วุฒิสภาตั้งวงเสวนาค้านสุดลิ่มบุหรี่ไฟฟ้า!“ประธาน กมธ.พัฒนาสังคมฯ” หนุนยกระดับเป็นวาระแห่งชาติ หลังพบเด็กและเยาวชนเสพติดบุหรี่ไฟฟ้าพุ่ง 10 เท่า ฉะยับบุหรี่ไฟฟ้าเป็นภัยคุกคามสุขภาพและสังคม บั่นทอนระบบเศรษฐกิจชาติระยะยาว “หมอประกิต” เตือนรัฐบาลอย่าหน้ามืดแก้กฎหมาย “บุหรี่ไฟฟ้าขายได้” ขู่ผิดพลาดต้องรับผิดชอบต่อคนไทย
31 มกราคม 2568 นางวราภัสร์ ไพพรรณรัตน์ ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส และความหลากหลายทางสังคม วุฒิสภา เป็นประธานฯจัดเสวนาโต๊ะกลมเรื่อง “มาตรการเชิงรุกเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชน” ณ ห้องประชุมหมายเลข 406-407 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา โดยมีเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคการศึกษา ภาควิชาการ ผู้แทนผู้ปกครอง/ชุมชน ผู้แทนเด็กและเยาวชนร่วมเสวนา โดยเครือข่ายทุกภาคส่วนแสดงความเห็นเป็นเอกฉันท์สนับสนุนให้มีการยกระดับการต่อต้านบุหรี่ไฟฟ้าเป็นภาวะแห่งชาติ ชี้เป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพเด็กและเยาวชนอนาคตของประเทศ นอกจากนี้ยังเห็นว่าเป็นภัยคุกคามต่อสังคม และส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมสังคมและระบบเศรษฐกิจในระยะยาว พร้อมสนับสนุนให้รัฐบาลมีนโยบายปราบปรามยาเสพติดอย่างเด็ดขาดและจริงจัง
นางวราภัสร์ ไพพรรณรัตน์ ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมฯ กล่าวเปิดงานว่าจากรายงานพบว่าสถานการณ์การใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเยาวชนไทยกำลังอยู่ในขั้นวิกฤต ข้อมูลจากปี 2565 ระบุว่าจำนวนผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มอายุ 15 - 24 ปี เพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่า ภายในปีเดียวจาก 24,050 คน เป็น 269,533 คน ขณะที่เด็กนักเรียนระดับประถมศึกษาตอนปลาย (อายุ 9-12 ปี) ถึงร้อยละ 43 เคยลองสูบบุหรี่ไฟฟ้า โดยเฉพาะในกลุ่มนักเรียนหญิงมีอัตราการใช้เพิ่มขึ้นมากกว่านักเรียนชายอย่างมีนัยสำคัญ ตัวเลขเหล่านี้เป็นเสียงสะท้อนถึงภัยคุกคามที่กำลังทำลายสุขภาพและอนาคตของเยาวชนไทย ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้เป็นเพียงปัญหาสุขภาพเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมสังคมและระบบเศรษฐกิจในระยะยาว โดยจากสถานการณ์ที่กล่าวมาคณะกรรมาธิการไม่สามารถนิ่งเฉยต่อปัญหานี้ได้ การเสวนาในวันนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อกำหนดมาตรการเชิงรุก ทั้งการสร้างความตระหนักรู้ การบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ การเสริมสร้างบทบาท ของครอบครัว ชุมชน และสถานศึกษา ตลอดจนการพัฒนานโยบายที่คำนึงถึง “ประโยชน์สูงสุดของเด็ก” เป็นสำคัญ สอดคล้องกับ “อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก” และคณะกรรมาธิการฯจะนำข้อเสนอจากเวทีเสวนานี้เป็นจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนมาตรการที่เป็นรูปธรรมเพื่อหยุดยั้งภัยบุหรี่ไฟฟ้า และสร้างอนาคตที่ปลอดภัยให้กับเยาวชน ซึ่งคณะกรรมาธิการฯจะผลักดันการแก้ไขปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าให้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อปกป้องสุขภาพและความปลอดภัยของเด็กและเยาวชนไทยให้เติบโตเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศสืบต่อไป
ศ.เกียรติคุณ นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่าสถานการณ์บุหรี่ไฟฟ้าในเทศไทยเวลานี้ จากการสำรวจระดับประเทศทำไปเมื่อปีที่ก่อนพบว่าวัยรุ่นอายุ 13-15 ปี เสพบุหรี่ไฟฟ้า 17 % แต่เชื่อว่าปัจจุบันนี้น่าจะสูงประมาณ 20-30 % โดยผู้ชายกับผู้หญิงอยู่ในอัตราส่วนใกล้เคียงกัน ส่วนผู้ใหญ่มี 2-3 % อย่างไรก็ตามสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในทุกอายุวัยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างน่ากังวล ปัจจุบันนี้การระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในนักเรียนถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ ยิ่งระบาดในเด็กที่อายุต่ำกว่า 10 ปีลงมาแล้วยิ่งน่ากังวล ซึ่งการเสพติดบุหรี่ไฟฟ้าก็เหมือนการเสพติดบุหรี่ม้วนเพราะมีสารนิโคติน แต่ว่าความต่างคือเมื่อเสพติดตั้งแต่อายุน้อยยิ่งไปกระทบสมองที่กำลังพัฒนา ผลร้ายของสารนิโคตินต่อสมองของเด็กมันเยอะกว่าผู้ใหญ่ ยิ่งบุหรี่ไฟฟ้ามีกลิ่นหอม สูบง่าย ไม่ระคายเคือง ไม่มีการเผา ยิ่งเป็นภัยอันตรายต่อเด็ก มีข้อมูลเด็กที่ติดบุหรี่ไฟฟ้ามีปัญหาป่วยซึมเศร้ามากกว่าเด็กที่ไม่สูบ 5 เท่า นำมาซึ่งปัญหาสุขภาพจิต หงุดหงิด ไม่มีสมาธิ เสียการเรียนหนังสือ
ศ.นพ.ประกิต กล่าวด้วยว่าสำหรับสภาผู้แทนราษฎรไทยที่จะมีการประชุมเพื่อพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษากฎหมายบุหรี่ไฟฟ้าฯที่จะเสนอทางเลือกนโยบายกฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าในไทย 3 แนวทาง คือ 1.ให้คงกฎหมายห้ามอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด 2.เปิดให้ขายบุหรี่ไฟฟ้าชนิดที่ใช้ความร้อนอย่างถูกกฎหมาย และ 3.เปิดให้บุหรี่ไฟฟ้าทุกชนิดขายได้ถูกกฎหมายนั้น อยากให้ สส.และรัฐบาลได้รับทราบสิ่งที่เกิดขึ้นในฟิลิปปินส์ที่มีการเปิดให้มีการขายบุหรี่ไฟฟ้าได้ถูกกฎหมาย แต่ได้เกิดปัญหาตามมา คือ การเก็บภาษีรายได้ลดลง แต่มีนักสูบหน้าใหม่ตั้งแต่อายุ 10 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้น 9.5 ล้านคน โดยเป็นวัยรุ่นมากถึง 1 ล้าน และอัตราการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นจาก 14 % ในปี 2564 เป็น 18.9 % ในปี 2566 ซึ่งฟิลิปปินส์มีรายได้ภาษีที่ลดลงทั้งๆที่จำนวนผู้สูบบุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น และอัตราการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น มันสะท้อนให้เห็นว่ามีการระบาดของบุหรี่ผิดกฎหมายทั้งบุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งหาก สส.และรัฐบาลไทยมีการยกเลิกกฎหมายห้ามบุหรี่ไฟฟ้าตามข้อ 2 และข้อ 3 และหากความเสียหายเกิดขึ้นเหมือนฟิลิปปินส์ อยากถามว่าใครจะต้องเป็นคนที่รับผิดชอบ ทั้งจากรายได้ภาษีที่ลดลง ทั้งจำนวนนักสูบหน้าใหม่ที่เป็นเด็กและเยาวชนเพิ่มขึ้น
“อยากฝากถึงรัฐบาล ถ้าเราพูดถึงภัยคุกคามเด็กและเยาวชนในเวลานี้ บุหรี่ไฟฟ้าถือว่าเป็นภัยคุกคามอันดับ 1 ของประเทศ แล้วมันก็โยงไปถึงนโยบายของรัฐบาลที่ว่าจะปราบปรามยาเสพติดอย่างจริงจัง ถ้าเปิดให้มีการขายบุหรี่ไฟฟ้าได้ถูกกฎหมายแล้วยิ่งจะทำให้การปราบยาเสพติดยากมากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นรัฐบาลต้องคิดให้ดีที่อยากจะเปลี่ยนกฎหมายเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าจาก “ห้ามขาย” เป็น “ขายได้” ตัวอย่างฟิลิปปินส์ก็มีให้เห็นแล้ว ทางที่ดีที่สุดสำหรับประเทศไทยเวลานี้ คือการห้ามและบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เป็นทางที่ดีสำคัญสำหรับอนาคตของเด็กและเยาวชนไทย” ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ที่บริเวณหน้าห้องเสวนาได้มีการจัดนิทรรศการการสร้างความตระหนักรู้และการดำเนินมาตรการการป้องกัน และแก้ไขปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชนจากหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แผนงานยุทธศาสตร์สร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) โรงเรียนมัธยมวัดหนองจอก และศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) เป็นต้น
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี