นายกฯ ร่วมพิธีลงนาม FTA ไทย-เอฟตา ฉบับแรกไทยกับยุโรปของรัฐบาลชุดนี้ ด้าน"พิชัย"โวลั่นประเทศไทยกลับเข้ามาสู่แผนที่โลกแล้ว หลังจากที่หายไป 10 ปี ระบุเป็นความสำเร็จรัฐบาลแพทองธาร สร้างโอกาสยุคทองการค้า-ลงทุน ทำเงินเข้าประเทศ
เมื่อวันที่ 23 ม.ค.68 เวลา 09.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นเมืองดาวอส ณ House of Switzerland นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามความตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศ (EFTA) (TH-EFTA FTA) กับผู้แทนจากรัฐบาลไทยและประเทศสมาชิก EFTA ที่เข้าร่วม ได้แก่
(1) นายกี ปาร์เมอแล็ง (H.E. Mr. Guy Parmelin) รองประธานาธิบดีและรมว. กระทรวงเศรษฐกิจ การศึกษาและวิจัย สมาพันธรัฐสวิส ในฐานะเจ้าภาพ และโฆษกการเจรจาเขตการค้าเสรีระหว่างประเทศไทยกับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป
(2) นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประเทศไทย
(3) นางสาวเซซิเลีย มีร์เซท (H.E. Ms. Cecilie Myrseth) รมว. ด้านการค้าและอุตสาหกรรม ราชอาณาจักรนอร์เวย์ ในฐานะประธาน รมว. สมาคมการค้าเสรี แห่งยุโรป (EFTA) ปี ค.ศ. 2025
(4) นาย Martin Eyjolfsson ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ (Permanent Secretary of State) ไอซ์แลนด์
(5) นางสาวดอมีนิก ฮัสเลอร์ (Ms. Dominique Hasler) รัฐมนตรีต่างประเทศ การศึกษา และกีฬา ลิกเตนสไตน์ (Minister for Foreign Affairs, Education and Sport of Liechtenstein )
(6) นายเคิร์ท เยเกอร์ (Mr. Kurt Jager), เลขาธิการ EFTA (Secretary-General EFTA)
FTA ไทยกับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป ซึ่งประกอบด้วยสวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ เป็น FTA ฉบับแรกที่สำเร็จภายใต้รัฐบาลนี้ ซึ่งนอกจากจะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับ EFTA แล้ว FTA นี้ยังจะส่งเสริมความร่วมมือที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นในสาขาต่างๆ เช่น เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง การพัฒนาทุนมนุษย์ การส่งเสริม SME และการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย
ด้านนายพิชัย ให้สัมภาษณ์ การร่วมลงนาม FTA ครั้งนี้ จะปรากฏไปทั่วโลกเพราะลงนามในระหว่างงานประชุม World Economic Forum (WEF) 2024 เป็นการแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยกลับเข้ามาสู่แผนที่โลกแล้ว หลังจากที่หายไป 10 ปี ที่ไม่มีการเจรจาเขตการค้าเสรี และ FTA ไทย-เอฟตา เป็น FTA ที่มีมาตรฐานใหม่ยกไปอีกระดับหนึ่งทำให้ขยายโอกาสการเจรจาสู่ FTA กับอียู ยูเออี และประเทศต่างๆในอนาคต จะแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีมาตรฐานที่ดีขึ้น ไทยจะได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ทั้งด้านภาพพจน์ การลงทุนและการค้า
“ประเทศไทยเราจะกำลังเป็นแหล่งลงทุนของประเทศต่างๆที่จะไหลเข้ามา ปีที่แล้วเรามีการลงทุนเข้ามามากกว่า 1 ล้านล้านบาท และปีนี้จะไหลเข้ามามากขึ้นเป็นนิมิตหมายที่ดี คาดว่าเราจะได้ประโยชน์อีกหลายพันล้านบาท และอนาคตการลงทุนที่เกิดขึ้นเชื่อว่าจะมีอีกเป็นหมื่นเป็นแสนล้านบาท เพราะ FTA ฉบับนี้จะนำสู่การเจรจา FTA กับอียู และมีหลายประเทศ ไทยต้องเร่งให้มี FTA มากขึ้น ให้มากกว่าหรือเท่ากับเวียดนาม เพื่อแข่งขันกับเวียดนาม FTA จะเป็นแต้มต่อทำให้ไม่ต้องเสียภาษีและแข่งขันกับประเทศอื่นได้ ซึ่งมีหลายประเทศ สนใจเข้ามาลงทุน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมใหม่ เช่น PCB Data Center หรือ AI และสำหรับผู้ประกอบการไทยเป็นเรื่องที่ดีที่เราต้องปรับตัวให้มีมาตรฐานที่ดีขึ้นขายของไปทั่วโลก เป็นสิ่งที่เราต้องทำอยู่แล้วและเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการ” นายพิชัยกล่าว
นายพิชัยกล่าวว่า ตั้งแต่นี้ต่อไปขอยืนยันว่าจะเป็นยุคทองของไทย เหมือนที่ ประธานนาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ระบุว่าเป็นยุคทองของอเมริก อย่างไรก็ตามก็ต้องร่วมแก้ปัญหาที่มีอยู่เรื่องหนี้ต่างๆ ในขณะที่ไทยมีเงินลงทุนเข้า การ ส่งออกปี 67 ก็ขยายตัว 5.4%
ทั้งนี้ ภายหลังการลงนามในวันนี้ กระทรวงพาณิชย์จะเผยแพร่ผลการเจรจาและเปิดรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน ก่อนเสนอรัฐสภาให้ความเห็นชอบตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯ และเมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว หน่วยงานภายในประเทศของไทยจะต้องดำเนินการออกกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการมีผลบังคับใช้ของ FTA ฉบับนี้ให้เรียบร้อย ไทยจึงจะสามารถให้สัตยาบัน ซึ่งคาดว่ากระบวนการทั้งหมดจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี ในช่วงระหว่างนี้ภาคเอกชนไทยจึงควรศึกษาแนวทางการใช้ประโยชน์จากความตกลงในการขยายโอกาสทางธุรกิจเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ทันทีที่ความตกลงมีผลบังคับใช้
ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ปี 2567 ไทยกับเอฟตามีมูลค่าการค้ารวม 11,788.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 1.94 ของการค้าทั้งหมดของไทยกับโลก ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ร้อยละ 19.22 โดยไทยส่งออกไปเอฟตา 4,225.01 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากเอฟตา 7,563.35ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปเอฟตาได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ นาฬิกาและส่วนประกอบ เหล็กและผลิตภัณฑ์ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องใช้สำหรับเดินทาง เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ แผงควบคุมกระแสไฟฟ้า เครื่องสำอาง เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์พลาสติก ข้าว สินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากเอฟตา ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ นาฬิกาและส่วนประกอบ เนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม ยากำจัดศัตรูพืช เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ สัตว์นำสด แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป เคมีภัณฑ์
เวลา 11.30 น. (ตามเวลาท้องถิ่นเมืองดาวอส) ที่ศูนย์ประชุม Congress Center เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯพบหารือกับ นายแมตต์ การ์แมน(Matt Garman) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Amazon Web Services (AWS)
โดยนายกฯกล่าวว่าขอชื่นชมบริษัท Amazon Web Services ที่สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัลของไทย และขอบคุณที่ลงทุนสร้าง Data Center ในไทยเป็น AWS Asia Pacific (Thailand) Region หลายนโยบายสำคัญของไทย อยู่บนฐานการใช้ดิจิทัลเทคโยโลยีและ AI อาทิแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” “Digital Wallet" การส่งเสริม ”e Government" ซึ่งจะทำให้ไทยเป็นฐานการลงทุนที่น่าสนใจของภาคเอกชนต่างประเทศ ขณะที่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Amazon Web Services กล่าวว่าขอบคุณรัฐบาลสำหรับการสนับสนุนการลงทุนของบริษัท Amazon Web Services ในไทยมาโดยตลอด และยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัลของไทย และมองว่าไทยมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุน เชื่อการลงทุนด้าน คลาวด์ ดิจิทัล และ AI ของไทยและเอกชนต่างประเทศ จะดึงดูดการเข้าลงทุนเพิ่มเติมขึ้น
นอกจากนี้ น.ส.แพทองธาร ยังพบหารือกับนาย ทาเคชิ นีนามิ (Mr.Takeshi Niinami) ประธานกรรมการบริหาร (CEO) บริษัท SUNTORY Holding Co,. Ltd. โดยนายทาเคชิ กล่าวว่า บริษัทให้ความสำคัญกับประเทศไทยและประสงค์จะลงทุนเพิ่มเติม โดยเฉพาะการผลิตขวดพลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ซึ่งประเด็นนี้เป็นปัจจัยที่บริษัทให้ความสำคัญอย่างมาก ขณะที่น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า รัฐบาลไทยพร้อมให้การสนับสนุนต่อการลงทุนของภาคเอกชน และรัฐบาลยังดำเนินมาตรการ ภายใต้นโยบาย “Ease of doing business" ที่จะลดขั้นตอนความยุ่งยากและซับซ้อนในการลงทุนของนักลงทุน
ต่อมาเวลา 19.49น. น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯทวีตข้อความผ่านเอ็ก เกี่ยวกับการร่วมประชุม World Economic Forum (WEF) มีเนื้อหาสรุปว่า วันนี้เป็นโอกาสอันดีของประเทศไทย ที่ตนได้มาพูดถึงอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ บนเวที World Economic Forum (WEF) โดยหยิบยกความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ไทย มาแลกเปลี่ยนบนเวที Betazone: Not Losing Sight of Soft Power แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของไทยในหลายๆ ด้าน ทั้งสุขภาพ อาหาร การท่องเที่ยว ประเทศไทยยังเป็นประเทศแห่งความสนุก คือประเทศแห่งเทศกาล เรามีสงกรานต์ที่เป็นที่รู้จักทั่วโลก และยังมีเทศกาลอื่นๆที่เต็มไปด้วยสีสัน ไม่ว่าต่างชาติจะมาเที่ยวฤดูกาลไหนเราก็มีเทศกาลให้ได้ลิ้มลองประสบการณ์ ที่สำคัญเราไม่ใช่แค่ดินแดนแห่งรอยยิ้ม แต่คือดินแดนแห่งโอกาส รัฐบาลไทยเห็นเทรนด์เหล่านั้นและจะใช้มันสร้างงาน เพิ่มรายได้ให้คนไทยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้สดใสกว่าเดิม
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี