้ไขแผนของผู้บริหารแผนครั้งที่ 1 และต่อมาในวันที่ 21 ตุลาคม 2565 นายไกรสร บารมีอวยชัย และนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ ลาออกจากการเป็นผู้บริหารแผน
ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2567 และวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567ผู้บริหารแผนยื่นคำร้องขอเสนอขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ ครั้งที่ 2 รวมจำนวน 3 ฉบับ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดประชุมเจ้าหนี้ เพื่อพิจารณาข้อเสนอขอแก้ไขแผน ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 โดยที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติยอมรับข้อเสนอขอแก้ไขแผน ของผู้บริหารแผนทั้ง 3 ฉบับ ขอให้ศาลนัดพิจารณาข้อเสนอขอแก้ไขแผน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกว่า คำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ ครั้งที่ 2
ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 13 กันยายน 2567 ที่ได้เพิ่ม ขึ้นมาในแผนว่า ภายหลังจากการปรับโครงสร้างทุนแล้วเสร็จ และดำเนินการแล้ว ผู้บริหารแผนมีอำนาจลดทุนจากจำนวนที่จดทะเบียนไว้ด้วยการลดมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ จากเดิมหุ้นละ 10 บาท เป็นจำนวนตามที่ผู้บริหารแผนเห็นสมควรและเหมาะสม เพื่อที่จะทำให้ การบินไทยสามารถลดผลขาดทุนสะสมให้ใกล้เคียงศูนย์มากที่สุด และดำเนินการอื่นใดที่จำเป็นและเกี่ยวข้อง โดยต้องคำนึงถึงประโยชน์ของการบินไทยเป็นสำคัญ กับคำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟู กิจการครั้งที่ 2 ฉบับที่ 2 ที่ได้เพิ่มข้อความวรรคสุดท้ายว่า อย่างไรก็ดี หากผู้บริหารแผนหรือคณะกรรมการของการบินไทยเห็นสมควรเสนอให้มีการพิจารณาจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น ผู้บริหารแผนหรือคณะกรรมการของการบินไทยสามารถนำกระแสเงินสด มาจ่ายเงินปันผลได้ แต่ทุกกรณีที่มีการจ่ายเงินปันผล การบินไทยต้องกันเงินสดเพื่อจัดสรรชำระหนี้เป็นเงินจำนวนไม่น้อยกว่าเงินปันผล และยังปรากฏด้วยว่า การบินไทยยังขาดทุนสะสมสูงถึง 73,129 ล้านบาทเป็นเวลานานไม่ต่ำกว่า 6 ปี ก่อนเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูปี 2563 และเมื่อรวมดอกเบี้ย แล้วจะขาดทุนสูงถึง 85,000 ล้านบาท งวดปีสิ้นสุด 31 ธันวาคม 2567
ดังนั้น เมื่อแผนฟื้นฟูกิจการกำหนดหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการเพิ่มทุน และลดทุน จากเดิมหุ้นละ 10 บาท เป็นจำนวนตามที่ผู้บริหารแผน เห็นสมควรและเหมาะสม โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของการบินไทยเป็นสำคัญ จึงเป็นวิธีการที่ผู้บริหารแผนในฐานะที่เป็นผู้จัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ ตามบทนิยามของกฎหมายล้มละลายและการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้มีอำนาจกระทำได้ภายในขอบอำนาจโดยชอบตามแผนฟื้นฟูกิจการอยู่แล้ว และการดำเนินการดังกล่าวมิได้กระทบสิทธิ ต่อการได้รับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการแต่อย่างใด และในส่วนที่มีการเสนอขอแก้ไขแผน ฉบับที่ 2 โดยระบุเหตุในการเสนอแก้ไขแผนว่า เพื่อให้เกิดความชัดเจนในเรื่องการจ่ายเงินปันผลและให้มีความสมดุลระหว่างการจ่ายเงินปันผลและการชำระหนี้ก่อนกำหนดให้แก่เจ้าหนี้ตามแผนนั้น เห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นการเพิ่มรายละเอียดให้ชัดเจนเกี่ยวกับวิธีการจ่ายเงินปันผลที่ผู้บริหารแผน มีอำนาจกระทำได้ภายในขอบอำนาจโดยชอบตามแผนฟื้นฟูกิจการอยู่แล้วเช่นเดียวกัน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปว่า คำร้องขอ เสนอขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการครั้งที่ 2 ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 4 พฤศจิกายน2567 โดยขอยกเลิก ข้อความเดิมในข้อ วรรคแรก และใช้ข้อความใหม่ดังต่อไปนี้แทนข้อความเดิม “ตามแผน กำหนดให้ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ นายพรชัย ฐีระเวช นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร นายปัญญา ชูพานิช และนายพลจักร นิ่มวัฒนา เป็นผู้บริหารแผน ทั้งนี้ ข้อมูลเกี่ยวกับชื่อและคุณสมบัติของผู้บริหารแผน และหนังสือยินยอมเป็นผู้บริหารแผนได้แสดงรายละเอียดไว้ในเอกสารแนบ โดยในการลงนามในเอกสารใดๆ เพื่อทำธุรกรรมหรือเพื่อให้มีผลผูกพันการบินไทย ให้ผู้บริหารแผน 2 คน มีอำนาจลงนามร่วมกันเพื่อผูกพันการบินไทย” และให้ข้อความส่วนอื่น เป็นไปตามเดิม จึงมีความจำเป็นต้องแก้ไขแผนเพื่อให้การฟื้นฟูกิจการสำเร็จลุล่วงไปได้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/323 หรือไม่
ศาลเห็นว่า ตามคำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ ฉบับที่ 3 ของผู้บริหารแผนได้อ้างเหตุในการขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการว่า ผู้บริหารแผนได้รับหนังสือ จากกระทรวงการคลังแจ้งว่าด้วยการบินไทยอยู่ระหว่างกระบวนการแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการประกอบกับภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการฉบับที่ศาลเห็นชอบเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 กำหนดให้มี ผู้บริหารแผนจำนวน 5ราย ซึ่งการดำเนินงานปัจจุบันคงเหลือผู้บริหารแผนจำนวน 3 ราย ขณะที่ ในช่วงระยะเวลาที่เหลือก่อนออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ การบินไทยจะต้องตัดสินใจในเรื่องที่สำคัญ และมีผลผูกพันถึงการดำเนินงานต่างๆ ในอนาคต โดยการตัดสินใจที่สำคัญดังกล่าว การบินไทยจำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญที่สามารถเชื่อมโยงกับผู้ถือหุ้นของการบินไทยภายหลังการออกจาก การฟื้นฟูกิจการมาร่วมตัดสินใจและสามารถสนับสนุนการฟื้นฟูกิจการตลอดจนประสานงาน กับหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องรวมทั้งผู้ถือหุ้นของการบินไทย เพื่อให้การบริหารแผนฟื้นฟู กิจการและการออกจากการฟื้นฟูกิจการของการบินไทยเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด กระทรวงการคลังจึงเห็นสมควรเสนอรายชื่อผู้บริหารแผนซึ่งได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเข้าร่วมเป็นคณะผู้บริหารแผนของการบินไทยเพิ่มเติม ได้แก่ นายปัญญา ชูพานิช ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและ แผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม และนายพลจักร นิ่มวัฒนา รองผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง นั้น เห็นว่า ตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2565 ที่นายไกรสร บารมีอวยชัย และนายศิริ จิรพงษ์พันธ์ ได้ลาออกจากการเป็นผู้บริหารแผน คงมีเพียงนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์ นายพรชัย ธีรเวช และนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ผู้บริหารแผนเดิมที่เหลืออยู่ มีอำนาจดำเนินการตามแผนในฐานะผู้บริหารแผนตามแผนฟื้นฟูกิจการมาจนถึงปัจจุบัน โดยเมื่อพิจารณารายงานผลการปฏิบัติงานเป็นไปตามสาระสำคัญของแผนฟื้นฟูกิจการ ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ปีที่ 2 จนถึงไตรมาสที่ 4 ปีที่ 3 ปรากฏว่าผู้บริหารแผนดำเนินการเป็นไปตาม สาระสำคัญของแผน ไม่ปรากฏว่าการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการจะมีปัญหาขัดข้องหรือติดขัด จากการที่มีผู้บริหารแผนจำนวน 3 คน แต่อย่างใด
นอกจากนี้ หากมีการเพิ่มผู้บริหารแผนอีก 2 คน ตามคำร้องขอเสนอขอแก้ไขแผนครั้งที่ 3 ดังกล่าว จะต้องมีการจัดประชุมคณะผู้บริหารแผน เพื่อตั้งประธานคณะผู้บริหารแผน กำหนดอำนาจหน้าที่ของประธานคณะผู้บริหารแผน และผู้บริหารแผนแต่ละคน และกำหนดกรอบวิธีการดำเนินการของผู้บริหารแผน ตามที่ระบุในแผนฟื้นฟูกิจการข้อ อันจะเป็นการเพิ่มกระบวนการและขั้นตอนในการบริหารงานของผู้บริหารแผน ชุดเดิมให้มีความยุ่งยากมากขึ้นและย่อมทำให้เกิดความล่าช้าในการพิจารณาตัดสินใจในการบริหารงานต่างๆ เนื่องจากผู้บริหารแผนทั้ง 2 คน ที่ถูกเสนอเพิ่มเติมตามคำร้องปัจจุบันปฏิบัติงาน อยู่ในส่วนงานภาครัฐ ไม่เคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหารของการบินไทยมาก่อนอันจะทำให้การบริหารจัดการภายในไม่คล่องตัวเท่าเดิม ทั้งการเพิ่มผู้บริหารแผนยังเป็นการเพิ่มรายจ่าย เพื่อเป็นค่าตอบแทนให้ผู้บริหารแผน ที่ระบุไว้ว่าผู้บริหารแผนจะได้รับ ค่าตอบแทนจากการเป็นผู้บริหารแผนรวมกันไม่เกินปีละ 5,000,000 บาท ต่อคน เพราะข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามรายงานผลการปฏิบัติงานเป็นไปตามสาระสำคัญของแผนตั้งแต่ ไตรมาสที่มีผู้บริหารแผนจำนวน 3คน ได้ปรากฏว่ามีค่าใช้จ่ายจากการชำระเงินค่าตอบแทนผู้บริหารแผนลดลงจากที่เคยชำระให้ผู้บริหารแผนเดิมเกือบครึ่งหนึ่ง การปรับลดค่าใช้จ่ายนับว่า เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลสำเร็จของการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ประกอบกับการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทยปัจจุบันดำเนินมาถึงปีที่ 4 โดยปรากฏว่าเป็นไปตามสาระสำคัญของแผนมาโดยตลอดโดยไม่เกิดเหตุผิดนัดชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามแผนและการบินไทย คาดหมายว่าจะสามารถยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการได้ภายในระยะเวลาอันใกล้นี้ การแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการโดยการเพิ่มผู้บริหารแผนในชั้นนี้จึงยังไม่มีความจำเป็นเพื่อให้การฟื้นฟูกิจการสำเร็จลุล่วงไปได้ตามพ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/23 ส่วนประเด็นปัญหาว่าการจัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาข้อเสนอขอแก้ไขแผนเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 และมติของที่ประชุมเจ้าหนี้ในวันดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ตามคำคัดค้านของเจ้าหนี้รายที่ 21 รายที่ 1774 รายที่ 2089 รายที่ 2244 รายที่ 2245 รายที่ 2481รายที่ 3932 และรายที่ 5913ที่ได้ยื่นคำคัดค้านและคำชี้แจงไว้นั้น เมื่อศาล มีคำวินิจฉัยในประเด็นข้างต้นแล้วจึงไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นตามคำคัดค้านและคำชี้แจงอีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง
ศาลล้มละลายกลาง จึงมีคำสั่งไม่เห็นชอบด้วยกับข้อเสนอขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการครั้งที่ 2 ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 13 กันยายน 2567 กับฉบับที่ 2 และฉบับที่ 3 ลงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 ของกระทรวงการคลัง ยกคำร้อง
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี