‘สส.ปชน.’ยกจุดเด่น‘ร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาด’สางแก้‘ฝุ่นพิษ PM2.5’ จัดตั้งกองทุน ดึงรายได้จากค่าปรับ‘ผู้ก่อมลพิษ’ มีแนวทางปฏิบัติ-บทลงโทษที่ชัดเจน แจงพิจารณาศึกษาช้า เพราะยกร่างฯใหม่ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ด้าน‘จักรพล’ยันเร่งพิจารณา หากไม่มีอะไรสะดุดเข้าสภาวาระ 2-3 เดือนก.พ.นี้ เสร็จ 85% แล้ว ลั่นทุกความเห็นถึงหูรัฐบาลแน่นอน
24 มกราคม 2568 ที่รัฐสภา นายภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สส.เชียงใหม่ พรรคประชาชน ในฐานะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาด หนึ่งในเจ้าของร่างกฎหมายที่เข้าสู่การพิจารณา ซึ่งจนถึงปัจจุบันมีการพิจารณามาแล้ว 1 ปี กล่าวว่า สาเหตุที่ใช้ระยะเวลาพิจารณาศึกษานานโดยมีการยกร่างขึ้นฉบับใหม่ จากการหยิบยกเนื้อหามาจาก 7 ร่างที่สภาผู้แทนราษฎรรับหลักการ เพื่อให้ร่างกฎหมายมีประสิทธิภาพสูงสุดในการจัดการปัญหาฝุ่น โดยหยิบยกจุดเด่นร่างกฎหมายที่มีการกำหนดเกี่ยวกับกองทุนอากาศสะอาด ที่กำหนดให้ผู้ที่ก่อมลพิษจะต้องจ่ายค่าปรับและค่าธรรมเนียมที่จะเข้าสู่กองทุน และนำไปแก้ไขปัญหาอากาศสะอาด ในกรณีที่งบรายจ่ายประจำหรืองบกลางไม่สามารถนำมาใช้ได้ทันท่วงที
นายภัทรพงษ์ กล่าวต่อว่า ส่วนปัญหาฝุ่นข้ามแดนนั้นแม้ปัจจุบันจะมีกฎหมายห้ามนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แต่กฎหมายฉบับนี้จะเป็นคู่มือการทำงานให้รัฐบาลได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ในการจัดการสินค้าที่ก่อให้เกิดมลพิษจากประเทศอื่นซึ่งผู้ประกอบการเป็นคนไทยและนำเข้ามา นอกจากนี้เรื่องบทลงโทษจะมีความชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งกฎหมายฉบับนี้มีการกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้ง มีอำนาจที่ชัดเจนยิ่งขึ้น เกี่ยวกับกองทุนมาตรการทางเศรษฐศาสตร์นอกจากจะมีบทลงโทษที่ชัดเจนแล้ว ขณะเดียวกันต้องมีมาตรการสนับสนุนจากกองทุน
“ปัจจุบันบทลงโทษอาจยังไม่ชัดเจนมากนัก ในกฎหมายอื่น เพราะฉะนั้นบทลงโทษในร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาด จะชัดเจนยิ่งขึ้นแน่นอน หลังจากที่จัดร่างพ.ร.บ.ฯทำเสร็จสิ้น” นายภัทรพงษ์กล่าว
นายภัทรพงษ์ กล่าวด้วยว่า ในการจัดทำร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาดส่วนใหญ่ กมธ.ฯเห็นไปในทิศทางเดียวกัน หากมีประเด็นใดที่เห็นต่างจะมีอนุกมธ.ฯ เชิญหน่วยงานมาศึกษาข้อเท็จจริง เพื่อนำความเห็นมาเสนอต่อที่ประชุมชุดใหญ่หลังจากนี้หากมีประเด็นที่เห็นต่างก็จะมีการลงมติ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการทบทวนเนื้อหาสาระตั้งแต่มาตราที่ 1-100 ทั้งนี้ในส่วนของคณะกรรมการตามร่างพ.ร.บ.ฯ ว่ามีตั้งแต่คณะกรรมการระดับชาติ คณะกรรมการกำกับ คณะกรรมการจังหวัดจะดูแลปัญหาภายในจังหวัดรวมไปถึงท้องถิ่น กลไกการสั่งงานจะเริ่มตั้งแต่คณะกรรมการส่วนบนลงล่าง
นายภัทรพงษ์ กล่าวต่อว่า การแก้ปัญหาปัญหาฝุ่นพิษPM2.5 ของรัฐบาลในปัจจุบันสามารถหยิบยกกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันมาดำเนินการแก้ไขได้โดยไม่จำเป็นต้องรอร่างกฎหมายที่กำลังพิจารณาอยู่ขณะนี้ และขอให้ประชาชนเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจากค่าฝุ่นที่สูงขึ้นในขณะนี้ด้วย
ขณะที่นายวรภพ วิริยะโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชน ในฐานะกมธ.ฯกล่าวว่า ในการประชุมกมธ.ฯวันนี้(24 ม.ค.)จะมีการลงมติเรื่อง คณะกรรมการจังหวัด ว่าจะกำหนดให้เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด หรือ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.)ที่ประชาชนเลือกตั้งมาเป็นประธาน
ด้านนายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม ประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)อากาศสะอาด กล่าวถึงความคืบหน้าของร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ที่พิจารณามาครบรอบ 1 ปี ว่า ระยะเวลาที่ผ่านมาในรอบ 1 ปี เราพิจารณาครบทุกมาตราแล้ว ซึ่งระหว่างในการพิจารณานั้นเพื่อให้มีความครบถ้วนเราเชิญทั้งเอกชน นักวิชาวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้มาให้ความเห็น ขณะเดียวกันก็มีอนุกรรมาธิการฯ พิจารณาร่วมไปด้วย โดยอนุกมธ.ฯที่1 เรื่องโครงสร้าง หลักการ แนวคิด อนุกมธ.ฯที่2 เรื่องกรอบกฎหมาย ที่จะมีในหมวด 8-10 คือแพ่ง อาญา การปรับทางพินัย เมื่อพิจารณาในห้องใหญ่เสร็จ ทั้ง2อนุกมธ.ฯ มาเก็บร้อยเรียงเป็นการทำงานคู่ขนาน
“ตอนนี้ในที่ประชุมห้องใหญ่ เป็นการรีวิวทั้งหมดในมาตราที่เราทดไว้ เพราะทุกมาตรา ทุกประเด็น ทุกสาระ สำคัญหมด จากทั้ง 7 ร่าง เพราะฉะนั้นการพิจารณาทุกครั้งก็เพื่อให้มีความครบถ้วน แล้วนำมาใส่ในเล่มใหญ่ เพื่อให้เป็น พ.ร.บ.ที่สมบูรณ์ที่สุด อย่างวันนี้(24 ม.ค.) ก็เป็นการพิจารณาในหลายมาตราที่เราเว้นเอาไว้ แต่เราไม่ทั้ง เพราะฉะนั้นต้องทำความเข้าใจว่าเราเว้นไว้เพื่อจะกลับมาพิจารณาใหม่ ทุกอย่างจะไม่ตกล่น จึงคิดว่าการพิจารณาอยู่ที่ 85% แล้ว โดยมีประเด็นที่ต้องมีการโหวตลงมติในส่วนของเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ว่าจะต้องไปเป็นกองทุนหรือไม่ จัดการอย่างไร ใครจะเป็นเจ้าภาพ และในเรื่องของกรรมการจังหวัดจะต้องพิจารณาว่าจะเป็นกรณีใดๆ ซึ่งยังมีความเห็นต่างกันอยู่”นายจักรพล กล่าว
เมื่อถามว่า ในร่างพ.ร.บ.ฯเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาฝุ่นเป็นอย่างไรบ้าง นายจักรพล กล่าวว่า จากข้อห่วงใยจากฝ่ายบริหารโดยน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และการทำงานควบคู่กันทุกกระทรวง เพราะฉะนั้นในการพิจารณาของ กมธ.ฯ ก็ให้ความสำคัญเกี่ยวกับข้อมูลต่างๆ ที่พิจารณามีประโยชน์อย่างไร แนวโน้มต่อไปจะเป็นอย่างไร การรับมือ จำเป็นอย่างไร ฉะนั้นในการประชุมช่วงเช้าวันนี้(กมธ.)ก่อนเกิดประชุม มีนายปลอดประสพ สุรัสวดี เป็นตัวแทนจากภาครัฐมารับฟังคามเห็น และให้กมธ.ทุกคนแสดงความเห็นปัจจุบันว่าเราควรจะรับมือ ควรจะตื่นตัว และควรจะปฏิบัติอย่างไรในช่วงที่ค่าฝุ่นวิกฤตขนาดนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าฝ่ายบริการไม่ได้ปล่อยหรือเพิกเฉย ข้อสังการของนายกฯก็ถูกฝาถูกตัวในการจัดการ ทั้งนี้ในส่วนของกมธ.ฯเราก็มีนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีคามเห็นที่เกิดประโยชน์กับการพิจารณา
“เพราะฉะนั้นวันนี้เขามารับฟังความเห็น และเราก็เสนอเป็นข้อ ว่าสิ่งที่รัฐบาลพึงทำในช่วงนี้มีอะไรบ้าง ข้อเสนอแนะจากกมธ.แต่ละท่านก็เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ในการส่งต่อให้รัฐบาลไปดำเนินการได้ด้วยเช่นกัน”นายจักรพล กล่าว
นายจักรพล กล่าวต่อว่า ส่วนข้อเสนอที่มีการอภิปรายกันในสภาฯ นั้นขอย้ำว่าทุกความเห็นในสิ่งที่เป็นประโยชน์ถึงหูรัฐบาลแน่นอน และจะนำไปใช้ นำไปปรับปรุงให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งงบประมาณและช่วงเวลา เพราะฉะนั้นทุกความเห็นมีประโยชน์หมด ข้อเสนอไหนที่มีประโยชน์เราจะนำมาบรรจุในร่างพ.ร.บ.และเป็นแนวทางในการปฏิบัติของรัฐบาลแน่นอน และหากไม่สะดุดอะไร บวกกับสถานการณ์ที่วิกฤติจริงๆ ก็หวังว่า ร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาด จะเป็นวาระเร่งด่วนเข้าสภาฯในวาระ 2และ3ได้ ในช่วงเดือน ก.พ.นี้
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี