ตัดไฟเมียนมายังไม่มีข้อสรุป
โยนปัดกันวุ่น
เลขาฯสมช.ยืนกรานไร้อานาจ
จ่อชงข้อมูลกฟภ.ถกคู่สัญญา
กต.วางกรอบรู้ผลใน1เดือน
“มาริษ” นั่งหัวโต๊ะถก คกก.เฉพาะกิจสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมาครั้งแรก สั่งบูรณาการหน่วยงานเกี่ยวข้อง ป้องกันอาชญากรรมข้ามชาติ-ออนไลน์สแกม ย้ำจัดระเบียบชายแดนเข้ม ส่วนประเด็นตัดไฟแก๊งคอลเซ็นเตอร์ฝั่งเมียนมา ได้มอบให้สมช.รวมความเห็น วางไทม์ไลน์ 1 เดือน ก่อนตัดสินใจ ด้าน เลขาฯสมช. ยันสภาความมั่นคง ไม่มีอำนาจสั่งตัดไฟ เตรียมชงข้อมูลส่ง กฟภ. หารือคู่สัญญาว่าจะดำเนินการอย่างไร “อนุทิน”ไม่รับเผือกร้อน สั่งตัดไฟเมียนมา รอคำสั่งจากผู้มีอำนาจ ชี้ง่ายสุดคือเมียนมาแจ้งปัญหาเข้ามาก็พร้อมทำทันที
เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2568 ที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นการตัดกระแสไฟฟ้าที่ส่งไปให้กับประเทศเมียนมา ซึ่งเป็นเผือกร้อนที่ถูกโยนมาให้กระทรวงมหาดไทยว่า ตนไม่รับอะไรทั้งนั้น กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ปฏิบัติ เราถูกสั่งให้ขายไฟให้กับประเทศเพื่อนบ้านด้วยเหตุผลทางสิทธิมนุษยธรรม หากมีเหตุที่จะให้เราหยุดจ่ายไฟ ผู้ที่สั่งให้เราขายต้องแจ้งให้เราหยุด เราหยุดเองไม่ได้ มีหน้าที่แค่ส่งไฟข้ามไป แต่ไม่รู้ว่าเขาจะนำไปจ่ายให้กับผู้ใช้ประเภทใดบ้าง มันไม่ใช่หน้าที่ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) แต่หากทางการเมียนมาแจ้งขอให้ตัดไฟจะเป็นเรื่องง่าย เพราะสามารถแจ้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อดำเนินการได้เลย หรือหากเป็นเรื่องเร่งด่วน ก็แจ้งให้นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการโดยเร่งด่วน
ปปส.ตรวจไม่พบการกระทำผิด
นายอนุทิน กล่าวว่า ในส่วนของทางการไทยผู้ที่จะมีอำนาจสั่งการต้องเป็นไปตามเอกสารข้อมูล ซึ่งวานนี้(30ม.ค.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปส.) ได้ตอบจดหมายกลับมายัง กฟภ.แจ้งว่าได้ไปสำรวจแล้วว่าบริษัทที่รับซื้อไฟฟ้าจาก กฟภ.เพื่อจำหน่ายต่อยังชายแดนประเทศเมียนมา ไม่มีการกระทำใด ๆ ที่ผิดกฎหมาย คณะกรรมการบริหารของบริษัทไม่มีประวัติ ไม่พบการกระทำผิดทางกฎหมายใด ในอำนาจหน้าที่ที่ ปปส.จะเข้าไปตรวจสอบได้ จึงถามว่า กฟภ.จะเอาอำนาจตรงไหนไปตัดไฟ แต่หากสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)มีหนังสือตอบกลับมาว่า พบว่ามีการกระทำที่ผิดกฎหมาย จึงเห็นสมควรให้หยุดตัดไฟ กฟภ.จะทำเรื่องมาถึงตนเพื่อส่งเรื่องไปถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อให้พิจารณาสั่งการ ซึ่งต้องมีการพิสูจน์และยืนยัน แต่การดำเนินการสามารถทำได้ทันที หากมีการพิสูจน์แล้ว เพราะการขายไฟให้ประเทศเพื่อนบ้านมีมติ ครม.รองรับ หากจะหยุดจ่ายไฟก็ต้องนำเข้า ครม.เมื่อที่ประชุมรับทราบ ก็สามารถตัดไฟได้ทันที
หากทำไม่รอบคอบมีสิทธิ์ถูกฟ้องได้
นายอนุทิน กล่าวอีกว่า การจะทำอย่างที่กล่าวมาได้ต้องไปถึงจุดนั้นก่อน คนที่บอกว่ามีการนำไฟฟ้าไปใช้ในการสแกมหลอกหลวง คอลเซ็นเตอร์ ยาเสพติด ตอนนี้มีแต่ข้อมูลทางวาจา ยังไม่มีการพิสูจน์ไม่รู้ว่าทำตรงไหน หากไปตัดไฟโรงเรียน โรงพยาบาล หมู่บ้าน วัด ก็จะไม่มีไฟใช้ทั้งหมด หากทำแล้วเป็นไปตามสัญญาหรือไม่ อาจถูกฟ้องกลับมาได้ ทั้งนี้ ยอมรับว่า ประเทศไทยเคยหยุดจ่ายไฟฟ้าให้กับประเทศเพื่อนบ้าน ประมาณ 2-3 จุด ซึ่งเป็นเรื่องที่ กฟภ.สามารถพิจารณาได้เองไม่ต้องรายงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย การที่มาพูดว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสามารถสั่งตัดไฟได้เลย ต้องเข้าใจว่า กฟภ. เป็นรัฐวิสาหกิจมีบอร์ด และคณะกรรมการบริหาร ตนสั่งการได้แต่เชิงนโยบาย
“ขอย้ำว่าหากจะมีการตัดการจ่ายไฟฟ้าประเทศเมียนมาจะเกิดขึ้น ได้ต้องมีการกระทำที่ผิดกฎหมาย เช่น ทางการเมียนมายืนยันว่าทั้งหมู่บ้านเป็นบัญชีรวมความจริงแล้วเป็นการผลิตอาวุธเถื่อน ยาเสพติด แก๊งคอลเซ็นเตอร์ สามารถแจ้งมายังรัฐไทย ซึ่งกระทรวงมหาดไทยสามารถดำเนินการได้เลย ทุกอย่างมีขั้นตอนการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมีหน้าที่จ่ายไฟให้กับรัฐไทยเท่านั้น ไม่ใช่การข้ามรัฐ แต่ครั้งนี้เป็นภารกิจด้านมนุษยธรรม จากคำสั่งของหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กระทรวงมหาดไทยไม่มีความกดดัน เราแค่ทำตามคำสั่ง ถ้ามีคำสั่งให้เลิกเราก็เลิก” นายอนุทิน กล่าว
ถ้าเมียนมาอยากให้ตัดไฟก็แจ้งมา
นายอนุทิน กล่าวด้วยว่า กรณีที่ทางการเมียนมา โหมข่าวไทยสนับสนุนไฟให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์นั้น นายอนุทิน ย้อนถามว่าจะโหมทำไม ทำไมไม่เขียนจดหมายมาถึงทางการไทยว่าไม่จำเป็นต้องใช้ไฟจากไทยแล้ว ขอให้หยุดจ่ายไฟเพราะไปทำให้เกิดความเดือดร้อนในประเทศของเขา ถ้าเป็นเช่นนี้จะยิ่งง่าย กระทรวงมหาดไทยสามารถถือหนังสือไปถึงนายกรัฐมนตรีได้เอง เพราะเราก็ต้องรักษาสิทธิ์ของเราด้วย การจะยกเลิกต้องมีขั้นตอน ทั้งการแจ้งเตือนให้แก้ไข
“การพูดเอาสนุกจะพูดอะไรก็พูดได้ แน่การดำเนินการ ต้องเป็นไปตามกฎหมาย หากทำผิดสัญญาเขาก็มีสิทธิ์ที่จะฟ้องมันน่าละอายหรือไม่ ถ้าถูกทางการเมียนมาฟ้อง นอกจากไม่ได้เงินค่าไฟยังต้องเสียค่าปรับอีก ทำไมไม่คิดให้รอบคอบ” นายอนุทิน กล่าวทิ้งท้าย
“มาริษ”ประชุม คกก.เฉพาะกิจฯ
ช่วงบ่ายวันเดียวกันที่ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ทำเนียบรัฐบาล นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.ต่างประเทศ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมา ครั้งที่ 1/2568 โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กองทัพบก ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดตาก เข้าร่วมประชุม
นายมาริษให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่าที่ประชุมได้หารือถึงสถานการณ์ความไม่สงบบริเวณชายแดนไทย-เมียนมาเพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนของไทย การค้าขาย และการข้ามแดน โดยตนได้ย้ำทุกหน่วยงานให้ทำอย่างเต็มที่เพื่อบรรลุเป้าหมาย 2 ข้อ คือ 1.การทำให้พื้นที่ชายแดนมีความสงบเรียบร้อย มีความมั่นคง รวมถึงแก้ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ทั้งปัญหายาเสพติด การค้ามนุษย์ อาชญากรรมทางออนไลน์
2.อยากเห็นเครื่องมือและโครงสร้างพื้นฐานที่ทำให้ประชาชนพื้นที่ชายแดนกลับมาทำการค้าขายได้ตามปกติ ที่สำคัญจะต้องควบคุมไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายปัจจัยต่างๆ ทั้งคน สิ่งของ สินค้า ทรัพยากรต่างๆที่จะนำไปสู่การสนับสนุนกิจกรรมไม่พึงประสงค์หรือการก่ออาชญากรรมข้ามชาติ รวมถึงต้องการติดตามตรวจสอบบุคคลต้องสงสัยไม่ให้เข้าใช้พื้นที่ชายแดนเพื่อการก่ออาชญากรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวต่างชาติ ที่เราต้องคอยมอนิเตอร์ ควบคุม และมีมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้น
ตรวจสอบด่าน-จุดข้ามแดนเข้มข้น
นายมาริษ กล่าวว่า ส่วนสิ่งของและทรัพยากรต่างๆ เราจะมีตรวจสอบอย่างเข้มงวดมากขึ้น ทั้งด่านชายแดนต่างๆ และจุดข้ามแดนในช่องทางธรรมชาติด้วย อีกทั้งจะร่วมมือกับประเทศต่างๆ ทั้งจีนที่เป็นต้นน้ำ ประเทศในอาเซียน และประเทศเพื่อนบ้านที่ติดกับไทย อาทิ เมียนมา เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปตามเป้าหมายและสัมฤทธิ์ผลมากขึ้น
สำหรับกลไกการขับเคลื่อนในส่วนกลางนั้น จะให้เลขาธิการสมช. เป็นประธาน เพื่อทำหน้าที่บูรณาการระดับนโยบาย ประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกฎหมายและระเบียบที่มีอยู่แล้ว ให้ทำงานไปในทิศทางเดียวกัน ขณะเดียวกันในระดับพื้นที่ ที่ประชุมมอบหมายให้ศูนย์สั่งการชายแดนกับเมียนมา บริเวณ จ.ตาก
นายมาริษ กล่าวว่า ช่วงท้ายการประชุมได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาพื้นที่ชายแดน ทั้งกองทัพ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน ไปดูบทบาทและหน้าที่ของตัวเองว่ามีอะไรบ้าง แล้วนำกลับมาพูดคุยจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมกัน อีกทั้งได้เน้นย้ำว่าห้ามเจ้าหน้าที่รัฐไปเกี่ยวข้องกับการก่ออาชญากรรมข้ามชาติ ตามนโยบายต่อต้านทุจริต นอกจากนี้เห็นชอบกรอบการให้ความช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม 2 เรื่อง คือ 1.ด้านสาธารณสุข และ 2.ด้านการศึกษา
ขีดเส้นไม่เกิน1เดือนปมตัดไฟชัด
ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ประชุมได้หารือถึงข้อเรียกร้องให้ทางการไทยตัดไฟพื้นที่ชายแดนฝั่งเมียนมาซึ่งต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์หรือไม่ นายมาริษ กล่าวว่า ที่ประชุมได้พูดคุยเรื่องนี้เช่นกัน โดยอยากให้มีการบูรณาการหน้าที่ของหน่วยงานและกฎระเบียบที่มีอยู่ก่อนทำงานเรื่องนี้ว่าควรทำให้เร็วที่สุด คาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือน
เมื่อถามอีกว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)ระบุว่าเคยทำหนังสือถึงอธิบดีกรมเอเชียตะวันออก เพื่อขอให้ประสานหน่วยงานของเมียนมาในการกำหนดมาตรการควบคุมกำกับดูแลการซื้อขายไฟฟ้า นายมาริษเห็นหนังสือนี้แล้วหรือไม่นายมาริษ ชี้แจงว่าที่ประชุมได้พูดถึงเรื่องนี้ แต่อยากเห็นเรื่องต่างๆ ถูกนำเข้ามาสู่การพิจารณาของคณะกรรมการเฉพาะกิจฯ ก่อน เพื่อให้บูรณาการและเกิดความชัดเจน ก่อนจะตัดสินใจดำเนินการอย่างไร รวมถึงขอให้ฟังเลขาธิการสมช.ก่อน
ไม่รู้‘ผช.รมต.จีน’ลงพื้นที่ชายแดน
นายมาริษ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีผู้ช่วยรัฐมนตรีด้านความมั่นคงของประเทศจีน เดินทางมาตรวจติดตามการกวาดล้างแก๊งคอลเซ็นเตอร์บริเวณชายแดนไทย ว่า เรื่องนี้ไม่ได้ผ่านกระทรวงต่างประเทศ ตนไม่ทราบ เป็นเรื่องของกระทรวงยุติธรรมที่เขามีการติดต่อกัน ซึ่งท้ายที่สุดคงมีการคุยกันในภาพรวม ตนก็อยากเห็นการบูรณาการร่วมกัน ในส่วนของกระทรวงต่างประเทศ เราดูเรื่องต่างประเทศ แต่ในด้านการปฏิบัติ เป็นเรื่องของกระทรวงยุติธรรม ตำรวจ และทหาร ส่วนจะช่วยเหลือกันอย่างไร คงมีการพูดคุยกัน
เมื่อถามถึงกรณีส.ส.พรรคฝ่ายค้านระบุว่าไม่อยากให้ประเทศจีนดูเหมือนเป็นผู้ดำเนินการเพียงผู้เดียว นายมาริษ กล่าวย้ำว่า ไม่ ยืนยันว่ากระทรวงต่างประเทศ ไม่ยอมให้จีนเข้ามาทำอะไร โดยที่เราไม่ปล่อยให้เขาทำ
เลขาฯสมช.ยันไม่มีอำนาจตัดไฟ
ด้าน นายฉัตรชัย บางชวด เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังจาก นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.ต่างประเทศ ระบุว่าจะให้ สมช.เป็นเจ้าภาพในการพิจารณาตัดไฟ พื้นที่บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา ที่เป็นฐานของแก๊งคอลเซ็นเตอร์นั้นว่า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จะนำเรื่องนี้ไปดำเนินการหารือกับคู่สัญญา ซึ่งทุกอย่างต้องยึดตามหลักกฎหมาย
ผู้สื่อข่าวถามว่า ผู้ที่ตัดสินใจตัดไฟได้จริงๆ คือหน่วยงานใด เลขาธิการ สมช. กล่าวว่า จะมีการนำข้อมูลทั้งหมดส่งให้ กฟภ. และทาง กฟภ.จะนำเรื่องต่างๆ มาพิจารณา และหารือกับคู่สัญญา พร้อมย้ำว่าทุกอย่างต้องยึดตามหลักตามกฎหมาย
เมื่อซักถามว่าตกลงใครมีอำนาจสั่งตัดไป เลขาธิการ สมช. อ้างว่า ต้องไปดูข้อกฎหมายระหว่าง กฟภ.กับคู่สัญญาที่ร่วมกันลงนามไว้แต่เดิมเป็นอย่างไร ซึ่ง สมช. ไม่มีอำนาจไปบอกว่าจุดไหนเป็นอันตรายกับประเทศไทย ซึ่งเป็นไปตามข้อกฎหมาย
เมื่อถามว่า จะนำประเด็นการตัดไฟฟ้าเสนอต่อ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เลยหรือไม่ นายฉัตรชัย กล่าวว่า ต้องดูข้อกฎหมาย และรายละเอียดต่างๆ รวมถึงจะต้องหารือกับทาง กฟภ.อีกครั้ง.
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี