ถึงมือกรมที่ดิน
คำสั่งเพิกถอนอัลไพน์คืนธรณีสงฆ์
อธิบดีฯแจงค่าชดเชยต้องฟ้องศาล
“อธิบดีกรมที่ดิน”เผยคำสั่งยกเลิกกรรมสิทธิ์“ที่ดินอัลไพน์”คืน“ธรณีสงฆ์”ถึงมือแล้ว แจงขั้นตอนผู้เสียหายเพิกถอนคำสั่งปกครอง-เรียกร้องค่าชดเชย ต้องขึ้นอยู่กับศาลฯ ส่วนแนวทาง“ออกพ.ร.บ.โอนที่ดิน”แทน“ชดใช้เงิน” เคยมีทำมาแล้วใน2 รัฐบาล แต่สุดท้ายยกเลิกย้ำหลังจากนี้จะต้องยื่นฟ้องศาลปกครอง ยังไม่รู้จะเป็นเมื่อใด
เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2568 นายพรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทยกล่าวถึงความคืบหน้าภายหลังนายชำนาญวิทย์เตรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เซ็นลงนามในหนังสือเพิกถอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอัลไพน์ให้กลับไปเป็นที่ธรณีสงฆ์ว่าหนังสือดังกล่าวส่งถึงกรมที่ดินแล้วเมื่อวันที่21มกราคมที่ผ่านมา หลังจากนี้จะเป็นอำนาจของกรมที่ดินที่จะดำเนินการต่อ
ส่วนแนวโน้มจะออกเป็นพ.ร.บ.โอนที่ธรณีสงฆ์ ตามที่เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาแนะนำเพื่อชดเชยผู้เสียหายแทนการจ่ายเงินเยียวยาจะทำได้หรือไม่นั้น เคยมีการทำลักษณะนี้มาแล้วก่อนหน้านี้ในสมัย 2 รัฐบาลที่ผ่านมา โดยเป็นข้อสังเกตของคณะกรรมการกฤษฎีกา ตามพ.ร.บ.คณะสงฆ์ปี 2505 สามารถออกได้ตามมาตรา 34 (การโอนที่วัด ที่ธรณีสงฆ์หรือศาสนสมบัติกลาง กระทำได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติ)ซึ่งขณะนั้นได้มีการตั้งคณะกรรมการแล้วแต่สุดท้ายถูกยกเลิกเรื่องนี้จึงหยุดไป
เมื่อถามต่อว่าท้ายที่สุดแล้วมองว่าการชดเชยระหว่างบริษัทอัลไพน์และประชาชนที่ถือครองที่ดินจะออกมาในทิศทางใด อธิบดีกรมที่ดินกล่าวว่า ยืนยันว่าจะต้องเป็นไปตามวิธีการทางกฎหมาย โดยต้องยื่นคำสั่งของศาลปกครองว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีความเดือดร้อนอย่างไร ซึ่งก็ต้องมีการโต้แย้งคำสั่งทางปกครองในการยกเลิกเพิกถอนที่ดินอัลไพน์ในการทำนิติกรรมสัญญา
เมื่อถามถึงกรณีที่มีข้อสังเกตของทางฝ่ายกฎหมายกระทรวงมหาดไทยให้ความเห็นไว้ว่า คำวินิจฉัยของนายยงยุทธ วิชัยดิฐ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทยขณะนั้นเมื่อวันที่ 13 มีนาคม2545ให้เพิกถอนคำสั่งของอธิบดีกรมที่ดินที่ให้เพิกถอนที่ดินจากเอกชนให้เป็นของวัดเป็นการวินิจฉัยขัดแย้งกับความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกาทำให้คำสั่งทางปกครองที่เป็นโมฆะ ไม่ก่อให้เกิดผลในทางกฎหมายจะนำความเห็นดังกล่าวยกขึ้นสู้กับบริษัทอัลไพร์หรือไม่หากมีการฟ้องกรมที่ดิน
นายพรพจน์กล่าวว่าทุกอย่างจะต้องทำตามกระบวนการ ก่อนอธิบายว่า โดยในช่วงแรกก่อนปี 2544 ที่จะมีคำสั่งยกเลิกเพิกถอน เสนอมาทางยังกระทรวงซึ่งการทำนิติกรรมนั้นถูกต้อง แต่หลังจากนั้นมีคำวินิจฉัยมาจากคณะกรรมการกฤษฎีกาและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือป.ป.ช เมื่อเห็นว่านิติกรรมนั้นไม่ชอบจึงจำเป็นต้องยกเลิกเพิกถอน โดยคำสั่งในปี 2544 ออกมา
“และหลังจากนี้ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ต้องเข้าสู่กระบวนการของศาล เพราะคำสั่งนี้ถือเป็นคำสั่งทางปกครองซึ่งต้องมีการโต้แย้งกัน ดูที่เหตุและผล ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายมาพิสูจน์กันหลังจากนี้จะต้องดำเนินการฟ้องศาลปกครองเนื่องจากเป็นการยกเลิกคำสั่งทางปกครอง แต่ยังไม่ระบุว่าจะเป็นเมื่อใด”อธิบดีกรมที่ดินกล่าวย้ำ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี