วันที่ 22 มกราคม 2568 เพจเฟซบุ๊ก "The Publisher" ได้โพสต์บทความ โดย สมจิตต์ นวเครือสุนทร ในหัวข้อ “ทักษิณ” กับพฤติกรรม “รวย-ซุก” โดยระบุว่า
หลัง “ทักษิณ” ออกมาปราศรัยย้ำอีกรอบว่าเขาร่ำรวย 6 หมื่นล้านบาท มาตั้งแต่ยังไม่เข้าสู่เส้นทางการเมือง อ้างอิงถึงการแสดงบัญชีทรัพย์สินต่อพรรคพลังธรรม ครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศ ในรัฐบาลชวน ตามกฎเหล็กของ “มหาจำลอง” โดยที่ขณะนั้นกฎหมายยังไม่ได้บังคับให้ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช.
เมื่อย้อนดูข้อมูลพบว่าในช่วงปี 2537 ที่เขารับตำแหน่งรมว.ต่างประเทศ มีการแสดงทรัพย์สินไว้ 6 หมื่นล้านบาท ปรากฏอยู่ในพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์หลายฉบับในขณะนั้น แต่ที่น่าสนใจคือ ในช่วงเวลาเดียวกันพบด้วยว่า ครอบครัวชินวัตรนำหุ้นบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัทแอดวานซ์อินโฟเซอร์วิส จำกัด (เอไอเอส.) และบริษัทยูไนเตดคอมมูนิเกชั่น จำกัด (ยูคอม) ไปใส่ไว้ในชื่อคนรับใช้อย่างน้อย 3 คน คือ “บุญชู เหรียญประดับ” “ชัยรัตน์ เชียงพฤกษ์” “ดวงตา วงศ์ภักดี” มูลค่ารวมกันกว่า 11,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25 ในหุ้นที่ถืออยู่ในชื่อของ พ.ต.ท. ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ชินวัตรในขณะนั้น
เท่ากับว่า “ทักษิณ” ซุกหุ้นตั้งแต่มีการสร้างภาพความโปร่งใส แสดงบัญชีทรัพย์สิน โดยไม่มีกฎหมายบังคับ เพราะทรัพย์สินที่แสสดง ไม่ปรากฏการแจ้งถึงหุ้นที่เอาไปฝากไว้กับคนรับใช้ 11,000 ล้านบาท
อันนี้คือ “รวย-ซุก 1” ของคนที่ประกาศในขณะนั้นว่า “รวยแล้วไม่โกง”
ต่อมาในปี 2540 “ทักษิณ” เข้ารับตำแหน่งรองนายกฯ ในรัฐบาลพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ แจ้งบัญชีทรัพย์สินในช่วงรับตำแหน่งวันที่ 7 พ.ย. มีทรัพย์สิน กว่า 21,069 ล้านบาท เท่ากับว่าภายใน 3 ปี ทรัพย์สินหายไปถึงเกือบ 4 หมื่นล้านบาท เกิดคำถามถ้ารวย 6 หมื่นล้านจริง ส่วนที่หายไปถูกซุกไว้ที่ไหนหรือไม่ ?
หลัง “ทักษิณ” พ้นตำแหน่ง 4 ธ.ค.40 แจ้งทรัพย์สินไว้ที่ กว่า 19,067 ล้านบาท ต่อมาเขาได้รับเลือกเป็นนายกฯ ในปี 2544 มีการแสดงบัญชีทรัพย์สินไว้ 9,848 ล้านบาท ปี 48 ขณะดำรงตำแหน่งนายกฯ รอบสอง แจ้งไว้ที่ 12,570 ล้านบาท เมื่อพ้นจากนายกฯ ในปี 49 แจ้งทรัพย์สินไว้ 8,484 ล้านบาท
26 ก.พ.53 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษายึดทรัพย์ “ทักษิณ” ระบุเขามีทรัพย์สินรวมกับที่ให้นอมินีถือแทนมากถึง 76,621 ล้านบาท มีคำสั่งยึดทรัพย์ 46,373 ล้านบาท เฉพาะทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นหลังดำรงตำแหนต่งนายกฯ ฐานร่ำรวยผิดปกติ จากการทุจริตเชิงนโยบาย เอื้อประโยชน์ให้ธุรกิจตัวเองและครอบครัว
หลังคำพิพากษาฯ ดังกล่าวนำไปสู่การตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน “ทักษิณ” อย่างละเอียดอีกครั้ง จากคำให้สัมภาษณ์ของ “ภักดี โพธิศิริ” ป.ป.ช. ในฐานะประธานอนุกรรมการไต่สวนความถูกต้องและความมีอยู่จริงของทรัพย์สินและหนี้สินของ “ทักษิณ” เมื่อวันที่ 4 มี.ค.53 ระบุว่า ตลอดเวลาดำรงตำแหน่งนายกฯ ปี 44-49 “ทักษิณ” แจ้งทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช.รวมทั้งสิ้น 15 ครั้ง แต่ไม่พบว่า มีการแจ้งเรื่องการครอบครองหุ้น บมจ.ชินคอร์ปอเรชัน
จากข้อมูลทั้งตอกย้ำว่า ”ทักษิณ“ มีพฤติการณ์ ”รวย-ซุก“ และที่สำคัญคือความร่ำรวยในขณะดำรงตำแหน่งนายกฯ มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ จนถูกยึดทรัพย์
ที่ออกมาบอกว่า “โกงพ่อมึงสิ” ระวังจะถูกย้อนกลับไปได้ว่า “ไม่โกงพ่อมึงสิ”
ขอบคุณข้อมูล : thepublisherth.com
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี