‘โฆษก ศธ.’ดีดปาก‘ทักษิณ’ใช้เทคนิคหาเสียง ด้อยค่ากระทรวงศึกษาฯ
27 มกราคม 2568 นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โฆษก ศธ. เปิดเผยกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ปราศรัยบนเวทีหาเสียงช่วยผู้สมัครนายก อบจ.ศรีสะเกษ ของพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 25 ม.ค.ที่ผ่านมา ว่าเป็นห่วงต่อการศึกษาเด็กไทยพร้อมชี้ว่าศธ.ใหญ่เกินไปต้องปรับปรุง ว่า ตามที่นายทักษิณ คอมเมนต์กระทรวงศึกษาธิการ ตนก็ต้องขอบคุณที่มีความห่วงใยและใส่ใจการทำงานของกระทรวงศึกษาธิการ แต่ตนคิดว่าสิ่งที่นายทักษิณ พูดนั้นไม่ใช่ปัญหาใหม่ของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นปัญหาที่มีการพูดคุยกันมาตั้งนานแล้ว ตั้งแต่สมัยที่นายทักษิณ ยังเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ และผ่านมาหลายสมัย
นายสิริพงศ์ กล่าวว่า ตนคิดว่าคนที่แก้ปัญหานี้ได้เป็นรูปธรรมที่สุด น่าจะเป็น พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ เพราะถ้าไม่มั่นใจก็ให้ลองไปถามคุณครูในปัจจุบันที่ไม่ต้องอยู่เวร แล้วถ้ายังไม่มั่นใจก็ให้ลองไปถามครูที่ขอย้ายแล้วได้ย้ายโดยที่ไม่ต้องวิ่งเต้นจ่ายเงิน และต้องไปถามคนที่ประเมินวิทยฐานะ ที่ครูไม่ต้องยื่นซองให้กับใคร และได้รับการประเมินวิทยฐานะอย่างตรงไปตรงมา แต่แน่นอนปัญหาก็ยังไม่หมดเพราะเราต้องยอมรับว่าก็เป็นภาระของงบประมาณด้วย และอีกหลายอย่างทั้งการขาดบุคลากร ถ้าเป็นเรื่องในอดีต ก็ถูกต้องที่จะต้องหางบประมาณมาเพิ่มเติม แต่อย่างหนึ่งที่เราควรต้องคิด ไม่ใช่แค่จ้างคนใหม่ แต่การเพิ่มสกิลให้กับบุคลากรที่มีอยู่แล้ว เพราะเราเชื่อว่าครูของเราไม่ได้ด้อย แต่ครูของเราต้องได้รับความรู้ใหม่ๆ ซึ่งเทคโนโลยีก็มีส่วนสำคัญในการช่วยครู ขณะนี้กระทรวงศึกษาก็กำลังทำ และตนก็คิดว่าเรากำลังเฝ้ารอว่าเทคโนโลยีที่เราจะนำมาใช้ในปีการศึกษา 2568 นี้จะช่วยเปลี่ยนแปลงการศึกษาได้ในระดับใด ฉะนั้น สิ่งที่อดีตนายกทักษิณพูดจึงไม่ใช่เรื่องใหม่
นายสิริพงศ์ กล่าวว่า ส่วนที่นายทักษิณ บอกว่าถ้าเก็บเงินจากพนันออนไลน์ได้ ก็จะมีเงินไปจ้างครูต่างชาติมาช่วยสอนนั้น ตนคิดว่าไม่ควรนำ 2 เรื่องมาเป็นเงื่อนไขเดียวกัน เพราะการจ้างครูตามความจำเป็น การพัฒนาศักยภาพครูเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องทำ ส่วนการเก็บภาษีจากพนันออนไลน์ หรือการทำสิ่งผิดกฎหมายให้ถูกกฎหมาย ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องทำ ไม่ใช่นำเงื่อนไขว่าถ้าทำพนันออนไลน์ถูกกฎหมายไม่ได้แล้วจะไม่จ้างครูให้ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน ฉะนั้นไม่ควรที่จะเอา 2 เรื่องนี้มาผูกกัน
นายสิริพงศ์ กล่าวว่า ส่วนที่นายทักษิณ บอกว่ากระทรวงศึกษาธิการใหญ่เกินไปนั้น ปัญหานี้ในรัฐบาลสมัยก่อนเคยทำมาแล้ว โดยการแยกกระทรวง แยกกรมพลศึกษาออก แยกเรื่องวัฒนธรรมออกไป ก็อยากให้ดูว่าวันนี้กระทรวงศึกษาฯกับเรื่องการกีฬาเป็นอย่างไร แทบจะแยกออกจากกันโดยสิ้นเชิง กลายเป็นว่าการแก้ปัญหา ณ วันนั้น ไม่ได้คิดไปให้สุดทาง คิดแค่ว่าใหญ่ก็ตัด แต่ไม่ได้คิดว่าใหญ่แล้วจะทำให้มันแน่นเข้าอย่างไร ทุกวันนี้อย่าว่าแต่กระทรวงศึกษาธิการเลย การทำงานข้ามกระทรวง และไม่ว่าพรรคไหนกำกับดูแลเลย ต่อให้พรรคเดียวกันกำกับดูแล การทำงานข้ามกระทรวงก็ยังยากเลย ฉะนั้นสิ่งที่จะต้องแก้ไม่ใช่ว่าใหญ่แล้วตัด แต่คิดว่าจะทำอย่างไรการทำงานในองค์กรจะต้องมีการบูรณาการกันและกันให้มีประสิทธิภาพ
“ตอนนี้ผมคิดว่า พล.ต.อ.เพิ่มพูน กำลังทำ และผมก็คิดว่าวันนี้เราเห็นเป็นรูปธรรมแล้ว เพราะกระทรวงศึกษาฯมีความเป็นเอกภาพค่อนข้างสูงกว่าในทุกรัฐบาลที่ผ่านมา ในรัฐบาลอื่นๆเนื่องจากกระทรวงศึกษาเป็นกระทรวงใหญ่และรัฐมนตรีช่วยก็จะมาจากต่างพรรคกัน กลายเป็นว่าพรรคหนึ่งมีประเด็นหนึ่ง อีกพรรคหนึ่งก็มีอีกประเด็นหนึ่ง จึงไปคนละทิศคนละทาง แต่วันนี้ทำงานขับเคลื่อนไปเป็นก้อนเดียวกัน ไปในทางเดียวกันหมด ซึ่งผมมองว่าเป็นรูปธรรมมากกว่า” นายสิริพงศ์ กล่าว
นายสิริพงศ์ กล่าวต่อว่า การที่นายทักษิณ ออกมาพูดแบบนี้อาจจะเป็นเทคนิคในการหาเสียง หลังจากหาเสียงจบก็จบอะไรแบบนี้มากกว่า เพราะรัฐมนตรีเราก็ไม่ได้ทำอะไรที่เสียหาย ส่วนผลงานกระทรวงศึกษาฯ ตนเชื่อว่ามีออกมาเรื่อยๆ ถึงแม้ว่ารัฐมนตรีว่าการฯจะไม่ค่อยพูด ไม่ค่อยให้ข่าว แต่ผลงานก็เห็นเป็นที่ประจักษ์ อย่างเช่น เรื่องการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ แต่ก็ต้องใช้เวลาและต้องใช้งบประมาณในการดำเนินการ ซึ่งวันนี้ที่อดีตนายกทักษิณพูดมาทั้งหมด จะแก้ได้ง่ายมาก ถ้ากระทรวงศึกษาฯของบขึ้นไปแล้วไม่ถูกตัดสัก 3 ปี ตนเชื่อว่าจะเห็นเป็นรูปธรรมแน่นอน ไม่ใช่ว่าปีที่แล้วขอคอมพิวเตอร์นักเรียนไป งบถูกตัดเหลือ 0 บาท และงบส่วนใหญ่ที่ได้มาก็จะเป็นเงินเดือนของครูและบุคลากรทางการศึกษา 80 กว่าเปอร์เซ็นต์ ทำให้ไม่มีเงินนำไปพัฒนาในด้านอื่นเลย แล้วยังจะแก้ปัญหาด้วยการจ้างคนเพิ่ม ตึกที่พังก็ไม่ได้ซ่อม และอุปกรณ์ที่ขาดก็ไม่เคยได้รับงบเพื่อจัดซื้อมาทดแทน เป็นต้น
นายสิริพงศ์ กล่าวว่า ถ้าเปรียบเทียบว่าโรงเรียนเราสู้กับโรงเรียนเอกชนไม่ได้ ก็จริง เพราะต้นทุนต่อเด็กต่างกัน การแก้ปัญหาไม่ใช่การแก้ด้วยการจ้างครู ปัญหามีมากกว่านั้น แต่ถ้าถามว่าโรงเรียนที่ดีในสังกัดกระทรวงมีไหม ก็บอกเลยว่ามี แต่ต้นทุนมันสูง เช่น โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ได้รับเงินอุดหนุน 600,000 บาทต่อหัว โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์ฯ ได้เงินอุดหนุนประมาณ 300,000 บาทต่อหัว ในขณะที่เด็กโรงเรียนทั่วไปได้รับเงินอุดหนุน 10,000 กว่าบาทต่อหัว แล้วคุณภาพจะเท่ากันได้อย่างไร และถ้าเที่ยบกับโรงเรียนกำเนิดวิทย์ ได้รับเงินอุดหนุน 1,000,000 กว่าบาทต่อหัวต่อปี จึงไม่สามารถเทียบกันได้อยู่แล้ว และการเอาเด็ก 1 คนไปเทียบกับเด็นโรงเรียนนานาชาติ ค่าเทอมโรงเรียนนานาชาติบางโรงเรียน 1 เทอม เด็กบางโรงเรียนเรียนได้ทั้งชีวิต แต่ถ้าถามว่าเด็กในระบบด้อยถึงขนาดสู้โรงเรียนนานาชาติไม่ได้เลยไหม ก็ไม่ใช่ เพราะเด็กโรงเรียนจังหวัดร้อยเอ็ด สอบติดแพทย์ทั้งห้อง ทั้งที่ต้นทุน 10,000 กว่าบาทต่อหัว
“ฉะนั้นการแก้ปัญหาแน่นอนงบประมาณมีส่วน แต่ในทางแก้ปัญหาไม่ใช่ว่ามาพูดรวมๆแล้วเป็นปัญหาหมดไม่ใช่ เพราะดีก็มี ที่ยังต้องปรับปรุงก็มี ผมคิดว่าการที่คุณทักษิณไปลงพื้นที่แล้วครูไม่เอาด้วย สั่งครูไม่ได้ แต่เราไม่ได้สั่งใครเลยนะ” นายสิริพงศ์ กล่าว
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี