ช่างขัดใจตัวแม่เอ็นจีโอยิ่งนัก! ตามคาด ‘อังคณา’ ตะเพิด ‘สว.อะมัด’ ชง ‘ประหาร-ถ่ายทอดโชว์’ นักโทษ ‘ยาเสพติด’ ไปศึกษากฎหมายเพิ่ม ชี้ ‘ลดทอนศักดิ์ศรีมนุษย์’ ไม่ได้ทำให้หลาบจำ- ขัด ‘พ.ร.บ.อุ้มหาย’ ลั่นไม่ได้ทำได้ง่ายๆ ลามฝากถึง ‘นายกฯ’ เด็ดขาดตามที่พูดไว้ ทำให้ยาหมดไป แต่ไม่ใช้วิธีรุนแรง
วันที่ 29 มกราคม 2568 ที่รัฐสภา นางอังคณา นีละไพจิตร สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ อะมัด อายุเคน สว. เสนอให้ประหารชีวิต นักโทษคดียาเสพติด ในที่ประชุมวุฒิสภาเมื่อวานนี้ ว่าเมื่อวานได้แสดงความคิดเห็นต่อ ป.ป.ส. ว่าจะมีหลักประกันอะไร ในการปราบยาเสพติดไม่ให้ซ้ำรอยเดิม ในช่วงสงครามยาเสพติด ที่ฆ่าตัดตอนไปประมาณ 2000 คน แต่สุดท้ายไม่มีผู้กระทำผิดแม้แต่คนเดียวที่ถูกลงโทษ ซึ่งเป็นเรื่องหนึ่งที่ห่วงใย และตนก็ได้พูดถึงเรื่องการควบคุมตัวที่กฎหมาย ป.ป.ส. ให้ควบคุมตัวได้ 3 วัน เพราะอะไรถึงมากขนาดนั้น
ส่วนกรณีที่มี สว. พูดถึงเรื่องการประหารชีวิตนั้น ก็เป็นการแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ แต่คงต้องไปทบทวนเหตุการณ์ในอดีต ที่การฆ่าตัดตอนคนจำนวนมาก แต่สุดท้ายยาเสพติดก็ไม่หมดไป
ส่วนข้อเสนอที่ให้มีการถ่ายทอดสด (ไลฟ์สด) ในช่วงการประหารชีวิตนั้น นางอังคณา กล่าวว่า ถือเป็นการลดทอนศักดิ์ศรีคุณค่าความเป็นมนุษย์ เป็นการผลิตซ้ำความรุนแรง และไม่ได้ทำให้เกิดความหลาบจำ แต่จะทำให้คนที่ไม่เกี่ยวข้องด้วย อย่างเยาวชน ได้มองเห็นวิธีการแบบนี้เป็นวิธีที่สามารถทำได้ ซึ่งความจริงแล้วขัดกับกฎหมาย ขัดกับพ.ร.บ.อุ้มหาย ในเรื่องของการกระทำใดๆ ที่เป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ในมาตรา 6 ซึ่งสว. ท่านนั้น ต้องไปศึกษากฎหมายเพิ่มเติม
เมื่อถามว่า หากข้อเสนอนี้ผ่านความเห็นชอบ จะมีผู้ถูกใส่ร้ายในคดียาเสพติดเพิ่มขึ้นมากหรือไม่ นางอังคณา กล่าวว่าเมื่อวานนี้ สิ่งที่พูดถึงอย่างกรณีกลุ่มชาติพันธุ์ทางเหนือ หลายคนเป็นคนไร้สัญชาติ ส่วนใหญ่ไม่มีบัญชีธนาคาร ก็จะเก็บเงินไว้ที่บ้าน บางทีเพื่อนบ้านหรือถ้ามีคนไปให้ข้อมูลว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติด และมีการยึดทรัพย์ ซึ่งอาจเป็นเรื่องที่มาจากการใส่ร้ายป้ายสีได้ แล้ววันนี้เรามีกฎหมายให้ผู้เสพเป็นผู้ป่วย ก็ยังมีปัญหาและอุปสรรคอีกเยอะมาก ผู้ต้องขังเรื่องยาเสพติดในเรือนจำลดลง แต่คนเหล่านี้ไม่ได้หายไปไหน ออกมาอยู่ข้างนอกตามชุมชน ครอบครัวหรือโรงพยาบาล ก็ไม่มีศักยภาพในการดูแล เพราะฉะนั้นหากจะแก้ปัญหายาเสพติดอย่างเป็นระบบ ก็ต้องปราบปรามผู้กระทำผิดรายใหญ่ และต้องดำเนินการอย่างจริงจัง อย่างในอดีตคนที่ขับรถขนส่งก็จะกินยาม้าเป็นประจำ แต่พอกลายเป็นยาบ้าก็มีราคาสูงขึ้น เป็นการเพิ่มมูลค่า คนก็หันมาขายและติดยากันมากขึ้น ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็บอกว่าจะผลักดันอย่างเด็ดขาด ซึ่งในความเห็นส่วนตัวก็ต้องมีหลักประกันว่า เด็ดขาดคือให้ยาหมดไป แต่ไม่ใช่ใช้วิธีการที่รุนแรงเพราะในขณะเดียวกันที่รัฐบาลใช้กฎหมาย รัฐบาลก็ต้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนไปด้วย
เมื่อถามว่า มองว่าเป็นภาพสะท้อนรวมของ สว. หรือไม่ นางอังคณา กล่าวว่า เป็นความเห็นของคนๆ เดียว แต่เมื่อวานภาพที่ออกมาก็เหมือนว่ามี สว. หลายคนยืนอยู่ข้างหลัง สังคมอาจมองว่าเป็นการสนับสนุน ซึ่งตนก็เคารพเสรีภาพในการแสดงความเห็น แต่อยากจะบอกว่าการเสนอเรื่องแบบนี้ในพื้นที่สาธารณะ ก็อาจสุ่มเสี่ยงต่อการวิพากษ์วิจารณ์หรืออาจเป็นแนวทางที่ทำให้การฆ่าตัดตอนเกิดขึ้นอีกหรือไม่
“การประหารชีวิตไม่ได้ทำได้ง่ายๆ ต้องมีคำพิพากษาจากศาล และมีพยานหลักฐาน การกระทำผิดต้องเป็นโทษรุนแรงการพูดแบบนี้อาจเป็นการส่งสัญญาณว่าเรารับได้ และที่พูดก็คือการขัดมาตรา 6 ใน พ.ร.บ.อุ้มหาย ในเรื่องการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หากมีการถ่ายทอดสด แต่คิดว่า สว. ท่านนั้นพูดเหมือนปากพาไป หรืออะไรไม่ทราบ” นางอังคณา กล่าว
/////
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี